Test Drive New Mazda BT50 2025 มีดีตรงไหน ต่างกับ D-Max อย่างไร
Test Drive New Mazda BT50 2025 มีดีตรงไหน ต่างกับ D-Max อย่างไร หลังจากที่เปิดตัว New Mazda BT-50 ไปได้สักระยะ วันนี้เราได้มีโอกาสได้เข้าร่วมการทดลองขับ New Mazda BT-50 เครื่องยนต์ใหม่ทั้ง 3.0 และ 2.2 บนเส้นทางกรุงเทพ-แก่งกระจาน โดยมีทั้งเส้นทางในเมือง นอกเมือง ขึ้น-ลงเขา และเส้นทางธรรมชาติ เรียกได้ว่าครบรสกันเลยทีเดียว
ก่อนที่เราจะไปทดลองขับกันเรามาทำความรู้จักกับมาสด้า บีที 50 ใหม่คันนี้กันก่อนเลยดีกว่า อย่างที่เราทราบกันครับว่า Mazda BT-50 นั้นคือน้องชายฝาแฝดของ Isuzu D-Max ที่ใช้ทั้งโครงสร้าง เครื่องยนต์ ระบบช่วงล่าง ร่วมกันทั้งหมด เรียกได้ว่ายกมา 100% เลยทีเดียว จะแตกต่างกันก็แค่เรื่องการดีไซน์ ภายนอก ภายใน และออฟชั่น ฟรังชั่น ต่างๆที่ให้มาต่างกันเท่านั้น
เมื่อนำราคามาเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่า Mazda BT-50 จะมีราคาที่สูงกว่าอีซูซุ ดีแมคซ์ อยู่นิดหน่อย ในรุ่น 3.0 ท็อปสุดราคาต่างกันอยู่ 75,000 บาท และในรุ่น 2.2 ราคาต่างกัน 1,000 บาท ซึ่งต้องบอกแบบนี้ครับนโนบายของอีซูซุ เค้าขายแบบ One Price คือ ผู้ซื้อจะซื้อรถยนต์ที่ราคาเดียวกัน ดอกเบี้ยเท่ากัน ของแถม+ส่วนลดเหมือนกัน ค่ายรถเป็นคนดูแลสต็อกกลางไม่ใช่ดีลเลอร์ ทางมาสด้าถึงแม้ราคาจะสูงกว่าแต่เค้ามีมาร์จิ้นของแต่ละดีลเลอร์ แต่ละโชว์รูม ผู้บริโภคสามารถวิ่งหาเซลล์ที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด หรือ ศูนย์ที่ให้เงื่อนไขดีที่สุด ได้บ้างครั้งอาจจะลดลงมาที่ราคาพอๆกัน หรือถูกกว่าก็เป็นได้
ราคาจำหน่ายเทียบกันระหว่าง 2 ยี่ห้อ
New Mazda BT–50 3.0 XTR 6AT 4×4 | 1,352,000 บาท |
Isuzu D–Max V–Cross Double Cab 3.0 M 6AT 4×4 | 1,277,000 บาท |
New Mazda BT–50 Hi–Racer 2.2 XT 8AT | 992,000 บาท |
Isuzu D–Max Hi–Lander CAB4 2.2 MAXFORCE Z 8AT | 991,000 บาท |
มิติตัวถังเทียบกันระหว่าง 2 ยี่ห้อ
New Mazda BT–50
ยาว 5,280 มิลลิเมตร กว้าง 1,870 มิลลิเมตร สูง 1,810 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ Wheelbase 3,125 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น Ground Clearance 240 มิลลิเมตร
Isuzu D–Max
ยาว 5,265 มิลลิเมตร กว้าง1,870 มิลลิเมตร สูง1,790 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ Wheelbase 3,125 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น Ground Clearance 240 มิลลิเมตร
การออกแบบภายนอก
ดีไซน์ภายนอกของ Mazda BT-50 ไมเนอร์เชนจ์ ยังคงยึดแนวทางการออกแบบ Kodo design ติดตั้งไฟหน้าและไฟท้ายดีไซน์ใหม่แบบ LED Signature กระจังหน้า ดีไซน์ใหม่แบบรังผึ้ง ตกแต่งด้วยแถบสีแดง ซุ้มล้อ สีดำเงา ดีไซน์ใหม่ สปอร์ตบาร์ สีเทาดำ ดีไซน์ใหม่ พร้อมล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว สีดำ และ 18 นิ้ว แล้วแต่รุ่นย่อย เส้นสายต่างๆดูเป็นรถ SUV มากกว่ากระบะ (ในรุ่นเครื่องยนต์ 2.2 นั้นจะไม่ได้มาพร้อมชุดแต่งรอบคัน แต่สามารถซื้อเพิ่มเติมที่โชวูมได้เลย ราคาทั้งชุดอยู่ประมาณ 1 แสนกว่าบาท บวกในค่าผ่อนได้เลย )
การออกแบบภายใน
ในส่วนภายในให้ความรู้สึกทันสมัย ดูสปอร์ตโดยในรุ่น 3.0 นั้นภายในจะมาในโทนสีดำ ตัดส้ม ชุดมาตรวัดพร้อมหน้าจอ MID ขนาด 7 นิ้ว หน้าจอกลาง Touchscreen ขนาด 9 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay / Android Auto แบบไร้สาย Wireless ช่วยเพิ่มความหรูหราได้มากยิ่งขึ้น เบาะนั่ง หุ้มด้วยหนัง Maztex สีส้ม Terracotta สลับ Alcantara (เฉพาะในรุ่น 3.0)
ระบบขับเคลื่อน
