Volkswagen หาทางออกให้แบตเตอรีรถไฟฟ้าด้วยการรีไซเคิล
สิ่งหนึ่งที่หลายคนมองเห็นในรถไฟฟ้าคือพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการปล่อยมลพิษหรือไม่ปล่อยมลพิษออกมาเลยในขณะเดินทาง แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คิดหรือคิดไม่ถึงก็คือการจัดการแบตเตอรีหลังจากเสื่อมสภาพแล้ว ซึ่งจะมีขึ้นจำนวนมากในอนาคตเมื่อการใช้งานรถไฟฟ้าเป็นกระแสหลัก ซึ่งแน่นอนว่าหลายผู้ผลิตรถยนต์ได้เริ่มเตรียมการสำหรับเรื่องนี้เอาไว้แล้ว โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์ที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านจากรถใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถไฟฟ้า โดยสำหรับ Volkswagen ก็ได้คิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ด้วยการเปิดโรงงานนำร่องรีไซเคิลวัตถุในแบตเตอรี
Volkswagen Group ได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถรีไซเคิลได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของวัตถุในแบตเตอรีรถไฟฟ้าในอนาคต และได้เข้าสู่ก้าวแรกของเป้าหมายนี้ด้วยการเปิดโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรีรถไฟฟ้าใน Salzgitter โดยแนวคิดของโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรีรถไฟฟ้ามาจากการที่แบตเตอรีลิเธียมไอออนประกอบด้วยวัตถุดิบจำนวนมากซึ่งเป็นวัตถุหายากและใช้พลังงานจำนวนมากในการทำเหมืองแร่เพื่อค้นหา การรีไซเคิลแบตเตอรีจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่สร้างความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
โรงงานที่ Volkswagen ตั้งขึ้นจะรีไซเคิลแบตเตอรีเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานอื่นได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีแนวทางของแผนสำหรับการรียูสหรือนำแบตเตอรีกลับมาใช้ใหม่อย่างเช่นกับแหล่งชาร์จพลังงานเคลื่อนที่ โดยโรงงานรีไซเคิลนี้จะจัดการกับแบตเตอรีที่ถูกใช้จนหมดหรือไม่สามารถใช้ได้ต่อแล้ว และจากนั้นจึงจะนำวัตถุดิบอย่างลิเธียม นิเกิล แมงกานีส และโคบอลต์กลับมาใช้
Thomas Schmall กรรมการในคณะบริหารของ Volkswagen Group Components ได้บอกว่า “Volkswagen Group Components ได้บรรลุไปข้างหน้าอีกขั้นของความรับผิดชอบเพื่อความยั่งยืนจากปลายด้านหนึ่งไปถึงอีกด้านหนึ่งในเรื่องแบตเตอรีซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของพาหนะไฟฟ้า เราใช้วัตถุที่รีไซเคิลได้อย่างยั่งยืน และมีบทบาทในการบุกเบิกสำหรับปัญหาในอนาคตเพื่อป้องกันปัญหาสภาพอากาศรวมทั้งการจัดหาวัตถุดิบ”
นอกจากนี้ขั้นตอนการรีไซเคิลยังถูกระบุว่าจะมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแทนที่จะแค่หลอมทุกอย่าง แต่แบตเตอรีจะถูกถอดออกและบดให้เป็นผงสีดำจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการ Hydrometallugical โดย Mark Moller หัวหน้าฝ่าย Business Unit Technical Development & E-Mobility ได้บอกถึงผลลัพธ์ว่า “ส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์แบตเตอรีเก่าสามารถใช้เพื่อผลิตวัตถุดิบ Cathode ใหม่ได้ จากการวิจัยเรารู้ว่าวัตถุดิบแบตเตอรีที่ถูกรีไซเคิลมีประสิทธิภาพเหมือนของใหม่ ในอนาคตเราจะพยายามสนับสนุนการผลิตเซลล์แบตเตอีของเราด้วยวัตถุที่เรานำกลับมา ตอบสนองต่อความต้องการแบตเตอรีและวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องที่สูงขึ้น สามารถนำทุกกรัมของวัตถุที่รีไซเคิลมาใช้”
อย่างไรก็ตามทาง Volkswagen ไม่ได้คิดว่าโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรีของตนจะมีงานชุกนักในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ จนกระทั่งเมื่อรถไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น สิ่งนี้จะเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อสิ่งแวดล้อม
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th