Suzuki Celerio 1999 No Boundary Journey แข่งประหยัด แบบมินิเกม กรุงเทพ-เขาใหญ่ เฉลี่ย “27KM/L”
ยังจำได้เมื่อสมัยที่ Suzuki เปิดตัว Celerio รถยนต์คอมแพคคาร์ครั้งแรกตอน พ.ศ. 2557 ตอนนั้นเป็นยุคแรกของ Eco Car เครื่อง 1.2 ลิตร แต่ ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย เลือกที่จะเพิ่มเซ็กเม้นท์ใหม่ของขนาดเครื่องยนต์เบนซิน K10B ขนาด 1.0 ลิตร ซึ่งสร้างความปะหลาดใจให้กับคนไทย เพราะยุคนั้นขนาดเครื่องยนต์ยังเป็นตัวชี้วัดของพละกำลัง เครื่องยนต์ขนาดเล็กในรถยนต์ยังเป็นอะไรที่ใหม่มาก ต้องรอการพิสูจน์ตัวเอง แต่ด้วยกลยุทธ์การตั้งราคาเริ่มต้นเพียง 3.59 แสน ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และขยับขึ้นมาอีกสองรุ่นเป็นเกียร์อัตโนมัติให้เลือก ชูจุดเด่นประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดี มากกว่า 20 กม./ลิตร เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นทางเลือกที่คุ้มค่า ตอบโจทย์การใช้งานจริงในชีวิตประจำวันทุกวัตถุประสงค์ อาทิ การทำงาน และการเดินทางไปท่องเที่ยว
Suzuki Celerio กล่าวได้ว่าเป็นรถยนต์ในตลาดที่ถูกที่สุดนับจากนั้นมาถึงปัจจุบันถูกพัฒนาต่อมามีการปรับไมเนอร์เชนใหม่ จากการเก็บข้อมูลของลูกค้าให้ถูกใจทั้งการใช้การ และการขับขี่ ในปี พ.ศ. 2559 ยังมีเวอร์ชั่นตกแต่งพิเศษออกมาขาย ในชื่อ Suzuki Celerio Limited และในปี 2562 ปรับราคาจำหน่ายรถยนต์ Celerio เริ่มต้นเพียง 318,000 บาท พร้อมเผยโฉมรุ่นฉลอง 100 ปี ถึงตรงนี้รถเรียกว่ามีสภาพสมบูรณ์สุดๆ ทั้งเครื่องยนต์และเกียร์ส่งกำลังได้อย่างไหลลื่นต่อเนื่องจากการปรับใหม่ ล่าสุดในปี พ.ศ. 2564 แต่ยังคงคอนเซ็ป “เครื่องอึด ประหยัดจริง ไม่จุกจิก ราคาอะไหล่ไม่แพง” หลายคนเลือกรถรุ่นนี้มาเป็น “รถคันแรก” เพราะมันสามารถยกระดับการใช้ชีวิตในราคาที่เอื้อมถึง เมื่อเทียบเคียงค่าใช้จ่ายต่อการใช้งานในแต่ละปี “จ่ายถูกมาก” แต่ใช้งานได้เหมือนกัน ยิ่งในเมืองใหญ่การจราจรหน้าแน่น หรือการหาที่จอดรถก็สะดวก
ผ่านมา 7 เรายังเห็นรถรุ่นนี้ตั้งเด่นอยู่ในทุกงานโชว์ตัวของซูซูกิ และเพื่อเป็นการตอกย้ำหลังจากโกยยอดขายเกินคาดในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา ซูซูกิ เร่งจัดกิจกรรม “Suzuki Celerio 1999 No Boundary Journey” ชวนพิสูจน์สมรรถนะ เดินทางไปยัง 4 จังหวัด ใน 4 ภาคของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพฯ-ระยอง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา (เขาใหญ่) กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ ระยะทางรวมกว่า 1,999 กิโลเมตร เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ารถเล็กอย่าง Suzuki Celerio ก็สามารถเดินทางไกลได้สบายมาก ภายหลังที่รถรุ่นนี้ทำตลาดเติบโตสวนกระแสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยสภาพรัดเข็มขัดของผู้บริโภค และคนไทยมองหารถยนต์ที่คุ้มค่า “เพื่อการใช้งาน”
แม้จะมีมิติตัวรถเล็กกว่ารุ่นพี่ Suzuki Swift แต่การออกแบบให้ดูเหมือนรถทรงกล่องห้าประตู หลังคาสูง เกือบจะเป็น KCAR ในอุดมคติ ซึ่งถามว่าวันนี้มันดูสวยงามน่ารักแบบมินิมอล เสริมแต่งด้วยกระจังหน้าโครเมียม ไฟหน้าแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ ประตูข้างเปิดได้กว้าง ขึ้นลงสะดวก กระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้าสีเดียวกับตัวรถ ใส่ล้ออัลลอยขนาด 14 นิ้ว กับยาง 165/65R14 ในรุ่นท๊อป GX CVT ที่เหลือเป็นล้อกระทะ ในรุ่น GL กับ GA
ภายในที่นั่งถูกจัดวางเซ็ตไว้ 5 ตำแหน่ง มีเฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งมีข้อดีคือไม่จุกจิกอยากแต่งอะไรเพิ่มไปหาใส่เอา พวงมาลัยปรับระดับสูง-ต่ำได้แบบพาวเวอร์ไฟฟ้า มาตรวัดมีมาให้ครบพร้อม Information Display แสดงอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันได้ วัสดุหุ้มภายในโทนสีสว่าง ตัวรถแน้นความสูงของหลังคาทำให้บรรยากาศภายในไม่อึดอัด ไม่ถึงกับไหล่ชนไหล่ นั่งสบายไม่เมื่อย ถ้าเทียบรถในไซร์เดียวกันพูดได้ว่าห้องโดยสารกว้าง เบาะหลังพับได้ 60:40 พื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้าย 254 ลิตร มีช่องเก็บของและที่วางเครื่องดื่ม 5 ตำแหน่ง ส่วนระบบความบันเทิงได้เครื่องเล่น CD MP3 ให้ลำโพงคู่หน้าคู่หลังรวม 4 ตำแหน่ง และกระจกไฟฟ้า
ด้านสมรรถนะใช้เครื่องยนต์เบนซิน K10B ขนาด 3 สูบ 12 วาล์ว ขนาด 998 ซีซี. ให้กำลังสูงสุด 68 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 90 นิวตันเมตรที่ 3,500 รอบต่อนาที รองรับแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบแม็กเฟอร์สัน สตรัท พร้อมคอยล์สปริง ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม พร้อมคอยล์สปริง น้ำหนักรถ 820-825 กก.