ดีเซล 2.2 ลิตร 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อม Intercooler พ่วงระบบอัดอากาศ E-VGS Turbo กำลังสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ที่ 1,600 – 2,600 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ พร้อมโหมด +/- REV Tronic และเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหลัง RWD รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุด B20
ดีเซล 3.0 ลิตร 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 3.0 ลิตร 2,999 ซีซี พ่วงระบบอัดอากาศ VGS พร้อม Intercooler กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ที่ 1,600 – 2,600 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อม Sequential Shift + / – และ Paddle Shift มีให้เลือกทั้ง ขับเคลื่อนล้อหลัง RWD และ ขับเคลื่อน 4 ล้อ Part-time 4WD พร้อมระบบ Rough Terrain Mode (Active Traction Control) รองรับน้ำมันสูงสุดดีเซล B20
การทดลองขับ
เราเริ่มออกเดินทางทดสอบจากแถวย่านเกษตรนวมินท์ ในช่วงเช้าซึ่งรถค่อนข้างที่จะหนาแน่นพอสมควร ในช่วงแรกเราได้ขับเป็นรุ่นท็อป สุด เครื่องยนต์ 3.0 ลิตร ออฟชั่นเต็ม ซึ่งการขับขี่ในเมืองไม่มีปัญหา มีความคล่องตัวพอสมควร และด้วยความที่เป็นรถยกสูงทำให้ขับง่ายทัศนวิสัยในการขับดีมองเห็นได้ไกล วิ่งในเมืองระบบช่วงล่างก็ให้ความนุ่มสบายดี หลุดออกมานอกเมืองเริ่มใช้ความเร็วได้อัตราเร่งในช่วงออกตัวดูจะหน่วงนิดๆ แต่กลางไปปลายทำได้ดีเลยทีเดียว ยิ่งใช้ในการเดินทางไกลๆยิ่งประหยัด และทันใจทีเดียวครับ การเร่งแซงไม่มีปัญหาสบายหายห่วง ขึ้น-ลง ก็ทำได้ดีเช่นกัน แต่เมื่อใช้ความเร็วระบบช่วงล่างผมว่ามันนิ่มไปหน่อย จนการเข้าโค้งในบางครั้งได้สัมผัสถึงอาการย้วยโคลง ขับมาสักระยะกระโดดมาลองนั่งเบาะหลังบ้าง โอ้ว!! กระเด้งกระดอนเอาเรื่องครับ แถมพนักพิงหลังองศาค่อนข้างตั้งตรง ทำให้นั่งไม่สบายเท่าไหน่นัก
ไม่นานเราก็เลี้ยวเข้าสู่เส้นทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นทางฝุ่นและเป็นหลุมบ่อ เส้นทางง่ายๆครับขับสองก็ลุยได้ มีแอ่งน้ำให้ได้ขับลงไปพอได้ฟิลอีก 3 จุด ระบบช่วงล่างในเส้นทางแบบนี้ทำได้ดี ให้ความนุ่มนวลในการขับขี่ ดูดซับแรงสั้นสะเทืนจากพื้นผิวถนนได้ดีครับ ทำให้ขับง่ายไม่เหนื่อยมากนัก Test Drive New Mazda BT50 2025
ขากลับเราสลับรถมาลองขับเครื่อง 2.2 บ้างต้องบอกว่าเครื่องบล็อกนี้พัฒนามาดีทีเดียวครับ ช่วงออกตัวดีกว่ารุ่นเดิมเครื่อง 1.9 แบบสัมผัสได้ เพราะเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลูกนี้ มีพละกำลังเพิ่มขึ้น +13 แรงม้า แรงบิดเพิ่มขึ้น +50 นิวตันเมตร มาในรอบเครื่องยนต์ที่ต่ำกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีขึ้น 10% อัตราเร่งช่วงออกตัวแม้จะยังมีหน่วงๆอยู่บ้างเล็กน้อยแต่ก็ทำได้ดีกว่า 1.9 เยอะ การวิ่งด้วยความเร็วบอกเลยว่า เนียนและสมูท มากครับจุดนี้ต้องยกความดีความชอบให้เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะพร้อมโหมด +/- REV Tronic ทำให้การขับขี่สนุก และลื่นไหล อัตราเร่งช่วงกลางไปปลายลื่นไหลทันใจ ขึ้น-ลงเขา ดีไม่เท่า 3.0 แต่ก็ขึ้นได้สบายหายห่วง
ระบบความปลอดภัย
- ระบบช่วยเหลือการขับขี่ กล้อง ADAS เวอร์ชั่นใหม่
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน Full Speed Range Adaptive Cruise Control พร้อมฟังก์ชั่น Stop & Go ความเร็วตั้งแต่ 0 km/h (ACC Stop & Go)
- ระบบตรวจจับวัตถุด้านหน้า ด้วยกล้องคู่ ADAS 3D Imaging Stereo
- ระบบเตือนการชน Forward Collision Warning (FCW)
- ระบบเบรกอัตโนมัติ Autonomous Emergency Braking (AEB)
- ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์เมื่อเหยียบคันเร่งผิดพลาด Pedal Misacceleration Mitigation System (PMM)
- ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องจราจร Lane Departure Warning (LDW)
- ระบบตั้งจำกัดความเร็วสูงสุดด้วยตนเอง Manual Speed Limiter – MSL
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th