คุยกับวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล กว่าจะเป็นเถื่อน ทราเวล ซีซั่นที่ 2 …รายการที่เดินนอกกรอบความเป็นสารคดี
“ยินดีต้อนรับสู่รายการเถื่อนทราเวลกับผม วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้รับหน้าที่พิธีกร-ผู้กำกับ-คนขับรถ-คนเช็ดโต๊ะ-คนจ่ายเงิน-คนประสานงาน-คนทำทุกอย่างในรายการนี้ เพราะว่าเราเดินทางคนเดียวไปในที่ ที่คนอื่นเขาไม่ค่อยอยากจะไปกันนะครับ”
ประโยคเปิดรายการที่แฟนประจำของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล คุ้นเคยกันดี และก่อนจะเข้าสู่ตอนสุดท้ายในซีซั่นที่ 2 ของรายการเถื่อน ทราเวล มาฟังแรงบันดาลใจเบื้องหลังการทำงานของนักผลิตสารคดีหนุ่มวัย 34 ปีผู้นี้ ที่ต้องการนำเสนอความแตกต่าง ที่ค่อนไปทางคำว่า “แหวกแปลก” จากสารคดีไทยทั่วไป และเชื่อว่าไม่มีใครกล้าที่จะทำ เขาไม่ใช่แค่นำเสนอการผจญภัย หรือท่องเที่ยวตามสถานที่สวยๆ ชมวิว ดูประวัติศาสตร์ แต่ได้นำเรื่องราวจากวิถีชีวิต เหตุการณ์ แม้กระทั่งสงครามของในแต่ละประเทศ มาเรียงร้อยเป็นเส้นทางใหม่ในรูปแบบของเขาเองในรายการ “เถื่อน ทราเวล”
“ซีซั่นที่ 2 มีทั้งหมด 17 ตอน อาจจะไม่ได้มีธีมทั้งซีซั่น แต่จะแบ่งเป็นเซ็ตๆ เช่น ธีมขั้วโลกเหนือ, ธีมโคลอมเบีย, ธีมโคเคน, ธีมโซนที่มีความขัดแย้ง (Conflict) แต่โดยรวมทั้งซีซั่นค่อนข้างมีความหลากหลาย” วรรณสิงห์ เริ่มต้นพูดถึงการถ่ายทำรายการในซีซั่นนี้” “ผมต้องการทำออกมาให้สุดในทุกๆ อย่าง เช่น หนาวที่สุด, ร้อนที่สุด, ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุด และป่าดงดิบที่ใหญ่ที่สุด หรือประเทศที่อันตรายที่สุด ซึ่งโดยหลักแล้วผมอยากให้รายการมีความหลากหลายในเชิงพื้นที่ทั่วโลก คนดูจะได้เห็นในหลายๆ มุม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง”
แรงบันดาลใจในการทำงานแต่ละตอนเกิดขึ้นอย่างไร?
วรรณสิงห์: “มันมาจากความสนใจส่วนตัวค่อนข้างเยอะ เช่น การได้ดูซีรี่ส์เรื่อง Narcos ที่เกี่ยวกับพาร์โบล เอสโคบาร์ (Pablo Escobar) เจ้าพ่อค้าโคเคน ดูเสร็จผมก็อยากทำสารคดีเกี่ยวกับโคลอมเบีย อย่างทะเลทรายซาฮาร่า ก็เป็นสถานที่ที่ผมเองสนใจ อยากเห็นมานานแล้วว่าทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอย่างไร เพราะถ้ามีคนถามว่าผมชอบภูมิประเทศแบบไหนที่สุดในโลกนี้ ก็ต้องตอบว่าชอบทะเลทรายมากที่สุด ผมชอบความใหญ่ และเวิ้งว้างของมัน ความโล่งของมันอาจจะมีมิติอะไรซุกซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ร่องรอยอารยธรรม ที่เกิดขึ้นในทะเลทราย ร่องรอยของเนินทรายเก่า และเนินทรายใหม่ เนินทรายแบบไหนที่รถขับผ่านได้ อายุเท่าไหร่แล้ว เนินไหนเป็นเนินทรายถาวร หรือชั่วคราว”
“ก่อนหน้านี้เคยไปทะเลทรายมาหลายที่มาก แต่ยังมีความอยากรู้ว่าทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นยังไง และหลังจากที่ได้ไปถ่าย หลายๆ ครั้งเรารู้สึกได้ว่าบรรยากาศหลายๆ ครั้งมันคือความสงบจริงๆ ได้เห็นแค่ทรายกับฟ้าไม่มีอะไรมากั้นกลาง มันเป็นสถานที่ที่หาดูได้ยากบนโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นแรงบันดาลใจในการเดินทางก็จะมาจากหลายๆ อย่าง ทั้งจากสิ่งที่อ่าน สิ่งที่เสพ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา”
แต่ละทริปใช้เวลาเตรียมตัวนานแค่ไหน?
