พ.ร.บ. ตัวช่วยสำคัญของผู้ใช้รถ
อย่างที่รู้กันอยู่ว่ารถทุกคันบนท้องถนนไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ ต้องทำ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือถ้าเรียกอีกความหมายก็คือ “ประกันภัยภาคบังคับ” ประกันภัยที่กำหนดโดยภาครัฐว่าผู้ใช้รถทุกคนท้องถนนต้องได้รับการช่วยเหลือคุ้มครอง ไม่ว่าจะเกิดเหตุหนักถึงชีวิตหรือเบาเพียงแค่บาดแผลเล็กน้อย ได้เกริ่นมาพอสมควรแล้วเรามาดูกันว่า พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถช่วยเหลืออะไรกันบ้างดีกว่า
พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ความคุ้มครองผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากรถ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร บุคคลภายนอก หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย (แต่ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่เสียหาย)
จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น (จ่ายโดยไม่รอผลพิสูจน์ความรับผิด) เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถ และ รถคันที่เกิดอุบัติเหตุมีประกันภัย พ.ร.บ. บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น ภายใน 7 วัน ดังนี้
กรณีบาดเจ็บ จ่ายค่ารักษาพยาบาล สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท/คน
กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร/สูญเสียอวัยวะ จ่าย 35,000 บาท/คน
(หากเกิดความเสียหายทั้ง 2 กรณีรวมกันแล้วไม่เกิน 65,000 บาท)
หมายเหตุ : การจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น สำหรับค่ารักษาพยาบาล ให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เรื่องมาตรฐานกลางของรายการและจำนวนเงิน ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายให้กับผู้ประสบภัยจากรถ
จ่ายค่าสินไหมทดแทน (จ่าย เมื่อพิสูจน์ความรับผิดแล้ว) รวมค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้
กรณีบาดเจ็บ จ่ายค่ารักษาพยาบาล สูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท/คน
กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร จ่าย 300,000 บาท/คน
กรณีสูญเสียอวัยวะ (เป็นไปตามเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนด) จ่าย 200,000 – 300,000 บาท/คน
กรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) จ่ายค่าชดเชย 200 บาท / วัน สูงสุดไม่เกิน 20 วัน
หมายเหตุ : (ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด จะได้รับความคุ้มครอง เฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น)
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th