SUZUKI SWIFT GLX-Navi ย้อนรอยกำเนิดอีโคคาร์ การมาถึงของสวิฟท์เจนสาม!
โปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่สองเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2547 โดยกำหนดนิยามโครงการว่า Eco Car มาจากชื่อเต็มว่า Ecological Car มีความหมายว่ารถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน โดยกำหนดสเป็กหลักว่า ต้องเป็นรถที่มีความคล่องตัว จึงเป็นที่มาของขนาดรถที่มีความยาวอยู่ระหว่าง 3.6-4.0 เมตร อัตราความสิ้นเปลืองไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร ดังนั้น เครื่องยนต์จึงมีความจุไม่เกิน 1.3 ลิตรแบบเครื่องยนต์เบนซินและ 1.4 ลิตรในเครื่องยนต์ดีเซล และปล่อยมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ต้องไม่เกิน 120 กรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร จึงทำให้เกิดรถอีโคคาร์ขึ้นในไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2553 คือ นิสสัน มาร์ซ จนเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย หลังจากนั้นจึงมี Eco Car Phase2 เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในข้อกำหนดและให้ค่ายรถที่ตกขบวนใน Phase 1 ได้เข้าโครงการส่งเสริมการลงทุน จึงมีการเพิ่มข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้น เช่น การปล่อยมลภาวะต้องไม่เกิน 100 กรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร และอัตราความสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิงต้องประหยัดมากขึ้น ด้วยค่ากำหนดที่ 4.3 ลิตรต่อระยะทาง100 กิโลเมตร ส่วนเครื่องยนต์ดีเซล ปรับขนาดความจุจาก 1.4 ลิตร ให้เป็นความจุ 1.5 ลิตร แล้วไปเพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยมากขึ้น คือรถที่ผลิตจะต้องมีเบรก ABS และระบบควบคุมการทรงตัวในรถอีโคคาร์ทุกรุ่นที่ผลิตออกจำหน่าย
เมื่อย้อนนึกถึงเรื่องราวของรถยนต์สี่ล้อเล็ก ประมาณปี 2509 โตโยต้า 600 เครื่องยนต์ 2 สูบ 4 จังหวะ เข้ามาปรากฏโฉมเป็นครั้งแรกบนถนนเมืองไทย หลังจากนั้นอีก 1 ปี ฮอนด้าก็ได้เปิดตลาดด้วยรุ่น N360 ราคาในขณะนั้นประมาณ 34,900 บาท แล้วยังมีซูบารุ 360 ซีดาน 2 สูบ 2 จังหวะ ตามมาด้วย อาร์ทู ที่บริษัท สรรหิรัญ จำกัด เป็นตัวแทนนำเข้ามา นอกจากนี้ยังมีรถเล็กอีกหลายยี่ห้อ เช่น ไดฮัทสุ แม็กซ์ มิตซูบิชิ มินิกา หลั่งไหลกันเข้าสู่ตลาดรถเมืองไทย
