รีวิว BYD DOLPHIN Extended Range โลมาไฟฟ้า บ้าพลัง
รีวิว BYD DOLPHIN Extended Range โลมาไฟฟ้า 204 แรงม้า บ้าพลัง อัดออปชั่นความปลอดภัยเต็มระบบ เตือนจนระแวง ส่วนช่วงล่างนิ่งเนียน เกินคาด
หลังจาก เรเว่ ไทยแลนด์ เปิดตัว BYD DOLPHIN EV คอมแพ็คคาร์ พลังงานไฟฟ้า 100% ไปในช่วงงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2023 ที่ผ่านมา โดยเปิดราคาคาดการณ์ใน รุ่น Standard Range ให้ลูกค้าที่สนใจได้จับจองเป็นเจ้าของกันล่วงหน้า ล่าสุดได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่ารุ่นท่ีนำมาจำหน่ายจริงจะมีด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่น Standard Range 44.9 kWh และ รุ่น Extended Range 60.5 kWh ซึ่งราคาคาดการณ์ในรุ่นเริ่มต้นน่าจะประมาณ 6.9 แสนบาท
รีวิว BYD DOLPHIN ขนาดตัวถัง
โลมาไฟฟ้า คันนี้ จัดอยู่กลุ่มคอมแพ็คคาร์ มีสไตล์ตัวถังแบบแฮทช์แบ็ก 5 ประตู โดยเมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าในสไตล์แฮทช์แบ็กด้วยกัน จะมีขนาดที่แตกต่างกันไม่มากนัก แต่ที่ดูจะด้อยที่สุดน่าจะเป็นเรื่องความกว้างที่น้อยกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน
มิติตัวถัง (มม.) | BYD Dolphin | ORA Good Cat | MG 4 EV |
ความยาว | 4,290 | 4,235 | 4,287 |
ความกว้าง | 1,770 | 1,825 | 1,836 |
ความสูง | 1,570 | 1,596 | 1,504 |
ระยะฐานล้อ | 2,700 | 2,650 | 2,705 |
ระยะต่ำสุดถึงพื้น | 130 | 120 | 117 |
ขุมพลังขับเคลื่อน
บีวายดี ดอลฟิน อีวี มีวางจำหน่าย 2 รุ่น ได้แก่ Standard Range และ Extended Range จะมีความต่างของพละกำลังอย่างชัดเจน โดยจะมีประเภทมอเตอร์ไฟฟ้าชนิดเดียวกัน คือ Permanent Magnet Synchonous Motor
ในรุ่น Standard Range มีแบตเตอรี่ BYD Blade Battery (LFP) ขนาด 44.9 กิโลวัตต์ มีพละกำลังสูงสุด 95 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 180 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนล้อหน้า Front-Wheel Drive เคลมตัวเลขจากโรงงานไว้ว่า สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 12.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 150 กม./ชม. วิ่งระยะทางสูงสุด 410 กม. (มาตรฐาน NEDC)
ในรุ่น Extended Range แบตเตอรี่ BYD Blade Battery (LFP) ขนาด 60.48 กิโลวัตต์ พละกำลังสูงสุด 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนล้อหน้า Front-Wheel Drive ตัวเลขอัตราเร่งจากโรงงานเคลมไว้ที่ 0-100 กม./ชม. ภายใน 7.0 วินาที ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. วิ่งระยะทางสูงสุด 490 กม. (มาตรฐาน NEDC)
ระบบการชาร์จไฟฟ้า
ทั้ง 2 รุ่นจะใช้หัวชาร์จแบบ Type 2 / CCS Combo พร้อมระบบจ่ายไฟฟ้าจากตัวรถ VTOL Mobile Power Supply Function 3.3 kW
สแตนดาร์ด เรนจ์ ชาร์จแบบกระแสสลับ AC รองรับสูงสุด 6.6 กิโลวัตต์ ใช้เวลา 0-100% ภายใน 6 ชั่วโมง 45 นาที ชาร์จแบบกระแสตรง DC Fast Charging รองรับสูงสุด 60กิโลวัตต์ จาก 30-80% ภายใน 30 นาที
