ป้ายจราจรในไทยมีกี่แบบ
สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ขับรถคือ ป้ายจราจร เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ขับรถรู้ถึงสิ่งที่ควรทำในขณะเดินทางบนถนนหรือแม้แต่เมื่อจะจอดรถ แต่เคยสงสัยไหมว่าป้ายจราจรที่ใช้ทั้งหมดในประเทศไทยมีกี่แบบ และใช้เพื่อบอกอะไรบ้าง ซึ่งในเรื่องนี้เชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่เคยเห็นป้ายจราจรครบไม่ครบทุกแบบที่มีใช้กันอยู่ในบ้านเรา โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในตัวเมืองที่เดินทางเพียงจากบ้านไปที่ทำงานวันธรรมดา และออกจากบ้านไปแค่ห้างสรรพสินค้าในวันหยุด โดยแทบไม่ค่อยมีการเปลี่ยนเส้นทางหรือเดินทางไปสถานที่อื่นนอกเหนือจากนี้มากนัก
จริงๆ แล้วแม้จะมีการใช้ ป้ายจราจร จำนวนมากหรือหลากหลากรูปแบบในประเทศไทย แต่จริงๆ แล้วจะแบ่งหน้าที่ของป้ายหรือสิ่งที่ต้องการบอกแก่ผู้ขับรถหลักๆ 3 ประเภท โดยบางป้ายจราจรไม่ได้ควบคุมแค่พาหนะเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนที่ใช้ทางด้วย
ป้ายบังคับ
จุดประสงค์ของการใช้ป้ายในลักษณะนี้ตามชื่อคือบังคับให้ผู้ใช้ถนนปฏิบัติตามเครื่องหมายที่อยู่ในป้าย ไม่ว่าจะเป็น ต้องกระทำ งดเว้นการกระทำ หรือจำกัดการกระทำในบางลักษณะ โดยป้ายบังคับมีไว้เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ถนนทำตามเครื่องหมายอย่างเค่งครัด ถ้าฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฏหมาย ซึ่งสามารถแบ่งป้ายบังคับยังเป็นลักษณะย่อย 4 แบบคือ
1 ป้ายบังคับประเภทกำหนดสิทธิ์ เช่นป้ายหยุด, ให้ทาง, ให้รถสวนทางมาก่อน
2 ป้ายบังคับประเภทห้ามหรือจำกัดสิทธิ์ (Prohibitory / Restrictive Signs) เช่นป้ายห้ามแซง, ห้ามเข้า, ห้ามกลับรถไปทางขวา, ห้ามเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวา, ห้ามรถจัรกยานยนต์และรถยนต์, ห้ามคนเดินเข้า, จำกัดน้ำหนัก 10 ตัน, จำกัดความสูง 2.5 เมตร
3 ป้ายบังคับประเภทคำสั่ง เช่นป้ายให้เดินรถทางเดียว, ให้เลี้ยวซ้าย, ความเร็วขั้นต่ำ 30 กม./ชม.
4 ป้ายอื่นๆ อย่างป้ายสุดเขตบังคับซึ่งใช้เมื่อสิ้นสุดเขตบังคับของป้ายก่อนหน้าอย่างห้ามแซงเพื่อแสดงว่าสิ้นสุดเขตห้ามแซง
โดยทั่วไปป้ายบังคับจะมีลักษณะเป็นแผ่นวงกลม มีเครื่องหมาย สัญลักษณ์ ตัวเลข ตัวอักษรบนพื้นสีขาว โดยที่มีเส้นขอบป้ายและเส้นขีดสีแดง ยกเว้นบางป้ายเช่น ป้ายหยุดที่เป็นรูป 8 เหลี่ยมตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีแดงและมีเส้นขอบป้ายสีขาว, ป้ายให้ทางที่เป็น 3 เหลี่ยมชี้ลง พื้นป้ายสีขาวในขอบแดงและตัวหนังสือสีดำ, ป้ายบังคับประเภทคำสั่งซึ่งเป็นป้ายกลมพื้นที่น้ำเงิน มีเส้นขอบ เครื่องหมาย และตัวเลขสีขาว หรือป้ายบังคับข้อความที่ป้ายเป็น 4 เหลี่ยมพื้นป้ายสีขาว เส้นขอบสีแดง ส่วนตัวเลข ตัวอักษร และสัญลักษณ์สีดำหรือแดง
ป้ายเตือน