ระบบความปลอดภัยพื้นฐานให้มาครบ ระบบเบรกหน้าดิสก์หลังดรัม เข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับอัตโนมัติ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า SRS ระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD ระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer System ไฟเบรกดวงที่สาม มียางอะไหล่แบบล้อกระทะให้มาด้วย โครงสร้างตัวถังแบบ TECT ถูกออกแบบให้เบาแต่แข็งแกร่ง ด้วยเหล็กพิเศษหลายชนิดในการกระจายแรงชน เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่
กรังด์ปรีซ์ได้ลองขับรถรุ่นนี้ในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนในกิจกรรม“ Suzuki Celerio 1999 No Boundary Journey” เราได้เส้นทางที่สาม กรุงเทพ- เขาใหญ่ ซึ่งเป็นการทดสอบความประหยัดจากการใช้จริง ตั้งแต่ช่วงเช้าผ่านการจราจรที่แสนติดขัดในเมืองจากย่านสาทรมุ่งหน้าขึ้นทางด่วนสู่สระบุรี ช่วงแรกใช้ความคล่องตัวจากมิติรถที่ได้เปรียบรถใหญ่ ขับสนุกอย่าบอกใคร โดยเฉพาะน้ำหนักคันเร่ง และการส่งกำลัง ณ ปัจจุบันต้องบอกว่าปรับมาสุดแล้วเฟิร์มมาก มีกำลังให้ใช้ตั้งแต่รอบต้นๆ แต่อยากได้แรงแบบเร่งแซงต้องเค้นหน่อยตามภาษารถเครื่องเล็ก ซึ่งต้องบอกว่าน้ำหนักตัวรถน้อย ก็ไม่ลำบากมาก การควบคุมพวงมาลัย วงเลี้ยวต่างๆ สะดวกสบายมาก (วงเลี้ยว 4.7 ม.) เชื่อว่ามือใหม่ที่เลือกรถรุ่นนี้ไปใช้งานต้องชอบ เป็นรถที่ขับง่าย และให้ทัศนวิสัยดีมาก ไม่เว้นแม้แต่เป็นคนนั่งหลัง ไม่อึดอัดเลย เข้าช่วงถนนไฮเวย์เพิ่มความเร็วเป็น. 90-110 กม. ต้องเร่งทำเวลาแม้จะเป็นการกำหนดให้ขับประหยัด แต่มีเวลาควบคุมไปไม่ทันคือไม่ผ่านกฎกติกา คิดวางแผนแล้วว่าไม่สามารถขับต่ำกว่านี้ได้เพราะคำนวณแล้วเวลาไม่พอ ต้องเพื่อรถติดช่วงสระบุรีตอนขึ้นเขาด้วย การใช้งานคันเร่งรอบนี้เน้นไม่หวือหวา แช่เท้ายาวๆ ไม่แซงถ้าไม่จำเป็น หรือไม่เบรกถ้าไม่ถึงข้อจำกัด หาช่องไปให้ได้ เน้นรักษารอบเครื่องยนต์ไม่ให้เกินสองพันรอบ เปิดแอร์เบอร์สองเย็นปรกติ ระยะทางถึงจุด Finish ที่ปากช่อง รวม 195 กม. ใช้เกณฑ์จากหน้าปัดรถ ดูจากอัตราสินเปลืองเฉลี่ย ทำได้ 27.7 กม./ลิตร. ถือว่าดีเกินคาด เพราะงานนี้มีผู้โดยสารรวมคนขับ 3 คน และสัมภาระสำหรับถ่ายทำ กระเป๋าเดินทาง ก่อนไปเที่ยวต่อหามุมถ่ายภาพสวยๆ แถวเขายายเที่ยง และเข้าที่พักเขาใหญ่ ระยะทางรวม ไป-กลับ 562 กม.
Suzuki Celerio ปี 2021 มีให้เลือก 4 สี ขาว ,เทา ,ดำ ,แดง ราคาจำหน่าย ณ ปัจจุบัน รุ่น GA/MT 328,000 รุ่น GL/CVT 408,000 และรุ่น GX/CVT 437,000
เรื่อง: ณัฐพล จีระมงคลกุล
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th