TOYOTA Humanoid Robot T-HR3 หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ เจเนอเรชันที่ 3
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์กับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ มาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร หลายท่านอาจตั้งคำถามในใจ ผู้เขียนพยายามทบทวนว่าเคยมีข่าวเกี่ยวกับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์จากผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งยุโรปหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่คุ้นเลย แตกต่างจากค่ายรถญี่ปุ่น ที่ส่งหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์มาสร้างสีสันตามงานมอเตอร์โชว์ มานานกว่า 10 ปี ที่ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำมาอย่างยาวนาน คือ ‘ASIMO’ (Advanced Step in Innovative Mobility) จาก HONDA ที่เริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่ปี 1986 (E0) ตามมาด้วย TOYOTA ที่ยังคงเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ล่าสุดได้ส่ง ‘T-HR3’ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ เจเนอเรชันที่ 3 มาโชว์ตัวเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017
หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิตมีหลายประเภท แตกต่างกันไปตามรูปแบบการใช้งาน วัตถุประสงค์พื้นฐานในการนำหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ เริ่มต้นจากอำนวยความสะดวกให้มนุษย์ ลดความเสี่ยงจากงานที่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกาย ไล่เรียงไปจนถึงลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำงานของมนุษย์เอง (Human Error) บริษัทรถยนต์ทั่วโลกนำหุ่นยนต์เข้ามาสร้างระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ช่วยลดทั้งขั้นตอนและเวลาในไลน์การผลิต สำหรับส่วนโรงงานประกอบรถยนต์มีใช้มานานแล้ว ซึ่งนั่นเป็นคนละเรื่องกับ Humanoid Robot ที่มุ่งพัฒนาเพื่อเลียนแบบมนุษย์ในทุกอิริยาบถ[expander_maker id=”4″ more=”อ่านเพิ่มเติม” less=”Read less”]
ในอนาคตหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์จึงใกล้ชิดมนุษย์มากกว่าหุ่นยนต์รูปแบบอื่นๆ นอกจากเรื่องสรีระที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานแทนมนุษย์แล้ว ยังรับใช้ เป็นของเล่น เป็นเพื่อน เป็นครูสอนภาษา เป็นนักกีฬารูปแบบใหม่ๆ หรือแม้แต่ทำภารกิจที่เสี่ยงต่ออันตราย ช่วยลดความสูญเสียชีวิตมนุษย์ เราจึงได้เห็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์จากภาพยนตร์แนวไซไฟอย่างหลากหลาย ตามจินตนาการของผู้สร้าง
ความยากในการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ อยู่ที่การเลียนแบบการเคลื่อนไหวของมนุษย์ สรีระและร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งอัศจรรย์ การเคลื่อนไหว การนั่ง การนอน การเดิน การวิ่ง ฯลฯ ล้วนต้องใช้ความสมดุล การสร้างให้หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เคลื่อนไหวได้แบบมนุษย์จึงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย แต่ปัจจุบันหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ก็ทำได้เกือบๆ จะเทียบเคียงมนุษย์แล้ว โดยเฉพาะสารพัดท่ายาก อาทิ ขึ้นหรือลงบันได การยืนขาเดียว การเตะฟุตบอล การเต้น ทีมวิศวกรต้องใช้ศาสตร์หลายแขนงกว่าจะได้หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์แต่ละตัวออกมาโชว์
หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (Humanoid Robot) คือหุ่นยนต์ที่ออกแบบขึ้นมาโดยมีพื้นฐานมาจากร่างกายมนุษย์ โดยทั่วไป หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์มีลำตัวพร้อมหัว สองแขน และสองขา แม้หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์บางรูปแบบจะจำลองเฉพาะบางส่วนของร่างกายเท่านั้น ตัวอย่าง เช่น ตั้งแต่เอวขึ้นไป หรือตั้งแต่เอวลงมา หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์บางตัวยังอาจมี ‘ใบหน้า’ พร้อม ‘ตา’ และ ‘ปาก’ อีกด้วย โดย ‘Android’ คือหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่สร้างเลียนแบบมนุษย์ ‘เพศชาย’ และ ‘Gynoid’ คือหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่สร้างเลียนแบบมนุษย์เพศหญิง
หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติ เนื่องจากมันสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมหรือตัวมันเอง และยังคงทำงานต่อเพื่อบรรลุเป้าหมาย สิ่งนี้เป็นข้อแตกต่างหลักระหว่างฮิวแมนนอยด์และหุ่นยนต์ชนิดอื่น เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่ใช้ปฏิบัติภารกิจในสภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้างชัดเจนมากกว่า ที่มา: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
T-HR3 เป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ เจเนอเรชันที่ 3 ที่ TOYOTA จับมือกับพันธมิตรนาม Tamagawa Seiki Co., Ltd. และ Nidec Copal Electronics Corp. ร่วมกันพัฒนาขึ้น นอกจากชิ้นส่วนที่ออกแบบตามสรีระของมนุษย์จำนวน 29 ชิ้น ยังจะมีออนบอร์ดของ T-HR3, motors, reduction gears, torque sensors และแท่นคอนโทรล Master Maneuvering System โดยแท่นคอนโทรลยังถูกสั่งการโดยมนุษย์ (อนาคตเป็นหน้าที่ของ AI) จะทำหน้าที่ควบคุมการขยับเคลื่อนไหวของ T-HR3 ทั้งหมด ส่วนหลัก คือ การแกว่งของแขนและมือ รวมทั้งจังหวะในการก้าวเท้า ความราบเรียบ การเคลื่อนที่อย่างเป็นธรรมชาติของ T-HR3 จึงขึ้นอยู่กับระบบนี้
ตัวแท่นคอนโทรล Master Maneuvering System ใช้ควบคุม T-HR3 จากระยะไกล มีขนาด ความกว้าง ความลึกและความสูง ที่ 850, 1,500 และ 1,450 มิลลิเมตร ตามลำดับ พร้อมน้ำหนัก 170 กิโลกรัม มีแกนรองรับการเคลื่อนไหวจำนวน 16 แกน แถมมีอุปกรณ์ประกอบเพิ่มเติม ได้แก่ ถุงมือ และชุดหน้ากากสวมหัว VR ในขณะที่ T-HR3 มีความสูง 1,540 มิลลิเมตร หนัก 75 กิโลกรัม มีส่วนที่เคลื่อนไหวทั้งหมด 32 แกน และอีก 10 นิ้วมือ
T-HR3 มาพร้อมเทคโนโลยี Self-interface Prevention เป็นระบบป้องกันการชนกับวัตถุเคลื่อนไหวรอบด้าน โดยที่ T-HR3 ไม่ต้องหยุดเคลื่อนที่ ปิดท้ายด้วย 3 คุณสมบัติพื้นฐานของ T-HR3 ได้แก่ Flexible Control ให้ความคล่องตัวในการบังคับควบคุมสูงสุด, Whole-body Coordination and Balance Control เชื่อมประสานการเคลื่อนที่กับทุกส่วนของร่างกายผู้ควบคุม รวมทั้งสร้างสมดุลในการบังคับ และ Real Remote Maneuvering หรือพร้อมหลบหลีกวัตถุหรือสิ่งกีดขวางได้จากระยะไกล
รถยนต์กลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าไฮเทคของโลกยุคใหม่ ที่ผู้ผลิตจะอยู่อย่างยั่งยืนได้ ด้วยการผนวกรวมทุกเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน เพราะอนาคตของพาหนะไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่รถไฟฟ้า แต่จะแตกแขนงไปในส่วนของระบบอัตโนมัติอีกไม่รู้จบสิ้น ดังนั้น นอกจาก Autonomous หรือยานยนต์ไร้คนขับ (ถูกต่อยอดไปเป็น Robo-vehicles) หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ก็อาจเป็นทางเลือกเพิ่มเติม ที่จะรับหน้าที่ขับรถแทนมนุษย์ โดยทั้งหมดเป็นการสร้างนวัตกรรม เพื่อมาอำนวยความสะดวกในทุกรูปแบบอย่างแท้จริง
เรื่อง: พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th[/expander_maker]