The Last Overland การเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ 10,000 ไมล์ ของ Landrover “Oxford” 1955 จากสิงคโปร์สู่ลอนดอน
ทีม The Last Overland ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย มาแวะย้อนรอยการเดินทางที่ราชกรีฑาสโมสร ซึ่งเป็นสถานที่เดิมที่เคยแวะพักเมื่อ 64 ปีที่แล้ว และเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญให้กับแบรนด์แลนด์โรเวอร์ ด้วยการเดินทางโดยรถยนต์เป็นระยะทางกว่า 10,000 ไมล์ จากสิงคโปร์สู่ลอนดอนอีกด้วย
การเดินทางครั้งสำคัญนี้เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของการเดินทางระยะไกลที่เคยโด่งดังในอดีตและท้าทายที่สุด และครั้งนี้ยังเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของศตวรรษที่ 21 ซึ่งรถที่เป็นพระเอกคือ แลนด์โรเวอร์ ออกซ์ฟอร์ด ปี 1955 (Landrover Oxford 1955) ที่เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 64 ปีที่ผ่านมา รถคันนี้ได้เดินทางจากลอนดอนไปยังสิงคโปร์ และในช่วงเวลานี้เองรถคันเดิมคันนี้ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเป็นโอกาสให้เราได้สัมผัสและทำความรู้จักกับทีมนักเดินทางกลุ่มนี้แบบเป็นกันเองและจุดประกายการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งได้เริ่มต้นเดินทางออกจากสิงคโปร์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปเมื่อ 64 ปีที่แล้ว กับ The First Overland จุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มเล็กๆ ทิ่ยิ่งใหญ่ โดยในช่วงระหว่างปี 1955 – 1956 ได้มีทีมนักศึกษาชายหนุ่ม 6 คน จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้จับมือกันออกเดินทางที่ใช้ชื่อว่า “ออกซ์ฟอร์ด แอนด์ เคมบริดจ์ ฟาร์อีสเทิร์น เอ็กซ์เพดิชั่น” (Oxford&Cambridge Far Eastern Expendition : The First Overland) ซึ่งได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการขับรถยนต์แลนด์โรเวอร์ ซีรีส์ 1 เป็นระยะทาง 10,000 ไมล์ จากลอนดอนไปสิงคโปร์ และเมื่อเวลาผ่านไป 64 ปี[expander_maker id=”4″ more=”อ่านเพิ่มเติม” less=”Read less”]
วันนี้ได้เวลาเดินทางครั้งใหม่กับทีมงานรุ่นใหม่ 8 คน แม้ว่า “ทิม สเลซเซอร์” (Tim Slessor) หนึ่งในสมาชิกของทีม The First Overland จะไม่ได้เดินทางมาด้วย เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ (ปัจจุบันทิมมีอายุ 87 ปี) เค้าได้ส่งหลานชายที่มีดีเอ็นเอของการเดินทางอย่างเต็มเปี่ยมอย่าง “แน็ต จอร์จ” (Nathan Geroge) มาร่วมเดินทางและยังเป็นผู้ที่ขับแลนด์โรเวอร์ ซีรีส์ 1 “ออกซ์ฟอร์ด” คันเดิมจากเมื่อปี 1955 เพื่อย้อนรอยเส้นทางของทริป The First Overland พร้อมด้วยทีมงานที่พร้อมด้วยอุปกรณ์ เทคโนโลยี ความสามารถ ทักษะ ที่จะทำให้การเดินทางครั้งนี้ประสบความสำเร็จถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย
สำหรับเส้นทางครั้งใหม่นี้ เป็นการเดินทางย้อนกลับจากสิงคโปร์ไปยังลอนดอน ซึ่งทีมจะต้องเดินทางข้ามทวีปถึงสามทวีป จะต้องขับรถผ่านเส้นทางที่เป็นป่าไม้ของมาเลเซีย ความหลากหลายของภูมิประเทศในไทย จีน เนปาล อุซเบกิสถาน อิหร่าน บัลแกเรีย ต้องท้าทายกับเส้นทางขุนเขาและแนวป่าของเมียนมาร์ ไปถึงเทือกเขาหิมาลัย เส้นทางที่ยาวไกลของตุรกี ขับผ่านทะเลทรายในตะวันออกกลาง รวมแล้วต้องขับผ่านประเทศต่างๆ ถึง 20 ประเทศ และมีเป้าหมายคือเดินทางถึงลอนดอนภายในระยะเวลาประมาณ 100 วัน นับตั้งแต่ออกเดินทางจากประเทศสิงคโปร์
