ปิดตำนานรถเมล์สาย8 ที่เคยแหกมาแล้วหลายถนน
ปิดตำนานรถเมล์สาย8 ที่เคยแหกมาแล้วหลายถนน วันนี้จะกลายเป็นเพียงตำนาน ที่อยู่คู่กับกรุงเทพมหานครมากว่า 90 ปี
ปิดตำนานรถเมล์สาย8 ที่เคยแหกมาแล้วหลายถนน วันนี้จะกลายเป็นเพียงตำนาน ที่อยู่คู่กับกรุงเทพมหานครมากว่า 90 ปี…เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่ารถเมล์สาย8 ที่เคยแหกมาแล้วหลายถนน วันนี้จะกลายเป็นเพียงตำนาน ที่อยู่คู่กับกรุงเทพมหานครมากว่า 90 ปี หลายครั้งเป็นข่าวดัง ได้ถูกปิดตำนานลงอย่างถาวร ด้วยวิกฤติการขาดทุน แม้ว่าสถานการณ์โควิด19 จะคลี่คลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะหันกลับมาใช้รถประจำทางสาธารณะเช่นเดิม วันนี้เราจึงขอพาทุกคนย้อนกลับไปดูประวัติรถเมล์สาย8 ที่กลายเป็นเพียงตำนานรถร่วมประจำทางที่ถือว่าวิ่งได้โหดที่สุดในกรุงเทพมหานครกัน
จุดเริ่มต้น
ใครจะรู้ว่ารถเมล์สาย8 เกิดขึ้นมาก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเพียง 2 เดือน กับ 10 วัน เพราะรถเมล์สาย8 ได้รับการอนุมัติให้เดินรถเป็นครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2475 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มเข้ามาบริหารรถเมล์เองเสียด้วยซ้ำ โดยบริษัทที่เข้ามาเป็นผู้ประกอบการรายแรกเลยคือ บริษัทนายเลิศ จำกัด และหลังจากนั้นก็ตกเป็นของบริษัทนายทุนที่ได้รับสัมปทานรถร่วมบริการทั้งสิ้น 3 ราย ประกอบด้วย
- บริษัททรัพย์ 888
- บริษัทไทยบัสขนส่ง
- บริษัทกลุ่ม 39
ด้วยเหตุที่มีผู้ประกอบด้วยกันถึง 3 รายนี่เอง ที่ทำให้ รถเมล์สาย8 แข่งขันทำรอบรับคนกันเอง จนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
ประวัติเส้นทางการเดินรถ
- เส้นทางแรก…ลานพระบรมรูปทรงม้า – สะพานพุทธ (พ.ศ.2475)
- เส้นทางสอง…ตลาดหมอชิต – สะพานพุทธ (พ.ศ.2498)
- เส้นทางสาม หรือเส้นทางสุดท้าย…แฮปปี้แลนด์ – สะพานพุทธ
ทำไมรถเมล์สาย8 จึงกลายเป็นเพียงตำนาน
จากประวัติ เมื่อ พ.ศ.2556 ที่กระทรวงคมนาคมได้มีการจัดอันดับสถติสายรถเมล์ที่ถูกร้องเรียนเข้ามาสูงสุดประเภทรถธรรมดา (รถเมล์ร้อน) ผลปรากฏว่ารถเมล์สาย8 ติด Top3 ที่ประชาชนผู้ใช้บริการ รวมไปถึงประชาชนบนท้องถนน ที่เป็นเสมือนผู้ร่วมทาง ร้องเรียนเข้ามาสูงสุดถึง 11 เดือน และเป็นการร้องเรียนต่อเดือนรวม 20 ครั้ง นั่นเท่ากับว่า ใน 11 เดือน ถูกร้องเรียนเป็นร้อยๆ ครั้งด้วยกัน
นั่นคือเหตุผลสำคัญที่หลายคนไม่แปลกใจว่า ทำไมรถเมล์สาย8 จึงกลายเป็นเพียงตำนาน เพราะรถเมล์สาย8 ไม่ผ่านคุณสมบัติ ในเส้นทางสัมปทานเดินรถ 77 เส้นทางของรถร่วมองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.
