มร.ชิโร่ นากามูระ ผู้นำทีมออกแบบนิสสัน ประเทศญี่ปุ่น
มร. ชิโร่ นากามูระ ไม่ใช่แค่เป็น Icon ของ Nissan เท่านั้น แต่เป็น Icon เรื่องดีไซน์ automotive ระดับโลก ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 4 ทศวรรษในเรื่องดีไซน์ ทำงานกับ Nissan มากกว่า 17 ปี
มร.ชิโร่ ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพแห่งการดีไซน์รถยนต์ มีส่วนร่วมในการออกแบบรถยนต์หลากหลายรุ่นของนิสสันไม่ว่าจะเป็น GT-R, Fair Lady, Juke, Cube, Qashqai และได้รับสมญานามว่าเป็นนิ้วเทพหรือ The Finger เพราะงานอดิเรกของท่านคือท่านเล่นกีต้าร์เบสและเชลโล่ ได้รับเชิญให้ร่วมเล่นกับวงแจ็ซมีชื่อเสียงอีกมากมายในโตเกียว
ที่ผ่านมา มร.ชิโร่ ได้มาเมืองไทยบ่อยครั้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เพราะเคยร่วมงานกับ Isuzu ที่จำหน่ายเฉพาะรถปิกอัพมาก่อน หลังจากที่เริ่มร่วมงานกับ Nissan ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่มาเมืองไทย และครั้งนี้ต้องการจะมาเมืองไทยมากเพราะนานแล้วไม่ได้มาจะได้อัพเดทตลาดเมืองไทยว่าเปลี่ยนแปลงอัพเดทไปอย่างไรบ้างทั้งบ้านเมืองและรสนิยมของผู้คน นอกจากนี้ยังมาติดตามเรื่องงานพบปะประชุมกับยูคาว่าซังหัวหน้าฝ่ายดีไซน์ในเมืองไทยว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนบ้างหลังจากที่ตั้งศูนย์ดีไซน์ในเมืองไทยมาสองปีซึ่งเป็นออฟฟิศที่ดูแลดีไซน์ตลาดกลุ่มอาเซียน
มร.ชิโร่ ทำงานกับนิสสันมากว่า 17 ปี มีพนักงานภายใต้ความดูแลกว่า 800 คน หน้าที่ในเฟสแรกคือการจัดตั้งเครือข่ายการดีไซน์ออกไปซึ่งพนักงาน 600 จาก 800 คนอยู่ในญี่ปุ่นมีหน้าที่วางแบบแผนเรื่องการออกแบบรถ และขยาย Design Studio ออกไปยังแคลิฟฟอร์เนีย ลอนดอน และปักกิ่งในจีน ไปอีกประมาณ 5-6 แห่งเพราะเป็นตลาดใหญ่ ดังนั้น นี่เป็นการวางพื้นฐานงานดีไซน์ในกลุ่มตลาดหลักของโลกก่อน เฟสที่สองท่านจะดูในตลาดเกิดใหม่ emerging market ซึ่งเป็นตลาดใหญ่เช่นในละตินอเมริกา อาเซียน อินเดีย ฯลฯ และรู้ว่าตลาดในอาเซียนยังไม่แข็งแรงพอแต่จะไม่ยอมหยุดอยู่กับที่
สำหรับตลาดในเมืองไทยจริงๆ แล้วไม่ใช่ emerging market เพราะเราทำตลาดมาแล้วกว่า 20 ปี เติบโตมาได้ระดับหนึ่งและยอดขายไม่ใช่น้อยๆ รวมทั้งโลกตอนนี้เปลี่ยนแปลงและหมุนไปเร็วมาก เพราะฉะนั้นจึงอยากได้ข้อมูลที่มีประโยชน์มากกว่านี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของคนภายในประเทศและการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคภายในประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพื่อนำมาเป็นข้อมูล Design Input สำหรับตลาดแต่ละประเทศ
Q: จากการตั้ง Design Center ในไทยมา 2 ปี จนถึงขณะนี้มีหน้าที่อะไรและมีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมบ้าง
A: จริงๆ แล้วต้องเรียกว่าเป็น Design Studio ไม่ใช่ Design Center เพราะอย่างที่ทราบเราเพิ่งตั้งมาได้ 2 ปี และกำลังดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับงานออกแบบ นั่นหมายความว่ามาเก็บข้อมูลในตลาดซึ่งได้ส่งคนของทีมคือ ยูคาว่าซัง ผู้จัดการฝ่ายดีไซน์ภูมิภาคอาเซียนให้มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนั้นๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคในแต่ละประเทศรู้สึกอย่างไร มีรสนิยมอย่างไร มีความต้องการแบบไหน เพื่อที่จะได้ Input หรือข้อมูลที่ถูกต้อง