Team Mitsubishi Ralliart ทดสอบความแกร่งรถแข่ง Triton Rally Car พร้อมสู้ศึกเอเชีย ครอสส์ คันทรี แรลลี่ 2022
Team Mitsubishi Ralliart ทดสอบความแกร่งรถแข่ง Triton Rally Car พร้อมสู้ศึกเอเชีย ครอสส์ คันทรี แรลลี่ 2022 ในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น แถลงว่าทีม มิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคจากมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประสบความสำเร็จในการทดสอบสมรรถนะ และความแกร่งของรถแข่งมิตซูบิชิ ไทรทัน แรลลี่คาร์ บนเส้นทางทดสอบแบบออฟโรดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 27–28 มิถุนายน 2565 พร้อมยืนยันถึงความพร้อมในการเข้าร่วมชิงชัยในรายการ Asia Cross Country Rally 2022
การทดสอบในครั้งนี้ได้จำลองลักษณะเส้นทาง และการบรรทุกสัมภาระต่างๆ ให้เสมือนกับสถานการณ์การแข่งขันจริง เพื่อทำการทดสอบสมรรถนะและความทนทานของระบบช่วงล่าง และเครื่องยนต์ โดยการทดสอบสมรรถนะของรถแข่งแรลลี่ในครั้งนี้ เราได้จำลองสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับเส้นทางการแข่งขันจริง โดยมีระยะวิ่งทดสอบรวม 10 กิโลเมตร ประกอบด้วย ถนนทางเรียบที่ต้องใช้ความเร็วสูง ถนนขรุขระ รวมทั้งถนนขนาดเล็กที่มีความคดเคี้ยวเพื่อลุยผ่านป่า และภูเขา
ฮิโรชิ มาซูโอกะ ผู้อำนวยการ Team Mitsubishi Ralliart กล่าวว่า “มิตซูบิชิ ไทรทัน มีระบบช่วงล่างที่แข็งแกร่งพร้อมสมรรถนะการขับขี่ที่ยอดเยี่ยม โดยเราได้ตัดสินใจลดน้ำหนักของตัวรถลงให้ได้มากที่สุด แต่ยังคงไว้ซึ่งความแกร่งและความทนทาน เพื่อให้สามารถรองรับการปรับแต่งสมรรถนะในแบบรถแข่งแรลลี่ให้ได้มากที่สุด การที่ได้ทดสอบขับรถแข่งแรลลี่คันนี้ไปแล้วกว่า 800 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลาทั้ง 2 วัน ได้แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะอันยอดเยี่ยมตลอดเส้นทางการทดสอบที่สมบุกสมบันซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นไปตามที่เราได้ตั้งเป้าไว้ ทั้งนี้เรายังมั่นใจอีกว่าการเตรียมความพร้อมของเราได้ดำเนินมาถูกทางตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้”
เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ เป็นหนึ่งในการแข่งขันแรลลี่แบบครอสคันทรีสุดหฤโหดนาน โดยใช้ระยะการแข่งขันนานราว 1 สัปดาห์ และมีระยะทางการแข่งขันรวมกันทั้งสิ้นกว่า 2,000 กิโลเมตร บนเส้นทางธรรมชาติที่มีความสลับซับซ้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปกติแล้วการแข่งขันรายการดังกล่าวนี้จะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้การแข่งขันฯ ในปี 2563 และ 2564 ต้องถูกยกเลิกไป
สำหรับในปีนี้การแข่งขันฯ ได้ถูกเลื่อนไปจัดในระหว่างวันที่ 21–26 พฤศจิกายน 2565 โดยมีระยะทางการแข่งขันราว 1,700 กิโลเมตร และเริ่มการแข่งขันที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ก่อนข้ามพรมแดนมุ่งหน้าสู่ประเทศกัมพูชา และสิ้นสุดการแข่งขันที่แหล่งมรดกโลกที่สำคัญอย่าง ปราสาทนครวัด
ภาพรวมของ Mitsubishi Triton Rally Car
มิตซูบิชิ ไทรทัน แรลลี่คาร์ จัดเป็นรถแข่งในรุ่น T1 (รถแข่งแบบครอสคันทรี รุ่นโปรโตไทพ์) ตามหลักการตัดสินของสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) โดยเป็นรถแข่งที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของรถกระบะ มิตซูบิชิ ไทรทัน รุ่น 4 ประตู โดยฝากระโปรงหน้า ประตูหน้า และประตูหลัง รวมถึงห้องโดยสารและชิ้นส่วนต่างๆ ถูกลดน้ำหนักลงเพื่อให้ตัวรถมีน้ำหนักเบาที่สุด
ขณะที่ตัวรถยังได้รับการเสริมความแข็งแรงด้วยโครงเหล็กนิรภัย และแผงกันกระแทกใต้ท้องรถ ช่วงล่างปรับปรุงใหม่ เพื่อเพิ่มสมรรถนะการควบคุมให้ดีมากยิ่งขึ้น ติดตั้งเพิ่มระบบล็อกเฟืองหน้าและท้าย (LSD) พร้อมใส่ยางออฟโรดขนาดใหญ่ และล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ที่มีน้ำหนักเบา ช่วยเพิ่มสมรรถนะการควบคุมบนถนนที่ขรุขระได้อย่างดีเยี่ยม
เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 2.4 ลิตร ปรับปรุงใหม่ เพื่อลดน้ำหนักและลดแรงเสียดทาน พร้อมเพิ่มสมรรถนะอัตราการเร่งที่ตอบสนองได้เร็วขึ้นกว่าเดิมในย่านความเร็วกลาง ซึ่งมีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการขับแข่งขันประเภทแรลลี่ พร้อมกันนี้ยังได้ทำการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถทนต่อการลุยน้ำ เพราะในบางช่วงของการแข่งขันฯ นักแข่งจำเป็นที่จะต้องขับลุยฝ่าข้ามแม่น้ำ ดังนั้นการซีลปิดผนึกเครื่องยนต์ที่มิดชิด พร้อมทั้งการติดตั้งสน็อกเกิลท่อกรองอากาศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
Triton Rally Car Specification
>> ความยาว 5,300 มม.
