TOYOTA C-HR 1.8 Mid อีกตัวเลือกของ SUV ที่เกือบครบเครื่อง
เมื่อก่อนนานมาแล้ว ผมไม่ปลื้มรถญี่ปุ่นเลยแม้แต่นิด เพราะคุณภาพ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ความคิดก็เปลี่ยน ถ้าจะซื้อรถ ต้องรถญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลง่ายๆ ของคนที่มีเงินไม่มาก คุณภาพใช้ได้ ซื้อง่าย ขายคล่อง อะไหล่เพียบ จากที่ใช้รถยุโรปก็หันมาใช้รถญี่ปุ่น ความชัดเจนของนิยามอยู่ที่ใช้งานแล้วไม่จุกจิก ไม่ได้เอาไว้เพื่อแสดงฐานะ เลยไม่เหมือนคนอื่นที่เน้นแบรนด์
บางครั้งก็ไม่เข้าใจเหตุผลของบริษัทว่า ทำไมรถรุ่นนั้นรุ่นนี้ถึงไม่นำเข้ามาประกอบขายในบ้านเรา ปล่อยให้คู่แข่งเจ้าอื่นขายกันอย่างสนุก จนตลาดจะวายแล้วค่อยเอาเข้ามา แม้ว่าจะมีเหตุผลอธิบายให้ฟัง คนแบบเราก็ไม่เข้าใจครับ เรื่องการตลาดของแต่ละแห่งมีความแตกต่าง ซึ่งก็เป็นเหตุที่เจ้า C-HR ทำไมถึงมาช้า ปล่อยให้ลูกค้ารอ นอกจากรอแล้ว ยังต้องรอให้รุ่นไฮบริดขายก่อน แล้วรุ่นเบนซินค่อยตามมา ที่มาของชื่อ C-HR นั้น ย่อมาจาก Compact High Rider, Cross Hatch Run–about หรือ Coupé High–Rider มีความหมายประมาณนี้
TOYOTA C-HR 1.8 เวอร์ชันเบนซิน 1.8 จึงเป็นรถทดสอบในเล่มนี้ ซึ่งเวอร์ชันนี้มีด้วยกัน 2 รุ่น คือ 1.8 Entry และ 1.8 Mid ซึ่งต่างกันในเรื่องของอุปกรณ์และราคา ด้านเวอร์ชันไฮบริดก็มี 2 รุ่นเช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้มีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกัน ยกเว้นเรื่องสี ที่ไฮบริดมีให้เลือกถึง 6 สี ในขณะที่รุ่นเบนซิน มีแค่ 3 สีเท่านั้น
แต่จะยังไงก็ตาม รูปลักษณ์มันไม่อาจจะเป็นตัวชี้วัดที่เหมือนกันเสมอไป เพราะยังไงก็มีคนที่ไม่ชอบรูปทรงแบบนี้ก็มี แต่รวมๆ บอกว่าสวย การมาของ C-HR ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนโฉมแบบฉีกรูปแบบเอกลักษณ์จากโตโยต้าอย่างชัดเจน สวย ทันสมัย โดยเฉพาะการออกแบบส่วนท้าย ฝากระโปรงและไฟท้ายที่แปลกตา ล้อทั้ง 4 ตีโป่ง พร้อมเส้นสายบนเรือนร่างที่จินตนาการแล้ว ราวกับหุ่นยนต์ Dynamic ของ C-HR ราวกับหุ่นยนต์ที่เน้นเส้นสายคมชัด แกร่งแบบหุ่นยนต์ ดูโฉบเฉี่ยว แม้ว่าบางส่วนจะล้ำเกินรูปทรงของรถยคุนี้
ขนาดตัวรถยาว 4,360 มม. กว้าง 1,795 มม. สูง 1,565 มม. ฐานล้อยาว 2,640 มม. ความกว้างของล้อคู่หน้า/คู่หลัง 1,560/1,570 มม. ระยะต่ำสุดจากพื้น 154 มม. ความจุถัง 50 ลิตร จากสัดส่วนที่ระบุเมื่อเทียบกับคู่แข่งทั้ง HONDA HR-V, Mazda CX-3 และ Nissan JUKE มิติภายนอกของ CH-R มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย แต่เมื่อเข้าไปภายในห้องโดยสาร HONDA HR-V จะมีขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในกว้างกว่า ส่วน Mazda CX-3 กับ Nissan JUKE แคบกว่า