และจะไม่สามารถออกแบบรถยนต์ที่ใช่หรือเข้าถึงแต่ละตลาดได้ถ้าไม่ได้เข้ามาใช้ชีวิตในประเทศนั้นๆ และเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจะทำรายงานเพื่อส่งเรื่องไปยังศูนย์ใหญ่ที่ญี่ปุ่นเพื่อให้ประมวลผลการออกแบบรถที่ป้อนแต่ละตลาดว่าควรจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งนี้คือขั้นตอนแรกที่ทำสำเร็จแล้ว แต่ขั้นตอนต่อไปคืออาจจะทำเป็น Proposal นำเสนอว่าตลาดรถยนต์เมืองไทยอยากได้รถแบบนี้ หรือตลาดรถอินเดียอยากได้รถแบบนี้ แต่ตอนนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ในอนาคตอาจจะไปถึงจุดที่สามารถเปลี่ยน Input เหล่านั้นให้กลายเป็นรถยนต์จริง ซึ่งสามารถผลิตขึ้นในประเทศได้เลย ทั้งนี้ทั้งหมดมีกระบวนของมันและต้องรอเวลาที่กระบวนการเหล่านี้จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องและดีขึ้น
Q: 20 ปีของชิโร่ซังจากที่ทำงานในไทยทั้ง Isuzu และ Nissan กับ 2 ปีของยูคาว่าซังที่เพิ่งมาทำงานในไทยได้ 2 ปี ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเมืองไทย และในสายตาของแต่ละท่านคนไทยมีรสนิยมอย่างไรบ้าง
ตอนที่ผมมาเมืองไทย 20 ปีก่อน เมืองไทยยังมีแต่รถปิกอัพเป็นส่วนมาก แน่นอนว่าตอนนั้นมีรถยนต์ส่วนบุคคลด้วยแต่ยังน้อยอยู่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์มากเพราะมีเพียงสองประเทศในโลกเท่านั้นที่นิยมใช้รถปิกอัพมากที่สุด คือ อเมริกาและไทย ประเทศอื่นๆ ในโลก เช่นที่ญี่ปุ่นจะมองปิกอัพว่าเป็นรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่เมืองไทยใช้ปิกอัพเป็นทั้งรถเชิงพาณิชย์และใช้งานส่วนบุคคล เรียกว่าเป็นรถที่ Super Flexible ตอบโจทย์ทุกการใช้งานเป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้ก็เห็นว่าเมืองไทยยังใช้ปิกอัพเยอะอยู่แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นว่ามีรถ Passenger Car เยอะขึ้นรวมถึง SUV และ Crossover ด้วยเห็นได้ว่าตลาดรถยนต์เมืองไทยมีความหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันปิกอัพก็มีความน่าสนใจมากขึ้น ผู้บริโภคชอบปิกอัพเพราะรูปทรงรถดูสวย มีเสน่ห์ และบางครั้งให้อารมณ์เหมือนรถสปอร์ตด้วยซ้ำ ด้วยความที่ห้องโดยสารเล็กๆ แต่ตัวรถยาว ในอเมริกาคนที่นั่นก็ชอบปิกอัพเช่นกัน คุณจะเห็นเลยว่าวัยรุ่นที่นั่นชอบใช้ปิกอัพเป็นยานพาหนะส่วนตัวทั้งๆ ที่พวกเค้าไม่ได้บรรทุกของอะไรเลยในกระบะท้าย สำหรับผมรถปิกอัพมีความพิเศษในด้านรูปลักษณ์ มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ และมีตัวเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ Single Cab, King’s Cab รวมถึง Double Cab 4 ประตูในปัจจุบันซึ่งตอนที่ผมมาเมืองไทยสมัยก่อนไม่มีรถรุ่นนี้เลย แต่ตอนนี้มี Double Cab เยอะกว่าเดิมและได้รับความนิยมสูงมาก เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าปิกอัพเป็นรากฐานของตลาดรถยนต์ในเมืองไทย Root of Thai Market เลยทีเดียว