เอ็กซ์เทนเด็ด เรนจ์ ชาร์จแบบกระแสสลับ AC รองรับสูงสุด 6.6 กิโลวัตต์ ใช้เวลา 0-100% ภายใน 9 ชั่วโมง ชาร์จแบบกระแสตรง DC Fast Charging รองรับสูงสุด 80 กิโลวัตต์ จาก 30-80% ภายใน 30 นาที
เปรียบเทียบขุมพลังกับคู่แข่ง
ครั้งนี้จะนำสเป็คตัวท็อปอย่าง รุ่น Extended Range มาเปรียบเทียบ เนื่องจากมีรายละเอียดตัวสมรรถนะและราคาที่อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกันกับคู่แข่ง
Powertrain | BYD Dolphin | ORA Good Cat Ultra | MG 4 EV |
ความจุแบตเตอรี่ (กิโลวัตต์) | 60.48 | 63.1 | 51 |
ระยะทางสูงสุด NEDC (กม.) | 490 | 500 | 425 |
พละกำลังสูงสุด (แรงม้า) | 204 | 143 | 170 |
แรงบิดสูงสุด(นิวตันเมตร) | 310 | 210 | 250 |
ประเภทแบตเตอรี่ | ลิเธียมไอออน LFP | ลิเธียม Ternary | ลิเธียมไอออน LFP |
ระยะเวลาชาร์จ: DC 30-80% (นาที) | 30 | 40 | 35 |
ระยะเวลาชาร์จ: AC (ชม.) | 9 | 10 | 8.30 |
ระบบจ่ายไฟ | VTOL | – | V2L |
ระบบขับเคลื่อน | ล้อหน้า | ล้อหน้า | ล้อหลัง |
การออกแบบภายนอก
รูปทรงรถดูสปอร์ตทันสมัย ให้อารมณ์แตกต่างจากรุ่นพี่อย่าง BYD ATTO 3 กระจังหน้าแบบปิดดูโค้งมนคล้ายหน้าตาโลมาตามชื่อ เติมลูกเล่นด้วยการพิมพ์ลายด้านใน แต่พอไปดูด้านข้าง ลากเส้นสายแปลกตา เป็นเส้นบนล่าง ทำมุมสามเหลี่ยม ดูมีความรู้สึกเหมือนรถกำลังพุ่งไปข้างหน้าตลอดเวลา ด้านหน้าดูเท่ด้วยชุดไฟหน้า LED ในโคมโปรเจกเตอร์ ล้อมด้วยไฟ DayTimeRunningLight รวมถึงลูกเล่นการเดินเส้นไฟท้าย LED ไขว้สลับกันไปมา
ออกแบบภายในห้องโดยสาร
ดีไซน์ภายในของ BYD DOLPHIN สีทูโทน โดยรวมดูน่ารักด้วยเส้นสายโค้งมน น่าจะอิงมาจากความกลมมนของสรีระโลมา ออกแนวล้ำสมัย แต่อีกใจก็นึกว่าเป็นรถแต่งสไตล์ไทย ไทย ชุดแผงหน้าปัดคาดแถบสีเงินพร้อมช่องแอร์ทรงกลม มือจับประตูออกแบบคล้ายครีบของโลมา พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นแบบ 3 ก้าน ทรง D Shape มาตรวัดตรงกลาง Full Digital ขนาด 5.0 นิ้ว จออินโฟเทนเมนต์ระบบสัมผัส Touchscreen ขนาด 12.8 นิ้ว สามารถหมุนแนวตั้ง – แนวนอน ด้วยระบบไฟฟ้า Intelligent Rotating หลังคา Panoramic พร้อมม่านกันแดดมาให้ในรุ่นท็อป เบาะนั่งเป็นแบบสปอร์ตทรง Bucket Seat ตัวท็อปเบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง เบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้าปรับไฟฟ้า 4 ทิศทาง ส่วนรุ่นล่างปรับมือ แบบแมนนวล
นอกจากนั้น ยังมีกล้องบันทึกเหตุการณ์ Traffic Video Recorder (TVR) ระบบล็อค-ปลดล็อคด้วยโทรศัพท์ Phone NFC Key กระจกหน้าต่างไฟฟ้า พร้อมระบบ One-touch 4 บาน ระบบป้องกันการหนีบ Anti-Pinch ระบบเบรกมือไฟฟ้า Electronic Parking Brake : EPB ฟังก์ชั่น Auto Brake Hold และ ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย Wireless Charger 15W ในรุ่น เอ็กซ์เทนเด็ด เรนจ์
ระบบช่วงล่าง
