ภาษีรถยนต์ ต้องเสียเท่าไหร่ในแต่ละปี
หนึ่งในรายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ที่เจ้าของรถต้องจ่ายเป็นประจำทุกปีโดยเลี่ยงไม่ได้ตราบเท่าที่ยังเป็นเจ้าของรถและยังใช้รถอยู่คือภาษีรถยนต์
สำหรับผู้ที่กำลังคิดจะซื้อรถยนต์หากสงสัยว่าเมื่อซื้อรถมาแล้วจะต้องเสียภาษีรถยนต์เท่าไรในแต่ละปี หรือผู้ที่เป็นเจ้าของรถอยู่แล้วหากสงสัยว่ารถยนต์ที่ตนใช้อยู่นั้นจะต้องเสียภาษีเท่าใดเพื่อจะได้เตรียมเงินไว้ ต่อไปนี้คือรายละเอียดของอัตราภาษีและวิธีคิดภาษีรถยนต์ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของรถยนต์ ซีซีของเครื่องยนต์หรือน้ำหนักของรถ และอายุการใช้งาน
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งหรือรถเก๋ง รถเอสยูวี และรถกระบะ 4 ประตูที่มีป้ายทะเบียนสีขาวตัวหนังอักษรสีดำจะมีการคิดภาษีรถยนต์ตามความจุหรือซีซีของเครื่องยนต์ โดยที่มีอัตราภาษีในแบบขั้นบันไดคือ
-ตั้งแต่ 1 – 600 ซีซี คิดอัตราภาษีซีซีละ 50 สตางค์
-ตั้งแต่ 601-1,800 ซีซี คิดอัตราภาษีซีซีละ 1.50 บาท
-ตั้งแต่ 1,801 ซีซีขึ้นไป คิดอัตราภาษีซีซีละ 4 บาท
นอกจากความจุเครื่องยนต์แล้ว อายุการใช้งานของรถยนต์ก็มีผลต่อการคิดภาษีรถยนต์ โดยรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปจะมีส่วนลดค่าภาษี และมีส่วนลดมากขึ้นตามอายุการใช้งานคือ
-อายุการใช้งาน 6 ปี ได้รับส่วนลดภาษี 10 เปอร์เซ็นต์
-อายุการใช้งาน 7 ปี ได้รับส่วนลดภาษี 20 เปอร์เซ็นต์
-อายุการใช้งาน 8 ปี ได้รับส่วนลดภาษี 30 เปอร์เซ็นต์
-อายุการใช้งาน 9 ปี ได้รับส่วนลดภาษี 40 เปอร์เซ็นต์
-อายุการใช้งานรถ 10 ได้รับส่วนลดภาษี 50 เปอร์เซ็นต์ และจะได้รับส่วนลดนี้ไปต่อเนื่องจนเลิกใช้รถยนต์
สำหรับวิธีการคำนวนรถยนต์ก็ดูจากความจุเครื่องยนต์จริงๆ ที่เล่มทะเบียนรถยนต์ เพราะรถยนต์ที่ผู้ผลิตระบุว่าเครื่องยนต์ 1,200 ซีซี จริงๆ แล้วอาจมีความจุเครื่องยนต์ 1,197 ซีซี หรือรถยนต์ที่มีถูกระบุว่าเครื่องยนต์ความจุ 2,400 ซีซีความจุเครื่องยนต์จริงที่ระบุในเล่มทะเบียนรถอาจคือ 2,356 ซีซี
หากขับรถยนต์ที่มีความจุ 1,799 ซีซี จะมีอัตราการเสียภาษีคือ
-ช่วง 600 ซีซีแรกเสียภาษีซีซีละ 50 สตางค์หรือ 0.5 บาท : 600 x 0.5 = 300 บาท
-ช่วงซีซีตั้งแต่ 601-1,799 ซีซี เสียภาษีซีซีละ 1.50 บาท : 1,799 – 600 = 1,199 x 1.50 = 1,798.50 บาท
หมายความว่าภาษีรถยนต์ตั้งแต่ปีที่ 1 ถึง 5 จะเสียอยู่ที่ 300 + 1,798.50 = 2,098.50 บาท แต่เมื่อใช้งานรถยนต์ปีที่ 6 จะเสียภาษี 1,888.65 บาท จากการได้ส่วนลดภาษี 10 เปอร์เซ็นต์
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง
รถยนต์นั่งบุคคลเกิน 7 ที่นั่งหรือรถตู้ซึ่งจะมีป้ายทะเบียนพื้นขาว อักษรสีน้ำเงิน จะมีการคิดภาษีที่แตกต่างจากรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง โดยคำนวณอัตราภาษีตามน้ำหนักของรถ ซึ่งสามารถดูได้ที่เล่มทะเบียนรถเช่นเดียวกับความจุเครื่องยนต์ โดยมี 2 อัตราภาษีคือ
-น้ำหนักรถไม่เกิน 1,800 กิโลกรัม อัตราภาษีคือ 1,300 บาท
-น้ำหนักรถเกิน 1,800 กิโลกรัม อัตราภาษีคือ 1,600 บาท
รถบรรทุกส่วนบุคคล
สำหรับรถบรรทุกส่วนบุคคลหรือรถกระบะสองประตูที่มีป้ายทะเบียนพื้นขาว อักษรสีเขียว จะมีการคำนวณภาษีโดยใช้น้ำหนักของรถซึ่งดูตัวเลขนี้ได้ที่เล่มทะเบียนรถเช่นเดียวกันคือ
-น้ำหนักรถตั้งแต่ 501-750 กิโลกรัม อัตราภาษีคือ 450 บาท
-น้ำหนักรถตั้งแต่ 751-1,000 กิโลกรัม อัตราภาษีคือ 600 บาท
-น้ำหนักรถตั้งแต่ 1001-1,250 กิโลกรัม อัตราภาษีคือ 750 บาท
-น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,251-1,500 กิโลกรัม อัตราภาษีคือ 900 บาท
-น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,501-1,750 กิโลกรัม อัตราภาษีคือ 1,050 บาท
-น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,751-2,000 กิโลกรัม อัตราภาษีคือ 1,350 บาท
-น้ำหนักรถตั้งแต่ 2,001-2,500 กิโลกรัม อัตราภาษีคือ 1,650 บาท
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th