รู้จัก Landrover Oxford 1955
รถแลนด์โรเวอร์ ออกซ์ฟอร์ด รุ่นปี 1955 คันนี้ เป็นรถหนึ่งในสองคันที่ใช้เดินทางใน The First Overland โดยคันนี้มีชื่อว่า ออกซ์ฟอร์ด (Oxford) ส่วนอีกคันหนึ่งชื่อว่า เคมบริดจ์ (Cambridge) แต่หลังจากการเดินทางครั้งนั้นเคมบริดจ์ได้หายไป คงเหลือแต่ออฟซ์ฟอร์ดคันนี้ และหลังจากการเดินทางในครั้งนั้น ออกซ์ฟอร์ดคันนี้ได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่เกาะเซนต์เฮเลนา (Saint Helena) ที่ห่างไกลกลางมหาสมุทรแอตแลนติก และเมื่อกาลเวลาผ่านไป ชิ้นส่วนต่างๆ ของรถได้ถูกแยกออก ชิ้นส่วนที่เหลืออยู่และตัวถังรถถูกทิ้งไว้ให้สนิทจับกินกลายเป็นซากรถที่ไม่มีใครสนใจ กระทั่งเมื่อปี 2017 ช่างซ่อมรถฝีมือดีฉายา “ไอ้หนุ่มยอร์กเชอร์-อดัม เบนเนตต์”
ไอ้หนุ่มยอร์กเชอร์-อดัม เบนเนตต์
อดัมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมแซมรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ รถจมน้ำ เปิดกิจการอู่ซ่อมรถตั้งแต่ปี 1981-1955 โดยที่เพื่อนๆ ตั้งฉายาให้ว่า “ไอ้หนุ่มยอร์กเชอร์สุดพิสดาล” เพราะด้วยสไตล์การเก็บสะสมรถยนต์และการซ่อมแซมรถที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง และเขาได้สร้างเครือข่ายของผู้ที่ชื่นชอบรถแลนด์โรเวอร์ไปทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งเขาได้กู้ซากรถออกซ์ฟอร์ด คันนี้ขึ้นมาอีกครั้งและซ่อมแซมอย่างเต็มรูปแบบจนกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมอีกครั้ง โดยนำรถมาคืนชีวิตที่อังกฤษ และรถคันนี้ยังได้ผ่านการทดสอบ MOT ตั้งแต่ครั้งแรกและยังได้รับแผ่นป้ายทะเบียนเดิม SNX891 นำมาติดกลับไว้เช่นเดิมอีกด้วย และสุดท้ายในปี 2018 อดัมได้ส่งมอบรถคันนี้คืนให้กับ ทิม สเลซเซอร์ เจ้าของเดิมเป็นของขวัญในการเดินทางครั้งใหม่ ด้วยการขนส่งจากอังกฤษมายังสิงคโปร์
ทิม สเลซเซอร์ ในวัย 87 ปี แม้ว่าจะไม่ได้ร่วมเดินทางมาถึงประเทศไทย แต่อาจจะกลับมาร่วมเขาคาราวานเมื่อร่างกายแข็งแรงดี เขาได้พูดถึงความตื่นเต้นในการได้กลับมาพบกับรถยนต์แลนด์โรเวอร์ ‘ออกซ์ฟอร์ด’ คันเก่าของเขาอีกครั้งว่า “ครั้งสุดท้ายที่ผมขับเจ้ารถคันเก่าคันนี้อย่างจริงจัง มันผ่านมานานมาก ดังนั้น การได้เห็นรถคันเก่าอีกครั้งในวันนี้ มันทำให้ผมรู้สึกตื้นตันใจมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะออกเดินทางในครั้งนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้บอกกับเราว่าเราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์และไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการเมืองเลย การเดินทางไม่น่าจะสำเร็จได้ แต่สิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นกลับทำให้เรามีความมุ่งมั่นมากขึ้น 6 เดือนต่อมา พวกเราเดินทางไปถึงแชมป์เปี้ยน มอเตอร์ (Champion Motors) บนถนนออร์ชาร์ด (Orchard Road) ของสิงคโปร์ ผมบอกคุณได้เลยว่าในวันนั้นพวกเราถูกกระหน่ำไปด้วยแชมเปญและแสงแฟลชจากกล้อง เราทำสำเร็จจนได้ ในขณะที่นักเขียนจากนิตยสารไทม์ (Time) ของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ‘ผมคิดว่าพวกเขาคงเดินทางมาจนสุดทางแล้ว’
