Rimac Nevera ไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้าที่พร้อมพุ่งทะยานด้วยกำลังและแอโรไดนามิกที่เหนือชั้น
ปี 2018 Rimac ผู้ผลิตรถไฟฟ้าในประเทศโครเอเชีย เคยเปิดตัวรถคอนเซ็ปต์ไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้าชื่อ C_Two ออกมา ซึ่งล่าสุดรถรุ่นได้ถูกเผยโฉมออกมาอีกครั้งในแบบเวอร์ชั่นสุดท้ายสำหรับการผลิตจริงแล้ว พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อสำหรับขายเป็น Nevera พร้อมมีการอัพเกรดหลายสิ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม
Rimac Nevera ซึ่งได้ชื่อมาจากภาษท้องถิ่นที่หมายถึงพายุที่รุนแรงและคาดการณ์ไม่ได้ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ได้รับการปรับปรุงหลายส่วนจากตอนเป็นรถคอนเซ็ปต์ โดยเริ่มตั้งแต่ส่วนของตัวรถกับแอโรไดนามิกที่ทางผู้ผลิตระบุว่ามีประสิทธิภาพดีขึ้น 34 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการเปลี่ยนรายละเอียดของฝากระโปรงหน้า รูปทรงของเสาเอ รวมไปถึงมีการออกแบบทั้ง Diffuser, Splitter และกระจังหน้าใหม่เพื่อเพิ่มแอโรไดนามิกและแรงกด นอกจากนี้ด้วยการออกแบบช่องนำอากาศเย็นเข้าใหม่ยังช่วยลดความร้อนให้กับทั้งเบรกและระบบขับเคลื่อนของรถเมื่อใช้ความเร็วต่ำได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และลดได้ 7 เปอร์เซ็นต์เมื่อใช้ความเร็วสูง
จุดเด่นในเรื่องแอโรไดนามิกของรถยังอยู่ที่การใช้หลายชิ้นส่วนแอโรไดนามิกแบบแอคทีฟบนตัวรถ ที่ทำให้ Nevera สามารถเปลี่ยนแอโรไดนามิกจาก High-Downforce หรือแรงกดสูงเป็น Low-Drag แรงฉุดต่ำเพื่อให้มีแอโรไดนามิกที่เหมาะกับลักษIะการขับได้ ซึ่งเมื่อแอโรไดนามิกของรถเป็น Low-Drag รถไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้าจากโครเอเชียจะลดการฉุดของแอโรไดนามิกลง 17.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.3 ในขณะที่กับแอโรไดนามิก High-Downforce ตัวรถจะถูกเพิ่มแรงกดขึ้นไม่น้อยกว่า 326 เปอร์เซ็นต์
แน่นอนว่า Rimac Nevera ไม่ได้มีดีและถูกปรับปรุงเพิ่มขึ้นจากตอนเป็นรถคอนเซ็ปต์แค่ในเรื่องแอโรไดนามิกเท่านั้น เพราะยังมาพร้อมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ทำเป็นพิเศษโดยเฉพาะสำหรับแต่ละล้อของรถ ซึ่งให้กำลังรวมกัน 1,914 แรงม้า และแรงบิดสูงสุดถึง 2,360 นิวตัน-เมตร ซึ่งด้วยกำลังในระดับนี้ทำให้ใช้เวลา 1.85 วินาที Nevera ก็พุ่งทะยานจากหยุดนิ่งไปถึงความเร็ว 96 กม./ชม. และใช้เวลา 4.3 วินาทีในการทำความเร็วไปถึง 161 กม./ชม. โดยที่หากไม่แตะเบรกรถจะไปถึงความเร็วสูงสุดที่ 412 กม./ชม.
ในส่วนแบตเตอรีแพ็กลิเธียม/แมงกานีส/นิกเกิลระบายความร้อนด้วยของเหลวขนาด 120 kWh ที่ถูกออกแบบให้มีรูปทรง H-shape โดย Rimac ให้ระยะการเดินทางได้ 547 กิโลเมตรต่อการชาร์จตามมาตรฐาน WLTP อย่างไรก็ตามทางผู้ผลิตไม่ได้บอกเกี่ยวกับการชาร์จพลังงานของแบตเตอรีไว้ แต่ระบุว่าแบตเตอรีถูกติดตั้งในตำแหน่งที่ต่ำและกลางของพื้นรถซึ่งเสริมให้รถมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำเป็นพิเศษ พร้อมกับช่วยให้รถมีการกระจายน้ำหนักหน้า/หลัง 48/52 เพื่อให้ความสมดุลย์ในการขับ
ทาง Rimac ต้องการให้รถไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้าของตนเป็นการรวมคุณภาพของรถแกรนด์ทัวเรอร์และเครื่องจักรสำหรับสนามแข่งเอาไว้ จึงมีการทำงานอย่างหนักเพื่อการปรับตั้งค่าของโหมดการขับต่างๆ ของรถ ซึ่งมี 7 โหมดให้เลือกคือ Sport, Drift, Comfort, Range, Track และอีก 2 โหมดคัสตอมเพื่อให้ผู้ขับรวมลักษณะต่างๆ ในการขับไว้ด้วยกันตามต้องการ รวมไปถึงมี AI Driver Coach ที่จะประเมินประสิทธิภาพและให้คำแนะนำเพื่อช่วยให้ผู้ขับปรับปรุงความสามารถในสนามแข่งได้ โดยการใช้ 12 เซ็นเซอร์อุลตร้าโซนิก กล้อง 13 ตัว และ 6 เรดาร์ ร่วมกับระบบปฏิบัติการ Pegasus ของ NVIDIA เพื่อสร้างรูปแบบของสนามแบบเรียลไทม์ สำหรับการให้คำแนะนำทั้งเสียงและภาพที่มีความชัดเจนละเอียดสำหรับช่วยให้ผู้ขับมีไลน์การขับ เบรก การเร่งความเร็ว และควบคุมพวงมาลัยที่สมบูรณ์แบบในสนาม
แม้จะเป็นไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้าที่ดูเหมือนจะเน้นการขับในสนามแข่ง แต่ Nevera ก็มีจอสำหรับผู้โดยสารโดยเฉพาะนอกเหนือจากจอแสดงข้อมูลผู้ขับและจอระบบ Infotainment ตรงกลาง ในขณะที่แผงแดชบอร์ดมาพร้อมกับสวิชต์ควบคุมเพื่อสร้างความรู้สึกอนาล็อกในห้องโดยสาร
ทั้งด้วยกำลังของรถ เทคโนโลยี แอโรไดนานิก รวมทั้งออฟชั่นให้เลือกแต่งได้ตามต้องการเพื่อให้เป็นเหมือนรถที่ผลิตโดยเฉพาะเพียงคันเดียว จึงทำให้ Rimac ตั้งราคาเริ่มต้นของ Nevera ไว้ที่ 2 ล้านยูโร โดยจะมีการผลิตจำกัด 50 คัน
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th