รุ่น สแตนดาร์ด เรนจ์ ช่วงล่างด้านหน้าแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลัง ทอร์ชั่น บีม รุ่น เอ็กซ์เทนเดด เรนจ์ ด้านหน้า แมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลัง มัลติลิงค์บีม
ระบบเบรกด้านหน้า ดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน ด้านหลัง ดิสก์เบรก ล้ออัลลอยที่ให้มีขนาด 16 นิ้ว ยาง 205/50 R16 ในรุ่นล่าง ส่วนตัวท็อป ล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว ยาง ขนาด 205/50 R17
ออปชันความปลอดภัย
- ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค Anti-lock Braking System : ABS
- ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว Electronic Stability Program : ESP
- ระบบกระจายแรงเบรก Electronic Brake Force Distribution : EBD
- ระบบเบรกอัตโนมัติ Automatic Emergency Braking System : AEB
- ระบบป้องกันการลื่นไถล Traction Control System : TCS
- ระบบเตือนการชนด้านหน้า Front Collision Warning : FCW
- ระบบเตือนแรงดันลมยาง Tire Pressure Monitoring System
- กล้องมองภาพรอบคัน 360 องศา
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องจราจร Lane Keeping Assist : LKA
- ระบบเตือนเปลี่ยนเลน Lane Departure Warning : LDW
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน Adaptive Cruise Control with Stop & Go
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ High Beam Assist : HMA
- ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง คู่หน้า 2 ตำแหน่ง, ม่านนิรภัย 2 ตำแหน่ง
- ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัย เบาะคู่หน้า
- จุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX
สีตัวถังภายนอก
Standard Range มีให้เลือก 4 สี
- สีม่วง Flora Purple
- สีครีม Coastal Cream
- สีเทา Alaskan Grey
- สีชมพู Coral Pink
Extended Range มีให้เลือก 4 สี
- สีขาว หลังคาดำ Surge White + Atlantis Grey | Black Roof
- สีฟ้า หลังคาดำ Atoll Blue + Atlantis Grey | Black Roof
- สีชมพู หลังคาดำ Coral Pink + Atlantis Grey | Black Roof
- สีเทา หลังคาดำ Atlantis Grey + Pebble Black| Black Roof
สีภายนอก ภายในแต่ละรุ่นจะมีความแตกต่าง ด้วยการแมตช์สีให้ลงตัวกัน อย่างใน Standard สีภายนอก ม่วง ภายในน้ำตาล/ดำ, ชมพู ภายในชมพู/เทา, เทา ภายในเทา/ดำ, และ ครีม ภายในน้ำตาล/ดำ รุ่น Extended 4 สีภายนอก เทา ภายในดำ/เทา, ชมพู ภายในชมพู/เทา, ฟ้า ภายในฟ้า/เทา และ ขาว ภายในดำ/เทา
นอกจากนั้น ยังมีลายล้ออัลลอยด์ ที่แตกต่างกันอีกด้วย Standard จะเป็นล้อสีทูโทน ลายใบพัด น็อต 4 รู เหมือนกันทั้งหมด แต่รุ่น Extended จะมีล้อ 2 ลาย คือ สีล้อทูโทนสลับสีเข้ากับสีตัวรถ น็อตล้อ 5 รู แต่พิเศษเฉพาะในสีตัวรถ Surge White + Atlantis Grey จะมีลายล้อสีทูโทน น็อตล้อ 5 รู ที่ดูสปอร์ตและแตกต่างจากทุกรุ่น
คุยหลังขับ
