8 เรื่องที่ทุกคนเข้าใจผิดของรถยนต์ไร้คนขับ Self-driving Car
มีโอกาสที่รถยนต์ไร้คนขับ (Self-driving Car) จะกลายเป็นจริงในอนาคตอันใกล้หรือไม่? รูปแบบการเดินทางจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน? และผู้คนจะต้องปรับทัศนคติเพื่อยอมรับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในวงกว้างอย่างไร?
ทีมงาน The &Audi Initiative เปิดเผยผลการศึกษา “SocAIty” จากความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญ, การวิเคราะห์เจาะลึกลงสู่คำถาม และศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ทุกคนได้รับรู้ข้อมูลแบบเจาะลึกของเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย จนไม่รู้ว่าอะไรที่เป็นเรื่องจริง? และอะไรคือสิ่งที่ถูกแต่งเติมขึ้นมา? ด้วยความมุ่งมั่นของทีมงานที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง และสร้างการยอมรับในแง่บวกในเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับที่ใกล้จะมาถึง
Myth No. 1 ความเข้าใจผิดว่า: รถยนต์ไร้คนขับเหมือนรถยนต์ปกติ แค่ไม่ต้องขับเอง
ในความเป็นจริงระบบอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamic) นับเป็นองค์ประกอบสำคัญเมื่อพูดถึงระยะการขับของรถยนต์ไฟฟ้า นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบริษัทรถยนต์ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการดีไซน์ แนวทางที่รถยนต์หรืออะไรก็ตามที่เป็นพาหนะเพื่อการเดินทางที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเข้ามาโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปทรงจากในอดีตเท่าไร ถ้าจะพูดให้เคลียร์คือหลักการดีไซน์ในอนาคตจะให้ความสำคัญกับภายในรถยนต์มากขึ้น ความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก และหมายความว่าตำแหน่งที่นั่งอาจไม่เหมือนเดิมอย่างที่ผู้คนคุ้นเคยกันมาตลอด
อิสระของการดีไซน์ภายในห้องโดยสารจะเปิดโอกาสให้เพิ่มออปชั่นตามความชอบส่วนบุคคล ทั้งระบบการสื่อสารหรือความผ่อนคลาย, ทำงานหรือพักผ่อน พื้นที่ของผู้โดยสารจะเพิ่มมากขึ้นจากการตัดอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปอย่าง –แป้นคันเร่ง, เกียร์ และพวงมาลัย– ที่เตรียมจะกลายเป็นอดีต
“การเข้าสู่ยุคดิจิตัลเปิดโอกาสให้เราสร้างยานพาหนะที่ปลอดภัยกว่าเดิม, มีความเป็นส่วนตัว และแน่นอนว่าฉลาดมากขึ้น เป้าหมายของเราคือการนำเสนอรถยนต์ที่เชื่อมต่อเป็นเสมือนส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้า เรากำลังสร้างมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง – ด้วยการมอบเวลาให้พวกเขากลับคืนเพื่อจัดการสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญในชีวิตของแต่ละคน” Oliver Hoffmann สมาชิกบอร์ดบริหารฝ่ายเทคนิคของ Audi ให้ความเห็น
Myth No. 2 ความเข้าใจผิดว่า: เมื่อซอฟต์แวร์ได้รับการพัฒนาจนพร้อมใช้งาน รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสามารถเดินทางสู่ทุกจุดหมาย
การจะปล่อยรถยนต์ไร้คนขับออกสู่ถนนจะต้องผ่านการตรวจสอบความเสถียรของระบบการทำงาน และซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งทั้งหมดต้องมีความปลอดภัยไม่เพียงแค่รถยนต์เท่านั้น แต่เป็นสภาพแวดล้อมรอบด้าน สิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของมหานครทั่วโลก
เพราะในท้ายที่สุดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะถูกยกระดับสู่ไฟสัญญาณจราจรอัจฉริยะพร้อมทั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับมากมายบนท้องถนน เมืองต่างๆ จะเข้าสู่ยุคดิจิตัลพร้อมสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมของเมืองด้วยการเพิ่มจำนวนรถยนต์ไร้คนขับ สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เมือง และความผ่อนคลายให้ผู้คนจากการจราจรที่คล่องตัว ไม่มีรถติดหรืออุบัติเหตุ
“สิ่งนี้ไม่อาจเรียกว่าเป็นการปฏิวัติแต่เป็นวิวัฒนาการที่จะค่อยๆ ก้าวเดินไปในทิศทางที่ชัดเจนอยู่แล้ว” Eric Hilgendorf ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นในรายงาน SocAIty
Myth No. 3 ความเข้าใจผิดว่า: ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจะทำให้การขับรถหมดสนุก