วรรณสิงห์: “ถ้าเอาแค่ช่วงเวลาไปถ่าย รายการออนแอร์ 1 ชั่วโมง ผมใช้เวลาถ่าย 7 วัน ซึ่งถือว่าสูงมาก สูงกว่าสแตนดาร์ดของรายการทีวีเมืองไทยไปเยอะมาก เพราะรายการทีวีไทยส่วนใหญ่วันหนึ่งเราได้กัน 2 เทป แต่อันนี้ 7 วันเราได้มาเทปหนึ่ง โดยสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนไป อย่างแรกคือ “ข้อมูล” เราต้องอ่านข้อมูลในพื้นที่ต่างๆ ก่อนที่เราจะไปเยอะมาก ถ้าจะไปซาฮาร่า ก็ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ ถ้าไปกรีนแลนด์ ก็ต้องเข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์ เข้าใจเรื่องสภาวะอากาศต่างๆ หรือจะไปอิรัก หรือโซมาเลียก็ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์สงคราม และสถานการณ์ปัจจุบันเป็นยังไง”
“ประเทศที่ถ่ายทำยากที่สุดคือประเทศที่มีสงคราม เพราะเราไม่ได้ไปเล่าเรื่องความงามของธรรมชาติ ถ้าเป็นประเทศที่สวยงามมันค่อนข้างง่าย เราถ่ายมาแค่ความงามของธรรมชาติคนก็ว้าวแล้ว แต่ในประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างสู้รบ (War Zone) ทั้งหลาย เราถ่ายภาพมาอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่เราต้องถ่ายทอดเรื่องราวในพื้นที่นั้น ซึ่งมันเป็นเมืองที่อึดอัด และมีความขัดแย้ง แต่ถ้าคนที่ไม่เข้าใจว่าความขัดแย้งเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มันก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นผมจะศึกษาประวัติศาสตร์ให้มากที่สุดก่อนไป”
“อย่างก่อนไปอิรัก ผมไปศึกษาคลาส Middle East Study ในเว็บไซต์ออนไลน์ เพื่อทำความเข้าใจในส่วนต่างๆ ของอิรัก หรืออย่างตอนไปโซมาเลีย ก็ใช้เวลาทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ค่อนข้างนานเหมือนกัน แต่นอกเหนือจากด้านข้อมูลที่ต้องเตรียมแล้ว ผมก็ต้องเตรียมเรื่องร่างกายตัวเองด้วย เพราะเวลาไปร่างกายผมต้องพร้อมมาก ถ้าใครได้ดูก็จะเห็นว่าผมต้องแบกกระเป๋า และอุปกรณ์ถ่ายทำตลอดเวลา ไหนจะต้องถ่ายเองไปด้วย ปีนเขา เดินป่า ซึ่งน้ำหนักทั้งหมดที่แบกอยู่ติดกับตัวตลอดก็ราวๆ 17–18 กิโลกรัม ทุกครั้งที่เดินทางผมจะมีกระเป๋า 3 ใบเสมอ ใบหนึ่งจะเป็นกระเป๋าเสื้อผ้า แต่ที่ติดกับตัวคือกระเป๋าคาดเอว ไว้เก็บกล้อง และอุปกรณ์ถ่ายทำต่างๆ เลยต้องฟิตร่างกายพอสมควร”
“นอกจากเรื่องร่างกาย เรื่องข้อมูลแล้ว เรื่องอุปกรณ์ก็สำคัญ เพราะทุกครั้งที่ไปถ่ายทำก็จะมีอุปกรณ์พังกลับมาตลอด ต้องเอาไปซ่อมหรือมีของเล่นใหม่อะไรที่จะช่วยในการถ่ายทำได้ดีขึ้น ผมก็จะเอาไป ก็ต้องมีความรู้เรื่องอุปกรณ์พอสมควร อีกอย่างคือเรื่องการประสานงาน แต่ละพื้นที่เราต้องใช้เวลาในการประสานงานนานพอสมควร บางที่ก็ต้องล่วงหน้า 3 – 4 เดือน หรือบางทริปอยากจะไป แต่ประสานงานไม่ผ่านก็ไม่ได้ไป และเวลาไปถ่ายจริงก็จะมีเรื่องปัญหาเฉพาะหน้าเข้ามาให้เราแก้ไขอยู่ตลอดเช่นกัน”
Did you Know? ใครคือต้นแบบในการทำสารคดีของวรรณสิงห์ ?