เป็นป้ายที่มีความหมายเพื่อเตือนผู้ใช้ทางให้รู้ถึงสภาพทางหรือข้อมูลที่เกิดขึ้นในทางข้างหน้าซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุได้ โดยสิ่งที่เตือนนั้นอาจเป็นสภาพทางที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีการบังคับใช้อุปกรณ์ควบคุมการจราจรบางประเภทเพื่อให้มีความระมัดระวังหรือลดความเร็ว ซึ่งลักษณะของพื้นที่ที่จะมีป้ายเตือนล่วงหน้ามี 11 ลักษณะคือ
1 ทางโค้ง
2 ทางแยก
3 บริเวณที่มีสัญญาณไฟจราจรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมการจราจร
4 บริเวณที่ช่องจราจรลดลง
5 บริเวณที่ผิวจราจรแคบลง
6 ทางลาดชัน
7 สภาพผิวทางไม่ปกติ
8 โรงเรียนและทางข้ามต่างๆ
9 ทางรถไฟตัดผ่าน
10 สิ่งกีดขวาง
11 สิ่งอื่นๆ เช่นป้ายเตือนทางขนานเช่นออกจากทางขนาน, ป้ายจุดกลับรถ, ป้ายระวังสัตว์, ป้ายแสดงแนวทาง รวมทั้งป้ายเตือนเสริม
โดยทั่วไปป้ายเตือนจะเป็น 4 เหลี่ยมจตุรัสตั้งมุมขึ้น มีพื้นป้ายสีเหลือง เส้นขอบป้าย เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ตัวเลข ตัวหนังสือสีดำ แต่หากเป็นป้ายเตือนเสริมจะเป็นป้าย 4 เหลี่ยมผืนผ้าสีเหลืองมีขอบดำ และมีตัหนังสือสีดำเพื่ออธิบายของป้ายเตือนหรือขยายความหมายขอบเขตความยาวของสภาพทางข้างหน้า โดยป้ายเตือนเสริมจะติดคู่กับป้านเตือนปกติ และมีขนาดเล็กกว่า
ป้ายแนะนำ
มีไว้เพื่อแนะนำให้ผู้ขับขี่ทราบทิศทางและระยะทางไปสู่จุดหมายได้ถูกต้อง รวมทั้งให้ข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆ ต่อการเดินทางเช่นบอกสถานที่ บอกตำแหน่งคนเดินข้ามทาง โดยป้ายแนะนำจะมี 3 รูปแบบคือ
-แบบที่ 1 พื้นป้ายสีขาว เส้นขอบป้าย เครื่องหมาย ตัวเลข ตัวอักษร และสัญลักษณ์เป็นสีดำหรือสีอื่นที่กำหนดเฉพาะป้าย ลักษณะของป้ายจะเป็น 4 เหลี่ยมจตุรัสหรือ 4 เหลี่ยมผืนผ้า โดยทั่วไปใช้เพื่อบอกหมายเลขทางหลวงแผ่นดิน ป้ายบอกระยะทาง ป้ายบอกจุดหมายปลายทาง
-แบบที่ 2 ป้ายสีน้ำเงิน เส้นขอบ เครื่องหมาย ตัวเลข ตัวอักษร และสัญลักษณ์สีขาวหรือสีอื่นที่กำหนดเฉพาะป้าย ลักษระของป้ายเป็น 4 เหลี่ยมจตุรัสหรือ 4 เหลี่ยมผืนผ้า โดยทั่วไปใช้แสดงข้อมูล ข่าวสาร และการบริการ เช่นป้ายแสดงตำแหน่งทางข้าม โรงพยาบาล ที่พักริมทางหลวง และป้ายหมายเลขทางหลวงเอเชีย/อาเซียน
-แบบที่ 3 ป้ายสีน้ำเงิน 4 เหลี่ยมผืนผ้ามีด้านยาวเป็นแนวตั้ง มีภาพสัญลักษณ์สีน้ำเงินใน 4 เหลี่ยมจตุรัสสีขาว โดยเส้นขอบป้าย เครื่องหมาย ตัวเลข และตัวอักษรเป็นสีขาว ใช้เพื่อแสดงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ กิจกรรมและแหล่งชุมชน
-แบบที่ 4 ป้ายสีขาว 4 เหลี่ยมผืนผ้ามีด้านยาวเป็นแนวตั้ง มีภาพสัญลักษณ์สีขาวในกรอบ 4 เหลี่ยมสีน้ำตาล ส่วนเส้นขอบป้าย เครื่องหมาย ตัวเลข และตัวอักษรมีสีน้ำตาล เป็นป้ายแสดงสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศาสนา
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th