ความเข้าใจผิดนี้หลักๆ มาจากความกังวลของผู้คลั่งไคล้รถยนต์ ทำให้การถูกลดบทบาทกลายเป็นผู้โดยสารที่ไม่มีสิทธิ์ควบคุมใดๆ ทำให้คนบางส่วนรู้สึกกลัวว่ารถยนต์ในอนาคตจะกีดกันไม่ให้พวกเขาขับรถข้ามประเทศเพื่อสัมผัสความสุขในแบบเก่าที่เท้าได้เหยียบคันเร่ง และมือควบคุมพวงมาลัยเหมือนในอดีต
แต่ความจริงเป็นเรื่องตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง: ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติไม่ได้ปิดฉากความสนุกของมนุษย์ยามอยู่หลังพวงมาลัย ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใดต้องการห้ามลูกค้าของพวกเขาขับรถยนต์ของตัวเองหากพวกเขาต้องการที่จะขับ เพียงแต่ว่าในอนาคตเจ้าของรถยนต์จะมีทางเลือกว่าจะขับด้วยตัวเองหรือปล่อยให้ระบบที่ติดตั้งมาทำงานแทนในช่วงเวลาที่น่าเบื่ออย่างรถติดบนทางด่วนหรือต้องจัดการธุระด่วนระหว่างที่คุณอยู่บนถนน
“เราต้องการเคลื่อนย้ายผู้คนไม่ใช่รถยนต์” Torsten Gollewski ผู้บริหารระดับสูงของ ZF บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมัน กล่าวว่ากับ SocAIty
Myth No. 4 ความเข้าใจผิดว่า: รถยนต์ไร้คนขับมีความเสี่ยงจะถูกแฮ็กเกอร์โจมตี
ไม่จริงเลย – รถยนต์ไร้คนขับไม่มีทางโดนเล่นงานง่ายขนาดนั้นหากเทียบกับรถยนต์ในปัจจุบัน แต่ต้องยอมรับว่าผลกระทบจากการถูกแฮ็กเกอร์โจมตีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมีความน่าวิตกกังวลมากกว่า ด้วยเหตุผลนี้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องพยายามพัฒนาระบบป้องกันเพื่อรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ และปกป้องระบบกลไกทั้งภายใน-ภายนอกรถยนต์ ให้ปลอดภัย
ด้วยความที่รถยนต์ถูกยกระดับสู่การเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงสู่ทุกสิ่งรอบด้าน ทำให้มีความพยายามในการสร้างระบบที่มีความเสถียร และอัพเดตระบบป้องกันทางไซเบอร์อยู่ตลอด ในเวลาเดียวกันรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน – ทั้งลดการใช้เชื้อเพลิง และมอบความสะดวกสบายที่มากขึ้น เพื่อสร้างสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
“ในตอนนี้ผู้คนในอุตสาหกรรมพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น แต่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาที่จะร่วมมือเพื่อวางระบบป้องกันตั้งแต่ดีไซน์เริ่มต้นไปจนถึงขบวนการทำงานด้านอื่นๆ และทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้อง” Sam Abuelsamid หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ ให้ความเห็นกับ SocAIty
Myth No. 5 ความเข้าใจผิดว่า: รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติช่วยลดพื้นที่จอดรถ
รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไม่ได้ใช้พื้นที่จอดน้อยกว่า แต่จะถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีจำนวนรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมากพอเพื่อใช้งานร่วมกัน (Sharing) เพื่อรับ-ส่ง ผู้คนเข้าสู่ย่านใจกลางเมือง โดยข้อมูลสนับสนุนจากหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของประเทศเยอรมัน – ทุกวันนี้รถยนต์ส่วนตัวจะถูกขับใช้งานจริงเฉลี่ย 1 ชั่วโมงต่อวัน
Myth No. 6 ความเข้าใจผิดว่า: เทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปข้างหน้า แต่กฎหมายเกี่ยวกับรถยนต์ไร้คนขับยังล้าหลัง
เป็นความจริงว่าเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในสหรัฐฯ หรือจีน มีความก้าวหน้ากว่าในเยอรมัน และประเทศในแถบยุโรป แต่ความจริงคือบรรดาผู้เกี่ยวข้องด้านกฎหมายของประเทศเยอรมันกำหนดกรอบกฎหมายควบคุมความปลอดภัยตั้งแต่รถยนต์ไร้คนขับเริ่มต้นพัฒนาเมื่อหลายปีก่อน โดยช่วงต้นปี 2017 กฎหมายอนุญาตให้ใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ SAE Level 3 (ผู้ขับขี่สามารถละสายตาจากถนน) และในเดือนมิถุนายน 2021 มีการร่างกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ใช้งานรถยนต์ไร้คนขับ Level 4 หรือระดับที่สูงกว่า (ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องควบคุมพวงมาลัยหรือสามารถนอนหลับได้ตลอดการเดินทาง)
กฎหมายพื้นฐานเหล่านี้เป็นก้าวแรกสู่ข้อกำหนดที่ครอบคลุมทุกด้านภายใต้ความมุ่งมั่นในการทำงาน โดยความจริงคือรัฐบาลกำลังร่างกฎหมายที่ไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่พยายามวางแนวทางโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