คุณปู่ทิมได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้งในอายุปูนนี้ว่า “สิ่งที่ผมตั้งใจไว้ก็คือปลายเดือนสิงหาคมผมจะขับรถคันนี้ออกจากสิงคโปร์กลับไปที่สหราชอาณาจักรอีกครั้ง ขณะที่ผมอายุมากขึ้น ผมถูกรบเร้าด้วยเสียงกระซิบที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ‘ลงมือทำเลย ก่อนที่จะสายเกินไป’ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ผมมาอยู่ที่นี่ในวันนี้ ผมอายุ 87 ปีแล้ว หากผมไม่ทำเสียแต่ตอนนี้ ผมอาจจะไม่มีโอกาสได้ทำอีกเลย ท้ายที่สุด เมื่อเสียงกระซิบเตือนผมว่า ‘คุณมาที่นี่ได้เพียงครั้งเดียว’ ดังนั้น ผมหวังว่าจะได้ขับเจ้ารถคันเก่าหมายเลขทะเบียน SNX891 ในเดือนสิงหาคม การเดินทางครั้งนี้ก็คงจะเป็นเหมือนกับ ‘ชายชราคนนี้ช่วยพาหญิงชรากลับบ้าน’”
เริ่มออกเดินทางจากสิงคโปร์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2562
ทริปเดอะลาสต์ โอเวอร์แลนด์ จะเริ่มต้นขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2562 โดยเริ่ม ‘ออกเดินทาง’ จากอาคาร F1 Pit ประเทศสิงคโปร์ในอ่าวมารินา เบย์ (Marina Bay) เจ้ารถ ‘ออกซ์ฟอร์ด’ ได้รับการส่งอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีขบวนรถขับตามส่งตลอดเส้นทางในสิงคโปร์ไปจนถึงชายแดนของประเทศที่อยู่ติดกับมาเลเซีย โดยขบวนรถแลนด์โรเวอร์คันอื่นๆ ที่ขับตามส่งนั้นขับโดยบรรดาแฟนๆ ของรถแลนด์โรเวอร์ในประเทศ รวมถึงสมาชิกของกลุ่มเจ้าของแลนด์โรเวอร์ในสิงคโปร์ เจ้ารถ ‘ออกซ์ฟอร์ด’ ได้เดินทางผ่านกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังคาเมรอน ไฮแลนด์, ปีนัง และเดินทางมาถึงชายแดนประเทศไทย
จากนั้น คณะเดินทางได้เดินทางจากหาดใหญ่ (ชายแดนของไทย) ไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี หัวหิน และกรุงเทพ คณะเดินทางได้หยุดพักเป็นกรณีพิเศษที่ราชกรีฑาสโมสร เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อทางประวัติศาสตร์กับ ทริปเดอะเฟิร์สต์ โอเวอร์แลนด์ ในปี 1955 ผู้ที่รอให้การต้อนรับที่ราชกรีฑาสโมสรได้แก่สมาชิกของสถานทูตอังกฤษ, สมาชิกของกลุ่มผู้ใช้รถยนต์แลนด์โรเวอร์ประเทศไทย, บริษัท อินช์เคป (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แลนด์โรเวอร์อย่างเป็นทางการ รวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ
https://youtu.be/V8nQXRpo3AY
เดอะเฟิร์สต์ โอเวอร์แลนด์ (The First Overland)
ทริปนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางข้ามทวีปแอฟริกาโดยนักศึกษามหาวิทยาออกฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Oxford and Cambridge Trans-Africa expedition) ในปี 1954 นักศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ 6 คนเดินทางด้วยรถยนต์แลนด์โรเวอร์สองคันที่ชื่อว่า ‘ออกซ์ฟอร์ด’ และ ‘เคมบริดจ์’ คณะเดินทางได้เดินทางข้ามทะเลทรายที่เต็มไปด้วยฝุ่นของประเทศอิหร่านผ่านทางตอนเหนือของอินเดีย (ซึ่งเคยเป็นขีดจำกัดของการเดินทางทางบกใดๆ จากลอนดอนมุ่งหน้าไปยังฝั่งตะวันออก) ลุยข้ามลำธารและแม่น้ำที่อันตรายผ่านพม่า (พม่าสมัยใหม่) และไปตามเส้นทางที่ถูกขนานนามว่าสหพันธรัฐมาลายา เมื่อเดินทางมาถึงสิงคโปร์ในปี 1956 การเดินทางครั้งนั้นได้ถูกพาดหัวข่าวไปทั่วโลก