TestDrive Leap Motor C10 ช่วงล่างแน่น ขับสนุก แถมสะดวกสบาย
TestDrive Leap Motor C10 ช่วงล่างแน่น ขับสนุก แถมสะดวกสบาย ถ้าพูดถึงแบรนด์ Leap Motor เพื่อนๆหลายคนอาจจะ งง ว่ามันคือแบรนด์อะไรมาจากไหน เชื่อถือได้หรือไม่ต้องบอกว่า Leap motor เป็นรถแบรนด์จีนที่อยู่ในเครือ Stellantis ซึ่งในนั้นประกอบไปด้วยหลากหลายแบรนด์ที่เราคุ้นหู อาทิ Jeep / Peugeot / Maserati / Citroen / Opel / RAM / Alpha Romeo ฯลฯ ซึ่งเข้ามาจำหน่าย และทำตลาดในไทยโดย บริษัท พระนครยนตรการ ที่คว้าสิทธิ์เป็น Distributor ตัวแทนจำหน่ายในไทยแต่เพียงผู้เดียว
Leap Motor เป็นตัวรุ่นแรกในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ชื่อว่า Leap Motor C10 มาในรูปทรงรถอเนประสงค์ขนาด ซี เซ็กเม้นท์ ที่เกือบไปถึง ดี เซ็เม้นท์ เลยทีเดียว พี่เค้าคันใหญ่จริง ชาร์จหนึ่งครั้งวิ่งได้ไม่ได้ไกลมาก
แต่ก็อยู่ในระยะทำการ เพียงพอต่อการใช้งาน เรามีโอกาศเข้าร่วมทดสอบแบบสั้นๆในสนามที่จัดเตรียมสเตชั่นต่างๆไว้ในทดสอบเรียบร้อย โดยหลักๆก็จะเป็นการทดสอบระบบช่วงล่าง อัตราเร่งช่วงออกตัว ระบบเบรก Handling การตอบสนองของตัวรถต่อการควบคุมของผู้ขับขี่ และความแม่นยำของพวงมาลัย ก่อนเราไปทดสอบเรามารู้จักตัวรถกันก่อนเลยดีกว่าครับ
เจ้าคันนี้มรการติตั้งแบตเตอรี่แบบ CTC (Cell-to-Chassis) คือการออกแบบโดยเอาพื้นของห้องโดยสารออกแล้วใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรถ ข้อดีคือทำให้ผลิตได้ง่ายมากขึ้นและทำเวลาผลิตได้เร็วขึ้น เป็นการลดต้นทุนอื่นๆ ทำให้ราคารถออกมาดีขึ้น และตัวถังจะมีความแข็งแรง มั่นคง และ มีความบาลานซ์ที่ดีมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้รูปแบบอื่นๆ ด้วย ข้อเสียของมันคือ ถ้าแบตเตอรี่เกิดการเสียหายการถอดเปลี่ยนแบตเตอรีนั้นทำได้ยากมากๆ หรือไม่ก็อาจจะต้องเปลี่ยนทั้งตัวถังเลยก็เป็นได้
มิติตัวถังเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
LeapMotor C10 : 4,739 x 1,900 x 1,680 มม. ฐานล้อ 2,825 มม.
Deepal S07 : 4,750 x 1,930 x 1,625 มม. ฐานล้อ 2,900 มม.
BYD Sealion7 : 4,830 x 1,925 x 1,620 มม. ฐานล้อ 2,930 มม.
AION V : 4,605 x 1,854 x 1,660 มม. ฐานล้อ 2,775 มม.
การออกแบบภายนอก
การออกแบบรูปทรงภายนอกดูเรียบง่าย เส้นสายตัวรถเน้นความเรียบหรู ดูแพง ชุดไฟหน้าตามแบบนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปเป็นแถบไฟ LED ที่วางพาดยาวเต็มพื้นที่ส่วนหน้า และทำงานอัตโนมัติไม่ว่าจะเป็น เปิด-ปิดไฟหน้า หรือ ไฟสูง แถมยังสามารถปรับระดับไฟหน้าด้วยระบบไฟฟ้า มาพร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED กระจังหน้าแบบเปิด-ปิด อัตโนมัติ (AGS) มือเปิดประตูเป็นแบบราบเรียบไปกับตัวรถตามสมัยนิยม กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวแบบพับอัตโนมัติพร้อมระบบทำงานด้วยความร้อน ปรับเอียงกระจกลงขณะถอยหลัง และฟังก์ชันหน่วยความจำ ไฟท้าย LED ชุดแถบไฟ LIGHT BAR ด้านหลัง ที่ ไฟตัดหมอกหลังสองดวงและไฟถอยหลังสองดวง หลังคาพาโนรามิกรูฟ พร้อมแผงบังแดดไฟฟ้า ประตูท้ายแบบไฟฟ้า มีที่ปัดน้ำฝนอัตโนมัติแบบไร้โครง กระจกหน้าพร้อมกระจกสีตัดแสง และกระจกหลังแบบ PRIVACY ล้ออัลลอยขนาด 20 นิ้ว พร้อมยาง ขนาด 245/45 R20 ระบบเบรก คู่หน้า-หลัง ดิสก์เบรก แบบมีครีบระบายความร้อน
การออกแบบภายใน