ส่วนตัวแล้วต้องขอโทษด้วยที่ต้องพูดแบบนี้ เพราะผมเข้าใจว่าอาเซียนเป็น One Circle ที่อะไรๆ ก็เหมือนกันนไปหมด แต่พอมาถึงมันไม่ใช่แบบนั้นเพราะแต่ละประเทศในอาเซียนมีเอกลักษณ์ในตัวเอง มีความแตกต่างอย่างชัดเจน เช่น วัดในแต่ละประเทศมีการออกแบบที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ทราบว่าผู้คนในแต่ละประเทศนั้นมีความคิดแตกต่างกัน อีกสิ่งที่ผมสังเกตได้จากทำเลที่ตั้งของประเทศในอาเซียนที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีอิทธิพลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะสีเพราะประเทศแถบนี้มีแดดแรง ผู้คนจึงชอบความมีสีสันสดใส (Vivid Color) มีชีวิตชีวา ซึ่งต่างจากในยุโรปที่จะไม่เห็นอะไรแบบนี้เลย และทุกครั้งที่ผมเดินทางจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทุกวัน ทั้งในเรื่องทัศนคติและวิธีคิดของคนแต่ละประเทศซึ่งผลักดันให้รู้สึกท้าทายในการออกแบบดีไซน์รถให้เหมาะกับผู้บริโภคในแต่ละประเทศของภูมิภาคนี้
Q: PPV ของนิสสันมีความคืบหน้าไปถึงไหนและมีความท้าทายอย่างไรสำหรับชิโร่ซัง
A: เรามีแผนที่จะผลิตรถในกลุ่ม PPV และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เพียงในตลาดนี้ แต่มีศักยภาพที่จะทำตลาดได้ทั่วโลก แต่ยังไม่สามารถจะบอกได้ว่าตัวรถจะออกมาเมื่อไร อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกคือ ถึงแม้ว่าคู่แข่ง PPV ในตลาดจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็ตาม แต่นิสสันไม่ได้มีอะไรที่ช้าหรือล้าหลังไปกว่าเค้าเลย หลังบ้านเองยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าคู่แข่งเพียงแต่ว่าไม่ได้นำออกมาทำตลาดอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น ทีมงานออกแบบของนิสสันมียูคาว่าซังทำหน้าที่เป็นตา (Eyes) ให้กับเราที่ Nissan Design Asean Office คอยป้อนข้อมูลที่ถูกต้อง หากไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องก็จะไม่สามารถออกแบบรถยนต์คันที่ใช่ออกไปได้อย่างถูกต้องเช่นกัน (Right Input → Right Output) อย่างตอนนี้ Nissan ไม่ได้อยู่ในจุดที่ Nissan อยากจะเป็นแต่ในอนาคต Nissan จะต้องไปอยู่ในจุดที่ผู้บริหารกำหนดเป้าหมายมาให้ได้ ดังนั้น จึงอยากจะเข้าให้ถึงคนรุ่นใหม่ๆ หรือ Young Generation ให้ได้มากกว่านี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับออกแบบรถในอนาคต
Q: ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าตลาดรถ Passenger Car ของ Nissan ยังสู่ค่ายอื่นๆ ไม่ได้ ยกตัวอย่างจากในปี 1996 ที่ Nissan ประสบความสำเร็จจาก Sunny แต่สุดท้ายก็โดน Corolla มาตีตลาดและไม่เคยแซงได้อีกเลย ทีนี้ตลาดรถยนต์ของ Nissan ในช่วงที่ผ่านมายังสู้เค้าไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นปัญหาในเรื่องการออกแบบที่อาจโดนรสนิยมในบางตลาดแต่ในบางตลาดไม่โดนเลยอย่างเคสของ Nissan Tiana Ultima รุ่นปัจจุบัน L33 ซึ่งตลาดในอเมริกาตอบรับดีแต่กลับไม่เกิดในตลาดเมืองไทย ซึ่งน่านอนว่าดีไซน์มีอิทธิพลต่อยอดขาย มร. ชิโร่มองว่าการทำรถแบบโกลบอลมาหนึ่งรุ่นเพื่อรองรับตลาดทั่วโลกได้ ตรงนี้มีความยากง่ายอย่างไรที่จะออกแบบรถขึ้นมาให้สามารถตอบโจทย์ตลาดที่มีความต้องการสูงอย่าง USA กับตลาดบ้านเราได้ ในมุมมองของมร. ชิโร่ มองอย่างไรบ้าง
A: ขอบคุณครับ เป็นคำถามที่ดีคำถามหนึ่ง จริงๆ แล้วคุณทราบมั้ยครับว่าผลิตภัณฑ์ของเราตอนนี้ค่อยๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดทั่วโลกได้ จากเดิมที่จะมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เฉพาะภูมิภาคตัวเอง เช่น รถสำหรับตลาดเอเชีย รถสำหรับตลาดยุโรป รถสำหรับตลาดอเมริกา หรือแม้แต่รถสำหรับตลาดจีน ตอนนี้โลกค่อยๆ เล็กลงไปเรื่อยๆ และอีกเหตุผลหนึ่งคือปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์ ต้องยอมรับว่าตอนนี้การพัฒนารถขึ้นมาหนึ่งรุ่นมีต้นทุนที่สูงกว่าแต่ก่อนมาก เนื่องจากกฎข้อบังคับด้านความปลอดภัย การปล่อยมลภาวะ
ดังนั้น การออกแบบรถคันหนึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสไตล์หรือรูปลักษณ์เท่านั้น แต่เป็นอะไรที่ยากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่สามารถที่จะยอมลดในเรื่องดีไซน์เพื่อตอบโจทย์ตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นการเฉพาะได้ แต่ต้องดูในภาพรวมทั้งหมด แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงนิสสัน แต่ค่ายรถยนต์ทุกค่ายกำลังทำในสิ่งเดียวกันคือรถหนึ่งรุ่นที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการตลาดและผู้บริโภคได้ทั่วโลก สำหรับดีไซเนอร์งานนี้แน่นอนว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด และนี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมี Design Studio ตั้งอยู่ในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก ผมขอยกตัวอย่างตอนทำงานอยู่ญี่ปุ่นออกแบบรถให้คนญี่ปุ่นใช้เป็นอะไรที่ง่าย เพราะยอดขาย 80% ขายให้คนญี่ปุ่น คุณไม่จำเป็นต้องนึกถึง 20% ที่เหลือและผมเองเป็นคนญี่ปุ่นผมจึงเข้าใจทันทีว่าคนญี่ปุ่นต้องการอะไร ผมแค่ออกแบบรถอย่างที่ผมชอบ แค่นี้ก็ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคญี่ปุ่นได้โดยอัตโนมัติแล้ว แต่สถานการณ์กลับกันเมื่อยอดขายนิสสันในญี่ปุ่นลดลงเหลือไม่ถึง 15% ของยอดขายทั่วโลก 85% เป็นยอดขายของตลาดโลก
นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมจึงบอกลูกทีมที่ญี่ปุ่นเวลาออกแบบรถขึ้นมาคันนึง อย่ามองที่ตลาดญี่ปุ่นอย่างเดียว เพราะต้องออกแบบรถที่เหมาะกับตลาดโลก เราจึงต้องผลักดันดีไซเนอร์ของเราให้ออกไปดู ไปรู้สึก ไปใช้ชีวิตแต่ละที่เพื่อเรียนรู้ซึมซับตลาด ไม่ใช่แค่นั่งอ่านนั่งดูนิตยสารก็ทึกทักว่าคนที่นั่นชอบแบบนั้นแบบนี้ ด้วยวิธีนี้ถึงจะสามารถสร้างรถที่ใช้ได้ และอีกเหตุผลหนึ่งคืออินเทอร์เน็ต ข้อมูลข่าวสารทั่วโลกตอนนี้เผยแพร่ตามอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็วและแทบจะทันทีถึงผู้อ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อ่านเจนเนอเรชั่นใหม่ เราสามารถเห็นรสนิยมที่แตกต่างของผู้คนในแต่ละประเทศได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่สังเกตข้อนึงว่าช่องว่างของความแตกต่างนี้ค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ทั่วโลกตอนนี้มีรสนิยมที่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งต่างจาก 20-40 ปีที่แล้วรสนิยมของผู้บริโภคแต่ละที่มีความแตกต่างกันมาก แต่ทุกวันนี้ความแตกต่างน้อยลงเยอะโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กรุ่นใหม่ ตอนนี้ถ้าต้องออกแบบรถซีดานรุ่นนึงให้คนรุ่นเก่าใช้ แน่นอนว่ามันเป็นงานยากเหมือนเดิมเพราะคนรุ่นเก่ายังคงมีรสนิยมที่แตกต่างกันมากเช่นเดิม แต่ถ้าออกแบบรถ SUV หรือ Crossover ตอนนี้จะเห็นได้ว่าแทบไม่ค่อยมีความแตกต่างที่ชัดเจนเพราะรถเหล่านี้กำเนิดมาในยุคของคนรุ่นใหม่จะต่างก็เพียงเรื่องข้อบังคับมลภาวะและมาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ
ดังนั้น รถรุ่นใหม่ๆ จะมีความเป็น Global มากขึ้น ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยอาจจะได้เห็น Product เหล่านั้นที่มีความเป็น Global มากขึ้นก็ได้ซึ่งจะตรงกับนโยบายการทำงานที่ว่า One Product For All Countries หรือรถหนึ่งรุ่นที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ทุกตลาดทั่วโลก และผมเชื่อมั่นว่าถ้า Product มีความแข็งแกร่งในตัวเองครบทุกด้านแล้ว ตัว Product หรือรถนี่แหละจะเป็นตัวดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาหาเราเอง
