มาทำความรู้จักกันก่อนว่าจักรยานมีกี่ประเภท
จักรยานเป็นกลับมาเป็นที่นิยมกันมากขึ้น ขนาดที่ว่าใครไม่มาปั่นนี่ถือว่าเชยสนิท แต่เวลาจะหาซื้อจักรยานสักคันต้องเลือกแล้วเลือกอีก วันนี้มาทำความรู้จักกันก่อนว่าจักรยานมีกี่ประเภท จะได้เลือกเป็นเจ้าของได้อย่างเหมาะสม
เริ่มต้นจากจักรยาน BMX กันก่อน
จักรยาน BMX ย่อมาจากคำว่า “Bicycle Motocross” ซึ่งเป็นจักรยานที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีตั้งแต่สมัยเด็กๆ (ของผู้เขียน) โดยเจ้า BMX นี้สามารถขี่ได้แบบวิบากและใช้ได้ในทุกสภาพถนนตามชื่อ ทั้งทางเรียบและทางฝุ่น ตัวเฟรมนั้นมีความแข็งแรงรองรับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี แต่ทุกวันนี้จะเห็นใช้เป็นจักรยานที่ใช้กับกีฬาผาดโผนจำพวก Extreme เป็นส่วนใหญ่ ใครจะเอามาใช้ปั่นไปซื้อกับข้าวหรือปั่นเที่ยวก็เท่ไม่หยอก
Utility Bike หรือจักรยานใช้งานทั่วไป หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “จักรยานแม่บ้าน” นั่นเอง ถูกออกแบบให้ใช้งานได้อย่างหลากหลายด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เสริมได้ตามความต้องการให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น ไฟหน้า, บังโคลนหน้า-หลัง, ตะกร้า, เบาะซ้อนท้าย หรือแม้กระทั่วชุดไฟหน้าแบบมีไดนาโม ซึ่งเป็นรถที่ไม่มีความซับซ้อน อะไหล่หาง่าย ราคาไม่สูง หาซื้อได้ทั่วไป
Mountain Bike จักรยานเสือภูเขา หากย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่ผ่านมา ใครเป็นเจ้าของจักรยานเสือภูเขาจะถือว่าดูเท่และหล่อมาก เพราะเป็นรถที่สามารถใช้งานได้แบบสมบุกสมบันทั้งทางเรียบและทางฝุ่น โดยเฉพาะหากขี่บนทางวิบาก ถนนลูกลัง จะเห็นประสิทธิภาพของมันอย่างเต็มเปี่ยม มีความโดดเด่นที่สามารถตกแต่งและเสริมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มสมรรถนะได้ อาทิ ชุดเกียร์, โช้คอัพ, ล้อและยาง, กะโหลก ,แฮนด์, เบาะ รวมทั้งเฟรมที่มีให้เลือกไม่ว่าจะเป็นเหล็กไปจนถึงคาร์บอนไฟเบอร์ มีราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสน เหมาะกับผู้ที่ชอบลุยบนทางฝุ่นและทางที่รถทั่วไปเข้าไปไม่ได้
Road Bike หรือเจ้าเสือหมอบ สำหรับเสือภูเขาและเสือหมอบถือว่าเป็นเสือเหมือนกัน แต่อยู่กันคนละป่า ซึ่งเจ้าเสือหมอบถูกออกแบบมาให้ขี่บนทางเรียบ เป็นจักรยานที่ใช้ความเร็วสูงและเร็วกว่าจักรยานประเภทอื่นๆ จุดที่แตกต่างนอกจากแฮนด์ที่โค้งงุ้มลงไปเพื่อให้ผู้ขี่มีท่าทางหมอบเหมือนชื่อแล้ว ที่ล้อจะมีหน้ายางที่เล็กและแคบมาก เพื่อลดแรงเสียดทานบนพื้นถนน รูปทรงของเสือหมอบจึงดูลู่ลมและแบนราบ ส่วนใหญ่จะใช้ในการแข่งขัน เหมาะกับผู้ที่ชอบความเร็ว แต่ไม่เหมาะกับการขี่บนถนนในบ้านเราสักเท่าไหร่ ไว้หาถนนพื้นเรียบขี่เถอะนะ