สำหรับซูซูกิ มีจุดเริ่มต้นการจำหน่ายรถเล็กในปี 2518 โดยบริษัท สยาม อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น จำกัด โดยคุณพรพงษ์ พรประภา ค่ายสยามกลการนั่นเอง ด้วยการสั่งรถกระบะ ซูซูกิ แอล 50 และแอล 51 อีกปีต่อมาก็นำ จี๊ป ซูซูกิ แอลที 50 เข้ามา ตามมาด้วยรถยนต์นั่งขนาดเล็ก โมเดล เอสเอส 40 เข้ามาในปี 2523 ตามมาด้วย ซูซูกิ ฟรอนเต้ ซึ่งก่อนหน้านี้สั่งเข้ามาใช้ในกิจการของบริษัทบ้างแล้ว รถเล็กเหล่านี้ในตลาดขณะนั้นค่อนข้างจะเหนื่อยยากลำบากในการทำตลาด เพราะค่านิยมที่ยังไม่ยอมรับในมาตรฐานของรถเล็ก เป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย จึงหันไปใช้รถขนาดที่ใหญ่กว่า จึงเป็นที่มาของบทพิสูจน์ว่ารถเล็กก็สามารถเดินทางไกลได้ โดยการทดสอบรถซูซูกิ ฟรอนเต้ 2 คัน ไม่มีการแต่งอะไรทั้งสิ้น วิ่งข้ามประเทศ จากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่ เข้ามาเลเซีย ไปสุดที่สิงคโปร์ แล้วขับกลับกรุงเทพฯ รวมระยะทางกว่า 5,000 กม.ของสื่อรถยนต์ 4 ฉบับ เมื่อปี 2525 นั่นเป็นพัฒนาการของรถซูซูกิเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ รถยนต์ขนาดเล็กกลับมามีบทบาท มีความสำคัญมากขึ้นในสังคมเมือง ซูซูกิจึงได้เริ่มต่อวงจรอีกครั้ง ด้วยการขอเข้าโครงการผลิตรถอีโคคาร์และผ่านการอนุมัติจาก BOI เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2550 โรงงานก่อตั้งขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดระยอง Suzuki Swift 1.2 ผลิตออกจำหน่ายในเดือนมีนาคม 2555 และได้รับการตอบรับที่ดีมากจนต้องรอคิวยาวนาน สามารถสร้างกระแสความนิยมได้ไม่แพ้ค่ายอื่นๆ ในตลาด ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการนำรถซูซูกิ สวิฟท์ เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร จากประเทศอินโดนีเซีย เข้ามาจำหน่ายก่อนแต่ไม่ฮือฮา
จากการจำหน่ายมาอย่างยาวนานถึง 6 ปี ก็ถึงคิว Swift โฉมใหม่ เจเนอเรชันที่ 3 ในไทย ที่แนะนำเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นรถอีโคคาร์ เฟส 2 โฉมใหม่ในตลาดคันล่าสุด ที่กรังด์ปรีซ์นำเสนอเป็นรุ่น GLX-Navi รุ่นท็อปสุด จำหน่ายในราคา 629,000 บาท รูปลักษณ์ภายนอกมีการปรับเปลี่ยนส่วนหน้า เช่น กระจังหน้าให้เป็นทรงหกเหลี่ยม มีเส้นสีแดงตรงกลางกระจังหน้า แบ่งครึ่งหน้ากระจังส่วนบนลายแบบรังผึ้ง ส่วนล่างทึบ เป็นที่ติดตั้งป้ายทะเบียน ไฟหน้าเฉี่ยวขึ้นเป็นไฟ LED โปรเจ็กเตอร์ ปรับระดับสูง-ต่ำ ได้ มีไฟ Daytime Running Light และมุมกันชนทั้งซ้ายและขวาก็เป็นที่ตั้งของไฟตัดหมอก แนวด้านข้างมีเสน่ห์มากขึ้น เสาหลังคาทั้งหน้า – กลาง – หลัง เล่นโทนสีดำ โดยเฉพาะการดีไซน์ของเสาหลังคาหลัง หรือเสา C-pillar ด้วยกรอบพลาสติกสีดำโค้งเว้าต่อรับกับกรอบกระจกของประตูบานหลัง ซ่อนมือจับประตูไว้บริเวณส่วนบนของกรอบประตูหลัง ไฟท้าย LED รับกับส่วนท้าย ภาพลักษณ์โดยรวมจึงสวยเด่นกว่าเดิม
