รวมมิตรรถอีโคคาร์น่าซื้อยุคโควิด-19
ในยุคโควิด-19 ใครที่กำลังมองหารถใหม่มาใช้งาน คงอยากให้เงินที่จ่ายไปคุ้มค่าที่สุดตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะล็อกดาวน์อีกเมื่อไรก็ไม่รู้ แถมราคาน้ำมันก็พุ่งทะลุ 30 บาท/ลิตร—ก็คงไม่มีตัวเลือกไหนเหมาะสมไปกว่ารถกลุ่ม อีโคคาร์ ที่ราคา 5 แสนต้นๆ ไปจนถึง 7 แสนกลางๆ แถมมาพร้อมความประหยัดน้ำมันที่ตัวเลขสูงกว่า 20 กม./ลิตร และเทคโนโลยี+ออปชั่นที่ลงตัวกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
ปัจจุบันรถกลุ่มอีโคคาร์มีตัวเลือกจาก 6 ค่ายรถญี่ปุ่น Toyota, Honda, Mitsubishi, Mazda, Nissan และ Suzuki ทั้งตัวถังซีดาน และแฮตช์แบ็ก ขุมกำลังเครื่องยนต์เบนซิน 1.2 ลิตร, 1.3 ลิตร, 1.0 เทอร์โบ และดีเซล1.5 ลิตร โดยอัตราประหยัดน้ำมันรถอีโคคาร์ 1 ถูกกำหนดไว้ที่ 5 ลิตร/100 กม. (20 กม./ลิตร) และอีโคคาร์ 2 เพิ่มเป็น 4.3 ลิตร/100 กม. (23.25 กม./ลิตร) รวมทั้งมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่เพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย
Hatchback–รถขวัญใจวัยรุ่นตลอดกาล
เริ่มต้นที่ตัวถังยอดนิยมของวัยรุ่น–คนที่เพิ่งมีรถในบ้านเรากับ–แฮตช์แบ็ก 5 ประตู ที่ถึงความเป็นจริงจะยอดขายน้อยกว่ารถซีดาน 4 ประตู แต่ทุกครั้งที่มีค่ายรถไหนเปิดตัวแฮตช์แบ็กใหม่ออกมา ก็มักจะสร้างกระแสได้เสมอ ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่พอมาถึงยุคอีโคคาร์เทรนด์ของรถแฮตช์แบ็กจะกลับมาอีกครั้ง ไม่เพียงจะตรงทาร์เก็ตกลุ่มลูกค้าที่ใช้งาน รูปทรงตัวถังก็ยังง่ายต่อการพัฒนาให้อยู่ในเงื่อนไขของอีโคคาร์ที่รัฐบาลตั้งไว้อีกด้วย
อีโคคาร์แฮตช์แบ็กตัวเลือกแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงก็คงหนีไม่พ้น Suzuki Swift หนึ่งในรถอีโคคาร์ที่ได้แรงสนับสนุนจากนโยบายรถคันแรกเมื่อปี 2011 จนประสบความสำเร็จต่อเนื่องมาสู่เจเนอเรชั่นใหม่ที่เข้าสู่ข้อกำหนดอีโคคาร์ 2 แต่ยังคงขายความเป็นซับคอมแพ็กต์แฮตช์แบ็กที่มีความคล่องตัวด้วยเครื่องยนต์ใหม่ 1.2 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ CVT ในทุกรุ่นย่อย พร้อมเทคโนโลยีหัวฉีดคู่ Dualjet ที่ทำให้ทั้งขับสนุกด้วยกำลัง 83 แรงม้า และอัตราประหยัดน้ำมันที่ 23.3 กม./ลิตร* (4.3 ลิตร/100 กม.) รวมทั้งความอเนกประสงค์ของรถทรงแฮตช์แบ็กลงตัวกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ต้องพกอุปกรณ์กีฬาเอาท์ดอร์ติดท้ายรถไว้ตลอดเวลา
คู่แข่งสำคัญของ Suzuki Swift คงจะหนีไม่พ้น Toyota ที่ตัดสินใจนำแฮตช์แบ็กตัวขาย Yaris ลดพิกัดลงมาสู้ในตลาดอีโคคาร์ เมื่อปลายปี 2013 โดยนำขุมกำลังใหม่ Dual VVT-iE 1.2 ลิตร รหัส 3NR-FE มาแทนที่เครื่องยนต์ 1.5 ลิตรที่ใช้งานในเจเนอเรชั่นก่อน เพื่อทำอัตราประหยัดน้ำมันให้อยู่ในเกณฑ์ 5 ลิตร/100 กม. ตามข้อกำหนดอีโคคาร์เฟสแรก ทำให้ Toyota พอจะแย่งชิงยอดขายกลับมาจากคู่แข่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้สูงอย่างที่พวกเขาคาดหวัง