“เซอร์เดวิด แอตเท่นโบโร่ นักทำสารคดีระดับโลก สารคดีเจ๋งๆ ที่ได้เห็นกันในรายการ Planet Earth ทางช่อง BBC ก็ฝีมือเขาทั้งนั้น ปัจจุบันอายุ 90 กว่าปี ก็ยังเดินทางโลดโผนอย่างแข็งแรง คิดว่าแค่ทุกคนได้เห็นการใช้ชีวิตของเขา ทุกคนก็เกิดแรงบันดาลใจได้ ซึ่งถ้ามีโอกาสผมก็อยากจะส่งมอบความรู้สึกเดียวกันนี้ให้กับคนดูเช่นกัน”
วางแผนอย่างไรในแต่ละทริป ตั้งขอบเขตไว้แค่ไหนถึงเรียกว่า “พอแล้ว”?
วรรณสิงห์: “แต่ละทริปก็จะมีตารางการทำงานอยู่แล้ว ว่าต้องไปตรงไหนบ้าง แต่ในเชิงประเด็น และการเล่าเรื่อง นอกจากข้อมูลที่เตรียมไป เราไม่สามารถเล่าเฉพาะข้อมูลที่เตรียมไปได้ แต่การสัมภาษณ์คนหรือการหาเนื้อหาหน้างาน มันก็เป็นสิ่งที่เราเติมเข้าไปเรื่อยๆ เพราะเราคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าเราจะไปเจออะไรแปลกใหม่นอกเหนือจากข้อมูลที่เราเตรียมไปหรือเปล่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ เราก็เซ็ตเหมือนการเดินทางปกติ รู้ว่าจะเดินทางไปตรงจุดไหนบ้าง แต่เป้าหมายที่เติมเข้าไปหน้างานจริงๆ ก็คือการเล่า ดำเนินรายการยังไงให้รู้สึกสนุกมากกว่า”
รายการที่สนุกและน่าสนใจในความคิดเป็นอย่างไร?
วรรณสิงห์: “ผมมองว่ารายการนี้คือรายการสารคดี แต่ไม่อยากให้มองว่ามันเป็นรายการสารคดี ผมอยากให้คนดูรู้สึกว่านี่เป็นรายการท่องเที่ยวหรือการผจญภัย แต่เนื้อหาเราหนัก เล่นแต่ละประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงคราม, ผู้ลี้ภัย, สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงหรือวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก แต่คิดว่าเราต้องมีองค์ประกอบของการสลับกันไประหว่างเนื้อหาที่เป็นเนื้อหาจริงๆ กับเหตุการณ์ตรงหน้า อาจจะเป็นการประสบภัยต่างๆ ความที่ต้องอดทนกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือบทสนทนากับผู้คนที่มันอาจจะไม่ได้มีสาระอะไรมาก”
ความแตกต่างระหว่าง 2 ซีซั่น?