สำหรับ C-HR 1.8 Mid รุ่นท็อปของ 1.8 ไฟหน้า Projector Lens แต่ใช้ไฟแบบฮาโลเจน พร้อม Daytime ที่ใช้แบบ LED ไฟท้ายแบบ LED มีสปอยเลอร์หลัง พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ไฟเลี้ยวรุ่นนี้ไม่มีระบบ Sequential (ไฟเลี้ยววิ่งได้) เหมือนในรุ่นไฮบริด มือจับประตูหลังย้ายไปอยู่ด้านบนของกรอบประตู สีรถเฉพาะสีแดง น้ำเงิน เขียว หลังคาจะพ่นสีดำจากโรงงาน ซื่งมีเฉพาะในรุ่นไฮบริดเท่านั้น ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ความแตกต่างของรุ่นเครื่องยนต์ 1.8 นั้น รุ่น Mid ซึ่งเป็นรุ่นท็อป จะมีระบบเปิด-ปิด ประตูแบบ Keyless Entry มีระบบสตาร์ตแบบ Push Start มีปุ่มปรับดันหลังไฟฟ้าด้านคนขับ Lumbar Support มีไฟตัดหมอกหน้า บังโคลนซุ้มหลังมีครบ (รุ่น Entry มีแค่ด้านหน้า) คิ้วขอบกระจกประตูเป็นโครเมียม คิ้วตกแต่งเสากลางเป็นเปียโนแบล็ก สีภายในเป็นทูโทน (ดำและน้ำตาล) เบาะหนังแซมวัสดุสังเคราะห์ กระเป๋าหลังเบาะนั่งคู่หน้า โดยรุ่น 1.8 Mid ราคา 1,039,000 บาท รุ่น 1.8 Entry 979,000 บาท ราคาต่างกัน 60,000 บาทเท่านั้น
เป็นที่น่าเสียดายว่า รุ่นเครื่องยนต์ 1.8 นั้น จะมีสีให้เลือกเพียง 3 สีเท่านั้น คือ สีขาว สีเงิน (เทา) และดำเท่านั้น เฉพาะไฮบริดเท่านั้นมีให้เลือก 6 สี เพราะฉะนั้น อยากได้สีสดใสต้องเพิ่มเงินซื้อรุ่นไฮบริด ซึ่งตั้งราคาไว้ที่ 1,069,000 บาท กับ 1,159,000 บาท นี่คือข้อแตกต่างของ C-HR ทั้ง 4 รุ่น
สำหรับภายในห้องโดยสาร ดูหรูหราไม่เบา แผงประตูด้านข้างพลาสติกล้วน แต่มีลูกเล่นคาดด้วยพลาสติกสีน้ำตาลปั๊มลายเหลี่ยม เบาะนั่งหุ้มหนังผสมไวนิล เบาะนั่งไม่มีระบบปรับไฟฟ้า แต่ปรับได้ 6 ทิศทาง ทัศนวิสัยการเข้า-ออก ก็สะดวกสบายพอควร ประตูเปิดได้กว้าง เบาะหลังพับลงได้ ด้านหลังไม่มีมือจับมาให้ ซึ่งแม่บ้านส่วนใหญ่บ่น เพราะส่วนใหญ่เอาไว้แขวนผ้าที่ไปจ้างซักรีด เลยไม่มีที่แขวน พื้นที่ใช้สอยก็โอเคกว่าที่คิดไว้ นั่งสบายพอควร เบาะนั่งด้านหลังไม่กว้างขวางแต่ก็นั่งสบาย เสียแต่ว่าทึบไปหน่อย เพราะที่เปิดประตูหลังอยู่ด้านบน แถมออกแบบมือเปิดแบบแนวนอน เลยทำให้กรอบประตูส่วนบนหนาใหญ่ แต่บางคนก็ชอบนะ ไม่มีแสง UV รังควาน และด้วยรูปทรงสไตล์ด้านท้ายแนวคูเป้ ประตูท้ายหรือบานที่ห้าจึงลาดเอียงจากหลังคาลงมามาก เพื่อการไหลวนของอากาศพลศาสตร์ จึงทำให้กระจกหลังค่อนข้างเล็ก และยังพลอยทำให้พื้นที่เก็บของสัมภาระหลังแคบลงด้วย ความจุแค่ 377 ลิตร การตกแต่งภายในใช้วัสดุที่ดูดี เข้ากับการออกแบบ ทั้งแผงหน้าปัด พวงมาลัย เข้ากันอย่างสวยงาม ฟังก์ชันการใช้งานก็เหมือนรถรุ่นอื่นๆ ไม่ได้มีระบบอะไรพิเศษกว่าคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน
รุ่นนี้ไม่มียางอะไหล่มาให้ นอกจากอุปกรณ์ชุดอุดรูรั่วฉุกเฉินมาให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามาให้แทน
แผงหน้าปัดออกแบบรับกับแผงข้างประตู ตกแต่งด้วยพลาสติกดำมัน เล่นโทนน้ำตาลด้านบนแผง และสีดำด้านล่างแบบทูโทน ทำให้ซอฟต์ขึ้นมาบ้าง นอกจากนี้ยังปั๊มลายตะเข็บแบบหนังแท้เดินด้วยเส้นด้ายบนเนื้อพลาสติก ทำให้แลดูหรูขึ้นมา
