ถึงเวลา Tesla จะยุติการผลิตรถยนต์ด้วยตัวเอง?
ในช่วงค่ำคืนวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของประเทศสหรัฐฯ จัดงานเปิดตัว Semi รถบรรทุกที่เป็นไฮไลต์หลัก ก่อนจะมีเซอร์ไพรส์ตามข่าวลือ— รถต้นแบบ Roadster รุ่นใหม่ล่าสุดที่มีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 1.9 วินาที และมีความเร็วสูงสุดเกิน 400 กม./ชม. เป็นอีกครั้งของการฉลองให้สินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดของพวกเขา: เทคโนโลยี, ดีไซน์ และวิธีการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของผู้คน
การปรากฏตัวของ Elon Musk ซีอีโอเจ้าโปรเจ็กต์ของ Tesla ทำให้บรรยากาศภายในสถานที่จัดงานที่ฮอว์ธอร์น รัฐแคลิฟอร์เนีย เปลี่ยนเป็นความน่าตื่นเต้น เสียงตบมือ และตะโกนเชียร์จากบรรดาสาวก Tesla, ผู้สื่อข่าว และพนักงานของเขาไม่ได้ลดลงจากเดิม แม้ว่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังรายนี้กำลังเผชิญ “วิกฤตการผลิตขั้นเลวร้าย” จนทำให้ Model 3 รถยนต์ไฟฟ้าซีดานต้องเลื่อนกำหนดส่งมอบให้ลูกค้า หลังจากกำลังการผลิตไม่เป็นไปตามแผน โดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่แท้จริง
Elon Musk ระหว่างขึ้นพรีเซนต์ Roadster รถต้นแบบรุ่นใหม่ล่าสุด
“ปัญหาคอขวดในการขั้นตอนการผลิต” เป็นเหตุผลของความล่าช้าที่ออกมาอย่างเป็นทางการจาก Tesla บริษัทรถยนต์อันเป็นที่รักของชาวซิลิคอน วัลเล่ย์ โดยรายงานทางการเงินประจำไตรมาส 3 ของปี 2017 มีการผลิต Model 3 ออกมาได้เพียง 260 คันเท่านั้น ทั้งที่ Musk เคยประกาศว่าจะผลิตรถรุ่นนี้ให้ได้ 1,500 คัน ภายในเดือนกันยายน และจะเพิ่มเป็น 20,000 คันต่อเดือนในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2017 แต่ทุกอย่างถูกเลื่อนออกไปเป็นปลายไตรมาส 1 ของปี 2018 หรืออีกราว 3 เดือน— แสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังเผชิญปัญหาที่รุนแรงที่ไม่อาจแก้ไขในเวลาเพียงสั้นๆ
ก่อนหน้านี้ Kazuhiro Tsuga ประธานบริหาร Panasonic ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น พันธมิตรสำคัญของ Tesla ในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่ทำให้ทุกคนพอจะเห็นภาพปัญหาที่ Musk และทีมงานของเขากำลังเผชิญอยู่
Tsuga ยอมรับว่าขั้นตอนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติที่โรงงาน Gigafactory ในเมืองสปาร์ค รัฐเนวาด้า ไม่เสร็จตามกำหนดทำให้การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน เพื่อติดตั้งลงใน Model 3 บางส่วนต้องประกอบด้วยแรงงานคน “ขั้นตอนนี้จะผลิตด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติในอีกไม่นาน และจากนั้นอัตราการผลิตรถยนต์จะเพิ่มขึ้นทันที”
Model 3 คันแรกที่ออกจากโรงงานผลิต เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา
ความล่าช้าจากแผนการที่ประกาศสู่สาธารณชนไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ของ Tesla แต่ในความเป็นจริงพวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้ไหม? หรือจะเกิดอะไรขึ้นหาก Tesla ตัดสินใจเลือกที่จะมอบหมายความรับผิดชอบขั้นตอนการผลิตรถยนต์ให้โรงงานประกอบที่มีความชำนาญมากกว่าพวกเขา
แนวความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Michael Wayland คอลัมนิสต์ของ autonews.com เว็บไซต์ข่าวอุตสาหกรรมรถยนต์ชื่อดังที่ยกสูตรทางธุรกิจที่ทำให้ Apple ก้าวสู่ความสำเร็จกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกด้วยการใช้วิธี – ออกแบบ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผู้คนหลงใหล ก่อนจะทำสัญญาจ้างโรงงานผลิตที่มีประสบการณ์เพื่อสร้างอุปกรณ์ตามจินตนาการของพวกเขาให้กลายเป็นจริง และทำรายได้หลายพันล้านดอลล่าร์
