ย้อนดูถนนสายเก่า กับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุุบัน
ถนนเจริญกรุง
‘ถนนเจริญกรุง’ ถือเป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิกการสร้างแบบตะวันตก ซึ่งเริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2405 กระทั่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2407 ในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมัยรัชกาลที่ ๔) โดยมีระยะทางยาวรวม 8,575 เมตร ใช้งบประมาณในยุคนั้นทั้งสิ้น 19,700 บาท นับเป็นถนนสายสำคัญเส้นหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ด้วยการเกิดขึ้นในยุคที่เริ่มมีการค้าขายกับต่างชาติ และเริ่มมีการใช้ยานพาหนะหลากหลายรูปแบบเพื่อการสัญจร และการพาณิชย์ โดยมีอีกชื่อที่คนไทยมักเรียกกันว่า ‘ถนนตก’ และชาวต่างชาติพากันเรียกว่า ‘New Road’
เมื่อครั้งที่ถนนสร้างเสร็จใหม่ๆ ผู้ใหญ่สมัยนั้นเข้ามาเดินกัน ได้ลงความเห็นกันว่าเป็นถนนที่กว้างมาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากลายเป็นถนนเส้นที่คับแคบไปถนัดตา ด้วยตึกรามบ้านช่องสองข้างทาง จอแจไปด้วยรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และปัจจุบัน ถนนเส้นนี้ยังเป็นถนนเส้นที่มีแหล่งท่องเที่ยวชมศิลปะเมืองเก่าของชุมชนในอดีตมากมายของเหล่าผู้ที่ชอบเสพงานศิลป์แนวสตรีทอาร์ต อาทิ ตรอกกัปตันบุช บ้านเลขที่ 1 ชุมชนตลาดน้อย ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งสิริรวมอายุของถนนเจริญกรุง ถนนสายสำคัญที่สร้างความเจริญสู่กรุงเทพมหานคร จากวันนั้น ถึงวันนี้ อายุรวมกว่า 158 ปี
ถนนเยาวราช
‘ถนนเยาวราช’ เดิมเคยใช้ชื่อว่า ‘ถนนยุพราช’ และด้วยความคดเคี้ยวไปมาคล้ายมังกร ประชาชนจึงให้ขนานนามว่าถนนมังกร ถือเป็นย่านธุรกิจการค้า ภัตตาคาร ร้านค้า ร้านอาหารอร่อยริมทางมีชื่อในปัจจุบัน อดีตนั้นคือชุมชนจีนที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2435 กระทั่งแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2443 ถือว่าเป็นถนนที่ใช้เวลาสร้างยาวนานกว่า 8 ปี ทั้งที่ถนนมีความยาวเพียง 1,410 เมตรเท่านั้น ซึ่งเริ่มต้นสายที่คลองรอบกรุง ตรงข้ามป้อมมหาไชย ตัดลงไปทางทิศใต้ บรรจบลงตรงถนนจักรวรรดิ หรือสี่แยกวัดตึก ตัดผ่านถนนราชวงศ์ หรือสี่แยกราชวงศ์ ก่อนจบสายที่ถนนเจริญกรุงก่อนถึงวัดไตรมิตรฯ
ถนนสายนี้ถือเป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยและชาวจีน มีชาวไทยเชื้อสายจีนเข้ามาตั้งรกรากทำการค้า และอาศัยอยู่ในย่านนี้จำนวนมาก จนขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ไชนาทาวน์แห่งกรุงเทพฯ’ และยังกลายเป็นถนนแห่งการท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มของชาวต่างชาติ ทั้งตะวันตก และเอเชียในปัจจุบัน และแม้ว่าการจราจรบนถนนสายนี้จะค่อนข้างจอแจ และหาที่จอดยาก แต่นั่นไม่อาจทำให้ความนิยมในการเดินทางมาสัมผัสวัฒนธรรมต่างๆ บนถนนเยาวราชลดน้อยลงไป
สะพานพระพุทธยอดฟ้า
‘สะพานพระพุทธยอดฟ้า’ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพรยา ที่ใช้เชื่อมการคมนาคม การค้าระหว่างฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๗ ที่จะสร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นอนุสรณ์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนที่กรุงรัตนโกสินทร์จะมีอายุครบ 150 ปี ในปี พ.ศ.2475 จึงทรงปรารภพระราชประสงค์นี้กับคณะรัฐบาล และลงมิติให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่๑ ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ในฝั่งพระนคร เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติคุณ โดยมีการกำหนดสร้างตรงต่อปลายถนนตรีเพชรฝั่งพระนคร คือถนนระหว่างวัดราชบูรณะกับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
โครงการก่อสร้างถนนข้ามแม่น้ำนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2471 โดยสร้างตามแบบของบริษัทดอรแมนลอง ประเทศอังกฤษ ผู้ประมูลโครงการก่อสร้างนี้มาได้ รูปแบบนั้นเป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร และอาจยกตอนกลางขึ้นด้วยแรงไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง 60 เมตรเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า และแล้วเสร็จด้วยงบประมาณ 4,000,000 บาท
ปัจจุบันนอกจากสะพานพุทธจะเป็นเส้นทางคมนาคมแล้ว ยังมีการค้าขายเกิดขึ้นเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนละแวกนั้น ด้วยการมีตลาดนัดยามค่ำคืน พร้อมมีลานสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้มาพักผ่อน และออกกำลังกายอีกด้วย