พวงมาลัย 3 ก้าน สามารถปรับได้ 4 ทิศทาง สูง-ต่ำ ใกล้-ไกล รูปทรงสปอร์ตน่าจับ พร้อมปุ่มพังก์ชันการใช้งานต่างๆ มาให้ มาตรวัดทรงกลม 2 อัน แทรกตรงกลางด้วยจอขนาด 4.2 นิ้ว แสดงข้อมูลการขับขี่แบบ TFT แจ้งอัตราความสิ้นเปลื้องของเชื้อเพลิง แจ้งระยะทาง ถัดมากลางแผงหน้าปัดเป็นจอแสดงผลขนาด 7 นิ้ว ระบบสัมผัส ให้ความบันเทิงทั้งวิทยุและเครื่องเล่น CD/DVD/ ระบบนำทาง และกล้องหลัง นอกจากนี้ยังรองรับบริการเชื่อมต่ออีกหลากหลายในอนาคต
ทัศนวิสัยด้วยรูปแบบของการดีไซน์ที่เสาหลังหน้าทึบ กระจกหลังบานเล็ก แนวด้านข้างตัวรถสูง ทำให้จุดบอดด้านหลังค่อนข้างมาก เวลาขับและเทียบรถเข้าด้านข้างต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ รุ่นนี้น่าจะมี Blind Spot มาให้ เพื่อช่วยเหลือเป็นหูเป็นตาในการเปลี่ยนช่องทาง
เครื่องยนต์ที่ใช้ในรุ่น 1.8 Mid เป็นเครื่องยนต์เบนซิน รหัส 2ZR-FBE 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาล์ว เป็นเครื่องเดียวกับที่ใช้ใน ALTIS 1.8 ปริมาตรความจุ 1,798 ซี.ซี. อัตราส่วนกำลังอัด 10.0:1 ให้กำลังสูงถึง 140 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 175 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ระบบส่งกำลัง เกียร์อัตโนมัติแบบ Super CVT-i 7 สปีด สามารถเลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้ อัตราทดเกียร์อยู่ในช่วง 2.480-0.396 อัตราทดเฟืองท้าย 5.698 ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง และด้านหลัง อิสระ แบบปีกนกคู่ พร้อมเหล็กกันโคลง
การมาของ TOYOTA C-HR ครั้งนี้ไม่ได้สร้างความผิดหวังให้กับผู้ใช้ในหลายๆ แง่มุม ทั้งรูปลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยวจนคาดไม่ถึงว่า TOYOTA จะเปลี่ยนเทรนด์เอกลักษณ์ของตนเองออกไปจากดีไซน์เดิมๆ ซึ่งระยะหลังนี้จะไม่ค่อยเข้าตา เหนือสิ่งอื่นใด คือเรื่องสมรรถนะของรถที่เปลี่ยนบุคลิกตัวเอง เพื่อจับกลุ่มลูกค้าอื่นที่ชอบรถในสไตล์สปอร์ต ขับสนุก พวงมาลัยคุมทิศทางได้แม่นยำ และฉับไว เบรกสั่งได้ดังใจ ทุกการกดคันเร่งหมายถึงอัตราเร่ง และความเร็วที่ตอบสนองอย่างรวดเร็ว ตลอดจนถึงความปลอดภัย ในเรื่องของอัตราเร่งแซงก็ไม่ได้เหนือคู่แข่งหรือแย่กว่าคู่แข่งอื่น จัดว่าพอฟัดพอเหวี่ยง เมื่อเทียบขนาดเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรด้วยกัน การไต่ความเร็วในช่วง 80 กม./ชม. ขึ้นไป ก็ไหลลื่นดีตามการกดคันเร่ง ให้การตอบสนองได้ทันใจพอควร ผนวกกับช่วงล่างที่ปรับแต่งมาได้เหมาะกับการใช้งาน ไม่กระด้างมาก แต่ก็ให้การยึดเกาะถนนได้หนึบทีเดียว ดังนั้น C-HR รุ่น 1.8 Mid ขับสนุกยิ่งขึ้น เมื่อเซตน้ำหนักพวงมาลัยมาพอเหมาะกับการใช้งานตามระดับความเร็ว และไม่รู้สึกเบาหวิวอย่างที่บางยี่ห้อชอบเซตมาให้ (กลุ่มผู้หญิงและผู้สูงอายุใช้) การเก็บเสียงยังไม่ประทับใจทั้งเสียงจากพื้นถนน และเสียงลมจะเข้าห้องโดยสารมากขึ้น เมื่อใช้ความเร็วที่ 100 กม./ชม. แถมได้ดิสก์เบรก 4 ล้อมาตั้งแต่แรก ก็ยิ่งช่วยเสริมให้ C-HR คันนี้ ค่อนข้างสมบูรณ์พูนสุขในเรื่องของสมรรถนะการใช้งานอย่างครบถ้วน