เหตุผลที่ Yaris ไม่อาจสานต่อความสำเร็จจากเจเนอเรชั่นแรกที่ขายในประเทศไทย ต้องไล่เรียงตั้งแต่หน้าตาของรถที่โตโยต้า ประเทศไทย เลือกดีไซน์ของเวอร์ชั่นที่ขายในประเทศจีน และตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ทำให้ถูกคนไทยตั้งชื่อเล่นให้ว่าโฉม ‘หน้าปลาดุก’ รวมทั้งการตบแต่งภายในห้องโดยสาร และวัสดุที่ใช้ก็ธรรมดาเกินไป หากมองถึงกลุ่มลูกค้าที่จะซื้อรถ
หลังจากนั้นไม่นาน Toyota ถูกแย่งซีนจาก Mazda2 ที่เข้าสู่เจเนอเรชั่นใหม่พร้อมเปิดตัวในฐานะรถอีโคคาร์เฟส 2 รุ่นแรกของประเทศไทย (หลังจากไม่ได้เข้าร่วมเฟสแรก) ที่เหนือกว่าทั้งสมรรถนะเครื่องยนต์ และเทคโนโลยีความปลอดภัย แถมมีตัวถังซีดาน 4 ประตูมาเป็นทางเลือก
แต่ระยะแรก Mazda เลือกโปรโมตความยอดเยี่ยมของขุมกำลังดีเซลเทอร์โบ Skyactiv-D 1.5 ลิตรที่ให้การขับขี่เร้าใจด้วยกำลังสูงสุด 105 แรงม้า และแรงบิดที่มากถึง 250 นิวตันเมตร ที่สำคัญคือตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองสามารถทำได้ดีถึง 3.8 ลิตร/100 กม. (26.3 ลิตร/กม.) เรียกว่าเป็น Best-in-Class ของรถอีโคคาร์จนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามด้วยราคาของ Mazda2 รุ่นดีเซลที่ค่อนข้างสูงอยู่ระหว่าง 6.75-7.9 แสนบาท ทำให้พอถึงเวลาเข้าสู่ตลาดจริงในช่วงงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2015 รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน Skyactiv-G 1.3 ลิตร ถูกดันขึ้นมารับบทพระเอกแทน ด้วยการตั้งราคาที่ดึงดูดใจกับตัวเริ่มต้น 550,000 บาท แต่ได้ทั้งดีไซน์ใหม่ที่เหมือนย่อส่วนจาก Mazda3 แถมยังได้เทคโนโลยี Skyactiv มาครบอีกด้วย
อีกข้อดีของ Mazda ที่แตกต่างจาก Toyota, Honda และผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ คงเป็นความกล้าที่จะตั้งราคารถที่มี 2 ตัวถัง–แฮตช์แบ็ก และซีดาน ในราคาเท่ากันทุกรุ่นย่อย ทำให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น พอใจออปชั่นรุ่นย่อยไหนก็จิ้มเลือกตัวถังได้เลย ไม่ต้องมาดูราคาส่วนต่างอื่นๆ ให้ยุ่งยาก
ความสำเร็จในยอดขายของ Mazda2 (ถึงจะมีกระแสข่าวด้านลบของเครื่องยนต์ Skyactiv-D จากรถยนต์อเนกประสงค์ของพวกเขา) น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้อีก 4 ปีต่อมาเราได้เห็นอีโคคาร์ซีดานจาก Toyota กับการเปิดตัว Yaris ATIV ในเดือนสิงหาคม 2017 ด้วยการยกขุมกำลังของ Yaris Hatchback มาใช้งานบนโครงสร้างตัวถัง Toyota B-Platform ของรถซับคอมแพ็กต์ยอดนิยม Vios พร้อมปรับหน้าตาให้ดีไซน์โฉบเฉี่ยวมากขึ้น