ซึ่งก็มีหลายครั้งด้วยกันที่ทาง ขสมก. ได้ออกมาตรการควบคุมความประพฤติ จนทำให้ช่วงหนึ่งในเวลา 90 ปีที่ผ่านมา รถเมล์สาย8 ได้ประพฤติปฏิบัติดีขึ้น แต่ก็เป็นเพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น ดูได้จากเป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาลดลง แต่เมื่อหมดช่วงเวลาคุมประพฤติตรงนั้นไป รถเมล์สาย8 ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง กลับมาซิ่งแหกถนนแทบทุกสาย ให้ผู้ใช้บริการได้หัวใจแทบวายเช่นเคย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะมีแต่ชื่อเสีย รถเมล์สาย8 สำหรับบางคน ก็เหมือนเพื่อนคู่คิด ที่ได้นำพาพวกเขาไปยังจุดหมายได้ทันเวลา บางคนใช้เวลานั่งบนรถเมล์สาย8 ไปกับการจับมือกับหวานใจในท้ายรถ หรือเฮฮากับกลุ่มเพื่อนระหว่างทาง รวมไปถึงการได้นั่งคิดอะไรเพลินๆ ตากลมที่ปะทะเข้ามากระทบใบหน้า และที่สำคัญเป็นรถเมล์ที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนขับ และกระเป๋ารถเมล์ ดังนั้นก็จะเห็นได้ว่ารถเมล์สาย8 เขาก็มีข้อดีอยู่บ้าง
วันนี้ 12 กรกฎาคม 2565 ในวันที่ต้องเตรียมหยุดการเดินรถ และจะถูกทยอยนำไปแยกชิ้นส่วนเป็นเศษเหล็ก เนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติ ทางบริษัทที่เคยได้สัมปทานไปก็ได้แจ้งพนักงานทุกคนแล้ว ซึ่งวันนี้ ก็มีทั้งพนักงานที่จะขออยู่สู้กับบริษัทต่อไปจนจนกว่าจะลดจำนวนลดเมล์ลงจนเหลือคันสุดท้าย กับพนักงานบางคนที่จำใจลาออก และคิดว่าจะหันกลับไปหาอาชีพใหม่ที่บ้านเกิด
ปิดตำนานรถเมล์สาย8
กว่า 90 ปี ที่รถเมล์สาย8 ได้วิ่งให้บริการผู้โดยสารในกรุงเทพมหานครอย่างหวาดเสียว จนถึงขั้นมีคนเอาไปทำเป็นเนื้อหาในภาพยนต์เพื่อเป็นสัญญะแห่งความหวาดเสียวนี้ ที่ไม่ว่าจะขับไปบนเส้นทางไหน ก็ดูเหมือนว่าพร้อมที่จะแหกไปทุกถนน จนคนจดจำ แต่วันนี้รถเมล์สาย8 กลายเป็นเพียงตำนานสำคัญแห่งวงการรถร่วมประจำทางที่เหลือไว้เพียงชื่อให้ประชาชนได้นึกถึงตลอดไป
FYI
และแม้ว่ารถเมล์สาย8 จะหยุดชะงักลงไป ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลต่อการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงหยุดยาวของเดือนนี้ เพราะทางขสมก. จัดแผนเดินรถรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงวันหยุดต่อเนื่องวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาประจำปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 13 – 18 กรกฎาคม 2565 เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการอย่างเพียงพอ พร้อมทำความสะอาดภายในรถโดยสาร และใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น พร้อมทั้งติดตั้งขวดเจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือบริเวณประตูทางขึ้น
อีกทั้งยังมีการติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชัน“ไทยชนะ”บริเวณหลังเบาะที่นั่ง และบริเวณผนังด้านข้าง ภายในรถโดยสาร สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกนผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทางกรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการรถโดยสารคันเดียว และเวลาเดียวกันกับผู้ใช้บริการ จะมีการแจ้งเตือน ผ่านระบบ SMS ว่าผู้ใช้บริการมีความเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์
ติดตั้งป้ายข้อความ “เหลือรถอีก 2 คันสุดท้าย” “เหลือรถอีก 1 คันสุดท้าย” “รถคันสุดท้าย” บริเวณกระจกด้านหน้ารถโดยสารที่วิ่งให้บริการ 3 คันสุดท้ายในแต่ละวัน
ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าผู้ใช้บริการจะได้รับการบริการจากรถประจำทางที่เพียงพอ ปลอดภัย เช่นเคย แม้ว่าจะไม่มีรถเมล์สาย8 มาให้บริการแล้วก็ตาม
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ข้อมูลบางส่วนจาก ขสมก.
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ได้ที่ www.grandprix.co.th