ระบบความปลอดภัย ให้ถุงลมนิรภัยมาเต็ม คือ คู่หน้า 2 ลูก ด้านข้างคู่หน้า 2 ลูก ม่านด้านข้างอีก 2 ลูก และหัวเข่าของคนขับอีก 1 ลูก รวม 7 ลูก ส่วนระบบความปลอดภัยอื่นๆ ติดตั้งมาน้อยมาก เมื่อเทียบกับรุ่น Hybrid แต่คาดเดาว่า รุ่นต่อไปทางโตโยต้าจะเพิ่มเติมให้ ตามสไตล์การตลาดของรถค่ายนี้อยู่แล้ว
สุดท้ายเรื่องอัตราความสิ้นเปลือง ในรุ่น 1.8 นี้ ถังน้ำมันจะมีความจุ 50 ลิตร มากกว่ารุ่นไฮบริดที่มีแค่ 43 ลิตร การใช้งานตามปกติไม่ได้เน้นเรื่องแข่งประหยัด ขับไปตามสภาพการจราจรของถนน ทั้งสายรามอินทราที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า บนทางด่วน ในทุกสภาพมีทั้งติดขัดและโล่ง วิ่งสบายๆ รวมระยะทาง 401.6 กม. บริโภค 34.34 ลิตร จ่ายค่าน้ำมันไป 1,040 บาท เฉลี่ย 11.69 กม./ลิตร แต่ถ้าจะจับตัวเลขในช่วงจราจรตอนเช้าที่ทุกคนออกไปทำงาน รถติดหนึบ ค่าตัวเลขออกมาประมาณ 7.9 กม./ลิตร โดยรวมแล้ว ถ้าชอบการขับที่เน้นสปอร์ต C-HR เครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร เหมาะที่สุด แม้ว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งมาให้จะน้อยไป แถมสีรถก็มีให้เลือกแค่ 3 สีเท่านั้น แต่ถ้าจะเอาความประหยัดและอุปกรณ์ที่เหนือกว่า ต้องถอยไฮบริด 1.8 ครับ
SPECIFICATIONS
TOTOTA C-HR 1.8 Mid
เครื่องยนต์
รุ่น 2ZR-FBE
แบบ 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาล์ว
ความจุกระบอกสูบ (ซี.ซี.) 1,798
ความกว้างกระบอกสูบ x ระยะชัก มม. 80.5 x 88.3
อัตราส่วนกำลังอัด 10.0:1
ระบบจ่ายน้ำมัน หัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ EFI รองรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E85
แรงม้าสูงสุด กิโลวัตต์ (PS)/รอบต่อนาที 103(140)/6,000
แรงบิดสูงสุด นิวตันเมตร (กก.-ม.)/รอบต่อนาที 175(17.8)/4,000
ความจุถังน้ำมัน (ลิตร) 50
ระบบขับเคลื่อน และระบบรองรับ
ระบบส่งกำลังอัตโนมัติ Super CVT-i7 สปีด พร้อม Sequential Shift และ Shift Lock อัตราทดเกียร์ 2.480-0.396
เกียร์ถอยหลัง 2.604-1.680
เฟืองท้าย 5.698
รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด(ม.) 5.2
ระบบช่วงล่าง หน้า อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง
หลัง อิสระ แบบปีกนกคู่ (Double Wishbone)
พร้อมเหล็กกันโคลง
เบรก หน้า ดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน
หลัง ดิสก์เบรก
พวงมาลัย เพาเวอร์ไฟฟ้า EPS
มิติภายนอก ยาว x กว้าง x สูง (มม.) 4,360 x 1,795 x 1,565
ความยาวฐานล้อ (มม.) 2,640
ความกว้างช่วงล้อ หน้า/หลัง (มม.) 1,550/1,570
ระยะต่ำสุดจากพื้น (มม.) 154
น้ำหนักรถ (โดยประมาณ) (กก.) 1,385
ขนาดยาง 215/60 R17
ราคารถ 1,039,000 บาท
เรื่อง: ภิญโญ ศิลปศาสตร์ดำรง ภาพ : ภูดิท แซ่ซื้อ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th