วรรณสิงห์: “ซีซั่นที่ 2 ผมจัดเต็มขึ้นเยอะมาก เรื่องการถ่ายทำในซีซั่นแรก ผมไปประเทศหนึ่งก็เอากลับทำได้ 2 ตอน ไปทริปนามีเบีย ก็แบ่งได้ 3 ตอน แต่สำหรับซีซั่น 2 ผมซอยย่อยเยอะมาก แทบจะประเทศละตอนด้วยซ้ำ มีทั้งหมด 17 ตอน แต่ผมไปทั้งหมด 14 ประเทศ เลยทำให้กระบวนการที่จะบินไปถ่ายแต่ละประเทศได้เราใช้เวลาค่อนข้างเยอะกว่า กินแรง กินเวลาเยอะกว่าซีซั่นแรก และอีกสิ่งที่แตกต่าง ซึ่งถือเป็นความท้าทายให้ตัวเองคือปกติรายการสารคดี เขาต้องเขียนบทไปก่อนถ่าย และใส่เสียงเข้าไป แต่กระบวนการทำงานในซีซั่นนี้กลับกัน ผมตั้งใจไม่อยากใส่เสียง Voice Over เข้าไปเลย เพราะรู้สึกว่ามันเสียอรรถรส มันดูไม่จริง ผมพยายามพูดให้จบตรงหน้างาน”
“ดังนั้นหมายความว่าก่อนไปผมต้องอ่านข้อมูลไปก่อนทุกอย่าง และรู้ในหัวว่าพื้นที่ไหนมีเรื่องราวอย่างไร หรือแม้แต่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ผมต้องรู้แล้วว่าต้องใช้เนื้อหาส่วนไหนเพื่อเชื่อมประเด็นเข้ามา เพราะฉะนั้นตอนที่ถ่ายรายการอยู่ผมจะเหมือนมีโปรแกรมตัดต่ออยู่ในหัวตลอดเวลา รู้ว่าต้องเรียงเนื้อหายังไง ลำดับภาพแบบไหน และพยายามที่จะพูดทุกอย่างให้ได้ครบบนโลเคชั่นนั้นๆ ส่วนใหญ่”
ประเทศที่อันตรายที่สุดเท่าที่เคยเจอมา?
วรรณสิงห์: “ประเทศที่หวาดเสียวที่สุดคือประเทศที่เป็น War Zone ที่แรกที่ไปก็คืออัฟกานิสถาน ซึ่งความหวาดเสียวนั้นมันไม่ได้เกิดจากอันตรายโดยรอบ แต่มันเกิดจากตัวเราเองที่ยังไม่มีประสบการณ์ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าจะไปทำไมในที่แบบนั้น แต่ผมเองมีความสนใจในเรื่องพวกนี้มานานมากตั้งแต่เด็กๆ แล้ว อยากรู้ว่าทำไมสงครามถึงเกิด ความขัดแย้งมีผลยังไงกับผู้คนบ้าง ทำไมคนดีๆ ถึงลุกขึ้นมาจับปืนมาไล่ยิงกัน และในฐานะคนทำสารคดี เมื่อถึงจุดหนึ่งเราก็อยากจะทำประเด็นเหล่านี้”
“เมื่อวันหนึ่งที่เราได้บินไปถึงกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน จริงๆ เรามองเมืองนี้ลงมาจากบนฟ้าตอนที่นั่งเครื่องบินผ่าน มันรู้สึกหวิวๆ นะ เพราะบรรยากาศมันเหมือนในหนังสงครามจริงๆ ไปถึงก็มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ว่าจะเหตุลักพาตัว เหตุระเบิด ยิงกันตลอด ตกสัปดาห์ละ 2 ครั้งได้ แต่ว่าผมไม่ได้เห็นกับตา เพียงแต่ว่ามีข่าวแจ้งมาตลอดว่าเกิดขึ้น ก็เสียวนะ”
“สิ่งที่แปลกใจมากที่นี่ คือผมได้เห็นวัฒนธรรมบางอย่างที่ไม่เคยได้รู้มาก่อน มันเป็นอีกมุมของโลกใบนี้ที่ไม่เคยเห็น มันเป็นความรู้สึกอัศจรรย์ใจ ซึ่งความตื่นเต้นกับการทำงานตรงที่เราโฟกัสอยู่นี้มันดึงเอาความกลัวออกไปจากใจเราหมด เรื่องวิตกกังวลต่างๆ มันก็หายไปเอง”
ในซีซั่น 2 มีประเทศไหนที่ตั้งใจว่าอยากไปมากที่สุด?
