10 นาทีกับ Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดของโลก
1 วันหลังจากเปิดราคาขายอย่างเป็นทางการ นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย จัดรอบพิเศษให้สื่อมวลชนมีโอกาสทดลองขับ Nissan Leaf รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดของโลกเป็นครั้งแรก เพื่อสัมผัสเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงการเดินทางของผู้คนในอนาคต…
การทดสอบครั้งนี้เป็นเหมือนการทำความรู้จัก Nissan Leaf Thailand Edition แบบเบื้องต้น เพื่อให้รู้ความแตกต่างของการขับระหว่างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ากับเครื่องยนต์น้ำมัน, ออปชั่นที่ติดตั้งมา และการทำงานของคันเร่งอัจฉริยะ e-Pedal
การที่เรียกว่า Leaf Thailand Edition เป็นเพราะว่าตอนนี้ Nissan ยังไม่ตกลงใจจะตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแบตเตอรี่แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ในบ้านเรา ทำให้ต้องนำเข้ารถรุ่นนี้จากประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับโดนเก็บภาษีหลายต่อจากการถูกจัดอยู่ในกลุ่มรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูป (Completely Built Units: CBU) จนราคาขายกระโดดไปอยู่ที่ 1.99 ล้านบาท ทั้งที่พยายามลดต้นทุนด้วยการหั่นออปชั่นอย่าง ProPilot ระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่พวกเขาแสนภาคภูมิใจออกไปก็ตาม
ประเด็นเรื่องการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยต้องคุยกันอีกยาว มาพูดถึงการขับ Leaf จะดีกว่า เส้นทางทดสอบจะใช้พื้นที่ด้านหลังชาแลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี บริเวณเดียวกับที่ให้ผู้เข้าชมงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ทดลองขับรถยนต์ที่สนใจจะซื้อ ทำให้ใช้เวลาขับประมาณแค่ 10 นาทีเท่านั้น
Report-รถยนต์ไฟฟ้าโดนภาษีกี่ต่อ-ทำไมอยากขับ Nissan Leaf ต้องจ่าย 1.99 ล้านบาท?
เปิดประตูเข้าสู่ห้องโดยสารของ Leaf จะบอกว่าไม่ค่อยตื่นเต้นคงไม่ผิดเท่าไรนัก เพราะอย่าลืมว่า Nissan นำรถรุ่นนี้มาโชว์ตัวที่ประเทศไทยหลายรอบแล้ว รวมทั้งมีโอกาสลูบๆ คลำๆ ในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017 เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน
แต่ตอนแรกที่เข้ามานั่งหลังพวงมาลัยของ Leaf หลายคนอาจจะงงๆ กับการหาปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ที่ถูกจับมาอยู่ด้านล่างของคอนโซลกลาง และเกียร์ที่เป็นเหมือนคันโยกคล้ายกับ Toyota Prius แต่ก็ไม่ได้สับสนอะไรมาก เพราะมีลูกศรบอกตำแหน่งว่าต้องปรับทิศทางอย่างไรเพื่อเข้าเกียร์ D, R หรือ N
บริเวณคอนโซลกลางแผงควบคุมระบบปรับอากาศ Leaf Thailand Edtion (รูปบน) จะแตกต่างจากเวอร์ชั่นญี่ปุ่น (รูปล่าง)
ทำความคุ้นเคยพอเป็นพิธีเริ่มต้นการขับ ความรู้สึกตอนเหยียบคันเร่งไม่ได้แตกต่างจากเครื่องยนต์น้ำมันที่เราเห็นวิ่งอยู่บนท้องถนน ความเร็วของรถยังขึ้นอยู่กับน้ำหนักเท้าของคนขับที่กดลงบนคันเร่ง แต่การที่มอเตอร์ไฟฟ้าสามารถสร้างแรงบิดตั้งแต่รอบต่ำทำให้การตอบสนองจะดีกว่ารถใช้น้ำมันที่ต้องรอรอบเครื่องยนต์มารีดแรงม้า
เปรียบเทียบง่ายๆ คงเหมือนเวลาขับรถปลั๊ก-อิน ไฮบริดของ Mercedes-Benz หรือ BMW หากปรับมาขับโหมดไฟฟ้าหรือ EV ที่จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว แต่ของ 2 แบรนด์ยุโรปหมดสิทธิ์จะกดคันเร่งเพื่อทำความเร็ว เพราะระบบจะตัดกลับมาให้เครื่องยนต์น้ำมันช่วยทำงานทันที
อย่างไรก็ตามการใช้งานในชีวิตจริง การเร่งแซงแต่ละครั้งเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าต้องคำนึงถึงพลังงานที่เหลืออยู่ในแบตเตอรี่ว่าจะพาคุณไปถึงจุดหมายหรือไม่ เพราะถึงตอนนี้ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ จะมีสถานีชาร์จไฟมากขึ้น แต่ไฟฟ้าก็ยังเติมได้ไม่เร็วเท่าน้ำมัน
Bizz News-คนไทยตอบรับเกินคาดจอง Nissan Leaf 26 คันใน 2 สัปดาห์!!!
