ไอเดียบรรเจิด นักวิทยาศาสตร์พัฒนาถนนชาร์จพลังงานรถไฟฟ้าได้
สองสิ่งที่เป็นข้อกังวลของผู้ที่คิดจะซื้อรถไฟฟ้าและเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนผ่านจากรถใช้น้ำมันไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้ช้าก็คือ ระยะการเดินทางของรถต่อการชาร์จ และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จไฟหรือสถานีชาร์จ โดยหากไม่มีการเปรียบเทียบสองสิ่งนี้กับรถใช้น้ำมันผู้ซื้อรถจำนวนมากอาจจะมองรถไฟฟ้าเป็นทางเลือกหลักแทนน้ำมัน ซึ่งกลุ่มนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ได้มีการนำเสนอโซลูชั่นที่จะแก้ปัญหานี้ขึ้นมาด้วยการพัฒนาถนนที่สามารถชาร์จไฟให้รถในขณะวิ่งได้ หรือเป็นถนนที่มีระบบชาร์จพลังงานไร้สายให้กับรถไฟฟ้า
จริงๆ แล้วระบบชาร์จแบบไร้สายด้วยวิธีเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็กไม่ใช่เรื่องใหม่ในรถยนต์ เพราะบรรดาผู้ผลิตต่างก็เพิ่มระบบชาร์จสมาร์ทโฟนไร้สายในรถยนต์รุ่นต่างๆ ของตนมากขึ้น แต่ศาสตราจารย์ Khurram Afridi ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ได้อธิบายว่าความท้าทายใหญ่ในการปรับใช้เทคโนโลยีนี้กับถนนคือการสร้างสนามแม่เหล็กที่สมาร์ทโฟนใช้มีราคาแพงและทำได้ไม่ง่ายบนผิวที่ใช้ทำหรับทำถนน และแนวความคิดนี้เคยมีการทดสอบแล้วในแคลิฟอร์เนียช่วงทศวรรษที่ 80 แต่ผลที่ออกมาคือการสร้างสนามแม่เหล็กซึ่งใช้อุปกรณ์ที่มีราคาแพงต้องใช้พลังงานที่มากกว่าพลังงานที่ให้ออกมา ซึ่งศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ได้บอกว่า เขาและทีมงานกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่มีการวิจัยตั้งแต่สมัยทำงานในห้องทดลอง Jet Propulsion Lab ของนาซ่าเพื่อใช้สนามไฟฟ้าความถี่สูงแทนแม่เหล็ก
“พวกเขาคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้คิดถึงระดับความถี่ที่สูงซึ่งผมได้คิด นั่นมักเป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยของผม จึงเป็นความหลงใหลอย่างจริงจังของผมเกี่ยวกับความถี่สูงและผลักดันเทคโนโลยีจนมีศักยภาพสูงสุด” Afridi กล่าว
ในการพัฒนาเพื่อนร่วมงานของ AFridi ได้ทำรถที่มีความสูงของใต้ท้องรถจากพื้น 18 ซม. ซึ่งเป็นระดับความสูงส่วนใหญ่ของรถไฟฟ้าที่สามารถชาร์จไฟโดยเทคโนโลยีของ Afridi ได้ โดยพลังงานจะถูกถ่ายโอนผ่านเพลตในถนนที่ฝังลงไปได้ลึกถึง 10 ฟุตเพื่อให้รถสามารถชาร์จไฟในขณะขับไปบนถนนได้ ซึ่งจากสิ่งนี้จะทำให้การชาร์จที่ความถี่สูงสามารถชาร์จรถอย่าง Nissan Leaf ได้ในเวลา 4 ถึง 5 ชั่วโมง ส่วนรถที่มีแบตเตอรีความจุมากกว่าอย่าง Tesla จะใช้เวลานานขึ้น
อย่างไรก็ตามจากลักษณะของเทคโนโลยีจะหมายถึงการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาลเพื่อให้สามารถใช้งานได้ ซึ่ง Afridi มีแนวคิดบางอย่างที่อาจทำให้ง่ายขึ้น สิ่งแรกคือเขาคิดว่าไม่ได้หมายความว่าทุกเลนบนถนนจะต้องชารจพลังงานได้ แต่มีการติดตั้งเพลตสำหรับชาร์จในเลนหนึ่งของถนนเหมือนกับเลน HOV สำหรับรถที่มีผู้ขับและผู้โดยสารหนึ่งคนหรือมากกว่า โดยเมื่อเข้าไปอยู่ในเลน ถนนจะอ่านเพลตของรถ แล้วก็ได้รับการชาร์จไฟ จากนั้นก็ออกมาจากเลน
นอกจากนี้เพลตสำหรับชาร์จพลังงานยังสามารถติดตั้งในบริเวณที่มีป้ายให้หยุดรถหรือบริเวณสัญญาณไฟจราจรที่ผู้ขับรถจะใช้เวลาอยู่ไม่นานและสามารถชาร์จพลังงานได้สะดวก นอกจากนี้ Afridi ยังเสนอว่าช่วงแรกให้ติดเทคโนโลยีชาร์จพลังงานนี้เฉพาะบนถนนที่มีการจราจรหนาแน่นและมีความยาวหรือระหว่างพื้นที่ที่มีสถานีชาร์จน้อย
อย่างไรก็ตามอีกสิ่งสำคัญของเทคโนโลยีนี้คือ ผู้ผลิตรถยนต์ต้องร่วมด้วย โดยการใช้อุปกรณ์ที่สามารถรองรับการใช้งานกับความถี่สูงได้เพื่อประสิทธิภาพในการชาร์จ
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th