วรรณสิงห์: “จริงๆ ก็แทบทุกที่ที่ไปแหละ แต่ถ้าที่อยากไปมากก่อนที่จะเริ่มทำรายการนี้เลยคือประเทศอิรัก ผมอาจจะไปในประเทศที่หนาวที่สุด ร้อนที่สุดมาแล้ว แต่สุดท้ายเรื่องที่ดึงดูดผมมากที่สุดคือเรื่องสงคราม ซึ่งประเทศสงครามแต่ละพื้นที่เขาก็ต่างกัน อย่างซีเรียเองก็เละเทะไปหมด ระเบิดลงทุกวัน มีคนตาย เด็กเห็นพ่อแม่โดนฆ่าตายต่อหน้า หรือพ่อแม่เห็นลูกถูกฆ่าตายต่อหน้า มันคือนรกบนดินจริงๆ แต่อิรัก ก็จะเป็นอีกแบบ ถามว่าเขามีปัญหาเรื่องการเมืองไหม ใช่! แต่ประเทศเขาก็มีห้างสรรพสินค้าใหญ่เท่าพารากอนบ้านเรา มีสวนสนุก สวนสาธารณะที่สวยงาม ด้วยเศรษฐกิจเขามั่นคง และรัฐบาลเขาแข็งแรง เมื่อเทียบกับประเทศโซมาเลีย ซึ่งนั่นก็ไม่มีรัฐบาลมา 30 ปีแล้ว อย่างอัพกานิสถานเองมีรัฐบาลก็จริง แต่ไม่มีน้ำมัน ก็เลยอยู่กับสงคราม และยากจนกว่าอิรักมาก เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกคือ เราอย่าตีความว่าแดนสงครามจะต้องเหมือนกัน มันมีรายละเอียดของมันค่อนข้างเยอะ”
การมีโอกาสเดินทางไปเกาหลีเหนือ และอดีตคอมมิวนิสต์หลายๆ ประเทศ ในส่วนตัวคุณมองว่าเป็นระบอบที่ใช้งานได้จริงหรือไม่?
วรรณสิงห์: “ความจริงแล้วเกาหลีเหนือ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นเผด็จการทหารที่ใช้ไอเดียสังคมนิยมในการปกครองขึ้นมา บางทีโลกนี้อาจจะไม่เคยมีประเทศคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงเกิดขึ้น ถ้าเป็นไปตามหลักการของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) คอมมิวนิสต์ เป็นระบอบที่เกิดจากชุมชน และทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เห็นแก่ตัว ทำประโยชน์เพื่อชุมชน แบ่งปันเพื่อความเสมอภาค”
“แต่พอนำมาปฏิบัติจริงประเทศคอมมิวนิสต์ทุกประเทศที่เราเคยได้ยินมา จะต้องมีรัฐบาลขึ้นมาควบคุมระบอบนี้เสมอ และรัฐบาลเหล่านั้นมักจะใช้อำนาจเกินขอบเขต ตอนที่ผมเดินทางไปคิวบา ในช่วงหนึ่งก็เคยมีการปกครองที่คล้ายเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับรัสเซีย ที่สุดท้ายก็กลายเป็นทุนนิยม เพราะฉะนั้นเท่าที่ได้อ่านประวัติศาสตร์โลกมา ผมคิดว่าเรายังไม่เคยเห็นประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากอิงตามสิ่งที่คาร์ล มาร์กซ์ คิดไว้จริงๆ ถ้าอยากรู้ว่าระบอบคอมมิวนิสต์ ได้ผลจริงรึเปล่าในโลก มันอาจจะไม่เคยเกิดคอมมิวนิสต์ขึ้นจริงๆ ด้วยซ้ำ มีแต่เผด็จการทหารที่นำคอมมิวนิสต์มาใช้เพื่อเป็นฐานอำนาจ”
การเดินทางในเส้นทางที่แตกต่างกว่าคนอื่น ทำให้มุมมองการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร
วรรณสิงห์: “ผมเดินทางหนักมาประมาณ 8-9 ปี ทุกครั้งที่เดินทางกลับมา ผมรู้สึกว่าเราได้รู้อะไรเพิ่มขึ้นเยอะมาก ขณะเดียวกันก็ได้รู้ว่าก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้อะไรมาขนาดไหน ฉะนั้นยิ่งเราได้รู้ว่ามันมีสิ่งที่เราไม่รู้เยอะๆ พวกอคติ หรือการตัดสินว่าโลกต้องเป็นแบบนี้ที่เราเคยมี มันหายไปโดยอัตโนมัติ อัตตาตัวตนของการที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ตัดสินโลกมันแทบไม่เหลือ เรากลายเป็นแค่นักสำรวจโลก ที่พยายามทำความเข้าใจมันเท่านั้นเอง เรียนรู้เท่าที่เราอยากเรียนรู้ให้ได้”
“ถ้ามีโอกาสก็อยากนำเสนอให้คนดูได้เข้าใจมันด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการเดินทาง นอกจากวิวสวยๆ มันคือการละลายพฤติกรรมและความคิดของเราตรงนี้ ให้เรากลายเป็นคนที่ไม่อยากจะตัดสินอะไรเลย กลายเป็นคนที่เบื่อความคิดเห็นของตัวเอง ไม่รู้ว่าเราจะออกความคิดเห็นไปทำไม ไม่อยากแสดงตัวตน ไม่อยากแสดงจุดยืน รู้สึกแค่ว่าโลกมันน่าสนใจกว่าความคิดเห็นของเราเยอะมาก ในรายการนี้ผมจึงอยากแค่นำเสนอสิ่งที่ไปเจอมา ทำความเข้าใจในเนื้องานให้ดีที่สุด และส่งผ่านให้คนดูเข้าใจมากที่สุด ที่เหลือเขาอยากจะตัดสินยังไงนั่นเป็นเรื่องของเขา”
รู้สึกว่าตัวเองเป็นกระบอกเสียงในการช่วยเหลือสังคมในแต่ละประเทศหรือไม่?
