พักชำระค่างวดรถ อาจมีราคาที่ต้องจ่ายตามหลัง
ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดสถาบันการเงินต่างๆ ล้วนแต่มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อของตนเองออกมา รวมทั้งในส่วนของสินเชื่อรถยนต์ด้วยเพื่อช่วยลดภาระของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเงินที่เกิดขึ้นไม่ว่าจากการที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราว ถูกลดเงินเดือน ถูกพักงานโดยไม่จ่ายเงินเดือน หรือถูกให้ออกจากงาน ด้วยการ พักชำระค่างวดรถ ยนต์ช่วงเวลาหนึ่งซึ่งอาจเป็นเวลา 2 ถึง 6 เดือนขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามจากมาตรการพักชำระค่างวดของสถาบันการเงินอาจมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากนักโดยที่ยังคงสามารถดำรงชีวิตและจ่ายค่างวดรถยนต์ได้ตามปกติที่อาจถือโอกาสนี้ยื่นเรื่องเพื่อพักชำระค่างวดด้วย โดยคิดว่าในช่วงเวลานี้เก็บเงินไว้กับตัวก่อนดีกว่า หากกำลังคิดอย่างนี้อยู่ควรพิจารณาให้ดี เพราะการพักชำระค่างวดรถอาจมีราคาที่ตามมา เนื่องจากยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่พักชำระค่างวดอยู่ และยิ่งพักชำระค่างวดนานเท่าใดก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นเท่านั้น โดยรวมแล้วอาจสูงพอๆ กับค่างวดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนที่เดียว
พักชำระหนี้ – พักหนี้
สิ่งหนึ่งที่ผู้คิดจะ พักชำระค่างวดรถ ควรทำควรเข้าใจก็คือความหมายของคำว่าพักชำระหนี้ และพักหนี้ซึ่ง จะมีความแตกต่างกัน โดยมาตรการพักชำระค่างวดรถที่สถาบันการเงินใช้กันก็เป็นการพักชำระหนี้ จะหมายถึงงวดที่ได้รับการพักชำระนั้นไม่ต้องจ่ายเงินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ในระหว่างพักชำระแล้วเก็บดอกเบี้ยภายหลัง
ในขณะที่การพักหนี้ นอกจากช่วงที่พักหนี้ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว ในช่วงพักหนี้สถาบันการเงินยังหยุดคิดดอกเบี้ยด้วย ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าการพักชำระหนี้และการพีกหนี้เป็นสิ่งเดียวกัน
ดอกเบี้ยขณะพักชำระค่างวด
มีบางสถาบันการเงินที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการพักชำระหนี้ช่วงโควิด-19 ว่าเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นโดยยืดระยะเวลาชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไป แต่ยังมีการคำนวณดอกเบี้ยในระหว่างที่พักชำระหนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามสัญญาเช่นซื้อ โดยให้ให้ชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างพักชำระหนี้ได้เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ไม่เกินค่างวดงวดสุดท้าย
หากสงสัยว่าตามปกติในการผ่อนรถยนต์ซึ่งใช้ดอกเบี้ยคงที่หรือ Flat Rate x ด้วยวงเงินกู้ยืม x จำนวนปีที่ต้องการผ่อน เพื่อหาจำนวนเงินค่างวดที่ต้องส่งทุกเดือนตลอดเวลาเช่าซื้อ แล้วจะมีการคำนวนดอกเบี้ยในระหว่างพักชำระค่างวดอย่างไร ทางธนาคารจะนำอัตราดอกเบี้ยคงที่ Flat Rate คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามสัญญาเช่าซื้อหรือ EIR เช่นดอกเบี้ยคงที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามสัญญาหรือ EIR 4.73 เปอร์เซ็นต์ เพื่อคำนวณดอกเบี้ยในขณะพักชำระค่างวด
สำหรับตัวอย่างที่สถาบันการเงินยกมาให้ดู คือการทำสัญญาเช่าซื้อระยะเวลา 60 เดือนโดยมีเงินต้น 900,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ตามสัญญา 2.50 เปอร์เซ็นต์คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามสัญญาเช่าซื้อหรือ EIR อยู่ที่ 4.73 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีค่าวงดอยู่ที่ 16,875 บาทต่อเดือน เมื่อผ่อนชำระมา 30 งวดแล้วมีการพักชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนที่ 31 ถึงเดือนที่ 36 โดยมีเงินต้นคงค้าง 476,500 บาท ดอกเบี้ยที่เกิดจากการพักชำระหนี้รวมคือ 11,282 บาท ทำให้เมื่อจ่ายดอกเบี้ยรวมกับเงินชำระค่างวดเดือนสุดท้ายของสัญญา ซึ่งทำให้เดือนนั้นมีการจ่ายค่างวดรวมกับดอกเบี้ยเป็นเงิน 28,157 บาท
ศึกษารายละเอียดให้ดี
สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนทำให้ไม่สามารถส่งค่างวดรถยนต์ได้ การได้รับพักชำระเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือนร้อนได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อเครดิตทางการเงิน แต่สำหรับผู้ที่ยังสามารถส่งค่างวดรถยนต์ได้ตามปกติ แต่คิดว่าจะอาศัยมาตรการช่วยเหลือของสถาบันเพื่อยืดระยะเวลาการชำระออกไป ควรจะอ่านรายละเอียดการพักชำระค่างวดของสถาบันการเงินที่ตนเองใช้ให้ละเอียด หรือสอบถามรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ให้ดี เพราะมีทั้งสถาบันการเงินที่ระบุเกี่ยวการคิดดอกเบี้ยในช่วงพักชำระค่างวดอย่างชัดเจนในเวบไซต์ และที่ไม่ได้ระบุไว้ รวมทั้งมีบางสถาบันการเงินที่ไม่คิดดอกเบี้ยในช่วงพักชำระค่างวดเหมือนเป็นการพักหนี้
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th