BYD DOLPHIN Extended Range ให้อารมณ์การขับขี่ที่แตกต่างจากรถเก๋งเล็ก ไม่ว่าจะเป็นรถพลังไฟฟ้า หรือ รถ ICE ทั่วไปอยู่พอควร ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องวัสดุภายใน ดูจะพิถีพิถันในการเลือกมาอย่างดี ผิวสัมผัสในแต่ละจุดไม่ให้ความรู้สึกเลยว่าด้อยกว่ารถในแบรนด์ใหญ่ พวงมาลัยทรงตัดหุ้มหนัง จับกระชับมือ ชุดมัลติฟังก์ชั่นมีครบ ควบคุมทั้งชุดเครื่องเสียง ไปจนถึงระบบความปลอดภัย
เบาะนั่งคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า สปอร์ตทรง Bucket Seat นั่งกระชับโอบร่างกายได้ดี แม้จะปรับไฟฟ้าได้ทั้ง 2 ตำแหน่ง แต่น่าเสียดายที่เบาะนั่งสั้นไปนิด ตำแหน่งตรงหัวเข่าต่ำไป และไม่สามารถปรับยกขึ้นได้ เบาะหลังใช้วัสดุเดียวกันกับ ด้านหน้า คือ หนังเทียมสลับกับหนังกลับ แต่ มีผิวสัมผัสที่ดีมาก นั่งสบาย หมอนรองศรีษะรับกับช่วงลำคอได้ดี แต่ถ้า ผู็โดยสารตอนหน้า ตัวสูง ขายาว ต้องปรับถอยมาสุด ก็มีอึดอัดแน่
ทีมบีวายดี อธิบายว่า เป็นดีไซน์ แบบสุนทรีนยศาสตร์แห่งมหาสมุทร คือ พยายามผสมผสาน ความอ่อนช้อย เรียบหรู ให้เข้ากับความสปอร์ต แต่ส่วนตัวคิดว่าคอนโซลด้านหน้า มันดูรก วุ่นวาย ไปหมด ในรุ่นที่เป็นโทนสีดำอาจจะดูลงตัว แต่แอบคิดไกลว่าว่าพวกภายในสีชมพู ด้วยดีไซน์มันจะไปคล้ายกับรถเก๋งตีตู้แต่งเครื่องเสียงสไตล์ไทยยุค 90 ที่คุ้นตา ส่วนวัสดุตรงคอนดซลหน้าที่คล้ายหนังกลับนั้น คิดว่า ดูแลยากเอาเรื่องเชียวละ
ช่องเก็บของและกานรวางตำแหน่งการใช้งานพื้นที่ทำได้ดีนะครับ ตำแหน่งวางแท่นชาร์จไร้สายใช้งานง่าย ช่องเก็บของและพร้อมเก็บฝุ่นมีเยอะมาก จุดเชื่อมต่อและชาร์จไฟมีมาให้เยอะแยะ ไม่ต้องแย่งกันทั้ง ด้านหน้าและหลัง จอกลางขนาดใหญ่โตตรงหน้า ทัชติดมือเชียวครับ ใช้งานไม่ยาก ไม่ต้องกดขยี้ซ้ำเพื่อสั่งงานมากมาย ส่วนฟังก์ชั่นหมุนจอ มีไว้ก็เท่ดี แต่ไม่มี ก็ไม่เดือดร้อนชีวิต มีจุดใช้งานยาก แทนที่จะง่าย คือ ชุดปุ่มควบคุมตรงกลางคอนโซล เน้นไปที่ดีไซน์ แต่การจะกดขึ้น-ลง ผมว่า มันดูวอแวชีวิตเกินไปนิด จะดีหน่อยก็ตรง ปุ่มเกียร์ทีทำผิวสัมผัสให้นูนขึ้นมา ใช้ปลายนิ้วสัมผัสก็รู็ว่า กดขึ้นกดลงได้
สมรรถนะเกินรูปร่าง
อารมณ์ตอนขึ้นไปนั่ง แอบคิดถึง การนั่งอยู่หลังพวงมาลัย ฮอนด้า แจ๊ซ อยู่นะครับ ทัศนวิสัยการมองเห็นดีเยี่ยมเลยละ เบาะรองรับสรีระร่างได้ลงตัว และด้วยความเป็นรถไฟฟ้า เป็นที่พอทราบกันดีแล้วว่า กดเป็นมา กดเป็นมา พละกำลัง 204 แรงม้า เรียกใช้ได้ทันใจ แม้จะเคลมว่าความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. แต่มันไปได้เยอะกว่านั้นเยอะเชียวครับ ลองครั้งแรกนึกว่าจะล็อคความเร็ว แต่ก็หาไม่ จนต้องยกเอง เพราะรถไซส์เล็กน้ำหนักเบา
ช่วงล่างแม้จะให้ความรู้สึกว่ามันนุ่มนวล แต่ใช้ความเร็วสูงแล้วต้องมีเปลี่ยนเลนเพื่อแซง มีอาการยวบอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รุนแรงมากจนน่ากังวล กดทางตรงยาว ๆ วิ่งเนียน ๆ เลยละ พวงมาลัยก็มีน้ำหนักที่ดี ไม่ได้คมกริบเวอร์วัง อลังการอะไร แต่ให้ความรู้สึกมันใจเวลาควบคุมสั่งการ เบรคต้องทำความรู้จักเยอะเชียวครับ อาจเป็นเพราะแรงม้ามันเยอะ หากเรากดหนักไปหน่อย มีหัวทิ่มหัวตำ ขับไปสักพักถึงจะเริ่มชินกับมัน