วรรณสิงห์: “ไม่ถึงขนาดนั้นครับ แต่ในฐานะประชาคมโลก คนไทยอาจจะยังรู้สึกเกี่ยวกับมันน้อยไปหน่อย ผมแค่อยากสื่อให้เห็นว่าโลกทั้งใบมันเชื่อมถึงกัน อยากให้รู้ว่าสิ่งที่เราทำตรงนี้ ส่งผลถึงตรงนั้น อย่างตอนที่ผมทำเรื่องกรีนแลนด์ทำเรื่อง Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ) ซึ่งบริเวณขั้วโลก ประเด็นเรื่อง Climate Change ไม่ใช่คอนเซ็ปต์ ไม่ใช่สโลแกนที่เพียงพิมพ์ไว้บนถุงผ้า แต่มันคือสิ่งที่รู้สึกได้จริงๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อก่อนเราเคยข้ามทะเลตรงนี้ได้ แต่ปัจจุบันนี้เดินไม่ได้แล้ว เพราะน้ำมันไม่แข็งอีกต่อไป”
“ผมแค่อยากนำข้อความจากอีกจุดของโลกมานำเสนอให้คนไทยได้รู้สึกร่วม และเห็นภาพว่าโลกเป็นไปยังไงบ้างแล้วตอนนี้ และหลังจากนี้คุณจะทำยังไงก็เรื่องของคุณ เหมือนกับเรื่องอิรัก และซีเรีย ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอะไรเขาได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินตัว แต่สิ่งที่ผมอยากทำคือ อยากสื่อให้คนดูได้เห็น และเข้าใจในสถานการณ์ของเขาว่าความเป็นอยู่เป็นยังไง และเข้าใจที่มาที่ไปของความขัดแย้ง นั่นคือหน้าที่ของสื่อนะผมว่า แต่คนเสพย์สื่อเขาจะเข้าใจไปแบบไหน จะช่วยยังไง จะลงมือทำอะไร นั่นคือเรื่องของเขา”
เถื่อน Quote: “ถ้าไปแค่ประเทศที่สวยงาม ถ่ายมาแค่ความงดงามของธรรมชาติคนอาจจะ WOW! แต่ในประเทศ War Zone มันมีรายละเอียดที่เราต้องถ่ายทอดออกมามากกว่านั้น ทั้งความอึดอัด ความขัดแย้ง ต้องถ้าทำออกมาแล้วคนไม่เข้าใจว่าความขัดแย้งนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร มันก็จะไม่สมบูรณ์”
ข้อดีข้อเสียของการเดินทางคนเดียว?
