“ดงตาล” ม.เกษตร บางเขน ตัวแทนไทย สู่ศึก Student Formula ที่ญี่ปุ่น
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย จัดงานแข่งขัน 15th TSAE Auto Challenge 2019 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2562 ณ สนามปทุมธานีสปีดเวย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาทักษะวิศวกรรมยานยนต์ เสริมสร้างบุคลากรด้านยานยนต์ในประเทศไทย จากการออกแบบสร้างยานยนต์โดยฝีมือคนไทย เพื่อนำไปสู่การแข่งขันเวทีระดับโลก และทีมชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่ง JSAE Auto Challenge 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเดือนกันยายน
TSAE Auto Challenge เป็นการแข่งขันรถยนต์ที่นั่งเดียว Student Formula สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ร่วมกับ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ,บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ,บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย จำกัด ,บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเชลล์ จำกัด และบริษัท เอพี ฮอนด้า จำกัด ในการจัดงานฯ
ทีมเข้าแข่งขันประกอบด้วยนักศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือระดับ ปวส. ขึ้นไปจากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ต้องนำเอาความรู้จากในห้องเรียนมาลงมือปฏิบัติจริง เริ่มตั้งแต่ออกแบบ สร้างรถ การบริหารจัดการ และการทำงานเป็นทีม โดยทางสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทยได้เปิดรับสมัครทีมเข้าร่วมแข่งขันตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2561 จากนั้นทุกทีมจะต้องส่งรายงานของรถแข่งที่จะสร้าง ตั้งแต่การออกแบบดีไซน์ ราคา Business Plan เป็นต้น จากนั้นเป็นการลงมือภาคปฏิบัติสร้างรถเพื่อนำมาแข่งจริงที่สนามปทุมธานี สปีดเวย์ งานนี้ไม่ได้เป็นเพียงแต่การสร้างรถแข่ง แต่ทุกอย่างทุกขั้นตอนเหมือนการผลิตรถยนต์จริงๆ เพื่อขาย เป็นการสร้างประสบการณ์การทำงานจริงให้นักเรียนนักศึกษาวิศวกรรมยานยนต์ ก่อนที่จะจบออกไปเป็นทรัพย์กรบุคลที่มีคุณภาพเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไป
TSAE Auto Challenge ‘Student Formula’ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ที่มีลักษณะเป็น Formula Car ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 จังหวะ ขนาดไม่เกิน 710 cc กำหนดให้ใช้ E10 (Gasohol 95) เป็นเชื้อเพลิง และรุ่น รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า Formula SAE Electric โดย Tractive System Voltage ไม่เกิน 600 VCD กำลังไฟฟ้าที่จ่ายออกจากแบตเตอรี่ไม่เกิน 80 KW
สรุปผลการแข่งขัน 15th TSAE Auto Challenge 2019 รางวัลชนะเลิศ ถ้วยรางวัลพระราชทานของ สมเด็จพระเทพฯ พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ ดงตาล เรซซิ่ง ทีม ม. เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 ถ้วยรางวัลของ ที่ปรึกษากองทุน สมเด็จพระเทพฯ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ปีบทองเรซซิ่งทีม จาก ม.เทคโนโลยีสุรนารี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ถ้วยรางวัลของ นายกสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ทีมลูกพระบิดา เอ็กซ์ ม.สงขลาครินทร์
นอกจากนั้นจะมีถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศในแต่รายการได้แก่ Design ,Presentation ,Cost ,Skid pad ,Acceleration ,Autocross ,Endurance ,Fuel Efficiency ,Static Event ,Improvement ,Rookie Award ด้านรถประเภท EV ผลรางวัลตกเป็นของ Carrara Z Racing Team สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญีปุ่น
รศ.ดร. พูลพร แสงบางปลา นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า “เราพยามยามเต็มที ที่จะผลิตเยาวชนของไทยป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในไทย และในอาเซียน แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ ที่ช่วยผลักดัน ย้อนไปครั้งแรก TSAE Auto Challenge เกิดขึ้นจากสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ โดยครู อาจารย์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และบริษัทรถยนต์ และนักวิชาการจากทุกแห่งมาช่วยกันทำงานนี้ให้เกิดขึ้น จนถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 15 เพื่อให้เด็กได้ลองใช้เวทีนี้ สร้างประสบการณ์ทำงานจริงนอกห้องเรียน ช่วยเพิ่มทักษะนำความรู้ที่เรียนมาประยุกใช้กับการสร้างรถยนต์ตามแบบที่กำหนด ในปีนี้มีทีมที่เข้าแข่งขันถึง 37 ทีม ถือว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากทุกสถาบันการศึกษาส่งทีมเข้ามาแข่งขัน ซึ่งแต่ละทีมใช้เวลาเตรียมงานกันเป็นปี เพื่อมาร่วมงานนี้ ”
สำหรับในปีที่ผ่านมาแชมป์เก่า 4 สมัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธบุรี ทีม Black Pearl IX:Ubiquitous คว้าแชมป์ไปได้ด้วยคะแนนรวมสูงสุด ส่วนในปีนี้คงต้องจับตาว่าตัวแทนจากประเทศไทย Dongtaan Racing Team จะสามารถสร้างผลงานที่ญี่ปุ่นได้ขนาดไหน
เรื่อง : ณัฐพล จีระมงคลกุล
ภาพ : GPi PHOTO
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th