โดยการเดินทางครั้งนั้นได้ถูกถ่ายทำเป็นสารคดีของ BBC ถึงสามเรื่องโดยเซอร์เดวิด แอตเทนบะระ (Sir David Attenborough) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงซอกมุมที่ห่างไกลของโลกหลายแห่งในรูปแบบภาพยนตร์เป็นครั้งแรก รวมถึงหนังสือที่เขียนโดยทิม สเลซเซอร์ การเขียนถึงการเดินทางในครั้งแรกซึ่งเซอร์เดวิด แอตเทนบะระ อธิบายว่ามันเปรียบเสมือน “การผจญภัยที่บ้าระห่ำ” ซึ่งอาจถือเป็น “เรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน”
เดอะลาสต์ โอเวอร์แลนด์ (The Last Overland)
การผจญภัยของเจ้ารถ ‘ออกซ์ฟอร์ด’ ไม่ได้สิ้นสุดในปี 1956 ในเวลาต่อมา รถยนต์คันนี้ได้เข้าร่วมในการเดินทางสำรวจเกาะอัสเซนชัน (Ascension Island expedition) และถูกซ่อนไว้จนชำรุดทรุดโทรมบนเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้มานานหลายทศวรรษก่อนที่จะได้รับการกู้คืนและบูรณะโดย อดัม เบนเนตต์ (Adam Bennett) ในปี 2017 อดัมผู้ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความหลงใหลในเรื่องราวของเดอะเฟิร์สต์ โอเวอร์แลนด์ เขาได้มอบรถแลนด์โรเวอร์คันนี้เป็นของขวัญแก่ทิมและอเล็กซ์สำหรับการผจญภัยครั้งล่าสุดนี้ เดอะลาสต์ โอเวอร์แลนด์ จะเผยให้เห็นว่าโลกใบนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดนับตั้งแต่การเดินทางในเดอะเฟิร์สต์ โอเวอร์แลนด์ ผ่านสายตาของนักเดินทางสองรุ่นที่แตกต่างกัน และผู้คนที่ได้พบปะตลอดเส้นทาง
อเล็กซ์ เบสโคบี (Alex Bescoby) ได้แสดงความกระตือรือร้นในการเดินทางครั้งนี้ว่า “ผมรู้สึกโชคดีอย่างยิ่งที่จะได้ออกเดินทางใน การผจญภัยที่จะต้องจดจำไปชั่วชีวิต เราจะเดินทางเป็นเวลา 100 วันไปตามถนนที่สูงที่สุดในโลกผ่านทะเลทรายและป่าไม้เพื่อไป ให้ถึงลอนดอนในช่วงต้นเดือนธันวาคมเรา (คณะเดินทาง) ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากพันธมิตร ผู้สนับสนุน ครอบครัว และเพื่อนๆ ของเรา เราตั้งตารอคอยที่จะได้แบ่งปันเรื่องราวแห่งการผจญภัยของพวกเราตลอดเส้นทางกับพวกเขา”
คณะเดินทางจะมาพร้อมกับทีมที่ปรึกษามืออาชีพ ผู้ที่ชื่นชอบรถยนต์แลนด์โรเวอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินทาง ทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของยานยนต์และการผจญภัย
บริษัทรักษาความปลอดภัยเอเคอี อินเตอร์เนชันนัล (AKE International) และสำนักงานของบริษัทในลอนดอนและสิงคโปร์จะให้การสนับสนุนคณะเดินทางด้วยอุปกรณ์ความปลอดภัย การติดตามด้วยดาวเทียม และการให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยง ริชาร์ด มิตเชลสัน (Richard Mitchelson) ประธานกรรมการบริษัท AKE กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนทริปเดอะลาสต์ โอเวอร์แลนด์ เนื่องจากพวกเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจร่วมกันที่สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะ ‘ชั้นแนวหน้า’ ขององค์กรของเรา นอกจากนี้ การเดินทางครั้งนี้ยังช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการปฏิบัติงานที่สำคัญของเราในสถานที่ที่ท้าทายที่สุดในโลกอีกด้วย การจัดการการเดินทางที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนและการวิเคราะห์อย่างละเอียด เราหวังเพียงแค่ได้กระโดดขึ้นรถแลนด์โรเวอร์ของ AKE และร่วมผจญภัยไปตลอดการเดินทาง!”