วรรณสิงห์: “ถ้าเราเดินทางเพื่อไปทำรายการ ข้อดีมีเยอะนะ หนึ่งคือคุณเข้าถึงเป้าหมายของคุณโดยที่คุณไม่ทำให้เขาหวาดกลัว ถ้าเป็นกองถ่ายเดินเข้าไปมีขาตั้ง มีหลายคนเอาไฟไปส่องมีคนจดสคริปต์ รับรองเลยว่ามันคนละฟีลกันกับการที่เราเดินเข้าไปคนเดียวพร้อมกล้องโกโปรตัวเล็กๆ และในประเทศต่างๆ ที่ผมไป การตั้งขาตั้งกล้องถ่ายมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมือง สถานการณ์ภายใน หรือมุมมองจากคนภายในประเทศ เราอยากคุยเมื่อไหร่ก็ได้ มีความเร็ว และความเรียล ที่สำคัญเราไม่ต้องมานั่งรับผิดชอบชีวิตใคร เพราะสถานที่ที่ไปมันมีความเสี่ยงอยู่มาก
“แต่ข้อเสียคือ เหนื่อย เหนื่อยมากด้วย ภาพต่างๆ ที่เห็นในรายการบนหน้าจอดูว่าเหนื่อยแล้ว แต่หลังจอมันเหนื่อยกว่า ไหนจะต้องแบกของหนักราวๆ 40 กิโลกรัม ไว้บนตัว กลับมาถึงโรงแรมทุกครั้งต้องคอยเอาเมมโมรี่การ์ดโหลดใส่คอมพิวเตอร์ทุกครั้ง จัดไฟล์ให้เป็นระเบียบ ก่อนนอนต้องชาร์จแบตทุกแขนง เช้ามาต้องเก็บแบตเตอร์รี่เหล่านั้นให้เป็นระเบียบ เพื่อความพร้อมในการถ่าย คิดแล้วก็จะทำงานวันละราวๆ 17–18 ชั่วโมง นอนน้อยมาก ตื่นมาก็ต้องรีบไปทำงานต่อ ถือว่าเป็นงานจริงๆ ไม่ได้เหมือนกับการไปเที่ยว”
ความท้าทายในแต่ละบทบาทในชีวิต
วรรณสิงห์: “ตอนนี้ผมมองว่าตัวเองเป็นคนทำสารคดี แต่ว่าเป็นคนทำสารคดีที่แตกต่างจากคนอื่น เพราะอยู่หน้ากล้องด้วย ความท้าทายที่สุดคือ การทำรายการเถื่อน เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของการทำงาน แต่มันคือวิถีชีวิตโดยรวม เพราะนอกจากการทำงานแล้ว เรายังต้องจัดการเรื่องที่บ้านด้วย ว่าเราจะดูแลแม่ บริหารความเสี่ยงยังไง จะทำให้คนที่รักเราสบายใจได้ยังไง ด้วยการทำงานแบบนี้ อีกแง่คือเรื่องร่างกายที่ต้องฟิตตลอดเวลา เพราะต้องแบกของหนักมาก สถานการณ์ที่เราไปถ่ายก็ไม่ได้ดีหนัก ไปทะเลทรายก็เจอพายุทรายเข้ากล้อง ถ่ายในป่าดงดิบก็ชื้นเหมือนหายใจเอาน้ำเข้าปอดไปเต็มๆ มีสิงห์สาราสัตว์รอบตัวเต็มไปหมด เดี๋ยวทากไต่หัว แมงมุมไต่แขน หรืออย่างไปกรีนแลนด์อากาศติดลบ 32 องศา น่าจะเป็นการถ่ายทำที่ยากที่สุดเท่าที่เคยถ่ายมา มันต้องคิดบทไปด้วย ถ่ายภาพ และยังต้องบริหารอุปกรณ์ไปด้วย เพราะกล้องดับตลอดเวลา วิธีแก้ปัญหาของผมคือเอากล้องซุกเข้ารักแร้ไว้ เวียนกันไป ทรมานมากกว่าจะถ่ายได้ แต่พอมาดูงานที่ออกมาก็เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งในชีวิตนะว่าเราสามารถทำมันออกมาได้ด้วยตัวเอง ยิ้มได้โดยที่ไม่รู้สึกว่าชีวิตนี้ติดค้างอะไรกับมัน”
มองกระแสตอบรับของรายการอย่างไร?
