ใครบ้าง! ที่สามารถจอดรถในช่องจอดสำหรับคนพิการได้
สงสัย ถามไถ่ กันมานานกับบริบทที่จอดรถคนพิการในบ้านเราว่าจริงๆแล้วใครบ้างที่สามารถจอดรถในที่จอดรถคนพิการได้ ยิ่งยุคสมัยนี้ที่อินเตอร์เน็ตไวกว่ารถแข่ง การโพสรูปแชร์คลิป เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนทำได้ง่าย จนบางครั้งลืมไตร่ตรองไปว่าแท้จริงแล้ว รถที่จอดอยู่ในช่องจอดรถคนพิการ อาจจะเป็นคนพิการจริงๆก็ได้ ฉะนั้นก่อนที่ฤดูท่องเที่ยวในเทศกาลปีใหม่จะมาถึง ซึ่งทุกท่านได้เตรียมวางแผนการเดินทางไว้แล้ว แน่นอนว่าไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆต้องพบเจอกับที่จอดรถคนพิการอย่างแน่นอน เพื่อไขข้อข้องใจจึงพาทุกท่านมาดูกันว่าแท้จริงแล้ว ที่จอดรถคนพิการ “ใครบ้าง ที่สามารถจอดได้”
ประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการ
การแบ่งประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการในประเทศไทยยังเกิดความคลุมเครืออยู่ HOW TO จึงขออธิบายประเภทของคนพิการตามหลักที่ถูกต้อง โดยมีพระราชบัญญัติกฎกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการฉบับที่2 พ.ศ.2555 ข้อ3 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 41 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติเรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ ไว้ 7 ข้อดังต่อไปนี้ 1.ความพิการทางการเห็น 2.ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 3.ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 4.ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม 5.ความพิการทางสติปัญญา 6.ความพิการทางการเรียนรู้ 7.ความพิการทางออทิสติก ฉะนั้นหากมองตามกฎหมายแล้วผู้พิการทั้ง 7 ประเภทนี้มีสิทธิ์ในการจอดรถในช่องจอดรถคนพิการได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผู้ทุพพลภาพ คนชรา และผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางร่างการเช่น ขาหัก เดินไม่สะดวก ในกรณีนี้แล้วแต่ดุลยพินิจของเจ้าของสถานที่นั้นว่าจะอนุญาตให้จอดรถในช่องจอดรถคนพิการได้หรือไม่
อาคารและลานจอดต้องมีที่จอดรถคนพิการ
ความจริงแล้วที่จอดรถคนพิการไม่ได้ถูกกำหนดว่าทุกสถานที่ที่เป็นลานจอดต้องสร้าง ยกตัวอย่างเช่น ลานดินสำหรับจอดรถชั่วคราว ลานจอดรถของร้านอาหาร ลานจอดรถประเภทนี้หากเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลไม่จำเป็นต้องสร้างช่องจอดสำหรับคนพิการ “แต่” สำหรับอาคารจอดรถ และลานจอดรถในพื้นที่ องค์กร บริษัท ห้างร้าน และสถานที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่าสำหรับอาคารและลานจอด ต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา อย่างน้อยตามอัตราส่วน ดังนี้ 1.ที่จอดรถตั้งแต่ 10 คัน แต่ไม่เกิน 50 คันต้องสร้างที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราอย่างน้อย 1 คัน 2.ที่จอดรถตั้งแต่ 51 คัน แต่ไม่เกิน 100 คัน ต้องสร้างที่จอดรถสำหรับผู้พิการอย่างน้อย 2 คัน 3. ที่จอดรถตั้งแต่ 101 คัน ขึ้นไป ให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการอย่างน้อย 2 คัน และเพิ่มขึ้นอีก 1 คัน สำหรับจำนวนรถทุกๆ 100 คันที่เพิ่มขึ้น เศษของ 100 คัน ถ้าเกินกว่า 100 คัน ให้คิดเป็น 100 คัน จะเห็นได้ว่าอาคารและลานจอดรถ หากว่ากันตามกฎหมายแล้ว ต้องมีที่จอดรถสำหรับคนพิการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการ
หากจอดกฎหมายไม่บอกว่าผิด อยู่ที่จิตใต้สำนัก
สำหรับที่จอดรถคนพิการกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าต้องสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการ แต่ประเด็นเรื่องรถที่จะมาจอดในที่จอดรถคนพิการ ตรงนี้กฎหมายไม่ได้บอกว่าคนไม่พิการจะมีความผิด หากจอดในช่องจอดสำหรับคนพิการ ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถานที่นั้นๆว่าจะทำอย่างไร และก็ต้องขึ้นอยู่กับจิตใต้สำนึกของผู้ขับขี่แต่ละคนด้วย
เรื่องที่จอดรถคนพิการไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ใครก็สามารถจอดได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ขอให้รู้ตัวเองว่า มีคนพิการ ทุพพลภาพและชราอยู่ในรถจริงๆ ไม่ได้จอดรถในช่องจอดรถคนพิการเพื่อเอาเปรียบคนอื่น แค่นั้นก็พอแล้วครับ หลายคนมองว่ารถราคาแพงทำไมถึงมีสิทธิ์จอดในช่องจอดรถคนพิการได้ ก็ต้องย้อนถามกลับไปว่าบางทีในรถคันดังกล่าวอาจจะมีญาติผู้ใหญ่คนชรา เดินไม่ค่อยสะดวกอยู่ในรถ ฉะนั้นการจอดรถในช่องจอดคนพิการก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ในทางกลับกัน เมื่อพบเห็นรถที่จอดช่องจอดรถคนพิการ แต่ไม่ได้มีคนพิการเดินลงมาจากรถ ตรงนี้ก็ต้องไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนว่า ในรถคันดังกล่าวอาจจะมีคนพิการอยู่จริงแต่ได้ลงจากรถไปแล้วก่อนที่จะนำรถเข้ามาจอด ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก อยู่จิตใต้สำนักของแต่ละคนแล้วละครับ ที่จะตัดสินว่าอะไรควร อะไรไม่ควร
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.thm