Volkswagen I.D. VIZZION “คำตอบของรถยนต์ในอนาคต”
I.D. Family คือรถเซ็กเมนต์ใหม่จาก Volkswagen เป็นรถไฟฟ้า ไร้มลพิษ ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ครอบครัว I.D. ประกอบด้วย I.D., I.D. CROZZ, I.D. BUZZ และ I.D. VIZZION หากนับรวมรถแข่งพลังงานไฟฟ้าก็จะมีสมาชิกเพิ่มมาอีก 1 รุ่น ได้แก่ I.D. R Pikes Peak แม้จะเป็นรถไฟฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานเดียวกัน แต่ I.D. Family แต่ละรุ่น แตกต่างกันด้วยรูปแบบตัวถังและรูปแบบการใช้งาน สำหรับ I.D. VIZZION ซึ่งเป็นสมาชิกคันล่าสุด ถูกกำหนดให้เป็นรถซาลูน ชั้นพรีเมียม ที่เน้นความสะดวกสบายในการเดินทาง นอกจากขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแล้ว ยังมาพร้อมระบบขับขี่อัตโนมัติในระดับสูงสุดอีกด้วย
I.D. VIZZION ใช้แสดงนวัตกรรมของ VW นับตั้งแต่เรื่อง ดีไซน์หรือแฟชั่น ฟังก์ชัน เทคโนโลยี ความสบาย และความประทับใจจากประสบการณ์การเดินทาง คาดการณ์ว่า VIZZION จะเปิดตัวช่วงกลางปี 2022 พร้อมรองรับ Fully Automated Driving ใน Level 5 หรือระบบขับขี่ไร้คนขับในระดับสูงสุด ที่จะเริ่มต้นใช้งานในหลายภูมิภาคราวปี 2025 ดังนั้น VIZZION จึงไม่มีพื้นที่สำหรับคนขับอีกต่อไป มันไม่มีทั้งพวงมาลัย คันเร่ง รวมทั้งแป้นเบรก รถเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายปลายทางตามโปรแกรมที่ถูกเขียนไว้ เท่านั้นยังไม่พอ ระบบยังสามารถเรียนรู้ข้อมูลใหม่ได้ตลอดเวลา จากกล้อง เรดาร์ และเซ็นเซอร์ต่างๆ ไล่เรียงไปจนถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ ‘AI’ (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานของ Autonomous สมองกลประมวลผลด้วยตรรกะรูปแบบเดียวกับมนุษย์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทาง
ระดับของระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Level) ถูกแบ่งออกเป็น 6 ระดับ จาก Level 0 – Level 5 สำหรับระดับสูงสุดมีรายละเอียด ดังนี้
- บานประตูของ D. VIZZION เปิดออกจากกันจากตรงกลาง ด้วยระบบไฟฟ้า
Level 5 || Full Autonomous เป็นรถที่ไม่จำเป็นต้องมีคนขับอีกต่อไป ไม่มีทั้งพวงมาลัย และแป้นคันเร่ง แป้นเบรก มนุษย์เป็นเพียงผู้โดยสาร สามารถทำงานได้ทุกสภาพถนน และทุกเงื่อนไข มนุษย์ทำหน้าเป็นผู้สั่งการ เพื่อกำหนดจุดหมายปลายทางสำหรับการเดินทาง
- ทีมออกแบบจากโฟล์คเรียกห้องโดยสารของ I.D. VIZZION ว่า lounge on wheels
แนวคิดในการพัฒนา VIZZION แตกต่างจาก I.D. Family โมเดลอื่น มีมิติความกว้าง ความยาว และความสูงที่ 1,947, 5,163 และ 1,506 มิลิเมตร ตามลำดับ กับระยะฐานล้อที่มากถึง 3,100 มิลลิเมตร บานประตูเปิดคู่ เปิดออกจากกันจากตรงกลาง ด้วยระบบไฟฟ้า อำนวยความสะดวกในการก้าวเข้าสู่ห้องโดยสารแบบ 2+2 ที่นั่ง ห้องโดยสารถูกโฟกัสไปที่เรื่องความบันเทิง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการ ความผ่อนคลาย หรือแม้แต่การทำงาน โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้โดยสาร งานออกแบบภายในจึงให้บรรยากาศไม่แตกต่างจากห้องนั่งเล่น สามารถสร้างพื้นที่ส่วนตัว และแยกการเดินทางจากสภาพแวดล้อมภายนอกรถได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็น open space ที่ทีมออกแบบเรียกว่า เลานจ์ติดล้อ (lounge on wheels)