>> ความกว้าง 1,815 มม.
>> ระยะฐานล้อ 3,000 มม.
>> ระยะห่าง (หน้า/หลัง) 1,520 มม./1,515 มม.
เครื่องยนต์: รหัส 4N15 เครื่องยนต์ 4 สูบ ดีเซล เทอร์โบ MIVEC
>> หัวฉีดเชื้อเพลิง คอมมอนเรล หัวฉีดแรงดันสูง ความจุ 2,442 ซีซี
>> พละกำลังสูงสุด 133 กิโลวัตต์ แรงบิดสูงสุด 430 นิวตันเมตร
>> ระบบส่งกำลัง: เกียร์ธรรมดา 6 สปีด
>> ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Super Select 4WD-II
>> ระบบล็อกเฟือง CUSCO แบบ LSD หน้าและท้าย
>> ช่วงล่าง: ด้านหน้าแบบอิสระ ดับเบิลวิชโบน พร้อมคอยล์สปริง, ด้านหลังแหนบพร้อมโช๊คอัพแบบไขว้
>> โช๊คอัพ: ด้านหน้า และด้านหลังสามารถปรับระดับได้ของ CUSCO
>> ระบบบังคับเลี้ยว: แบบแร็คแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
>> ระบบเบรก: ดิสก์เบรกหน้า และหลังแบบมีช่องระบายความร้อน ENDLESS พร้อมคาลิปเปอร์ 4 สูบ
>> ล้อ: อลูมิเนียมอัลลอย ขนาด 17 นิ้ว x 8J ของ WORK
>> ยาง Yokohama GEOLANDAR M/T G003 ขนาด 265/70 R17
>> รายละเอียดเพิ่มเติม: ฝากระโปรงหน้า, ประตูหน้า และประตูหลังผลิตขึ้นรูปจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์
บริษัทผู้ให้การสนับสนุน
ทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท เข้าแข่งขันรายการ เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ 2022 ด้วยการสนับสนุนจากเหล่าพันธมิตรผู้ให้การสนับสนุน 8 บริษัท (เรียงตามลำดับตัวอักษร)
>> CARROSSER Co., Ltd.: สนับสนุนระบบกันสะทือน CUSCO พร้อมโช้คอัพด้านหน้าและหลัง รวมถึง ระบบล็อกเฟืองหน้าและท้ายแบบ LSD
>> ENDLESS PROJECT Co., Ltd.: สนับสนุนคาลิเปอร์เบรก ดิสก์เบรก และผ้าเบรก
>> ENEOS Corporation: สนับสนุนน้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่อง และน้ำมันหล่อลื่นต่างๆ
>> Fortec Motorsport Ltd: สนับสนุนระบบน้ำหล่อเย็นสำหรับรถแข่ง
>> HANKYU HANSHIN EXPRESS Co., Ltd.: สนับสนุนการขนส่งชิ้นส่วนพิเศษสำหรับการแข่งแรลลี่มายังประเทศไทย
>> HKS Co., Ltd.: สนับสนุนการพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับการแข่งแรลลี่
>> The Yokohama Rubber Co., Ltd.: สนับสนุนยาง GEOLANDAR M/T G003 ยางลุยโคลนสำหรับรถกระบะ
>> Work Co., Ltd.: สนับสนุนล้อรถ สำหรับการแข่งขัน
ภาพรวมการแข่งขัน
การแข่งขัน เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ ครั้งที่ 27 จะเริ่มเปิดฉากการแข่งขันอย่างเป็นทางการด้วยพิธีเปิดฯ ที่จะถูกจัดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ใกล้กับชายแดนประเทศกัมพูชา ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 โดยการแข่งขันจะเริ่มขึ้นจริงในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565
ทั้งนี้ช่วงแรกของสนามแข่งขันจะถูกจัดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากนั้นจะมุ่งหน้าสู่ประเทศกัมพูชาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 และสิ้นสุดการแข่งขันในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ที่จังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัด แหล่งมรดกโลกที่สำคัญ
ทั้งนี้ระยะทางการแข่งขันในแต่ละปีจะครอบคลุมระยะทางมากกว่า 1,700 กิโลเมตร และในปีนี้เส้นทางการแข่งขันจะยังคงความทรหดเหมือนเช่นเคย ด้วยสภาพเส้นทางที่หลากหลาย ทั้งเส้นทางที่ต้องขับตะลุยผ่านภูเขา ป่าทึบ ดินโคลน ข้ามแม่น้ำ และเนินทราย รวมทั้งบนถนนเซอร์กิตที่ต้องอาศัยทักษะการควบคุม และสมรรถนะความแกร่งขั้นสูงสุด โดยทักษะของทั้งผู้ขับขี่ และทีมงานจะถูกทดสอบอย่างต่อเนื่องด้วยเส้นทางการแข่งขันที่มีความสลับซับซ้อน พร้อมด้วยสภาพภูมิอากาศที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติตลอดเส้นทางการแข่งขัน
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย/library.mitsubishi-motors.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th