Q: ส่วนงานขายและการตลาดมีอิทธิพลต่อส่วนงานดีไซน์รถหรือไม่
A: ในบริษัทเราจะทำงานกันเป็นทีมอยู่แล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Planning, Design และ Engineering ซึ่งเป็นฝ่ายงานที่อยู่ส่วนต้นน้ำ แต่อย่างที่บอกครับ เราทำงานกับฝ่ายขายและการตลาดเป็นทีมเดียวกันด้วย และถ้าไม่เข้าใจความต้องการตลาดหรือแนวคิดต่างๆ ก็ไม่สามารถสร้างรถที่ใช่ขึ้นมาได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราไม่ได้ฟังลูกค้าเสมอไป การฟังความคิดเห็นของลูกค้าผ่านฝ่ายขายและการตลาดซึ่งขายรถโมเดลปัจจุบันเป็นสิ่งที่ดีเพื่อนำมาปรับปรุงเป็นรถไมเนอร์เชนจ์ต่อไป แต่การฟังเสียงความคิดเห็นของลูกค้าต่อรถที่ขายในวันนี้เพื่อนำไปพัฒนารถในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้าเป็นอะไรที่อันตรายมากครับ เพราะลูกค้าไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 3-4 ปีข้างหน้า
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมองไปที่ลูกค้า มองไปที่สังคม และประเมินว่าเทรนด์ไหนกำลังมา สังคมกำลังมุ่งหน้าไปทิศทางไหน และจึงนำมาต่อยอดเป็น concept หรือแนวคิดในการออกแบบรถสำหรับอนาคต รถในวันนี้ไม่ใช่รถใหม่ในวันพรุ่งนี้หรือ 3-4 ปีข้างหน้า สรุปง่ายๆ ว่าเป็นอิทธิพลต่อการขายในปีหรือ 2 ปีข้างหน้า กับอิทธิพลต่อการขายในอีกหลายปีข้างหน้า เราฟังลูกค้าสำหรับรถที่ขายในวันนี้ แต่เราประเมินความต้องการของลูกค้าเพื่อปรับปรุงและสร้างรถสำหรับอนาคต
Q: การเป็นพันธมิตรของ Nissan กับ Mitsubishi มีอิทธิพลต่องานดีไซน์หรือการสร้างรถของ Nissan บ้างหรือไม่
A: การลงนามข้อตกลงอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าครับ ในเรื่องนี้ผมมองว่า Nissan เป็นแบรนด์ที่แข็งแรงมากและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองทั้งในด้านภาพลักษณ์และเทคโนโลยีก็ตาม ผมอยากจะอธิบายว่าการเป็นพันธมิตรนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นบริษัทเดียวกัน แต่ละบริษัทยังคงแยกกันอยู่ซึ่งการเป็นพันธมิตรจะเข้ามาช่วยเติมเต็มหรือชดเชยให้กันและกันเพื่อให้แต่ละบริษัทสมบูรณ์พร้อมมากขึ้น ด้านงานดีไซน์ออกแบบก็เช่นกัน ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากที่ Nissan เป็นพันธมิตรกับ Renault ถึง 17 ปีก็ไม่ได้มีอะไรที่แทรกแทรงการบริหารงานซึ่งกันและกันแต่ก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี
ดังนั้น การจับมือกับ Mitsubishi จะมีผลในเชิงบวกเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าการแบ่งปันหรือแชร์เทคโนโลยี แพลตฟอร์ม และข้อมูลไอทีซึ่งกันและกันนั้นเป็นงานเบื้องหลังซึ่งลูกค้าจะไม่ได้เห็นตรงนี้อยู่แล้ว แต่ละแบรนด์ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ได้อย่างแข็งแรงเหมือนเดิมไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน
สุดท้ายนี้ มร.ชิโร่ ยังได้กล่วทิ้งท้ายว่า “การขับรถไม่ใช่เป็นแค่การเดินทาง มันคือประสบการณ์ ลูกค้าต้องการทางเลือกที่มากขึ้น และความต้องการพวกนี้ไม่มีวันหมดลงอย่างแน่นอน’
เรื่อง: ธนกร พรเลิศรังสรรค์
เรียบเรียง: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th