ช่วงนั้นเรียกว่า Yaris ATIV กลายเป็น Game Changer พลิกสถานการณ์ให้ Toyota ขึ้นมาครองตลาดอีโคคาร์เมืองไทยอย่างเต็มตัว ด้วยการเป็นซับคอมแพ็กต์ซีดานในพิกัดอีโคคาร์ที่มีเพียง Suzuki Ciaz พอจะเป็นคู่ต่อสู้ที่พอฟัดพอเหวี่ยง แต่ฝ่ายหลังก็เข้ามาสู่ตลาดนานกว่า ทำให้เสียเปรียบเรื่องความสดใหม่
หลังจากนั้น Toyota มาปล่อยหมัดเด็ดอีกครั้งด้วยการนำเครื่องยนต์ใหม่ 1.2 ลิตร รหัส 3NR-FKE เข้ามาใช้งานทั้งใน Yaris Hatchback และ Yaris ATIV ทำให้กำลังเพิ่มเป็น 92 แรงม้า (+6 แรงม้า) แรงบิดดีขึ้นมาเล็กน้อย 109 นิวตันเมตร พร้อมติดตั้งระบบความปลอดภัยเพิ่มเติม, มาตรฐานไอเสียยูโร 5 และอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 4.3 ลิตร/100 กม. เข้าเกณฑ์อีโคคาร์เฟส 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019
อีโคคาร์แฮตช์แบ็กคันไหนเหมาะกับคุณ:หากคุณตั้งโจทย์ตอนแรกว่าอยากได้รถไว้ใช้เพียงแค่ขับจากบ้านไปที่ทำงาน เสาร์-อาทิตย์อาจมีไปเที่ยวกับแฟน นานๆ ที่จะออกต่างจังหวัด ตัวเลือกก็คงจะเป็น Suzuki Swift ที่มีความคล่องตัวสำหรับการใช้งานในเมือง และดีไซน์ก็ค่อนข้างถูกใจคน Gen Y แต่หากต้องขับทางไกลบ่อยๆ ขอแนะนำ Toyota Yaris ด้วยพื้นฐานของการเป็นรถเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร (ในตลาดต่างประเทศ) และห้องโดยสารก็นั่งสบายกว่าหากต้องเดินทางกันหลายคน ขณะที่ Mazda2 ถึงจะเป็นรถที่สมรรถนะเหนือกว่าอีโคคาร์ การที่เข้าสู่ช่วงปลายอายุโมเดล หากใครชอบจริงๆ รอจังหวะดีๆ อาจมีโปรโมชั่นราคาที่ถูกใจออกมา
อัพเดตไลน์อัพล่าสุดของ 2 อีโคคาร์จาก Toyota เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา:
TOYOTA YARIS 2021
• Entry 549,000 บาท • Sport 609,000 บาท
• Sport X (Two-Tone) 614,000 บาท • Sport Premium 679,000 บาท
• Sport Premium X (Two-Tone) 684,000 บาท • Sport Premium (Two-Tone) 684,000 บาท
TOYOTA YARIS ATIV 2021
• Entry 539,000 บาท • Sport 599,000 บาท
• Sport Premium 674,000 บาท • Sport Premium (Two-Tone) 679,000 บาท
อีโคคาร์ XL และอีโคคาร์ 1 อัพเกรด
ทางด้าน Suzuki รอจังหวะส่ง Ciaz ไมเนอร์เชนจ์ออกมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2020 ช่วงเวลาเดียวกับที่โลกเพิ่งรู้จักไวรัสโควิด-19 ด้วยการนำเสนอความเป็นสปอร์ตอีโคซีดานด้วยการใส่สัญลักษณ์ RS ในรุ่นท็อป ที่มีการปรับเปลี่ยนกระจังหน้าให้มีความกลมกลืนกับไฟหน้าโปรเจ็กเตอร์ LED ติดตั้งชุดแต่งรอบคัน และล้ออะลูมิเนียม 16 นิ้ว
จุดขายสำคัญของ New Suzuki Ciaz–เป็นขนาดห้องโดยสารด้วยความยาวตัวถัง 4,490 มม. (4,495 มม. ในรุ่น RS), ความกว้าง 1,730 มม., ความสูง 1,475 และระยะฐานล้อ 2,650 มม. โดยอาศัยการออกแบบคอนโซลหน้าให้มีมิติเพื่อให้ความรู้สึกกว้างขึ้น เบานั่งเลือกใช้วัสดุหนังคุณภาพสูงให้ความพรีเมียม ออปชั่นรวมๆ ที่ถือว่าครบในรถระดับนี้ รวมทั้งพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรองรับได้สูงสุด 565 ลิตร
อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของ Ciaz ที่ถึงจะไมเนอร์เชนจ์ใหญ่ไปแล้ว คือการที่ยังคงใช้เครื่องยนต์ 1.2 ลิตรตัวเดิมรหัส K12B ให้กำลังสูงสุด 91 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 118 นิวตันเมตร อัตราประหยัดน้ำมันเท่าเดิมที่ 5 ลิตร/100 กม. แต่ก็มีการติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อกพร้อมกระจายแรงเบรกอิเล็คทรอนิกส์ (ABS with EBD Function) ที่เป็นมาตรฐานของอีโคคาร์ 2 เข้ามาเพิ่ม
ด้วยเหตุนี้ทำให้อีกหนึ่งอีโคคาร์ซีดานรุ่นบุกเบิก Mitsubishi Attrage ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2013 แต่มีการไมเนอร์เชนจ์อัพเกรดให้เข้าเกณฑ์อีโคคาร์ 2 พร้อมพี่ชาย Mirage เมื่อกลางปี 2017 จะสามารถรักษาระดับยอดขายรวมได้เหนือกว่า Ciaz จนหลายคนอยากรู้ว่าพวกเขามีดีอะไร
หากมองจากราคาต้องยอมรับว่า Mitsubishi พยายามเจาะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถคันแรก โดย Attrage ตัวเริ่มต้นเกียร์ธรรมดาอยู่ที่ 494,000 บาท หากอยากขับสบายเกียร์ออโต้ CVT จ่ายเพิ่มแค่ 35,000 บาท และหากอยากได้ครบๆ ตัวท็อป Smart ก็ตั้งราคาไว้ที่ 584,000 บาทเท่านั้น แต่มาพร้อมดีไซน์กระจังหน้า Advanced Dynamic Shield Design การตบแต่งห้องโดยสารใส่ความเป็นสปอร์ตโทนสีดำ Piano Black และ Carbon Print ให้เบาะหนังสังเคราะห์ดีไซน์พิเศษและหัวเกียร์หุ้มหนัง
ขุมกำลังเดิมตั้งแต่ Mitsubishi Attrage เปิดตัวครั้งแรก เครื่องยนต์เบนซิน DOHC MIVEC 1.2 ลิตร 78 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 100 นิวตันเมตร ติดตั้ง Roller Camshaft ช่วยลดการเสียดทานของเครื่องยนต์ พร้อมระบบวาล์วแปรผันด้านไอดี MIVEC ช่วยให้เครื่องยนต์มีแรงบิดดีขึ้นในรอบต่ำ มีอัตราเร่งดีเยี่ยม ประหยัดน้ำมัน และลดมลพิษรักษาสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ Mitsubishi เพิ่มระบบความปลอดภัยที่นอกเหนือจากข้อกำหนดของอีโคคาร์ 2 ด้วยการใส่ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะเมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรง และรวดเร็ว (เฉพาะด้านหน้า) ในรุ่น Smart โดยจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการชน จากการใช้คลื่น Ultrasonic ตรวจจับวัตถุด้านหน้าในระยะไม่เกิน 4 เมตร ขณะที่เกียร์อยู่ตำแหน่ง D หากมีการเหยียบคันเร่งผิดพลาดอย่างรุนแรง และรวดเร็ว ระบบจะทำการเตือน และตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะอัตโนมัติ และทำงานที่ความเร็ว 10 กม./ชม.