- มอเตอร์ตัวหน้าขนาด 75 kW (100 hp) สำหรับมอเตอร์ตัวหลัง มีพละกำลัง 150 kW (200 hp)
VIZZION ใช้ชุดแบตเตอรี่วางเต็มพื้นที่ในส่วนพื้นห้องโดยสาร ผลลัพธ์ที่ได้ คือ อุปกรณ์ที่หนักสุด ถูกนำมาวางในตำแหน่งต่ำที่สุด ช่วยลดจุด C.G. ของรถทั้งคันลง เพิ่มประสิทธิภาพในการทรงตัว ทั้งการใช้ความเร็วในทางตรง และขณะรถเข้าโค้ง เริ่มต้นจากชุดแบตเตอรี่ จากนั้นวิศวกรได้ต่อขยายเป็นโครงสร้างส่วนพื้นห้องโดยสาร ตามด้วยโครงสร้างระบบกันสะเทือนด้านหน้าและด้านหลัง รวมทั้งจุดยึดมอเตอร์ไฟฟ้าและชุดขับเคลื่อน
ลำดับสุดท้ายจึงเป็นโครงสร้างของตัวถัง ที่สามารถปรับเปลี่ยนดีไซน์ได้ตามความต้องการ วิศวกรโฟล์คเรียกพื้นฐานโครงสร้างชุดนี้ว่า ‘MEB’ (Modular Electric Drive Kit) ความยากทั้งหมดในส่วนงานสถาปัตยกรรมจึงอยู่ในส่วนนี้ จากนั้นจึงปล่อยให้ทีมออกแบบรังสรรค์รถไฟฟ้าตัวถังรูปแบบต่างๆ ในอนาคตได้ตามจิตนาการ ทั้ง ซาลูน คูเป้ MPV และ SUV ฯลฯ จะขับเคลื่อน 2 ล้อ หรือ AWD ก็ทำได้แบบง่ายๆ
- D. VIZZION รองรับการสื่อสารทุกประเภท เพิ่มเติมมาด้วย Car-2-Car และ Car-2-X เพื่อรองรับการขับขี่อัตโนมัติเต็มระบบ
สำหรับ VIZZION ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (Electric all-wheel drive) โดยการวางมอเตอร์ไว้ 2 ชุด สำหรับขับเคลื่อนล้อคู่หน้าและล้อคู่หลัง มอเตอร์ตัวหน้าขับเคลื่อนล้อหน้าโดยตรง แรงในระดับ 75 kW (100 hp) ขณะที่มอเตอร์ตัวหลังขับเคลื่อนผ่านชุดเกียร์ ที่เซตอัตราทดมาเพื่อเน้นการออกตัวที่รวดเร็ว รวมทั้งลดรอบในการหมุนขณะใช้ความเร็วคงที่ มีพละกำลังในระดับ 150 kW (200 hp) กำลังรวมของทั้งระบบ เคลมมาที่ 225 kW (300 hp) เพียงพอสำหรับการเดินทางแบบชิลๆ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในระดับ 6.3 วินาที ความเร็วสูงสุดกับ Autonomous Driving ถูกล็อกไว้ที่ 180 กม./ชม.
- IQ light – ใช้ไฟหน้า HD Matrix Headlights ฉายแสงด้วยความละเอียด 8,000 พิกเซล เพื่อสร้างรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ลงสู่พื้นถนน ใช้ในการสื่อสารจากด้านหน้ารถ ในภาพตัวอย่างเป็นทางม้าลาย คนเดินถนนจึงมั่นใจว่า ระบบขับขี่อัตโนมัติจะหยุดรถอย่างแน่นอน เพื่อให้คุณข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย
- รถในอนาคตจะใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ แยกแยะ รูปแบบวัตถุที่ กล้อง เรดาร์ และเซ็นเซอร์ต่างๆ สแกน 360 องศารอบตัวถัง ดังนั้น ระบบจะรู้ว่า ฝั่งขวาของตัวถังมีคนปั่นจักรยานอยู่ เป็นต้น
ปิดท้ายด้วยเรื่องแบตเตอรี่ใน VIZZION มีความจุ 111 kWh ระยะทางที่รถสามารถวิ่งได้ต่อการชาร์จแบตเต็ม 1 รอบ ซึ่งทดสอบตามมาตรฐาน EU: NEDC ได้ออกมาที่ 665 กิโลเมตร สำหรับเรื่องระยะเวลาในการชาร์จไฟ เมื่อชาร์จผ่านชุด CCS (Combined Charging System) จะได้พลังงานไฟฟ้าราว 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น
เรื่อง: พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX MAGAZINE ISSUE 584
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th