Fix gear ฟิกซ์เกียร์ ชื่อตรงตัวแบบที่ไม่ต้องแปล เป็นจักรยานที่กำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้มากกว่า 50 ปี เหมาะกับการใช้งานทั่วไป ชื่อของมันคือ ฟิกซ์เกียร์ แต่มันไม่มีเกียร์ งงมั้ยล่ะ? แต่มันจะมีแค่เฟืองหลังชิ้นเดียว และไม่สามารถฟรีเท้าทิ้งได้ ต้องปั่นอยู่ตลอดและต้องใช้ทักษะสูงมากในการควบคุมมันให้อยู่หมัด แล้วมันยังไม่มีเบรกอีกด้วย เอาล่ะสิแล้วจะหยุดรถยังไง วิธีหยุดคือ ต้องรั้งหรือยื้อบันไดไม่ให้หมุนด้วยขาทางสองข้างนั่นเอง มีราคาอยู่ในช่วงหลักหมื่น ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ
Touring Bike จักรยานประเภทขี่ท่องเที่ยว จะมีความคล้ายกันกับจักรยานเสือภูเขาและเสือหมอบ เพียงแต่จักรยาน touring จะมีความสะดวกสบายในการขี่มากกว่า รวมทั้งจะมีจุดยึดเพื่อติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นในการเดินทางไกล อย่างกระเป๋าสัมภาระ เฟรมมีความแข็งแรงและรองรับน้ำหนักได้มาก และแน่นอนว่าน้ำหนักของตัวรถจะค่อนข้างมากกว่าจักรยานประเภทอื่นๆ มีหลายแบบหลายราคา ซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันรวมถึงสำหรับเดินทางไกลได้สะดวกมาก
Hybrid Bike หรือ จักรยานไฮบริด….ชื่อนี้เพิ่งได้ยินเมื่อไม่นานมานี้ แต่กระแสในกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนดีเหลือเกิน จักรยานไฮบริดไม่เหมือนกับรถไฮบริดนะครับ 555 แต่มันคือจักรยานที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการขี่ในเมือง รูปร่างหน้าตาจะคล้ายๆ เสือภูเขา แต่จะมีขนาดที่เล็กกว่า รวมถึงใช้หน้ายางที่เล็กและดอกยางลึก เพื่อให้สามารถทำความเร็วได้ แต่ก็ใช้บนทางที่ขรุขระและวิบากได้เช่นกัน แต่เส้นทางต้องไม่เป็นหลุมเป็นบ่อเกินไปนะ แบบนั้นต้องยกให้เสือภูเขาเค้าพาเราไป
Cruiser Bike จักรยานครุยเซอร์ เรามักจะเห็นจักรยานแบบนี้ในภาพยนตร์ Hollywood โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับชายหาด ชายทะเล เพราะจักรยานประเภทนี้มักใช้ขี่ท่องเที่ยวตามสถานที่แบบนั้นล่ะ ซึ่งจะเป็นแบบเฟืองเดี่ยว แต่สามารถติดตั้งระบบเกียร์เพิ่มได้ ตัวถังหรือเฟรมส่วนใหญ่จะผลิตมาจากเหล็กทำให้มีน้ำหนักมาก ในบ้านเราเริ่มมีเห็นเข้ามาจำหน่ายอยู่บ้าง ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมในบ้านเราสักเท่าไหร่ แต่ด้วยรูปโฉมที่น่ารักดูแปลกตาแถมยังดูวินเทจเข้ากับสมัยนิยมสุดๆ ใครขี่ครุยเซอร์รับรองสาวๆ เหลียวหลังมามองแน่นอน
จักรยานพับ จักรยานประเภทนี้มาแรงไม่แพ้แบบอื่นๆ จุดเด่นคือสามารถพับเก็บ ยัดใส่รถหิ้วไปปั่นที่ไหนก็ได้ สะดวกสบาย ราคาไม่สูง แถมยังหาอะไหล่ได้ง่าย เหมาะกับการใช้งานทั่วไป ไม่เน้นความเร็ว แต่เน้นพกพาไปปั่นได้ทุกที่ รวมทั้งสามารถติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมได้อย่างหลากหลายอีกด้วย
เอาล่ะ พอจะรู้จักประเภทของจักรยานกันคร่าวๆ แล้ว เวลาไปดูตัวที่ร้านจะได้ตัดสินใจถูกว่าจะเลือกเป็นเจ้าของในแบบไหนดี แต่ที่สำคัญที่สุด พยายามเลือกให้เหมาะกับการใช้งานและสรีระของเรานะคร้าบ
ขอบคุณภาพจาก 888bike.net
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th