เชื่อหรือไม่ ? 40 ปีผ่านมา น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วเพิ่งหมดไปจากโลก!
หลายคนที่เพิ่งจะมาขับรถหลังปี 1996 อาจจะไม่รู้จักกับน้ำมันเบนซินแบบปกติ ที่มีส่วนประกอบของสารตะกั่วรวมอยู่ด้วย เพราะว่าบ้านเรายกเลิกการใช้น้ำมันประเภทนี้ในปีนั้น หลังจากเริ่มรณรงค์การใช้น้ำมันเบนซินแบบปลอดสารตะกั่วหรือน้ำมันไร้สารตะกั่ว (Unlead Fuel) เพื่อเข้ามาทดแทนแบบมีสารตะกั่วมาตั้งแต่ปี 1991 ผ่านทางโฆษณาต่างๆ นานา เช่นเดียวกับการใช้แคมเปญที่ลดราคาให้ถูกกว่าน้ำมันเบนซินแบบมีสารตะกั่วประมาณ 80 สตางค์ (สมัยนั้นราคาน้ำมันต่อลิตรบ้านเราอยู่ที่ +/- 9-10 บาท)
เหตุผลที่เราต้องเลิกใช้น้ำมันเบนซินแบบมีสารตะกั่วก็เพราะเพราะตะกั่วเป็นสารเคมีประเภทโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การได้รับพิษจากตะกั่วในสิ่งแวดล้อมแม้เพียงระดับต่ำยังสร้างผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ระดับสติปัญญา และการพัฒนาสมองของเด็กด้วย
ตามสถิติในน้ำมันเบนซินที่ขายในเมืองไทยช่วงปี 1977 มีสารตะกั่วละลายอยู่ 0.7 กรัมต่อลิตร หลังจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์แล้วตะกั่วประมาณ 0.4 กรัมต่อลิตรจะถูกปล่อยออกมายังสิ่งแวดล้อมทางท่อไอเสียรถยนต์ ลองคิดดูว่าในปีนั้น ประเทศไทยใช้น้ำมันเบนซินประมาณ 1,600 ล้านลิตรต่อปี หรือ 60% ของจำนวนนี้ถูกใช้ในกรุงเทพฯ ดังนั้น จะมีสารตะกั่วประมาณ 38,400 กิโลกรัมต่อปี หรือประมาณ 105.2 กิโลกรัมต่อวัน หลุดออกมาสู่สิ่งแวดล้อม
ลองคิดดูว่าในอีก 2 ปีต่อมาคือ สำหรับสถิติปี 1979 มีการใช้น้ำมันเพิ่มเป็น 13,600 ล้านลิตรต่อปี อากาศจะสกปรกขนาดไหน? ที่สำคัญคือ ในรายงาน ‘Strong evidence for the continued contribution of lead deposited during the 20th century to the atmospheric environment in London of today‘ ของอังกฤษที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่า นับจากปี 1999 ที่พวกเขาเลิกใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วอย่างเป็นทางการในปี 1999 แต่ทว่าในอีก 20 ปีต่อมาอนุภาคของตะกั่วยังมีหลงเหลืออยู่ในอากาศของกรุงลอนดอนอยู่จนถึงตอนนี้ แสดงว่า อนุภาคของตะกั่วต้องใช้เวลานานอย่างมากในการสลายไปตามธรรมชาติ
ย้อนกลับมาในยุคนั้น ยุคที่สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องรอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การต่อสู้กับความเชื่อของคนใช้รถยนต์ในยุคนั้น ที่เชื่อว่าการใช้น้ำมันแบบไร้สารตะกั่วจะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็ว เช่นเดียวกับไม่มีกำลัง
เพราะอะไร ?
เพราะว่าผู้ผลิตน้ำมันได้เติมสารประกอบของตะกั่วที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า เตตร้าเอทิลเลต (Tetraethyl Lead) ลงไปในน้ำมันเบนซินเพื่อช่วยในเรื่องของการลดการสึกหรอ โดยเฉพาะบริเวณบ่าวาล์ว ช่วยเพิ่มออกเทน (ที่ทุกคนเชื่อว่าทำให้รถวิ่งได้ดี) และที่สำคัญคือ ช่วยลดปัญหาการชิงจุดระเบิดหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Knocking GM หรือ General Motor ได้เป็นผู้ที่พัฒนาน้ำมันเบนซินที่มีส่วนประกอบของสารตะกั่วขึ้นมาในปี 1921
อย่างไรก็ตาม ด้วยการใช้ข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมบวกกับความล้ำหน้าในด้านวัสดุศาสตร์ที่ทำให้ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ทั้งเสื้อสูบและวาล์วทนทานขึ้น และการพัฒนาของผู้ผลิตรถยนต์ รวมถึงการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในเรื่องของการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้เครื่องยนต์มีความทนทานขึ้น รวมถึงในบางรุ่นที่ทันสมัยยังมี Anti-Knocking Sensor ที่ช่วยปรับองศาของไฟที่ใช้ในการจุดระเบิด สิ่งเหล่านี้ทำให้ความจำเป็นของตะกั่วในน้ำมันเบนซินลดลงไปโดยปริยาย และถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามามีส่วนร่วม
แต่นั่นก็ยังต้องใช้เวลาและทรัพยากรขนาดไหนในการจัดการกับความเชื่อของคนที่ยึดถือมาร่วม 90 ปี และเป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้ยากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จริงอยู่ที่ยุคน้ำมันไร้สารตะกั่วในเมืองไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี 1996 แต่เชื่อหรือไม่ว่าทั่วโลกจากการสำรวจของ UNCEP หรือ United Nations Environmental Programme โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ที่ก่อตั้งในปี 1972 และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ได้ระบุว่าในปี 2002 ยังมีอีก 117 ประเทศทั่วโลกที่ยังใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ และประเทศที่กำลังพัฒนา
แต่แน่นอนว่าจำนวนเหล่านั้นเริ่มลดลงเรื่อยๆ และเชื่อหรือไม่ว่าจากเดิมที่เราเล็งเห็นอันตรายของตะกั่วในน้ำมันเบนซินในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 กว่าที่น้ำมันประเภทนี้จะสูญพันธุ์ไปจากโลกต้องใช้เวลาร่วม 40 ปี เพราะ UNCEP เพิ่งประกาศว่าประเทศสุดท้ายบนพื้นโลกที่เลิกใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วคือ อัลจีเรีย ที่อยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา และนั่นคือ คำประกาศที่ออกมาในปลายเดือนสิงหาคม 2021เอาละแม้จะช้าหน่อย แต่ก็ดีที่จัดการได้สำเร็จ และนี่คือข่าวดีในวาระของการฉลองครบรอบ 30 ปีที่เราเริ่มรณรงค์ให้เลิกใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วในประเทศไทย เพราะอากาศ หลายคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญ แต่นี่คือ สิ่งที่เราต้องแชร์ร่วมกับคนในสังคม ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่หมายถึงคนทั่วโลก และที่สำคัญ คือ นี่คือทรัพยากรที่เราหยิบยืมจากลูกหลานในอนาคตข้างหน้ามาใช้
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th