ทำให้หากเทียบกับราคาล่าสุดของ Suzuki Ciaz ทุกรุ่นย่อยจะเห็นความแตกต่างได้เลยว่าทำไม Mitsubishi Attrage (รวมถึง Mirage) ยังคงเป็นตัวเลือกแรกๆ ถึงจะอยู่มานานแล้วก็ตาม
SUZUKI CIAZ
• GL/MT 523,000 บาท • GL/CVT 559,000 บาท
• GLX/CVT 625,000 บาท • RS/CVT 675,000 บาท
MITSUBISHI ATTRAGE
• ACTIVE MT 494,000 บาท • ACTIVE CVT 529,000 บาท
• SPECIAL EDITION 543,000 บาท • SMART CVT 584,000 บาท
MITSUBISHI MIRAGE
• ACTIVE MT 474,000 บาท • ACTIVE CVT 509,000 บาท
• SPECIAL EDITION 523,000 บาท • SMART CVT 579,000 บาท
อีโคคาร์ซีดาน 1.2 ลิตรคันไหนเหมาะกับคุณ: หากอยากได้รถซีดาน 4 ประตูที่นั่งสบายๆ ก็ต้องไป Suzuki Ciaz แต่ใครที่สนใจความประหยัดน้ำมันก็คงจะชอบ Toyota Yaris ATIV หรือ Mitsubishi Attrage ที่อยู่ในพิกัดอีโคคาร์ 2 โดยคันแรกยังได้เปรียบเรื่องศูนย์บริการที่ทั่วถึง ส่วนคันหลังติดตรงดีไซน์ที่ใช้มานาน และห้องโดยสารที่อาจจะนั่งเบียดกันไปซักหน่อย
ศึกเครื่องยนต์ 1.0 Turbo
ในช่วงต้นปี 2019 เกิดกระแสข่าวลือการเปิดตัวรถอีโคคาร์เครื่องยนต์เทอร์โบ 1.0 ลิตรจากทั้งค่าย Nissan และ Honda จนทำให้เกิดการคาดเดามากมาย และสุดท้ายพวกเขาเปิดตัวโมเดลใหม่ออกมาชนกันในช่วงระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 1 สัปดาห์
Nissan Almera เจเนอเรชั่นที่ 2 (ในประเทศไทย) ชิงเปิดตัวก่อนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2019 ใช้เครื่องยนต์ใหม่ 1.0 ลิตร เทอร์โบ รหัส HRA0 ให้กำลังสูงสุด 100 แรงม้าที่ 5,000 รอบ/นาที โดยระบบเทอร์โบพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า DC Motor ช่วยควบคุมกำลังอัดของเทอร์โบ สร้างแรงบิดสูงสุด 152 นิวตันเมตรที่ 2,400 รอบต่อนาที ให้แรงบิดคงที่ (Flat Torque) ไปจนถึง 4,000 รอบต่อนาที ทำให้รถพร้อมพุ่งทะยานออกไปในจังหวะออกตัว และความมั่นใจในการเร่งแซง พร้อมเสริมด้วยเทคโนโลยีเคลือบกระบอกลูกสูบ (Mirror Bore Coating) เพิ่มความทนทาน ลดการสึกหรอก และช่วยระบายความร้อนได้ดี ส่วนระบบเกียร์จะเป็น XTRONIC CVT พร้อม D-Step Logic ช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวล แต่ให้อัตราเร่งต่อเนื่อง และทันใจ ตอบสนองอัตราเร่งแซงที่ดีขึ้น ช่วยให้การขับขี่มีประสิทธิภาพ และประหยัดเชื้อเพลิงได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ขณะที่ Honda City Turbo รุ่นซีดานเปิดตัวตามหลังในวันที่ 26 พฤศจิกายน มาพร้อมเครื่องยนต์ใหม่เช่นกัน ขุมพลังเทอร์โบ 1.0 ลิตร DOHC VTEC TURBO 3 สูบ 12 วาล์ว ติดตั้ง Turbo Charger ที่จะอัดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ได้เร็วขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้อย่างรวดเร็ว รีดพลังออกมาได้สูงสุด 122 แรงม้าที่ 5,500 รอบต่อนาที และตอบสนองได้ทันใจด้วยแรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตรที่ 2,000-4,500 รอบต่อนาที โดยให้ความมั่นใจกับสาวก Honda City ด้วยการย้ำว่าสมรรถนะการขับขี่เหนือกว่าเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตรของเจเนอเรชั่นก่อนอีกด้วย