เข้ามาที่ภายในดูเรียบง่าย กว้างขวางนั่งสบาย แผงหน้าปัดแบบ SOFT TOUCH คอนโซลกลางหุ้มหนัง พวงมาลัยหุ้มหนังแบบเทเลสโคปิก พร้อมปุ่มมัลติฟังก์ชัน ระบบปรับอากาศอัตโนมิตแบบสองโซน ที่วางแขนหุ้มหนังด้านหน้าและด้านหลัง เบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้าพร้อมฟังก์ชันเลื่อนเบาะอัตโนมัติ เบาะนั่งผู้โดยสารก็ปรับไฟฟ้าเช่นกัน เบาะคู่หน้ามีมีระบบทำความร้อนและระบายอากาศ เบาะหลังปรับเอนแบบแมนนวลสองตำแหน่ง แยกพับได้ 60/40 มีช่องแอร์ที่ด้านหลัง กระจกมองหลังแบบป้องกันแสงสะท้อน
แผงหน้าปัดแบบ HD ขนาด 10.25 นิ้ว หน้าจอสัมผัสแบบควบคุมจากส่วนกลางความละเอียด 2.5K ขนาด 14.6 นิ้ว มีระบบ OTA ระบบตัดเสียงรบกวนไมโครโฟนสองตัว และ LEAP OS 4.0 พร้อมระบบนำทางแบบเรียลไทม์ ระบบชาร์จแบบไร้สายลำโพง 12 ตัว กุญแจ NFC การควบคุมระยะไกลผ่านแอปบนโทรศัพท์มือถือ กล้องมองภาพรอบคัน 360 องศา พร้อมระบบแสดงภาพแบบโปร่งใส
ระบบขับเคลื่อนขุมพลัง
มอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว พละกำลัง 218 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ขนาด 69.9 kWh ขับเคลื่อนล้อหลัง Rear-Wheel Drive อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 7.5 วินาที วิ่งระยะทางสูงสุด 477 กิโลเมตร (มาตรฐาน NEDC)ความเร็วสูงสุด 170 กม./ชม.
การชาร์จไฟ
กระแสสลับ AC รองรับสูงสุด 6.6 kW กระแสตรง DC Fast Charging รองรับสูงสุด 84 kW DC Fast Charge ชาร์จ 30-80% ภายในเวลา 30 นาที
การทดลองขับ TestDrive Leap Motor C10
การทดลองขับในครั้งนี้เป็นการทดสอบในสนามปิด ซึ่งจะมีการเซ็ทสเตชั่นต่างๆมาให้เราได้ทดลองเจ้า C10 โดยจะเน้นไปที่สมรรถนะการขับขี่เป็นหลัก อัตราเร่งช่วงออกตัว ระบบช่วงล่าง ความแม่นยำของพวงมาลัย และระยะเบรก โดยจะแบ่งออกไปตามสเตชั่นต่างๆ เรามาเริ่มจากอัตราเร่งกันก่อนเลย เห็นคันใหญ่ๆแบบนี้อัตราเร่งมันจะดีขนาดไหน
กดคันเร่งลงไปจากจุดหยุดนิ่ง ตัวรถออกตัวแบบกระฉับกระเฉง แต่ไม่ถึงกับกระชาก พุ่งพรวด หลังติดเบาะ สมูทนุ่มนวลดี ถือว่าทำได้ดีทีเดียวครับ สเตชั่นต่อมาจะเป็นการเข้าโค้ง กว้าง และแคบ สลับซ้ายขวา มาดูกันว่าระบบช่วงล่างด้านหน้า McPherson Strut ช่วงล่างด้านหลัง 5-Link ของเจ้าคันนี้มันจะดีแค่ไหน เดินคันเร่งต่อเนื่องพุ่งเข้าไปที่โค้งขวา-ซ้าย สลับกัน ด้วยความเร็ว
ตัวรถยังคงนิ่งไม่มีอาการย้วย หรือโคลงให้ได้สัมผัส และความความที่รถคันนี้ขับเคลื่อนล้อหลังทำให้การควบคุมในการเข้าโค้งทำได้ง่ายขึ้น หลุดออกมาเจอโค้งกว้างยาวๆ บอกเลยว่าขับผ่านไปได้แบบเนียนๆเลยครับ ปรับเซ็ทช่วงล่างมาได้ดีมากลงตัวดีครับ ไม่นิ่มย้วย หรือแข็งกระด้าง หรือรถจีนค่ายอื่นๆ ขับผ่านเนินลูกระนาดสลับซ้ายขวา ระบบช่วงล่างสามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีครับ
ต่อไปเราจะต้องเจอกับสเตชั่นสลาลอม และเลนเชนจ์ เพื่อลอง Handling และความแม่นยำของพวงมาลัยกันครับ วิ่งด้วยความเร็มประมาณ 60 กม./ชม. เข้าไปที่สลาลอม การควบคุมรถทำได้ง่าย นิ่ง พวงมาลัยน้ำหนักกำลังดี ควบคุมง่าย และแม่นยำครับ
เดินคันเร่งต่อเนื่องเข้าไปที่เลนเชนจ์ ตัวรถมีอาการโคลงไห้ได้สัมผัสบ้างเล็กน้อย แต่ยังคงควบคุมง่าย สามารถผ่านออกไปได้แบบสบายๆครับ ในส่วนเรื่องระยะทางการวิ่งจริงๆต่อการชาร์จหนึ่งครั้งทำได้เท่าไหร่ วิ่งออกถนนจริงแล้วเป็นอย่างไร ค่อยติดตามได้เร็วๆนี้ครับ
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th