ระบบความปลอดภัย ADAS มาครบ มาเต็ม แต่บางอย่างก็อยากให้เซ็ตให้มีความพอดีสักนิด มันดี จนแอบสติเสีย จนหวาดระแวงไปหมด โดยเฉพาะกับระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องจราจร Lane Keeping Assist : LKA ทำงานเหมือน พ่อ แม่ ตะโกนห้ามเด็กห้ามเข้าใกล้ ปลั๊กไฟ เชียวละ
เมื่อไหร่ที่คุณแหยมเข้าไปใกล้เส้นถนน มันจะมีแรงเหมือนผีผลักแรง ๆ ที่พวงมาลัย กระตุกให้รถหักกลับเข้ามาจนตัวโยก หัวโยก เจอเข้าไปครั้งแรกตกใจเลยครับ อย่างที่บอกว่ารถน้ำหนักมันเบา แต่เจอแรงดึงกลับขนาดนั้น มันเลยรู้สึกเหมือนรถเสียอาการ
LKA สามารถปิดได้นะครับ แต่จะเป็นการปิดแบบชั่วคราว ดับเครื่องสตาร์ทใหม่ ก็กลับมาทำงานอีกครั้งโดยอัตโนมัติ ข้อดี คือ เค้าคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่แบบขั้นสุด แต่เบาการดึงเหมือนผีผลักนี้ลงไปได้สักนิด ก็คงดี
ระบบอื่น ๆ ผมว่ามันเจ๋งใช้ได้ บางตัวมันทำงานละเอียดคล้ายกับระบบในรถยุโรป อย่างเช่น ระบบเตือนการชนด้านหน้า Front Collision Warning : FCW เมื่อเราใช้ความเร็วสูง แล้วเซ็นเซอร์จับได้ว่ามันเร็วกว่าคันหน้ามากเกินไปและอาจเกิดอันตราย ระบบจะช่วยเบรกให้เราในทันที แม้เราจะคิดว่ามันปลอดภัยแล้วกับระยะรถคันหน้าที่อยู่ไกลมากพอสมควร ซึ่งอันนี้ดีครับ ผมว่ามันช่วยเพิ่มความระมัดระวังให้คนมากขึ้น เพราะด้วยความแรงของรถไฟฟ้า และไม่ได้มีเอนจินเบรก เหมือนรถ ICE ระบบบางอย่างจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเยอะ
ส่วนพวกเซนเซอร์ เตือนรถรอบคัน เสียงตุ๊งติ๊ง ๆ ที่ดังตลอดเวลา แม้จะจำมีหงุดหงิดบ้าง แต่นั่งฟังไปสักพัก ก็จะชินไปเองเหมือนเสียงแม่บ่น
รีวิว BYD DOLPHIN สรุปโดยรวม
ไม่นับเรื่องระยะการวิ่งที่อยู่ในระดับที่เป็นมาตรฐานปัจจุบัน ส่วนตัวคิดว่าเหล่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นใครและใคร ทั้งกลุ่ม ICE หรือ ไฟฟ้า อาจจะต้องทำการบ้านมาเยอะเพื่อแข่งขันหลังจากนี้ แม้ความต้องการของตลาด หรือผู้บริโภคจะแยกกันอย่างชัดเจน ระหว่างรถไฟฟ้าและน้ำมัน ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นการยกระดับรถเก๋งเล็กไปอีกขั้น ทั้งเรื่องวัสดุที่ใช้ งานประกอบที่ไม่แพ้ใคร ฟังก์ชั่น ออปชั่นความปลอดภัย ไปจนถึงสมรรถนะ มันเข้ามาแข่งขันในประเทศนี้ได้สบาย ๆ แล้วครับ
ส่วนที่เหลือก็คงจะย้ำ เหมือนคนอื่นที่กล่าวกันไว้ คุณภาพโชว์รูม คุณภาพบริการหลังการขาย ระยะเวลาการรออะไหล่ ระยะเวลาการรอซ่อม ราคาค่าซ่อมบำรุงดูแล คือ ตัวชี้วัดความไว้วางใจที่จะเกิดในอนาคตของผู้บริโภค
สุดท้ายขายดี ขายไม่ดี ไปว่ากันอีกทีตอนเปิดราคา ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ที่กำลังจะมาถึงนี้ สินค้าบ้านเรามันเยอะครับ ตัวเลือกเลยมาก ผู้บริโภคอาจคำนึงถึงคุณภาพสินค้าเป็นสำคัญก็จริงอยู่ แต่ราคามักมาก่อนเสมอ…
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ภาพ : ฝ่ายภาพ GRANDPRIX
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ได้ที่ www.grandprix.co.th