ถนนราชดำเนิน
‘ถนนราชดำเนิน’ เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2442 ถือเป็นถนนที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงจากการเป็นเมืองโบราณสู่ความเป็นเมืองสมัยใหม่ และเป็นถนนที่แสดงถึงอิทธิพลตะวันตกชัดเจนที่สุด ในอดีตนั้นป็นถนนหลวงที่ฝรั่งเรียกว่า “Avenue” โดยมีการเลียนแบบมาจากถนนซองเอลิเซ่ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส เป็นถนนที่เริ่มแต่พระบรมมหาราชวังเลียบสนามหลวงมาทางเหนือเรียกว่า “ราชดำเนินใน” ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา ข้ามคูเมืองพระนครชั้นในมาเป็น “ถนนราชดำเนินกลาง” ที่เมื่อสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วมีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นกลางถนน มีวงเวียนที่เป็นสี่แยกของถนนผ่านไปข้ามคลองบางลำพูใกล้ป้อมมหากาฬไปเป็น ‘ถนนราชดำเนินนอก’ จนถึงคลองผดุงกรุงเกษม อันเป็นคูเมืองพระนครในสมัยรัชกาลที่๔ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ไปยังพระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเป็นรัฐสภา
อดีตนั้นเป็นถนนที่สร้างขึ้นเพื่อทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต เพื่อความสง่างามของบ้านเมืองและเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด พื้นที่ทั้งสองฟากถนนราชดำเนินนอกเรียงรายด้วยสถานที่ราชการ และวังเจ้านายใหญ่น้อยที่ขยายปีกไปจนถึงถนนสามเสนที่อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบของลานพระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคมก็เป็นพระราชวัง และสวนอัมพรเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่แปรพระราชฐานมาจากพระบรมมหาราชวัง กระทั่งปัจจุบันยังคงเป็นถนนที่ใช้สัญจร และจัดงานพระราชพิธีสำคัญๆ ในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ
วงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
‘อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ’ จุดเริ่มต้นของแลนมาร์กของกรุงเทพมหานคร กิโลเมตรที่ 0 เริ่มต้นจากตรงนี้ จุดวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนที่เป็นมากกว่าวงเวียนกลับรถ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นวงเวียนอยู่กึ่งกลางระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนราชวิถี และถนนพญาไท โดยบริเวณเกาะกลางนั้นเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยคือ “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” อนุสาวรีย์ฯ สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 160 นาย โดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 มีสถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ฯ คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ก่อนที่จะมีการสร้างวงเวียนอนุสาวรีย์ บริเวณจุดตัดของถนนแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า “สี่แยกสนามเป้า”
ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายจุด โดยเฉพาะความทันสมัยเรื่องการคมนาคม การเกิดขึ้นของรถไฟลอยฟ้า สร้างความทันสมัย และรายได้เพิ่มให้กับผู้คนย่านนั้นได้อย่างเหลือเชื่อ
แยกหัวลำโพง
สถานีหัวลำโพง หรือสถานีกรุงเทพ ถือเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2453 ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยการออกแบบที่มีกลิ่นไอสไตล์อิตาเลียนผมศิลปะเรเนซองค์ คล้ายกับสถานีรถไฟฟรังค์ฟูร์ท ในเมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมณี ตั้งอยู่บนพื้นที่ 120 ไร่
บริเวณด้านหน้าในอดีตนั้นมีส่วนหย่อมและน้ำพุ รวมถึงจุดเด่นอีกสิ่งคือนาฬิกาขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 160 เซนติเมตรตั้งอยู่ โดยสถานีรถไฟหัวลำโพงถือเป็นจุดศูนย์กลางที่ส่งผู้คนออกไปยังถนนสายต่างๆ ทั่วประเทศ
แยกหัวลำโพงถือเป็นทางแยกหนึ่งในพื้นที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน และแขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นสี่แยกที่เป็นทางตัดกันของถนนพระราม 4, ถนนรองเมือง, ถนนมหาพฤฒาราม รวมถึงสะพานเจริญสวัสดิ์ 36 ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม เป็นสี่แยกที่อยู่ด้านหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือสถานีรถไฟหัวลำโพง และปัจจุบันสถานีหัวลำโพงยังมีทางเชื่อมกับรถไฟฟ้ามหานคร หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรไปมาของประชาชนอีกด้วย
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ได้ที่ www.grandprix.co.th