ด่านตรวจแบบถูกกฎหมายมีลักษณะอย่างไร
เป็นที่ถกเถียงบนโลกออนไลน์ไม่รู้จับจบ กับรูปแบบการตั้ง ด่านตรวจ บนท้องถนนว่าแบบไหนถูก แบบไหนผิด บางคนก็ว่าสามารถตั้งได้ทันที บางคนก็ว่าต้องมีนู้นนี่นั่นถึงจะตั้งด่านได้ ในเมื่อเป็นแบบนี้เรามาดูข้อมูลจริงๆ กันดีกว่าว่าการตั้งด่านตรวจที่ถูกต้องต้องมีรูปแบบใด
“ด่านตรวจ” หมายถึง สถานที่ทำการที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก โดยระบุสถานที่ไว้ชัดแจ้งเป็นการถาวร การตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. แล้วแต่กรณี
“จุดตรวจ” หมายถึงสถานที่ที่ตำรวจออกมาปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิด โดยได้รับการอนุญาตจากกองบังคับการ มีแผนงานการจัดตั้งที่แน่นอนชัดเจนว่าจะตั้งที่ไหน เวลาเท่าไหร่ ใครเป็นผู้ควบคุม เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะต้องยุบเลิกจุดตรวจทันที ซึ่งการตั้งด่านตรวจประเภทนี้ต้องได้รับอนุมัติจากนายตำรวจระดับผู้บังคับการ (ยศ พลตำรวจตรี) ขึ้นไป
“จุดสกัด” หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเป็นการชั่วคราว และจะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว โดยการตั้งด่านประเภทนี้ต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่นั้นๆ
การตั้งด่านจะต้องมีเครื่องหมายจราจรว่า “หยุดตรวจ” มีสิ่งกีดขวางหรือสัญญาณให้เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่ายในระยะไกล ส่วนในเวลากลางคืนต้องจัดให้มีแสงสว่าง และมองเห็นในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตรก่อนถึงจุดตรวจ รวมทั้งต้องมีแผ่นป้ายแสดงยศชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำด่านตรวจและจุดตรวจ พร้อมทั้งจะต้องมีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า “หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบให้แจ้ง ผู้บังคับการ พร้อมเบอร์โทรศัพท์” มองเห็นในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th