นอกจากนี้ การเดินทางครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนที่สำคัญและกิจกรรมการตลาดในกว่า 20 ประเทศที่ทิมและอเล็กซ์จะต้องเดินทางผ่านอีกด้วย โดยที่ แกรมมาร์ โปรดักชันส์ กำลังวางแผนที่จะรวบรวมรถยนต์แลนด์โรเวอร์รุ่นคลาสสิกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในสิงคโปร์และลอนดอน เพื่อนำมาเรียงกันเป็นเส้นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการเดินทาง และเพื่อเฉลิมฉลองเรื่องราวความรักระดับโลกระหว่างแลนด์โรเวอร์และโลกแห่งยานยนต์
เจ้ารถ ‘ออกซ์ฟอร์ด’ ได้เดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากหยุดพักระหว่างทางที่นครสวรรค์และเดินทางต่อไปอีก 90 วันจนกว่าจะถึงลอนดอน และหวังว่าการเดินทางครั้งนี้จะปลอดภัยตลอดเส้นทาง
อนึ่ง ทิม สเลซเซอร์ นอกจากจะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ชาวอังกฤษที่ได้รับรางวัลมากมาย ยังเป็นพรีเซนเตอร์ นักเดินทาง และนักเขียนอีกด้วย เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เข้าทำงานที่ BBC ในปี 1957 และเป็นเวลามากกว่า 30 ปี ที่ร่วมงานกับ BBC ในการทำสารคดีไปทั่วโลก จนได้รับรางวัล Peabody Award หลังจากลาออกจาก BBC ขณะที่มีตำแหน่งรองหัวหน้าแผนกสารคดี ในเวลาต่อมาเขาได้หันไปทำงานอิสระด้านการเขียนบทความให้แก่นิตยสารต่างๆ และผลิตรายการให้กับ Channel Four ในสหราชอาณาจักร และ National Geographic ซึ่งหนังสือของทิมที่เขียนถึงการเดินทางของออกซ์ฟอร์ด แอนด์ เคมบริดจน์ ฟาร์อีสต์เทิร์น เอ็กซ์เพดิชั่น เดอะเฟิร์สต์ โอเวอร์แลนด์ ปี 1955 (1955 Oxford & Cambridge Far Eastern Expedition The First Overland) ได้กลายเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุด และยังมีการจัดพิมพ์ออกมาอีก 62 ปี
อเล็กซ์ เบสโคบี เป็นผู้สร้างภาพยนตร์ชาวอังกฤษที่ได้รับรางวัลและผู้จัดรายการโทรทัศน์ในเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไปกับการทำงานสำรวจและการใช้ชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาได้รับเงินทุนสนับสนุนก้อนใหญ่จากวงการภาพยนตร์ของสหราชอาณาจักร สำหรับทำสารคดีการเปิดตัวครั้งแรกของราชวงศ์ที่สูญหายของเมียนมา มีชื่อเรื่องว่า We Were Kings และ ปัจจุบันกำลังนำเสนอซีรีย์การผจญภัย และการเดินทางจำนวน 6 ตอน ที่ใช้ชื่อว่า The Incredible Journey ให้กับทาง Canal+ International อีกด้วย โดยส่วนตัวแล้วอเล็กซ์มีความหลงใหลในรถยนต์แลนด์โรเวอร์ตั้งแต่สมัยเด็ก และมีความชื่นชอบในการเดินทางของเดอะ เฟิร์สต์ โอเวอร์แลนด์ มาโดยตลอด และเขายังเป็นสมาชิกของ Royal Geographical Society อีกด้วย
