ง่วงแล้วขับกับเมาแล้วขับ..อย่างไหนอันตรายกว่า
เป็นคำถามที่ให้ลองคิดกันดูเล่นๆ ว่า ระหว่าง “ง่วงแล้วขับ” เมื่อเปรียบเทียบกับ “เมาแล้วขับ” อย่างไหนจะมีอันตรายมากกว่ากัน เชื่อว่าหลายคนจะมีคำตอบว่า มีอันตรายพอๆ กัน เพราะง่วงแล้วขับก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนเมาแล้วขับยิ่งไปกันใหญ่ เพราะอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอาการเมาเช่นกัน…ทีนี้มาคิดกันดูว่าทั้งสองเรื่องนี้มีอันตรายต่างกันตรงไหน
หลายความคิดเห็นมองว่า “เมาแล้วขับ” เป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ เมื่อปีที่ผ่านมามีจำนวนอุบัติเหตุ 2,997 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 341 ราย มีดัชนีความรุนแรง 11.38 และมีดัชนีการเสียชีวิต 9.86 ส่วนสถิติช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ จำนวนอุบัติเหตุ 3,373 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 364 ราย ดัชนีความรุนแรง 10.79 และดัชนีการเสียชีวิต 9.28 (ที่มาจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน) สาเหตุหลักคือขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ตามมาด้วยเมาแล้วขับ
เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้พบว่าจำนวนการเกิดอุบัติเหตุลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง แต่กลับมีแนวโน้มของการเสียชีวิตและความรุนแรงของการอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นว่าการรณรงค์ที่ทำกันอยู่ถือว่าได้ผล และสร้างจิตสำนึกในการใช้ถนนได้ดีขึ้น แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วสูง ผู้ขับขี่เองมีการปรับตัวด้วยการไม่ดื่มแล้วขับ หรืออาจจะดื่มเล็กน้อยพักผ่อนแล้วค่อยขับรถ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ถือว่ายังพอมีจิตสำนึกอยู่บ้าง
แต่เชื่อมั้ยว่า “ง่วงแล้วขับ” มีแนวโน้มทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่า “เมาแล้วขับ” มาลองพิจารณาตามนี้ กฎหมายระบุว่าเมื่อตรวจวัดแอลกอฮอล์จากเครื่องเป่า ต้องมีค่าไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซน ถ้าค่าเกินคือ “เมาตามกฎหมาย” นั่นคือดื่มเบียร์ประมาณ 2 กระป๋อง หรือ 1 ขวดเล็ก แต่ถ้าดื่มไป 1 กระป๋อง แน่นอนว่าหลายคนยังไม่มีอาการมึนเมา ยังคงมีสติ สามารถขับรถได้ตามปกติ..แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ คุณจะเริ่มมีอาการง่วงซึม ใช่หรือไม่
ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ดื่มเช่นกัน ยอมรับว่าดื่มเบียร์ 1 กระป๋องไม่เมา แต่มีอาการง่วงนั่นคือเรื่องจริง และหากง่วงแล้วไปขับรถ อาจจะเผลอหลับในขณะขับรถไปเพียง 3-4 วินาที ก็มีโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ด้วยการตรวจสอบพอได้กลิ่นเบียร์หรือสุรามักจะถูกตีความไปว่า “เมาแล้วขับ” ทั้งที่จริงแล้ว “ไม่เมา แต่ง่วงจากการดื่ม” ต่างหากล่ะ
ส่วนความง่วง มีผลต่อสมรรถภาพการขับรถเหมือนกับการเมา ซึ่งการหลับในขณะขับรถมีอันตรายมาก เพราะการหลับในคือการหลับขณะที่ตายังเปิดอยู่ แต่ไม่รับรู้ภาพเบื้องหน้า อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 10 วินาที ซึ่งผู้ขับรถจะไม่รู้สึกตัว และบังคับตัวเองไม่ได้ชั่วขณะ หากรถวิ่งด้วยความเร็ว 90 ก.ม./ช.ม. รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตร โดยขาดการควบคุม จะทำให้เกิดการชนที่รุนแรงมาก เพราะคนขับไม่ได้หักหลบหรือเหยียบเบรก เสี่ยงต่อการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ทันที
ทีนี้ย้อนกลับมาที่ว่า ง่วงแล้วขับกับเมาแล้วขับ..อย่างไหนอันตรายกว่า คำตอบคือ ทั้งสองอย่างอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่เมาแล้วขับอันตรายกว่า เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ถูกเป่าแล้วค่าแอลกอฮอล์เกิน งานนี้มี จับ ปรับ ติดคุก ขึ้นศาล และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะอีกหลายสิบชั่วโมง แถมยังต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เสียทั้งเวลา เสียทั้งประวัติ เสียค่าปรับ มีแต่เสียทั้งนั้น แต่ง่วงแล้วขับไม่ใช่ว่าจะไม่ผิดกฎหมายนะ เพราะง่วงแล้วขับมีความผิดเช่นกัน ตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถขณะร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถมีความผิดตาม ม.103 มีบทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้อยากให้เป็นข้อคิดเอาไว้สักนิด เพราะใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์กันอีกแล้ว ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ควรขับรถทั้งที่มีอาการเมาและมีอาการง่วง อยากให้ย้ำเตือนกันอีกสักครั้ง เพราะไม่ใช่เป็นแค่เรื่องที่ต้องเคารพกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันชีวิตของตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากอุบัติเหตุอีกด้วย
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th