วรรณสิงห์: “ตั้งแต่ซีซั่นแรกออกไปก็เสียงตอบรับดีครับ ทั้งที่ตอนที่ผมเริ่มทำ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะเหมือนทำสนองความต้องการของตัวเอง พอมีคนดูเยอะก็ตกใจ อย่างคลิปตอนไปญี่ปุ่นเรื่องหนัง AV เป็นตอนที่มีคนดูเยอะมากที่สุด และเป็นคลิปเดียวในชีวิตที่ทำแล้วมีคนดูเกินหนึ่งล้านวิว ตอนนี้เกาหลีเหนือก็เกินล้านตามไปเช่นกัน แต่ถ้าถามว่ายอดคนดูจะไปเท่าละคร รายการประกวดอะไรแบบนั้น มันไม่มีทางเป็นไปได้ รายการสารคดี ถ้าได้ 7–8 แสนวิวก็หรูแล้ว แต่ถ้าเทียบแล้วรายการเราไปถึงระดับนั้นได้ถ้าเทียบกับสารคดีด้วยกันก็ถือว่าภูมิใจมาก”
“พอมาถึงซีซั่น 2 เปิดตัวมาก็รู้สึกว่าเสียงตอบรับดีกว่าซีซั่นแรกด้วย เพราะเริ่มมีคนรู้จักแล้ว จากที่เราต้องนำเสนอในเรื่องที่คนสนใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกาหลีเหนือ AV หรือเผ่ากินคนในซีซั่นแรก พอมาซีซั่นนี้เราเปิดเรื่องมาด้วยเมืองที่ไม่มีใครรู้จักเลย ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่เหนือสุดของโลก แต่ก็ยังได้รับความสนใจมากอยู่ดี เพราะคนเริ่มมาดูเพราะชื่อรายการแล้ว เราก็ดีใจนะ แต่ก็ต้องพยายามลืมๆ มันไป เราก็ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอยู่ดีว่ารายการนี้เริ่มต้นจากที่คนๆ หนึ่ง อยากแบ็คแพ็กออกไปผจญภัย และคิดว่าลองถ่ายรายการคนเดียวดูสิ ผมพยายามลดมาให้เหลือแค่นั้นทุกครั้ง เพราะมันจะได้มีความเรียลลิตี้ ไม่ประดิษฐ์ คือความรู้สึกจริงๆ ที่ได้ออกไปเผชิญโลก”
รู้สึกอย่างไรกับคำว่า “เถื่อน”
วรรณสิงห์: “ก่อนตั้งชื่อรายการ ก็ซีเรียสนิดหนึ่งนะว่ามันจะเหมือนเป็นการไปว่าประเทศนั้นๆ ที่เราไปว่าเป็นบ้านป่าแดนเถื่อนหรือเปล่า เพราะเราก็ไม่อยากจะไม่ให้เกียรติเขา เพราะถึงแม้แต่ละประเทศจะมีปัญหาของตัวเอง แต่เขาก็ยังเป็นประเทศที่มีอารยธรรม มีวัฒนธรรมในแบบที่ตัวเราไม่เคยเข้าใจ แต่คำว่าเถื่อน มันเหมือนเป็นแบรนด์ที่เข้าใจง่าย สามารถดีไซน์งานของเราออกไม่ได้ชัดเจน ในแบบที่คนไทยเข้าใจ เลยหยิบยืมเอาชื่อนี้มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อหนังสือ หรือชื่อรายการ ตอนนี้กลายเป็นว่าเดินไปเดินมา มีคนเรียกเราว่าพี่เถื่อนเยอะมาก เพราะคนจำมาจากชื่อรายการ ในแง่ความหมายผมอยากสื่อออกมาให้เป็นแบรนด์มากกว่าคำว่าแดนเถื่อน แบรนด์นี้ผมอยากให้มันขยายไปยังความอยาก ความรักที่จะผจญภัย อยากให้ทำความเข้าใจกับโลกใบนี้ว่ามันยังมีอะไรมากมายรอเราอยู่มากกว่าโลกที่เราเจออยู่ทุกวัน นอกเหนือจากความปลอดภัยที่เรามีในบ้านของเรา โลกนี้มีคน มีพื้นที่อีกมหาศาล มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย”
สุดท้ายคาดหวังกับรายการอย่างไร?
วรรณสิงห์: “ในอนาคตผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าซีซั่นต่อๆ ไปจะมีหรือไม่ เพราะคิดไว้ว่าจบซีซั่นที่ 2 จะพักยาวๆ เลย มันเหนื่อยมากครับ แต่ก็คิดๆ ไว้ว่าอยากจะใช้รายการที่ทำมานี่เป็นพอร์ตเพื่อไปนำเสนอกับพวก National Geographic, BBC หรือช่องอื่นๆ ว่าฝีมือประมาณนี้จะพอทำงานกับพวกเขาที่เป็นมืออาชีพได้ไหม อยากรู้ว่าในระดับโลกเราจะมีความสามารถพอหรือเปล่า หรือเอาเข้าจริงเราอาจจะยังเป็นไก่อ่อนเมื่อไปเทียบกับคนที่ฝีมือระดับโลกเหล่านั้น แต่ในเมืองไทยเราไม่มีคู่แข่ง แต่ถ้าไประดับโลก เราอาจจะได้รู้ว่าเราจะต้องเจียมเนื้อเจียมตัวประมาณไหน อยากดูว่ามือโปรระดับโลกเขาทำงานกันอย่างไร”
เรื่อง: สัญชวัล/พูนทวี
ภาพ: พิศวัส พงษ์พุฒิโสภณ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th