นาธาน จอร์จ หรือ แน็ต หลานชายของ ทิม สเลซเซอร์ เขาเกิดที่เมืองทูตติ้ง (Tooting) ทางตอนใต้ของลอนดอน และเติบโตขึ้นมาโดยซึมซับเรื่องราวการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของเดอะเฟิร์สต์ โอเวอร์แลนด์ ของทิม ซึ่งเป็นปู่ของเขา แน็ตเพิ่งจะเรียนจบปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ถึงแม้ว่าวิชาภูมิศาสตร์จะเป็นวิชาที่เขาหลงใหลมาโดยตลอดก็ตาม และเขาสามารถจดจำบอกชื่อประเทศทุกประเทศในโลกได้อีกด้วย ในฐานะของบัณฑิตจบใหม่ ตอนนี้เขาพบว่าตัวเองอยู่ในช่วงชีวิตเดียวกันกับคุณปู่ของเขาเมื่อปี 1955 ซึ่งปู่ของเขาตัดสินใจออกเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงวัยนี้เช่นกัน นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเดินตามเส้นทางของคุณปู่ทิม ซึ่งในเวลาว่างจากการเรียน แน็ตจะสนุกกับดนตรีและกีฬา รวมทั้งทุกอย่างที่เกี่ยวของกับทีมฟุตบอลอาร์เซนอล แต่ที่น่าประหลาดใจมากที่สุดคือ แม้ว่าแน็ตจะเป็นหลานของปู่ทิม แต่เขาไม่เคยขับรถแลนด์โรเวอร์มาก่อน และนี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้ขับรถแลนด์โรเวอร์คันเดิมของคุณปู่แบบขับข้ามทวีปอีกต่างหาก
สำหรับผู้อ่านที่สนใจติดตามการเดินทางครั้งนี้สามารถติดตามได้ทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ official ของ The Last Overland ที่มี URL ว่า www.lastoverland.com หรือทางเฟสบุ๊ค แฟนเพจ www.facebook.com/thalastoverland รวมทั้งทางอินสตราแกรมในชื่อเดียวกัน www.instagram.com/thelastoverland
แลนด์โรเวอร์ ออกซ์ฟอร์ด ปี 1955 (Landrover Oxford 1955)
แป้นคันเร่ง เบรก และคลัช ที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน
ช่วงล่างรุ่นเดิมๆ ทั้งหมด
ชื่อนี้กับสัญลักษณ์ม้าบินสีแดง กับการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 64 ปีที่แล้ว
ความผุพังที่ถูกทำร้ายด้วยกาลเวลาไม่สามารถหยุดยั้งจิตวิญญาณของการเดินทางได้
ปุ่มสีเหลืองนี้คือปุ่มสตาร์ท การเสียบกุญแจแล้วหมุนเป็นการเปิดระบบไฟฟ้า แล้วจึงกดปุ่มสตาร์ทสีเหลืองนี้เครื่องยนต์จึงจะทำงาน
เบาะนั่งแบบเดิมๆ ที่นั่งทับอยู่บนถังน้ำมัน
เครื่องยนต์ดีเซลบล็อคเดิมตรงรุ่น (เครื่องตัวเดิมสูญหายไปแล้ว)
มีความน่ารักกับเจ้าแมวกวักญี่ปุ่น แถมยังมีอยู่ในรถทุกคันอีกด้วย และแน่นอนเมื่อเข้าไทยต้องมีพวงมาลัยห้อยเอาไว้ด้วย
The Last Overland Team พร้อมกับกลุ่มคนรักแลนด์โรเวอร์ ประเทศไทย
เรื่อง/ภาพ : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th[/expander_maker]