ถึงจะเป็นเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ เหมือนกัน แต่หากพูดถึงแง่ Performance เพียวๆ ก็ต้องยอมรับว่า Honda City มีความสนุกในการขับขี่มากกว่าทั้งการตอบสนองของเครื่องยนต์ และความมั่นใจของระบบช่วงล่าง หากเทียบกับ Nissan Almera ที่ถึงความเร็วจะมาทุกครั้งที่กดคันเร่งไม่ต่างกัน แต่พอเข้าสู่ช่วงความเร็วสูงจะรู้สึกว่าต้องใช้ฝีมือส่วนตัวของผู้ขับขี่มากกว่าปกติในการควบคุมพวงมาลัย
นอกจากนี้การวางตำแหน่งตัวเองให้มีความพรีเมียมกว่าอีโคคาร์ที่มีอยู่ในตลาดของ Honda City (แน่นอนว่าราคาก็พรีเมียมตามไปด้วย) ภายในห้องโดยสารจะมีความเรียบหรูมากกว่าด้วยการเลือกใช้โทนสีดำ, เบาะหนัง, คอนโซลหน้าแบบ Piano Black, ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้วแบบ Advanced Touch รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และระบบสั่งการด้วยเสียง SIRI พวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชัน พร้อมปุ่มควบคุมระบบเครื่องเสียง และปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์ และระบบปรับอากาศอัตโนมัติ
ทางด้าน Nissan Almera เลือกใช้โทนสีดำเสริมด้วยวัสดุสีเงินในห้องโดยสาร ทุกรุ่นจะได้เบาะผ้า, ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ และกระจกไฟฟ้ารอบคันพร้อมระบบป้องกันการหนีบ (Anti-jam Protection) โดยระบบอินโฟเทนเมนต์ NissanConnect จะใช้หน้าจอระบบสัมผัสขนาด 8 นิ้วแบบ AIVI พร้อมช่องเชื่อมต่อ Bluetooth, USB และ AUX IN สำหรับอุปกรณ์ต่อพ่วง พร้อมลำโพงคุณภาพดี 6 จุด และระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์สมาร์ทโฟนอย่าง Apple CarPlay เช่นเดียวกัน
แต่หากพูดถึงระบบความปลอดภัยต้องยอมรับว่า Nissan Almera ครบกว่าด้วยการยกชุดเทคโนโลยี Nissan Intelligent Mobility และเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง Nissan Intelligent Safety Shield เข้ามาอยู่ในรถรุ่นนี้ ทำให้จะมีระบบสัญญาณเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนรถยนต์ด้านหน้าขณะขับ (Intelligent Forward Collision Warning–IFCW), ระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน (Intelligent Emergency Braking–IEB), ระบบเตือนจุดอับสายตา (Blind Spot Warning–BSW), ระบบตรวจจับวัตถุด้านหลังรถขณะถอย (Rear Cross Traffic Alert–RCTA), กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor – IAVM), ระบบควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ (Vehicle Dynamic Control–VDC) และระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist–HSA)