ภายในห้องโดยสารยังคงเล่นโทนสีดำ แผงหน้าปัดขึ้นรูปพลาสติกล้วน ดูแข็ง แต่ดีไซน์ใหม่หมด ถูกออกแบบให้ดูสปอร์ต พวงมาลัยที่ส่วนล่างตัดให้ตรง ซึ่งเป็นแบบเดียวกับพวงมาลัยในรถแข่ง ขนาดกำลังพอเหมาะกับมือ หุ้มหนัง พร้อมปรับ 4 ทิศทาง สูง-ต่ำ ใกล้-ไกล ได้ ให้ความรู้สึกที่ดีในการควบคุมรถ แถมมีปุ่มปรับเครื่องเสียง สวิตช์ควบคุมระบบความเร็วคงที่ Cruise Control และมีปุ่มใช้ควบคุมโทรศัพท์มาให้อีกด้วย แผงมาตรวัดออกแบบเป็นมาตรวัดทรงกลมขนาดใหญ่ 2 วง ภายในยังมีมาตรวัดขนาดเล็กซ่อนอยู่ และตรงกลางระหว่างมาตรวัดจะมีจอมอนิเตอร์แสดงผลอัตราความสิ้นเปลือง นาฬิกา อุณหภูมิภายนอก ระยะทางที่เหลือ และมาตรวัดระยะทางรวม มาตรวัดระยะทางทริป A และ B ช่องแอร์ตรงกลางเปลี่ยนมาใช้รูปทรงกลม กระจายลมได้ดี จอมอนิเตอร์ขนาด 7 นิ้ว กลางแผงหน้าปัด แบ่งเป็น 4 ฟังก์ชันหลัก คือ ควบคุมชุดเครื่องเสียงทั้ง AM/FM, MP3 และ WHA ต่อมาเป็นฟังก์ชันระบบแผนที่นำทางหรือเนวิเกเตอร์ อีกฟังก์ชันใช้สำหรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth และสุดท้ายเป็น Apple CarPlay รองรับการใช้งาน iPhone รุ่นต่างๆ ใต้จอมอนิเตอร์กลางแผงหน้าปัดลงมาเป็นชุดควบคุมระบบปรับอากาศ ออกแบบเป็นรูปวงกลม 3 วง วงซ้ายสุด ปรับความแรงของลม และเป็นปุ่มสวิตช์ไล่ฝ้ากระจกหน้าและหลัง วงกลมตรงกลาง แจ้งข้อมูลระดับอุณหภูมิ ความแรงของลม ทิศทางลม และการหมุนเวียนของอากาศ ส่วนวงกลมขวา จะเป็นตัวควบคุมระดับความเย็นและปรับเป็นออโต้ หลังคอนโซลกลางก็จะโล่งๆ ไม่มีที่เท้าแขน เบาะนั่งหุ้มด้วยผ้า เบาะนั่งคู่หน้าทรงเบาะพยายามเสริมปีกด้านข้างทั้งตัวเบาะรองนั่ง และพนักพิงหลังเหมือนบักเก็ตซีต ส่วนเบาะหลังออกแบบเรียบๆ แม้ว่าจะมีหมอนอิงศีรษะมาให้ครบ 3 ที่ ซึ่งใช้งานได้พอประมาณ พนักพิงหลังลาดเอียงกว่ารุ่นเดิมเล็กน้อย กว้างขึ้น พื้นที่วางขาสบายขึ้น นั่งแล้วไม่อึดอัดเหมือนรุ่นที่แล้ว
เบาะนั่งหลังสามารถแบ่งพับลงในอัตรา 60:40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ขนสัมภาระสำหรับพื้นที่ส่วนท้าย มีพื้นที่ให้เก็บสัมภาระได้อย่างพอเหมาะตามอัตภาพ วัดความสูงจากขอบล่างถึงขอบบนของช่องประตูหลังประมาณ 860 มม. ความลึกจากขอบประตูหลังถึงพนักพิงหลังของเบาะหลังลึก 600 มม. คำนวณแล้วมีความจุประมาณ 265 ลิตร พอใส่กระเป๋า ใส่ถุงกอล์ฟได้ แต่ถ้าไม่พอ พับเบาะหลังลง พื้นที่ส่วนลึกจะเพิ่มจาก 600 เป็น 1,480 มม. และส่วนกว้างก็ขนาด 1,000 มม. ส่วนที่เก็บยางอะไหล่จะมีชุดเครื่องมือแม่แรงมาให้แต่ไม่มียางอะไหล่ ขนาดมิติของรถเทียบกับของเดิมความยาวของรถสั้นลง 10 มม. ยาวแค่ 3,840 มม. แต่กว้างขึ้น 40 มม. ขยายเป็น 1,735 มม. และเตี้ยลง 15 มม. มีส่วนสูง 1,495 มม. โดยมีฐานล้อยาวขึ้น 20 มม. ยึดยาวขึ้นเป็น 2,450 มม. ลดขนาดความจุถังน้ำมันเหลือแค่ 37 ลิตร ทำให้รถรุ่นนี้มีน้ำหนักรวมแค่ 910 กก.