Uta Klawitter หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายของ Audi AG เปิดเผยว่า “นักกฎหมายเยอรมันทำงานรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในการกำหนดระบบต่างๆ ที่ต้องมีในรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และวางกรอบกฎหมายเบื้องต้นสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง”
Myth No. 7 ความเข้าใจผิดว่า: ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสามารถตัดสินใจแทนมนุษย์
หากพูดถึงระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ องค์ประกอบสำคัญจากมุมมองในปัจจุบันคือ – ไม่ใช่รถยนต์ที่ตัดสินใจ แต่เป็นมนุษย์ที่สร้างโปรแกรมควบคุม ทำให้รถยนต์ตอบสนองตามที่ซอฟต์แวร์กำหนด และจากผลการศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ารถยนต์มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากความผิดพลาดของมนุษย์มากกว่าความผิดพลาดของรถยนต์อย่างในกรณีความเหนื่อยล้าระหว่างขับรถทางไกล
หลายคนไม่แน่ใจกับคำถามว่าเครื่องจักรสามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดคำถามนี้กับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ จนทำให้มีการหยิบยก ‘Trolley Problem–ปัญหารถราง’ ข้อถกเถียงด้านจริยธรรมของชาวยุโรปที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษกับการตั้งคำถามว่าจะตัดสินใจอย่างไรหากต้องเลือกว่าจะสับรางเพื่อช่วยชีวิตคน 5 คนหรือคนเพียงคนเดียว การตัดสินใจแบบไหนที่เป็นคดีอาชญากรรม? คนขับไม่ควรตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น? หรือตัดสินใจเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด?
การมาถึงของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติทำให้คำถามเชิงจริยธรรมเก่าแก่ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง แต่ในการศึกษาผู้เชี่ยวชาญมองว่าประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือรถยนต์ไร้คนขับไม่ควรตัดสินใจภายใต้ระบบที่สร้างขึ้นมาในสถานการณ์ความเป็นความตายจากการที่ซอฟต์แวร์อาจถูกเขียนขึ้นตามหลักจริยธรรมของผู้พัฒนาเพียงคนเดียวเท่านั้น
“เราจะต้องก้าวผ่านสถานการณ์ความขัดแย้งเชิงทฤษฎีเพื่อแก้ไขปัญหาที่แท้จริงซึ่งส่งผลกระทบสู่ผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่งทั้งในแง่ของความเสถียร และการประเมินความเสี่ยง” Christoph Lütge นักปรัชญาเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นในรายงาน SocAIty
Myth No. 8 ความเข้าใจผิดว่า: ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาแพงจนคนทั่วไปหมดสิทธิ์ใช้งาน
การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับใช้งบประมาณมหาศาลจริง แน่นอนว่าในช่วงเริ่มต้นจนผ่านไปราว 4-5 ปี ยานพาหนะเจเนอเรชั่นใหม่นี้ย่อมได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ในระยะยาว – เมื่อบริษัทรถยนต์มีความพร้อมในการผลิต และควบคุมต้นทุนได้อย่างเหมาะสม ราคาจะเริ่มลดลงจนเท่ากับรถยนต์ในปัจจุบัน
อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญหากเข้าสู่ยุครถยนต์ไร้คนขับคือความปลอดภัยบนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และค่าประกันภัย รวมถึงความเปลี่ยนแปลงในการใช้ยานพาหนะโดยย่านธุรกิจใจกลางเมืองรถยนต์ไร้คนขับอาจจะถูกนำมาใช้แทนรถยนต์ส่วนบุคคลแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ในรูปแบบ Car Sharing เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และช่วยให้ต้นทุนในการผลิตลดลงในเวลาอันสั้น
“ผมเชื่อว่ามันจะมีทางเลือกมากมายในอนาคต มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมายเกิดขึ้น และแน่นอนว่าคุณจะมีรูปแบบบริการที่หลากหลายให้เลือกใช้งาน” Pete Bigelow นักข่าวรถยนต์มากประสบการณ์ให้ความเห็นกับ SocAIty
Audi ก่อตั้ง The &Audi Initiative ขึ้นมาในปี 2015 ด้วยความต้องการที่จะสนับสนุนให้ทีมงานคนรุ่นใหม่นี้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยอย่างปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ Autonomous Driving เพื่อสร้างการยอมรับเทคโนโลยีเหล่านี้ในระยะยาว และสร้างความเข้าใจแก่ผู้คนในสังคม
รถยนต์ไร้คนขับ Self-driving Car
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: audi-mediacenter.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
รถยนต์ไร้คนขับ Self-driving Car