(คลิกที่รูปเพื่อขยาย)
สำหรับ Leaf ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AC Synchronous สร้างกำลังได้ 150 แรงม้า (110 กิโลวัตต์) และแรงบิด 320 นิวตันเมตร โดยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ขนาดความจุ 40 กิโลวัตต์ชั่วโมงที่ถูกเก็บอยู่ใต้ท้องรถ ตามมาตรฐานทดสอบความประหยัดน้ำมัน และมลพิษของทวีปยุโรป (New European Driving Cycle-NEDC) จะสามารถขับได้ระยะทางสูงสุด 311 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง (แต่ตามมาตรฐานทดสอบ JC08 ของประเทศญี่ปุ่น ระยะทางสูงสุดจะอยู่ที่ 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง)
ขับออกจากจุดสตาร์ทมาครู่หนึ่งจะมีกรวยยางวางให้ทดสอบการควบคุม โดย Leaf ต้องถือว่ามีความคล่องตัวสูงอยู่แล้วจากการเป็นรถไซส์คอมแพ็กต์แบบ 5 ประตู แต่การขับครั้งนี้ไม่มีโอกาสใช้ความเร็วสูงอะไรนัก เรียกว่าเป็นการลองหักเลี้ยวซ้าย-ขวาเล่นสนุกๆ เท่านั้น
เช่นเดียวกับภายในห้องโดยสารที่หากเดินทางแบบเต็ม 5 ที่นั่งคงจะเบียดๆ กันหน่อย โดยพื้นที่บรรทุกสัมภาระจะสามารถพับเบาะนั่งแถวสองเพื่อเพิ่มพื้นที่ความจุสูงสุด 435 ลิตร เก็บกระเป๋าเดินทางไซส์ใหญ่ได้ 2 ใบแบบสบายๆ และข้อมูลในโบรชัวร์บอกว่าใส่ถุงกอล์ฟขนาดความยาว 817 x กว้าง 549 x 283 มม. ได้ถึง 3 ถุงอีกด้วย
สัมผัส e-Pedal เทคโนโลยีอัจฉริยะล่าสุดจาก Nissan Intelligent Mobility
พอมาถึงช่วงทางลาดขึ้นสู่ลานข้างบน อินสตรักเตอร์ที่นั่งมาข้างๆ เริ่มแนะนำการทำงานของระบบคันเร่งอัจฉริยะ e-Pedal หนึ่งในเทคโนโลยีภายใต้ Nissan Intelligent Mobility ที่นำมาเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยกับ Leaf โดยจะเป็นการใช้แป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียวควบคุมการเพิ่ม-ลดความเร็ว จนกระทั่งรถหยุดสนิท
การขับบนทางลาดช่วยให้เข้าใจการทำงานของ e-Pedal ได้รวดเร็วขึ้น อธิบายง่ายๆ จะมีความคล้ายกับระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist: HSA) ที่ติดตั้งในรถรุ่นใหม่ๆ แต่คุณไม่จำเป็นต้องเหยียบแป้นเบรกค้างหรือมีเวลาแค่ 3 วินาทีเพื่อสลับมามาที่คันเร่งก่อนที่รถจะไหล แม้ว่า Leaf จะมีระบบ HAS มาให้อยู่แล้วก็ตาม
ส่วนการใช้งาน e-Pedal บนถนนปกติ หากถอนเท้าออกจากคันเร่ง ความเร็วของ Leaf จะเริ่มชะลอจนกระทั่งหยุดสนิท รวมทั้งเป็นการชาร์จไฟฟ้ากลับสู่แบตเตอรี่อีกด้วย โดย Nissan เชื่อว่าการใช้แป้นควบคุมเพียงหนึ่งเดียวจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ของผู้คนในอนาคตได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
