รถญี่ปุ่นโอนสัญชาติ ‘Rover 600 Series’—ตำนานรถอังกฤษที่คิดถึ๊ง… คิดถึง
การร่วมพัฒนา และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเกิดขึ้นในวงการรถยนต์มานานหลายทศวรรษ ทั้งยุโรป-สหรัฐฯ, สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น หรือญี่ปุ่น-ยุโรป ขึ้นอยู่กับว่าดีลกันได้ลงตัวรึเปล่า? และอีกหนึ่งรถยนต์จากทศวรรษ 1990 ที่หลายคนยังคงจดจำกันได้ Rover 600 Series เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างอังกฤษ-ญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษ 1990
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า Rover ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวกับ Land Rover สัญลักษณ์ของรถยนต์สายลุย แต่ช่วงหนึ่งทั้ง 2 บริษัทถูกถ่ายโอนจนมาอยู่ร่วมเครือเดียวกัน โดยสุดท้ายสิทธิ์ในแบรนด์ Rover เป็นของ Ford ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ก่อนจะถูกขายมัดรวมให้ Tata Motors ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของอินเดีย เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อ Jaguar และ Land Rover เมื่อปี 2008 อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันยังไม่มีแผนนำ Rover กลับมาทำตลาด คงเหลือเพียงชื่อ Roewe ในประเทศจีนที่เป็นการใช้สิทธิ์จากสมัย MG Rover Group ที่เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ต้องเล่ากันยาว
กลับมาสู่ Rover 600Series ที่เปิดตัวครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 1993 โดยเป็นการนำเวอร์ชั่นยุโรปของ Honda Accord เจเนอเรชั่น 5 มาปรับเปลี่ยนดีไซน์ภายนอกจากการออกแบบของทีมงาน Rover แต่ยกหน้าที่การผลิตให้โรงงานฮอนด้า ในเมืองสวินดอน
แม้ว่างานด้านวิศวกรรม และโครงสร้างหลักของรถยนต์ซีดานขนาดกลางรุ่นนี้จะเป็นหน้าที่ของ Honda แต่ทีมงาน Rover ได้เดินทางไปปักหลักที่ญี่ปุ่นเพื่อร่วมดูแลรายละเอียดอื่นๆ ทั้งการเลือกโทนสีตัวถัง และออปชั่นเพื่อให้รุ่นย่อยของรถยนต์ทั้ง 2 แบรนด์วางตำแหน่งทางการตลาดที่ไม่ทับซ้อนกัน
ทำให้ตลอดช่วงอายุการทำตลาด (ระหว่างปี 1993-1999) Rover 600 Series มีการปรับเปลี่ยนออกมามากกว่า 10 รุ่นย่อย โดยเครื่องยนต์เบนซินสี่สูบเรียง 1.8, 2.0 และ 2.3 ลิตร เป็นความรับผิดชอบของ Honda ในขณะที่เวอร์ชั่นเทอร์โบดีเซลใช้ขุมกำลัง Rover L-Series ที่พวกเขาเป็นผู้พัฒนา และเพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งระดับเครื่องยนต์ Rover เลือกใช้รหัสตัวเลขต่อท้ายอย่างเช่น 618 คือเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร หรือ 620 หมายถึง 2.0 ลิตร
ในบ้านเรา Rover 600Series เข้ามาทำตลาดภายใต้การดูแลของไทยอัลติเมทคาร์ บริษัทในเครือไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ ที่กำลังประสบความสำเร็จกับตลาดรถดัดแปลงอเนกประสงค์ พร้อมได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์รถอังกฤษแบบยกเซ็ตทั้ง Land Rover, Mini และ MG ตามมาด้วย
ภาพชุดแรกที่เรานำมาให้ผู้อ่าน Grand Prix Online เป็นงานเปิดตัว Rover 623 GSi ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) โดยสุภาพสตรีที่อยู่ในภาพคือ ดร. ปราณี เผอิญโชค ผู้บริหารคนสำคัญของไทยอัลติเมทคาร์ ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์
ในงานนี้ยังมีการนำ Rover 800 Series มาร่วมจัดแสดง โดยเท่าที่ผู้เขียนสอบถามข้อมูลมาได้โมเดลนี้มีการนำเข้ามาขายเช่นกัน แต่ด้วยรูปทรงที่ค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับ 600 Series แม้ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ Honda ร่วมพัฒนาอีกหนึ่งรุ่นก็ตาม
ในช่วงแรก Rover 600Series ค่อนข้างได้รับความนิยมจากคนไทยพอสมควร ด้วยดีไซน์ที่มีความสปอร์ต และความเป็นรถแบรนด์ยุโรปช่วยสร้างความหรูหราไฮโซให้เจ้าของตามค่านิยมของบ้านเรา แต่น่าเสียดายที่ปัญหาการดำเนินงานของ Rover Group ในประเทศอังกฤษที่ถูกขายต่อเป็นทอดๆ ในช่วงปี 2000 จนทำให้ไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่ออกมา และทำให้ไทยอัลติเมทคาร์ ต้องยุติการเป็นตัวแทนจำหน่ายไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตามด้วยการใช้พื้นฐานจาก Honda Accord ทำให้ปัจจุบันเรายังพอได้เห็น Rover 623 GSi อยู่บนท้องถนนของเมืองไทย จากความง่ายในการหาเครื่องยนต์ทั้งตรง และไม่ตรงรุ่นของ Honda มาใส่แทนหัวใจเก่าที่เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา รวมทั้งมีการเปิดเพจเฟซบุ๊ค Rover 623 Thailand เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และซื้อขายอะไหล่ระหว่างสมาชิกในกลุ่มอีกด้วย เรียกว่าเป็นรถยุค 90 อีกหนึ่งรุ่นที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทย…
ภาพการทดสอบ Rover 623 GSi โดยทีมงานนิตยสารกรังด์ปรีซ์ เมื่อปี 2542
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: GPI Photobank
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th