โตโยต้า แจงคำพิพากษาคดีพรีอุส ยืนยันมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไป
คำชี้แจงจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อคำพิพากษาจากศาลฎีกา คดี พรีอุส
วันที่ 15 กันยายน 2565 – วันนี้ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดี พรีอุส ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการตีความอัตราอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จึงใคร่ขอแถลงการณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวดังต่อไปนี้
ปิดตำนาน ‘พรีอุส’ ศาลสั่ง โตโยต้า จ่ายภาษี 1.16 หมื่นล้านบาท
“บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (“บริษัทฯ”) ขอแสดงความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนี้มีประเด็นเกี่ยวกับการตีความข้อกฎหมายซึ่งยังไม่เคยมีการวินิจฉัยมาก่อน และเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ บริษัทฯ ได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาระหว่างสองประเทศ ที่เรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อลดอัตราอากรขาเข้าในการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส ซึ่งในปี 2553 หน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ จึงมีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างถูกต้องมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2555 กรมศุลกากรได้ตีความกฎการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุสในแนวทางซึ่งแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีภาระภาษีและอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก คำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ได้ตีความในแนวทางเดียวกันกับการตีความของกรมศุลกากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้รับสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว บริษัทฯ จะศึกษารายละเอียดของคำพิพากษา และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ต่อไป
บริษัทฯ ขอยืนยันว่า บริษัทฯ ยึดมั่นที่จะประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยและพัฒนาสินค้า และบริการเพื่อให้ลูกค้าในประเทศไทยได้รับความพึงพอใจสูงสุด และเพื่อส่งเสริมพันธกิจขององค์กรในการขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทย”
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
วันที่ 15 กันยายน 2565 – ศาลภาษีอากรกลางกำหนดนัดอ่านคำพิพากษาชั้นฎีกา คดีข้อพิพาทการจัดเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ โตโยต้า รุ่น พรีอุส (Prius) ระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กับกรมศุลกากร
โดยผลของคำพิพากษานั้นระบุว่าให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายแพ้คดี ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่สามารถยกเว้นการจัดเก็บภาษีรวม 11,639,786,094.84 บาท แยกเป็น อากรขาเข้า 7,580,608,221.39 บาท ภาษีสรรพสามิต 2,029,576,752.79 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 202,957,592.56 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,826,643,528.10 บาทได้ เนื่องจากว่าชิ้นส่วนที่บริษัทได้นำเข้ามายังประเทศไทยนั้นเป็นชิ้นส่วนที่ใกล้จะประกอบสำเร็จ สมบูรณ์เป็นรถพร้อมจะใช้งานได้แล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับความร่วมมือในทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นหรือ JTEPA ที่จะขยายการค้าระหว่างกันโดยการปรับลดภาษีให้ต่ำลง และเป็นศูนย์ เพื่อเกิดการค้าอย่างเสรี รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้าและความร่วมมือสาขาต่างๆ ระยะเวลา มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550
คดีทั้งสิบเรื่องโจทก์ ฟ้องว่า ระหว่างปี 2553 ถึง 2555 โจทก์นําเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อนํามาผลิตรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส โดยอาศัยสิทธิตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 และมาตรา 14 แห่งพระราชกําหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และตามความตกลง ระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสําหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (JTEPA) โจทก์จึงขอให้ เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จําเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินและคําวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคําวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ชิ้นส่วนรถยนต์ที่โจทก์นําเข้าเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว มีลักษณะอันเป็นสาระสําคัญของรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส และสามารถนําไปประกอบเป็นรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส ได้ทันที จึงต้องจําแนกเข้าประเภทพิกัดของชิ้นส่วนที่สมบูรณ์หรือสําเร็จแล้วที่นําเข้ามา
โดยถอดแยกออกจากกันหรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกันในฐานะที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ ประเภท พิกัด 8703.23.41 หรือ 8703.23.51 (ตามช่วงเวลาที่นําเข้า) ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตรา ศุลกากร ข้อ 1 ข้อ 2 (ก) และ ข้อ 6 ในภาค 1 ท้ายพระราชกําหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรและลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ออกมาเพื่อให้เป็นไปตาม ความตกลง JTEPA และไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากร และยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกําหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2553