ขณะที่ City Turbo RS จะใช้โครงสร้างตัวถังนิรภัย G-Force Control (G-CON) (ภาพบน) ปกป้องห้องโดยสารจากการชนรอบทิศทางด้วยถุงลม 6 ตำแหน่ง ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) พร้อมระบบกระจายแรงเบรก (EBD) ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (Vehicle Stability Assist – VSA) ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Start Assist – HSA) และกล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมองได้ 3 ระดับ (Multi-angle Rearview Camera) ถือว่าน้อยเกินไปหากคุณต้องจ่ายเงินถึง 739,000 บาท
ในส่วนความประหยัดการที่ City และ Almera เปิดตัวในฐานะ อีโคคาร์ 2 พวกเขาก็ต้องมีอัตราสิ้นเปลืองตามที่กำหนด โดยตัวเลขออกมาที่ 4.2 ลิตร/100 กม. (23.8 กม./ลิตร) และ 4.3 ลิตร/100 กม. (23.3 กม./ลิตร) ตามลำดับ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่คุณมีในการจะออกรถใหม่เป็นสำคัญ
NISSAN ALMERA
• E CVT 509,000 บาท • EL CVT 559,000 บาท
• V CVT 609,000 บาท • V Sportech CVT 629,000 บาท
• VL CVT 639,000 บาท • VL Sportech CVT 659,000 บาท
HONDA CITY TURBO SEDAN
• S 579,500 บาท • V 609,000 บาท
• SV 665,000 บาท • RS 739,000 บาท
HONDA CITY TURBO HATCHBACK
• S+ 599,000 บาท • SV 675,000 บาท • RS 749,000 บาท
อย่างไรก็ตาม Honda เหนือกว่า Nissan ในตลาดอีโคคาร์เครื่องยนต์พันเทอร์โบ ด้วยการมีทางเลือกให้ลูกค้ามากกว่า หลังจากซุ่มเงียบพัฒนาตัวถังแฮตช์แบ็กของ City พร้อมเปิดตัวเป็นครั้งแรกของโลกที่ประเทศไทยในอีก 1 ปีต่อมา
All-New Honda City Hatchback เหมือนยกทุกอย่างจากรุ่นซีดานมาใส่ในตัวถัง 5 ประตู โดยปรับให้เหลือ 3 รุ่นย่อย ใช้เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ สเป็คเดียวกัน แต่อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันลดลงมาอยู่ที่ 4.3 ลิตร/100 กม. (23.3 กม./ลิตร) พร้อมเพิ่มจุดขายที่เบาะนั่งอัลตร้าซีท (ULTR) แยกพับแบบ 60:40 ที่ปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ได้ถึง 4 รูปแบบเพื่อเตรียมจะเป็นตัวแทนของ Honda Jazz ที่จะอำลาตลาดเมืองไทย-อาเซียนอีกไม่นานนี้
นอกจากนี้ Honda ไปไกลเกินกว่าข้อกำหนดของ อีโคคาร์ ด้วยการเพิ่มรุ่นไฮบริด e:HEV เข้ามาสู่ไลน์อัพ The City Series ทั้งรุ่นซีดาน และแฮตช์แบ็กที่มาพร้อมอัตราประหยัดน้ำมัน 3.6 ลิตร/100 กม. (27.8 กม./ลิตร) และ 3.7 ลิตร/100 กม. (27.0 กม./ลิตร) ตามลำดับ แต่ราคาก็ขึ้นไปอยู่ระหว่าง 839-849,000 บาท เกินกว่าความเป็นอีโคคาร์ไปเยอะ