ทำให้ระหว่างที่ Musk ต้องกินนอนอยู่ที่โรงงานผลิตในเมืองเฟรมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อควบคุมการผลิต Model 3 ให้ออกมาเร็วที่สุด และมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ Tim Cook ซีอีโอ Apple นอนหลับสบายบนเตียงที่บ้านปล่อยให้ผู้คนทั่วโลกเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อแย่งจอง i-Phone 8 และ i-Phone X ที่เพิ่งออกขายอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานนี้
นอกจากนี้ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายสำหรับผู้คนในวงการรถยนต์ที่จะหาพันธมิตรเพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์รุ่นสำคัญให้มากขึ้น Magna Steyr โรงงานรับประกอบรถยนต์ชั้นนำของประเทศออสเตรีย ช่วยแบ่งเบาภาระให้แบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่าง BMW, Daimler (Mercedes-Benz) และ Jaguar เช่นเดียวกับโรงงานผลิตของ Tesla ที่เฟร์มอนต์ ครั้งหนึ่งเคยเป็นการร่วมทุนระหว่าง Toyota กับ General Motors 2 ยักษ์ใหญ่ต่างทวีปของวงการรถยนต์โลกที่เชื่อว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่จากอีกฝ่ายหนึ่ง
แต่คงไม่ใช่เรื่องปกติของบริษัทที่มีต้นกำเนิดจากซิลิคอน วัลเล่ย์ ที่จะยอมรับว่าพวกเขาไม่ได้รู้ทุกอย่าง Musk อาจแสดงความจริงใจด้วยการยอมรับว่ากำลังเผชิญปัญหาร้ายแรงในขั้นตอนการผลิต แต่วิธีแก้ไขวิกฤตด้วยการเลือกใช้ความทุ่มเทของตัวเองอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง
จากข้อมูลล่าสุดเมื่อช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Model 3 มียอดสั่งจองจากลูกค้าทั่วโลก 455,000 คัน โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 35,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.15 ล้านบาท) และต้องรอส่งมอบนานกว่า 1 ปี
“ผมตัดสินใจจะมาอยู่ที่บริเวณโซน 2 ของไลน์การผลิตตั้งแต่ตี 2 ของเช้าวันอาทิตย์เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาของเครื่องจักรกลที่ใช้ประกอบ” Musk พูดกับบรรดานักลงทุนหลังจากรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ออกมา “ผมพร้อมจะทำทุกอย่างเท่าที่จะสามารถทำได้”
เจ้าของธุรกิจที่มีสไตล์การใช้ชีวิตแบบ Musk อาจมองว่าปัญหาความล่าช้าในการผลิตเป็นความท้าทาย แต่สำหรับนักลงทุน และลูกค้าที่เสียเงินมัดจำจองรถยนต์ของ Tesla ล่วงหน้า คงไม่คิดแบบนั้น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือได้รับรถตามกำหนด และไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ
ขณะที่บริษัทรถยนต์อื่นๆ อาจพอใจในความสำเร็จที่ Tesla ได้รับ ในฐานะแบรนด์ที่สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์กล้าท้าทายแนวทางดั่งเดิม แต่สิ่งที่ Tesla ต้องการมีเหมือนบริษัทรถยนต์อื่นๆ ในตอนนี้มากที่สุดคือ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการเปลี่ยนไอเดียมากมายให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริง
ไม่สายเกินไปสำหรับ Tesla ในการขอความช่วยเหลือสำหรับการพัฒนารถยนต์เจเนอเรชันต่อไป บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ที่มีกำลังการผลิต และองค์ความรู้ที่เผยแพร่สู่ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น การยกหูโทรศัพท์หา Daimler เพื่อให้มาช่วยสร้างรถของ Tesla — ทุกอย่างตั้งแต่ Roadster จนถึง Semi — อาจเปิดโอกาสให้ Tesla บรรลุแผนการสูงสุดในการเปลี่ยนโลกของเราสู่การใช้งานระบบขนส่งที่ปลอดมลพิษ
และอย่างที่เห็นตอนนี้ว่ายังไม่สายเกินกว่าที่จะขอความช่วยเหลือ การที่ Tesla พยายามต่อสู้เพียงลำพังเพื่อจัดการผลิตรถยนต์ให้ลูกค้าท่ามกลางความนิยมที่สูงมากขึ้นจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่ล้ำสมัย ทำให้บริษัทที่เคยถูกคาดหวังจะพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์โลกอาจเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่
เรื่อง : พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล : www.automotivenews.com , www.tesla.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th