เช่นเดียวกับเวลาเข้าเกียร์ R ถอยหลัง หากกดปุ่มใช้งาน e-Pedal เอาไว้จะช่วยชะลอจนรถจนหยุดสนิทเช่นกัน และการที่ Leaf Thailand Edition ไม่มีระบบควบคุมการขับขี่ ProPilot ทำให้ออปชั่นช่วยจอดอัตโนมัติ ProPilot Park ถูกตัดออกไปโดยปริยาย แต่ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีกล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง Intelligent Around View Monitor (IAVM) ที่จะแสดงภาพจากกล้องหน้า-หลัง-ข้าง รวมทั้งจำลองภาพมุมสูงให้เห็นบนหน้าจอวิทยุที่ดูจะสะดวก และคุ้นเคยกว่าขึ้นไปอยู่บนกระจกมองหลังแบบใน Nissan Note และ Terra
สำหรับระบบกล้องมองภาพรอบทิศทาง IAVM เป็นส่วนหนึ่งในชุดเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง Nissan Safety Shield ที่ติดตั้งใน Leaf โดยที่เหลือจะมีระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning), ระบบเบรกฉุกเฉิน (Forward Emergency Braking), ระบบเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (Moving Object Detection) และระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (Driver Alert Assist)
อย่างไรก็ตามวันนี้มีโอกาสได้ลองเพียงแค่การใช้ภาพจาก IAVM เพื่อช่วยกะระยะตอนถอยหลังเข้าจอดเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่รู้สึกว่าการแสดงภาพรอบคันบริเวณหน้าจอวิทยุขนาด 5 นิ้ว มองถนัดกว่าตอนที่เคยขับ Note หรือ Terra ส่วนหนึ่งอาจเป็นความเคยชินจากการที่รถยนต์เกือบทุกแบรนด์ภาพจากกล้องมองหลังจะแสดงที่หน้าจอเครื่องเสียงตรงคอนโซลกลาง
พอจบจากตรงนี้การขับทดสอบหมดรอบพอดี โดยตรงจุดจอด Leaf จะมีการนำเครื่องชาร์จไฟฟ้าจากบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ พันธมิตรของนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย มาติดตั้งไว้ เท่าที่สอบถามการไปติดตั้งที่บ้านราคาจะอยู่ในหลักหมื่นปลายๆ ขึ้นอยู่กับขนาดสายไฟ และระยะการเดินสายไฟเพิ่มเติมเพื่อติดตั้งอุปกรณ์
แต่หากใครที่คิดจะซื้อ Leaf ก็ควรติดตั้งเครื่องชาร์จไฟแยกพิเศษตามที่ Nissan แนะนำ เพราะการเสียบปลั๊กไฟบ้านปกติที่แรงดันไฟฟ้า 3.6 กิโลวัตต์จะต้องใช้เวลานานถึง 12 ชั่วโมงกว่าแบตเตอรี่จะเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากเป็นอุปกรณ์แบบ Double Speed Charge ที่จ่ายกระแสไฟ 6.6 กิโลวัตต์จะลดระยะเวลาการชาร์จลงครึ่งหนึ่งหรือ 6 ชั่วโมงเท่านั้น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของ Nissan Leaf ใครที่อยากจะรู้ว่าการขับบนถนนจริงจะเป็นอย่างไรต้องอดใจรอประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีหน้าที่ทางนิสสัน ประเทศไทย เตรียมจัดการขับทดสอบอย่างเป็นทางการ เป็นเวลาเดียวกับที่รถยนต์ล็อตแรกที่จะส่งมอบให้ลูกค้ามาถึงประเทศไทย โดยเท่าที่ได้ยินมาว่าไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากประกาศราคาอย่างเป็นทางการมียอดสั่งจองไปแล้วถึง 26 คัน !!!
(คลิกที่รูปเพื่อขยาย) ข้อมูลเฉพาะทางเทคนิค Nissan Leaf Thailand Edition
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย)
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th