ปี 66 ประเทศไทยขายรถยนต์ 775,780 คัน -9% TOYOTA เชื่อปี 67 ยังไม่ฟื้นคาดยอดรวม 800,000 คัน
โตโยต้า ยอดขายรถ 2567
บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2566 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2567 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 โดยระบุว่าปี 2566 ถือเป็นปีที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว โดยตลาดภายในประเทศยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัว ในขณะที่ภาคการส่งออกโดยรวมมีการขยายตัวที่ดีขึ้น
ทั้งนี้มีปัจจัยหลากหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงจากหนี้ครัวเรือนสูง ตลอดจนการชะลอซื้อรถยนต์ของภาคธุรกิจเพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการรัฐซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตามยังพอมีปัจจัยด้านบวกอื่นๆ ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม อาทิ สัดส่วนการขายของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศที่ขยายตัวได้ดี โดยได้กระแสความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนด้านราคาของภาครัฐ ตลอดจนตัวเลขการส่งออกรถยนต์ของไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกในช่วงที่ผ่านมา เพื่อชดเชยการส่งมอบรถที่ล่าช้าจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญจนทำให้การผลิตล่าช้าออกไปในปีก่อนหน้านี้
ทั้งนี้จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ได้สะท้อนมายังตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยมีตัวเลขยอดขายรวมในปี 2566 อยู่ที่ 775,780 คัน หรือลดลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2565
สำหรับยอดขายของโตโยต้าในปี 2566 มียอดขายโดยรวมอยู่ที่ 265,949 คัน หรือลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หากแต่ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 34.3% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์นั่งของโตโยต้ามีการเติบโตสูงขึ้นจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถอีโคคาร์ที่ยังคงสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ได้อย่างต่อเนื่อง จากความสำเร็จด้านยอดขายของรถยนต์ Yaris ATIV รวมถึงการมีรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง Yaris Cross ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า
นอกจากนี้การดำเนินกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการมีผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่หลากหลายของโตโยต้า ก็มีส่วนทำให้สามารถเข้าถึงและใกล้ชิดกับลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายต่างๆได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
นอกเหนือจากรถยนต์ภายใต้แบรนด์โตโยต้า ในปี 2566 ที่ผ่านมา แบรนด์เลกซัส ประเทศไทย ประสบความสำเร็จ มียอดขายสูงสุด อยู่ที่ 1,012 คัน นับเป็นครั้งแรกที่ เลกซัส ประเทศไทย สามารถสร้างยอดขายได้สูงสุดถึงระดับกว่า 1,000 คัน แสดงถึงความไว้วางใจ และความมั่นใจของลูกค้าชาวไทยที่มีต่อแบรนด์เลกซัส
แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567
แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2567 คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยมีปัจจัยรอบด้านที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวม อาทิ การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น นโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลในด้านการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2567 จะอยู่ที่ 800,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
สำหรับโตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 277,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.6%
ปริมาณการส่งออกรถยนต์และการผลิตของโตโยต้าในปี 2566
ในปี 2566 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปจำนวน 379,044 คัน เพิ่มขึ้น 0.2% จากปี 2565 โดยยอดรวมการผลิตรถยนต์สำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกในปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 621,156 คัน หรือลดลง 5.8% จากปี 2565
เป้าหมายการส่งออกรถยนต์และการผลิตของโตโยต้าในปี 2567
สำหรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปี 2567 คาดการณ์ว่ายังต้องเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ตลอดจนภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลให้โตโยต้าตั้งเป้าปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 358,800 คัน หรือลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และได้ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2567 อยู่ที่ราว 615,700 คัน หรือลดลง 0.9% จากปีที่ผ่านมา
การดำเนินงานในด้านอื่นๆของโตโยต้าในประเทศไทย
ในปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจยานยนต์แล้ว โตโยต้ายังได้มีในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) โดยได้มีการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multiple Pathway” เพื่อทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทางของผู้คน โดยมีการร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิ
1การลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น / เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP / บริษัท ทรู ลีสซิ่ง / บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG, และ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation หรือ CJPT เพื่อเร่งความร่วมมือในการมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย โดยได้เริ่มต้นดำเนินการทดลองใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านข้อมูล ด้านการเดินทาง และด้านพลังงาน ซึ่งในปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินความร่วมมือที่เห็นเด่นชัดคือ การเปิดตัวเครื่องผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพที่ได้มาจากมูลสัตว์ในฟาร์มสัตว์ปีกและเศษอาหารของซีพี และอาหารเหลือทิ้งจากโรงอาหารของโตโยต้า โดยนำพลังงานนั้นมาใช้กับรถพลังงานไฮโดรเจน ทั้งนี้ ความท้าทายต่อไป คือการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน และการลดต้นทุนในกระบวนการทั้งหมดของขั้นตอน “การผลิต” “การขนส่ง” และ “การใช้” พลังงานโดยการใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับสภาพ และการใช้งานในประเทศไทย นอกจากนี้ เพื่อปรับปรุงให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการใช้ข้อมูล จะมีการนำข้อมูลด้านค้าปลีก และขนส่งจาก ซีพีและเอสซีจี รวมถึงการนำเทคโนโลยี “Digital Twin” (การสร้างโมเดลเสมือนจริงจากพื้นที่จริง) ของโตโยต้า มาเพิ่มประสิทธิภาพของ “การเดินทาง การขนส่ง และพลังงาน” โดยร่วมมือกับระบบทางสังคม เช่น การจัดการพลังงานและการควบคุมการจราจร เป็นต้น
ชชชการต่อยอดโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ ที่โตโยต้าร่วมมือกับเมืองพัทยาในการจัดสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์พลังงานทางเลือกที่จัดเตรียมไว้ให้ผู้คนในเมืองพัทยาได้ทดลองใช้งานในการเดินทางรูปแบบต่าง ๆ ได้มีการต่อยอดไปสู่การเตรียมความพร้อมในการนำรถกระบะต้นแบบพลังงานไฟฟ้า 100% อย่าง Hilux REVO BEV มาให้บริการในรูปแบบรถโดยสารประจำทางสาธารณะแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยา โดยพร้อมที่จะเริ่มทดลองให้บริการได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของรถในโครงการทั้งหมดมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 4,000 ตัน ต่อปี
นอกจากนี้ ในด้านกิจกรรมสังคมอื่น ๆ โตโยต้าก็ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ “ยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมทั้งเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่ดี ผ่านการดำเนินกิจกรรมและขยายผลการดำเนินงานในโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแสวงหาแนวทางการประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อมีส่วนช่วยผลักดันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
โตโยต้า ยอดขายรถ 2567
สถานการณ์ตลาดรถยนต์ ประเทศไทย เดือนกันยายน 2023 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ยอดขายรถยนต์ รวม 62,086 คัน ลดลง 16.3 เปอร์เซ็นต์ อีโคคาร์ดันยอดรถยนต์นั่งโต 10.4 เปอร์เซ็นต์ เซกเมนต์ปิ๊กอัพทรุดหนักลงลง 43.6 เปอร์เซ็นต์ จับตาไตรมาสสุดท้าย