น้ำมันเกียร์มีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร
มีคำถามมาให้คิดอีกแล้วสำหรับคนที่กำลังจะเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ว่าจะต้องใช้แบบไหนดี ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้ก่อนว่ารถเราเป็นรถประเภทอะไร เกียร์ธรรมดา หรือ เกียร์ออโต้ ถ้ารู้ชนิดเกียร์แล้วก็ไม่ยากที่จะเลือกน้ำมันเกียร์ในการเปลี่ยน ครั้งนี้เราดูความพิเศษของน้ำมันเกียร์ทั้ง 2 รูปแบบกัน
น้ำมันเกียร์ธรรมดา: มีความหนืดสูงกว่า รองรับการทำงานของรถเกียร์ธรรมดาที่เป็นระบบคลัทช์และการสับเกียร์ซึ่งทำให้เกิดแรงเสียดสีค่อนข้างมาก จึงต้องใช้น้ำมันเกียร์ที่มีความหนืดสูง เพื่อให้เปลี่ยนเกียร์ได้ลื่นไหลและป้องกันการสึกหรอได้ดีเยี่ยม โดยส่วนใหญ่จะมีค่าความหนืดอยู่ที่ 75W-85 ขึ้นไป
น้ำมันเกียร์ออโต้: มีความหนืดต่ำกว่า รองรับการทำงานของเกียร์ออโต้ที่เป็นระบบฟันเฟือง มีชิ้นส่วนเล็กๆ มากมายและมีการเคลื่อนไหวมากกว่าเกียร์ธรรมดา จึงต้องใช้น้ำมันเกียร์ที่มีความหนืดต่ำ มีการไหลลื่นที่อิสระให้สามารถแทรกซึมเข้าไปในชิ้นส่วนต่างๆ ได้ทั่วถึง พร้อมส่งถ่ายกำลังจากปั๊มไปยังกังหันในทอร์คคอนเวอร์เตอร์ได้ดี โดยส่วนใหญ่จะมีค่าความหนืดอยู่ที่ประมาณ 0W-5 หรือ 5W-10
ถ้าใส่ผิดล่ะทำอย่างไรดี!!! แนะนำเปลี่ยนถ่ายออกทั้งหมดเลย เพราะความหนืดที่แตกต่างการส่งผลให้เกียร์เกิดการชำรุดได้ ทางที่ดีควรตรวจเช็คแกลอนน้ำมันทุกครั้งหลังเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ เพื่อป้องกันการผิดพลาด
น้ำมันเกียร์มีหน้าที่อะไรแล้วควรเปลี่ยนเมื่อไหร่
น้ำมันเกียร์ทำหน้าที่ในการช่วยลดแรงเสียดทาน และป้องกันการสึกหรอของชุดเกียร์ ช่วยให้ระบบเกียร์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อรถยนต์ผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่งอาจส่งผลให้น้ำมันเกียร์เสื่อมสมรรถภาพลง ซึ่งโดยปกติเราจะเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ทุก ๆ 40,000 กม. หรือ 2 ปีถ้าระยะอะไรถึงก่อน แต่ถ้าใช้งานรถหนักหรือเดินทางไกลบ่อยๆ ก็ควรเปลี่ยนปีละครั้ง
การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ จะช่วยให้เปลี่ยนเกียร์ได้อย่างนุ่มนวล เต็มประสิทธิภาพ เหมาะสมกับการใช้งานทุกสภาวะการขับขี่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์แต่ละครั้ง จะใช้ปริมาณในการเปลี่ยนไม่เกิน 50% ของน้ำมันทั้งหมด เนื่องจากจะมีน้ำมันเก่าที่ยังคงค้างในระบบเกียร์อยู่เสมอ
จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำมันเกียร์เสื่อมสภาพ
สำหรับรถใหม่ป้ายแดงคงไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้มากนักเพราะทุกอย่างได้เปลี่ยนถ่ายและตรวจเช็คจากศูนย์บริการ ที่น่ากังวลก็จะเป็นรถที่มีอายุการใช้งานเยอะๆ หลักแสนกิโลฯ ขึ้นไป หรือคนที่ไม่ค่อยดูแลรถไม่ค่อยนำรถเช็คระยะตามกำหนดอันนี้ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ควรจะเปลี่ยนทุก ๆ 40,000 กม. หรือ 2 ปีถ้าระยะอะไรถึงก่อน ถ้าลืมหรือเผอเรอปล่อยให้ระยะไมล์เยอะมากกว่ากำหนดที่แนะนำไว้ บอกเลยว่าเสี่ยงที่เกียร์จะพังได้เพราะน้ำมันเกียร์เสื่อม
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าน้ำมันเกียร์เสื่อม?? เรามีวิธีสังเกตอาการมาฝาก
- เข้าเกียร์ในตำแหน่ง D หรือ R แล้วรถออกตัวยาก
- มีอาการกระตุกเมื่อเข้าเกียร์ D หรือ R
- จังหวะการเปลี่ยนเกียร์สะดุด บางครั้งก็มีอาการวืด
- เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ยากขึ้น
- มีกลิ่นไหม้
- มีเสียงดังในจังหวะขับขี่หรือเมื่อต้องเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th