นอกจากโครงสร้างตัวถังและรูปลักษณ์ที่ปรับเปลี่ยนใหม่หมดในเจเนอเรชันนี้แล้ว เครื่องยนต์ก็เป็นจุดเด่นของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เครื่องยนต์รหัสใหม่ K12M ที่มีปริมาตรความจุ 1,197 ซี.ซี. เป็นเครื่องเบนซิน แถวเรียง 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ที่มีกำลังสูงสุด 83 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ แรงบิดสูงสุด 108 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบ และมีกำลังอัด 11.5:1 พร้อมเทคโนโลยี DUAL JET หัวฉีดคู่ เพื่อฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ได้ประสิทธิภาพที่มากขึ้น เผาไหม้หมดจด แถมด้วยระบบ EGR ที่นำไอเสียหมุนเวียนกลับมาเผาไหม้อีกครั้ง เพื่อให้ไอเสียปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยลง และสามารถผ่านเกณฑ์กำหนดของรถ Eco Car เฟส 2 ทำงานร่วมกับระบบส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT
เข้าสู่โหมดของการทดสอบ สวิฟท์ ใหม่ ความรู้สึกในทุกแง่มุมสามารถเปรียบเทียบออกมาได้ชัดเจน เพราะขับรุ่นเจนฯ 2 บ่อยมาก รูปลักษณ์ภายนอกทันสมัย สวยงามดี ภายใน ชอบพวงมาลัยที่ออกแบบได้ถูกใจ ปุ่มต่างๆ บนพวงมาลัยช่วยอำนวยความสะดวกได้ดี แถมหน้าปัดดีไซน์ทันสมัย มาตรวัดต่างๆ ใช้งานง่ายขึ้น รวมถึงหน้าจอมอนิเตอร์กลางโดดเด่น เครื่องเสียงใช้งานง่าย ระบบเสียงใช้ได้เลย ช่วงของคอนโซลกลางมีที่วางแก้วน้ำกว้าง สะดวกในการใช้งาน เสียดายไม่มีกล่องเก็บของพร้อมที่เท้าแขนระหว่างเบาะนั่งคู่หน้า ซึ่งรถ Eco Car ส่วนใหญ่จะตัดอุปกรณ์ตัวนี้ออก เบาะนั่งสบายก็จริงแต่นิ่มไปหน่อย การเข้า-ออก ห้องโดยสารประตูหลังยังไม่สะดวกเหมือนเดิม เพราะประตูหลังมีพื้นที่จำกัด ทัศนวิสัยโดยรวมก็ดีกว่าโฉมเดิม แต่ยังมีจุดบอดพอควร โดยเฉพาะด้านซ้าย กระจกส่องข้างจะเห็นไม่หมด
การขับขี่ พวงมาลัยบังคับเลี้ยว ตลอดจนความแม่นยำใกล้เคียงกับของเดิม แทบจะไม่แตกต่างทั้งน้ำหนักและวงเลี้ยว แต่อัตราเร่งนี่ซิ เห็นชัดเจนว่าดีกว่าเดิม ทั้งๆ ที่ความจุของเครื่องยนต์เล็กกว่าเดิม 45 ซี.ซี. กำลังก็หายไปถึง 8 แรงม้า แรงบิดก็น้อยกว่าถึง 10 นิวตันเมตร แต่ตัวถังเบากว่าเดิม 65 กก. จึงเป็นเหตุผลให้ สวิฟท์ ใหม่ ให้การตอบสนองที่ดีกว่าเดิม เมื่อเทียบน้ำหนักต่อแรงม้า สบายใจขึ้นเวลาที่ต้องการเร่งแซง การเปลี่ยนเกียร์ต่อเนื่อง นุ่มนวลกว่าเดิม จะมีบ้างในช่วงปล่อยไหล ความเร็วต่ำ มีอาการกระตุกนิดๆ ให้รู้สึกบ้าง
ระบบกันสะเทือนในรถขนาดเล็กก็ใช้ระบบเหมือนกัน คือ ชุดหน้าเป็นแม็คเฟอร์สัน หลังเป็นทอร์ชันบีม การปรับเซตก็ใกล้เคียงของเดิม การเก็บเสียงดูดซับแรงกระเทือนดีกว่าเดิม แต่การวิ่งผ่านลูกระนาดยังกระด้างเหมือนเดิม ตามการปรับตั้งให้แข็งในแนวสปอร์ต เพื่อการทรงตัวที่ดีกว่านั่นเอง