อีโคคาร์ซีดานเครื่องยนต์ 1.0 Turbo คันไหนเหมาะกับคุณ: เรียกว่าเฉือนกันไม่ลงจริงๆ Nissan Almera และ Honda City ขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบสไตล์ของแบรนด์ไหนมากกว่ากัน แต่ถ้ามือใหม่หัดขับอยากแนะนำ Almera เพราะระบบความปลอดภัยครบกว่าน่าจะช่วยลดโอกาสเปิดอุบัติเหตุได้มากกว่า ส่วน City ก็จะได้ความพรีเมียมทั้งดีไซน์-ห้องโดยสารที่มากกว่าอีโคคาร์แบรนด์อื่น และมีทางเลือกเป็นตัวแฮตช์แบ็กที่สมรรถนะการขับขี่ไม่แตกต่างกันเลย
Still Alive—‘ยังไม่ตาย’
นอกจาก อีโคคาร์ ข้างบนที่นำมาพูดถึงแล้ว ในรถกลุ่มนี้ยังมี ‘ผู้รอดตาย’ จากเฟสแรกรุ่นอื่นๆ ที่ยังคงทำยอดขายได้แบบเรื่อยๆ แบบไม่น่าเชื่ออย่าง Nissan March โมเดลแรกที่ประเดิมเปิดโครงการผลิตรถยนต์ Ecology Car ให้รัฐบาลไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2010 หรือเมื่อ 11 ปีที่แล้ว!!! โดยมีการปรับเปลี่ยน-เพิ่มออปชั่นหลายครั้งจนมาถึงตอนนี้ราคาเริ่มต้นรุ่นเกียร์ธรรมดา S MT อยู่ที่ 420,000 บาท และตัวท็อปเกียร์อัตโนมัติ EL CVT 510,000 บาท
แต่หากใครอยากได้รูปทรงที่มีความทันสมัย และห้องโดยสารที่กว้างขึ้น Nissan ยังมีตัวเลือกซับคอมแพ็กต์แฮตช์แบ็ก Note ที่ถูกใส่ขุมกำลัง 1.2 ลิตรเหมือนกับรุ่นพี่ March เพื่อขายในพิกัดอีโคคาร์ 1 โดยมีการเพิ่มระบบความปลอดภัย Nissan Intelligent Mobility ติดตั้งกล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทางเป็นจุดขาย มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย ราคาระหว่าง 530,000-595,000 บาท
ขณะที่ Suzuki Celerio ถึงจะเป็นเหมือนกำลังเสริมให้ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จกับยอดขายของ Swift และ Ciaz แต่การจัดโปรโมชั่นในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ทำให้รุ่นเริ่มต้นเกียร์ธรรมดา GA ราคาลงมาเหลือเพียง 328,000 บาท และจ่ายเพิ่มอีก 80,000 บาท ก็ได้รุ่นเกียร์อัตโนมัติ GL มาขับสบายๆ เวลารถติดแล้ว หากคุณไม่ได้ใช้รถออกเดินทางต่างจังหวัดหรือเส้นทางที่สมบุกสมบันกว่าคนทั่วไปก็ถือเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าเลยทีเดียว
ทั้งหมดก็เป็นตัวเลือกรถ อีโคคาร์ ที่เกือบๆ ครบทุกรุ่นที่มีอยู่ในประเทศไทย ใครที่กำลังสนใจจะเปลี่ยนรถใหม่ ลองเปรียบเทียบกันดีๆ ว่าหน้าตาคันไหนถูกใจที่สุด, ทดลองขับแล้วเป็นไง หรือเงื่อนไขโปรโมชั่นของโชว์รูมไหนน่าสนใจกว่ากัน เพราะชั่วโมงนี้เชื่อว่าหลายคงคงอยากจะอีโคเงินในกระเป๋าของตัวเองไว้ให้มากที่สุด!!!
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: บริษัทรถยนต์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th