ปรับเบาะนั่งให้ดี เพื่อความปลอดภัย
การปรับเบาะนั่งของผู้ขับขี่ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่หลายคนมักจะไม่สนใจสักเท่าไร โดยการปรับเบาะนั่งให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในระหว่างการขับ นอกจากจะช่วยเพิ่มความสบายและคลายความเมื่อยล้าในระหว่างการขับรถแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องต่อความปลอดภัยอีกด้วย
แน่นอนว่าคนเรามีสรีระที่ไม่เหมือนและไม่เท่ากัน ดังนั้น การปรับเบาะนั่งให้สอดคล้องกับสรีระของตัวเองจึงเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่จะบิดกุญแจสตาร์ทรถ
ส่วนการปรับอย่างไรให้เหมะสมนั้นก็มีวิธีดังนี้
1.ควรให้ความสนใจกับการปรับระยะห่างของเบาะนั่ง มุมเอียงของพนักพิงหลัง และระดับสูง-ต่ำของหมอนรองศีรษะเป็นหลัก โดยระยะของเบาะนั่งและมุมเอียงของพนักพิงหลังหมายถึง ระยะห่างที่สัมพันธ์ระหว่างร่างกายต่อจุดต่างๆ ของตัวรถที่จะต้องสัมผัส เช่น แขนกับพวงมาลัย เท้ากับแป้นต่างๆ สายตากับกระจกมองหลังหรือกระจกมองข้าง
การปรับเบาะนั่งให้ได้ระยะที่เหมาะสม สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดาทดสอบได้โดยใช้ฝ่าเท้าซ้ายเหยียบแป้นคลัตช์ให้สุดแบบเต็มฝ่าเท้า นั่นแสดงว่าอยู่ในระยะที่เหมาะสม ไม่ใช่ห่างจนต้องใช้ปลายเท้าเหยียบคลัตช์ จากนั้นเลื่อนเบาะให้หัวเข่าซ้ายงอเล็กน้อย สำหรับรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ซึ่งไม่มีแป้นคลัตช์ ให้ใช้เท้าซ้ายเหยียบลงบนแป้นพักเท้าหรือพื้นรถยนต์ และใช้ฝ่าเท้าขวาเหยียบแป้นเบรก แล้วค่อยเลื่อนเบาะให้หัวเข่าขวางอเล็กน้อย
2.จากนั้นก็ปรับมุมเอียงของพนักพิงหลัง โดยใช้มือซ้าย-ขวาจับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 9 และ 3 นาฬิกา หรือ 10 และ 2 นาฬิกา และปรับตำแหน่งพนักพิงเอนไปด้านหลัง กระทั่งข้อศอกทั้ง 2 ข้างหย่อนเล็กน้อย ลองเลื่อนมือไปจับพวงมาลัยในตำแหน่ง 12 นาฬิกา แขนต้องเกือบเหยียดตึงโดยไม่ต้องยกตัวขึ้นมาจากพนักพิงหลัง เพื่อชะโงกหน้าไปมองฝากระโปรงหน้า
และเมื่อวางมือพาดลงไป วงพวงมาลัยต้องอยู่บริเวณข้อมือจึงจะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการขับมากที่สุด ส่วนหมอนรองศีรษะไม่ได้มีไว้ให้หนุนขณะขับ แต่ช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณต้นคอ หากการถูกชนท้าย
3.เมื่อปรับทุกอย่างลงตัวแล้วก็ค่อยปรับในส่วนของกระจกมองข้างและมองหลังให้อยู่ในตำแหน่งที่สายตาสามารถเหลือบไปมองเห็นได้อย่างชัดเจนโดยที่ไม่ต้องละสายตาไปจากถนนข้างหน้า หรือหมายความอีกนัยหนึ่งคือ สามารถใช้หางตามองได้โดยไม่ต้องหันศีรษะไปทั้งหมดเพื่อมองกระจกมองข้างหรือกระจกมองหลัง
การปรับเบาะนั่งให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมนั้นจะส่งผลดีใน 2 ส่วนด้วยกัน คือ ประสิทธิภาพในการควบคุมรถยนต์ เพราะเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแล้ว จะทำให้ผู้ขับสามารถบังคับทิศทางการหมุนของพวงมาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือกระแทกแป้นเบรกได้อย่างเต็มที่
ส่วนอีกข้อก็คือ ประสิทธิภาพในการทำงานของระบบความปลอดภัยเชิงปกป้อง เช่น ถุงลมนิรภัยด้านหน้า ซึ่งทำให้ร่างกายมีระยะห่างจากการพองตัวของถุงลมนิรภัยอย่างเหมาะสม ซึ่งถ้านั่งใกล้เกิดไป เมื่อเกิดการชนจะทำให้ถุงลมนิรภัยพุ่งมากระแทกหน้า แทนที่หน้าจะพุ่งไปยังถุงลมนุ่มๆ กลายเป็นว่าเหมือนกับโดนหมัดพุ่งมากระแทกอย่างจังๆ แทน
นอกจากนั้น การจัดนั่งอย่างเหมาะสมนั้นจะทำให้การยึดรั้งของเข็มขัดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อเกิดการชนทางด้านหน้า จะทำให้สรีระไม่เคลื่อนตัวอย่างปราศจากการควบคุม เช่น ไถลมุดลงไปใต้เข็มขัดนิรภัย หรือเอนไปกระแทกเข้ากับชิ้นส่วนแข็งในห้องโดยสาร เช่น โครงเสากลาง หรือ B-Pillar จนทำให้เกิดการบาดเจ็บ
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th