แต่ทุกการทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าโค้ง การยึดเกาะถนน ความคล่องตัวในการขับขี่ก็ใช้ได้นะครับ จะมีบ้างในช่วงความเร็วสูงที่เจอลมปะทะด้านข้าง ก็มีอาการเป๋เป็นเรื่องธรรมดาของรถขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ระบบความปลอดภัยก็พอใจกับระบบต่างๆ ที่จับมาใส่ในรถรุ่นนี้ ชนิดที่ว่ารถใหญ่บางรุ่นยังไม่มีเลย คือมีทั้งระบบ ESP ที่ใช้ควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีหรือ TCS แถมระบบรถที่มาครบทั้ง ABS และ EBD และยังมีตัวช่วยเวลาออกรถบนทางลาดชันไม่ให้ไหล ที่เรียกว่า Hill Hold Control นอกจากนี้ยังมี Idling Stop มาช่วยเพิ่มความประหยัด แต่บางคนก็ไม่ชอบระบบหยุดๆ ดับๆ นี้ ก็สามารถ off ได้เช่นกัน
รอบเครื่องยนต์ค่อนข้างจะต่ำ ลองขับในรอบเครื่องยนต์ 1,000 รอบ/นาที ระดับความเร็วอยู่ที่ 50 กม./ชม. และในระดับความเร็ว 100 กม./ชม. รอบเครื่องอยู่ที่ 1,800 รอบ/นาทีเท่านั้น เมื่อเทียบกับรุ่นเก่าซึ่งสูงกว่านี้อย่างแน่นอน อัตราความสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิง วัดการใช้งานในเมืองที่ไม่ค่อยจะคับคั่งนัก เพราะใช้เส้นทางแถบชานเมือง รวมระยะทาง 214.9 กม. บริโภคน้ำมันไป 13.11 ลิตร เฉลี่ยประมาณ 16.39 กม./ลิตร ประหยัดดีครับ
“สรุปว่า เป็นรถอีโคคาร์ที่น่าใช้ โดยเฉพาะคนที่ใช้ สวิฟท์ โฉมเดิม ได้เวลาเปลี่ยนรถไปเทิร์นรุ่นนี้มาขับได้เลย การันดีว่าต้องชอบแน่”
แบบเครื่องยนต์ รุ่น K12M แถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC พร้อม DUAL JET
ปริมาตรความจุ (ซี.ซี.) 1,197
ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก (มม.) 73.0 x 71.5
อัตราส่วนการอัด 11.5 :1
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รอบ/นาที) 83/6,000
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร/รอบ/นาที) 108/4,400
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง หัวฉีดมัลติพอยต์
ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
ระบบเกียร์ อัตโนมัติ CVT อัตราทด 4.006-0.550
ระบบพวงมาลัย แร็ค แอนด์ พิเนียน
ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมคอยล์สปริง
ระบบกันสะเทือนหลัง ทอร์ชันบีม พร้อมคอยล์สปริง
ระบบเบรก หน้า/หลัง ดิสก์ 4 ล้อ พร้อม ABS, EBD
มิติรถ (กว้าง x ยาว x สูง) มม. 1,735 x 3,840 x 1,495
ความยาวของฐานล้อ (มม.) 2,450
ขนาดยาง 185/55R16
ราคาจำหน่าย 629,000 บาท
เรื่อง ภิญโญ ศิลปศาสตร์ดำรง
ภาพ กวาง Danai Jampawan