นิสสันมั่นใจ ตั้งเป้าขายรถไฟฟ้า 1 ล้านคัน ภายใน 4 ปี
นิสสันวางแผนระยะกลาง หรือ Nissan M.O.V.E. to 2022 ที่มีเป้าหมายเพื่อวิวัฒน์เทคโนโลยีและขึ้นเป็นผู้นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ขยายศักยภาพด้านระบบขับขี่อัตโนมัติ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของระบบขับขี่อัตโนมัติ และธุรกิจระบบการขนส่ง
นิสสัน มอเตอร์ ประกาศถึงแผนการเพิ่มจำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า พร้อมเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ เร่งการพัฒนาระบบเชื่อมต่อสำหรับรถยนต์ ตามแผนงานระยะกลางของบริษัท หรือ Nissan M.O.V.E. to 2022 หนึ่งในเป้าหมายของนิสสันคือ การจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจำนวน 1 ล้านคัน ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ และแบบระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแบบอี-เพาเวอร์ (e-Power) ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) แผนงานระยะกลางของบริษัทฯ หรือ Nissan M.O.V.E. to 2022 มีเป้าหมายดังนี้
- พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรุ่นใหม่ทั้งหมด 8 รุ่น เพื่อต่อยอดความสำเร็จของนิสสัน ลีฟ (Nissan Leaf) ใหม่
- เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรุกตลาดของประเทศจีนภายใต้แบรนด์ที่แตกต่างกัน
- แนะนำ “รถยนต์ขนาดเล็ก หรือ เคย์คาร์ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับตลาดญี่ปุ่น
- นำเสนอรถยนต์แบบครอสโอเวอร์พลังงานไฟฟ้าสู่ตลาดโลก ที่พัฒนาจากรถยยนต์ต้นแบบ นิสสัน ไอเอ็มเอ็กซ์ คอนเซ็ปต์ (Nissan IMx Concept)
- เริ่มเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายใต้แบรด์อินฟินิตี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ค.ส. 2021) เป็นต้นไป
- ติดตั้งเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติในรถยนต์ 20 รุ่น สำหรับ 20 ตลาด ขยายการเชื่อมต่อให้สมบูรณ์ 100% สำหรับรถยนต์นิสสัน รุ่นใหม่ อินฟินิตี และดัทสัน สำหรับตลาดหลักภายในแผนแผนงานระยะกลางนี้
มร. ฟิลลิปเป ไคลน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายวางแผนธุรกิจ (Philippe Klein, Nissan’s Chief Planning Officer) พร้อมด้วย มร. ทาคาโอะ อาซามิ รองประธานอาวุโส (Takao Asami, Senior Vice Presidents) และ มร. โอกี เรดซิก (Ogi Redzic) ซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาโครงการขับขี่อัตโนมัติและการเชื่อมต่อของกลุ่มพันธมิตร (Alliance) ให้ข้อมูลว่า “กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีมุ่งเน้นสร้างจุดยืนให้นิสสันเป็นผู้นำวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีรถยนต์ และเปลี่ยนวิวัฒนาการในการดำเนินธุรกิจ มุ่งมั่นนำเสนอนิสสัน อินเทลลิเจนท์ โมบิลิตี้ (Nissan Intelligent Mobility) ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ด้านคือ ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า การขับขี่อัตโนมัติ และการเชื่อมต่อและการบริการเพื่อการเดินทางรูปแบบใหม่และยืนยันว่าแผนงานระยะกลางมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ต่อปีให้สูงขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ไปอยู่ที่ 16.5 ล้านล้านเยนภายในช่วงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และบริษัทฯ ยังมีเป้าหมายเพิ่มอัตราส่วนผลกำไรจากการปฏิบัติงาน 8 เปอร์เซ็นต์และกระแสเงินสหมุนเวียนรวมที่ 2.5 ล้านล้านเยน รวมทั้งจะนำทรัพยากรด้านโครงสร้างพื้นฐานรถยนต์ และระบบขับเคลื่อนในกลุ่มเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเป้าหมายของบริษัทฯ
ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า
ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าคือการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในกลุ่มซี-เซกเมนท์ โดยพัฒนาต่อยอดจากนิสสัน ลีฟ ใหม่ นำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ โดยร่วมมือกับบริษัทร่วมทุนของกลุ่มพันธมิตรที่มีชื่อว่า อีจีที นิว เอเนอร์จี้ ออโตโมทีฟ(eGT New Energy Automotive) และรถเอนกประสงค์พลังงานไฟฟ้า ในกลุ่ม เอ-เซกเมนท์ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้นั้นเปจะพัฒนาร่วมกับกลุ่มพันธมิตร และ กลุ่มของตงฟง มอเตอร์ (Dongfeng)
นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาต่อยอดเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอีกสองรุ่นภายใต้แบรนด์เวนูเซีย (Venucia) นิสสันยังจะเดินหน้าขยายเทคโนโลยีอี-เพาเวอร์ ซึ่งปัจจุบันนำเสนอไว้ในรถยนต์นิสสัน โน๊ต (Nissan Note) และนิสสัน เซเรน่า (Nissan Serena) ในประเทศญี่ปุ่น นิสสัน โน๊ต อี-เพาเวอร์ มียอดขายมากกว่า 129,000 คัน ในปีแรกที่ออกจำหน่ายในญี่ปุ่น โดยลูกค้ามากกว่า 2 ใน 3 เลือกใช้รุ่นอี-เพาเวอร์มากกว่ารุ่นปกติ
นิสสันคาดการณ์ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้ระบบอี-เพาเวอร์ จะมียอดขายคิดเป็นสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นและยุโรปภายในปี พ.ศ. 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2568 โดยคาดการณ์ว่ายอดขายในสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2568 ขณะที่ยอดขายในจีนอยู่ที่ 35 – 40 เปอร์เซ็นต์
อินฟินิตีนำระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้ามาใช้กับรถยนต์รุ่นใหม่ทั้งรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบหรือรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอี-เพาเวอร์ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยภายในปี พ.ศ. 2568 ที่จะถึง อินฟินิตีคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายทั่วโลก
ระบบขับขี่อัตโนมัติ
สำหรับกลยุทธ์ด้านระบบขับขี่อัตโนมัติ นิสสันประกาศแผนงานติดตั้งเทคโนโลยี ProPILOT ในรถยนต์ 20 รุ่นใน 20 ตลาดภายในปี พ.ศ. 2565 บริษัทฯ คาดว่ารถยนต์ที่ติดตั้งเทคโนโลยี ProPILOT จะมียอดขาย 1 ล้านคันภายในปี พ.ศ. 2565
หลังจากนั้นจะมีการยกระดับเทคโนโลยี ProPILOT ให้สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติบนถนนหลวงที่มีหลายช่องจราจรและสามารถจัดการในเรื่องจุดหมายปลายทางได้ คุณสมบัติใหม่ของเทคโนโลยีนี้จะถูกแนะนำเป็นโครงการนำร่องในญี่ปุ่นภายใน 1 ปี
มร. อาซามิกล่าวว่า “ด้วยประวัติศาสตร์การนำเสนอเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับโลกของนิสสัน เราจะพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเสนอความสะดวกสบายในการเดินทางที่ไม่ต้องใช้มือควบคุมและไม่จำเป็นต้องมองถนนในทุกสภาพแวดล้อม ปัจจุบันเรามีรถยนต์ที่มีศักยภาพการขับขี่แบบกึ่งอัตโนมัติอยู่บนถนนมากกว่าบริษัทรถยนต์รายอื่นๆ และนิสสันมุ่งมั่นเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆนี้ เพื่อส่งมอบคุณประโยชน์ให้แก่ลูกค้า”
การเชื่อมต่อและการบริการเพื่อการเดินทาง
มร. เรดซิกประกาศเป้าหมายของการนำเสนอระบบการเชื่อมต่อแบบสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ไว้ในรถยนต์นิสสันรุ่นใหม่ อินฟินิตี และดัทสันทุกรุ่นที่ออกจำหน่ายในตลาดสำคัญ โดยเริ่มจากการเปิดตัว ระบบ อัลลายแอนซ์ คอนเน็กเต็ด คลาวด์ (Alliance Connected Cloud)
“อัลลายแอนซ์ คอนเน็กเต็ด คลาวด์ (Alliance Connected Cloud) จะทำให้รถยนต์ทุกแบรนด์ในกลุ่มพันธมิตรสามารถผสมผสานการจัดการข้อมูลทั้งในอนาคต ปัจจุบัน และในอดีตของรถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อถึงกัน ทั้งรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวและรถยนต์ที่ใช้งานอยู่บนท้องถนนแล้ว” มร. เรดซิกกล่าว “เทคโนโลยีนี้จะสนับสนุนการบริการของระบบอินโฟเทนเมนท์และกลไกการสื่อสารที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้มีการปรับปรุงข้อมูลอัตโนมัติ แบบ over the air สำหรับรถยนต์ทุกคัน”
ทั้งนี้ อัลลายแอนซ์ คอนเน็กเต็ด คลาวด์ จะช่วยเสริมพื้นฐานในการขยายระบบการเชื่อมต่อและการบริการเพื่อการเดินทางของนิสสัน รวมถึงการบริการรถยนต์ร่วมโดยสารขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งนิสสันเริ่มต้นทดสอบการบริการรถยนต์ร่วมโดยสารขับขี่อัตโนมัติที่มีชื่อว่า “อีซี ไรด์” (Easy Ride) ร่วมกันพันธมิตรอย่าง ดีน่า (DeNA) ในช่วงต้นเดือนนี้ นิสสันยังมีเป้าหมายในการให้บริการเพื่อการพาณิชย์แก่ลูกค้าโดยตรงภายในช่วงต้นทศวรรษ ค.ศ. 2020
เรื่อง: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th