ย้อนรอยตำนาน 18 ปี Toyota Avanza MINI MPV ที่เติมเต็มไลฟ์สไตล์ในแบบครอบครัว
ย้อนอดีตกลับไปเมื่อเดือนกรกฏาคม ปี 2004 หรือเมื่อ 18 ปี ที่ผ่านมา ตลาดรถเมืองไทยคึกคักขึ้น โดยทาง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้แกะกล่องต้อนรับรถในกลุ่มครอบครัวรุ่นใหม่ “Toyota Avanza” (อแวนซา) ที่ในตอนนั้นเรียกว่าเป็นรูปแบบรถยนต์นั่งแนวใหม่ (Compact Multi-Purpose Vehicle) เป็นรถแบบ 5 ประตู มีจุดเด่นที่ขนาดห้องโดยสารรองรับผู้โดยสารได้ถึง 7 คน สามารถปรับพับเบาะนั่งเพื่อบรรทุกสัมภาระและปรับการใช้งานได้อเนกประสงค์ ขับขี่คล่องตัว ประหยัดน้ำมัน ค่าดูแลรักษาต่ำ และมีราคาที่คุ้มค่า มีการเผยโฉมครั้งแรกในโลกที่อินโดนีเซีย เมื่อเดือนธันวาคม 2003 และส่งรถนำเข้ามาเผยโฉมในไทยที่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ในเดือนมีนาคม 2004 ทันที
โดย Toyota Avanza รุ่นแรก ขนาดตัวถังถือว่าใหญ่ แต่เครื่องยนต์มีขนาดเล็กเพียง 1.3 ลิตร แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว VVT-i แรงม้ามีอยู่ 88 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที มีแรงบิดสูงสุด 120 นิวตันเมตร ที่ 3,200 รอบต่อนาที ทำให้ถูกมองว่าขนาดเครื่องยนต์เล็กไม่สมกับขนาดตัวถัง จะขับใช้งานจริงไหวรึเปล่า แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับถือว่าใช้งานได้อย่างดี แต่อาจจะไม่เหมาะกับขาแรงสักเท่าไหร่ ถ้าขับใช้งานทั่วไปถือว่าตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในตอนนั้นมีให้เลือกทั้งเกียร์อัตโนมัติและเกียร์ธรรมดา
โดยไฮไลท์สำคัญเป็นเรื่องของพื้นที่ห้องโดยสารแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง ที่ปรับเบาะได้หลากหลาย มีช่องเก็บของ ที่วางแก้วน้ำหลายจุด และที่เด่นสุดคือติดตั้งแอร์ที่นั่งแถวสองที่เย็นฉ่ำไปถึงแถวที่สาม รวมทั้งถ้ายังจำกันได้ดี ในยุคนั้นเป็นช่วงเวลาที่การเปิดท้ายขายของเริ่มเป็นที่นิยม จะเห็นว่ามี Toyota Avanza ถูกนำมาใช้งานเป็นรถเปิดท้ายขายของกันเยอะพอสมควร นั่นทำให้เห็นว่ารถรุ่นนี้ตอบโจทย์การใช้งานได้สารพัดจริงๆ แต่จุดที่น่าปรับปรุงยังเป็นเรื่องของระบบช่วงล่างที่ต้องปรับปรุง เพราะตัวรถออกแนวทรงสูง ช่วงล่างค่อนข้างนุ่มนวล นั่นทำให้การขับด้วยความเร็ว หรือการเข้าโค้งจะมีอาการท้ายโยนอยู่พอสมควร และงานประกอบจากโรงงานที่อินโดนีเซียที่ไม่ค่อยเนี๊ยบสักเท่าไหร่ มีจุดบกพร่องอยู่หลายจุด
ต่อมาในปี 2009 เป็นการไมเนอร์เชนจ์ Toyota Avanza เลิกใช้เครื่องยนต์ 1.3 ลิตร เปลี่ยนมาเป็นเครื่องยนต์ใหม่ขนาด 1.5 ลิตร 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว หัวฉีด EFI พร้อมระบบวาล์วแปรผัน VVT-i แรงม้าสูงสุด 109 แรงม้า แรงบิด 140 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที มีเกียร์ธรรมดาให้เลือกใช้ในรุ่นเริ่มต้น และมีการเปลี่ยนกระจังหน้า กันชนหน้า ชุดไฟท้ายใหม่ แต่ล้ออัลลอยยังคงใช้ของเดิมไม่เปลี่ยนอะไร ซึ่งรุ่นนี้มีการปรับปรุงช่วงล่างให้ดีขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น
มาถึงเจนเนอเรชั่นที่ 2 รุ่นปี 2012 Big Minor Change แล้วกัน โดยขนาดตัวถังมีความยาวเพิ่มจากรุ่นเดิม 20 มม. กว้างขึ้น 30 มม. ยังคงความสูงและระยะฐานล้อเอาไว้เท่าเดิม มีความยาว 4,140 มม. กว้าง 1,660 มม. สูง 1,695 มม. ระยะฐานล้อ 2,655 มม.
ตัวถังมีการออกแบบใหม่เน้นเส้นสายตัวถังมากขึ้น ดูโฉบเฉี่ยวกว่าเดิม กระจังหน้าเป็นสีเดียวกับตัวรถ พร้อมตกแต่งด้วยแถบโครเมียม มือจับประตูเปลี่ยนใหม่ โคมไฟหน้าและหลังแบบใหม่ ไฟหน้าและไฟท้ายแบบ Multi Reflector ล้ออัลลอยลายใหม่ ขนาด 15 นิ้ว กุญแจรีโมทแบบ Immobilizer ส่วนภายในห้องโดยสารมีการปรับรูปแบบใหม่ตั้งแต่พวงมาลัย แผงคอนโซล เกียร์ มาตรวัดความเร็ว และมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ออกแบบใหม่ทั้งหมด เบาะนั่งทั้งสามแถวที่ปรับพับได้มากขึ้น เบาะแถวสองมีรางเลื่อนเข้าออกได้และพับตลบขึ้นได้เหมือนเดิม
ส่วนเครื่องยนต์มีขนาด 1.5 ลิตร ที่ปรับตัวเลขแรงม้าลดลงนิดหน่อยเป็น 101 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 133 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที ที่ต้องปรับลงลงเพื่อให้ผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 4 ที่เริ่มใช้ในไทยปีนั้นเป็นครั้งแรก รองรับน้ำมัน E20
มาที่เจนเนอเรชั่นที่ 3 รุ่นปี 2019 เป็นการปรับใหม่ให้ดูสดใหม่ทั้งคัน ภายนอกดูสปอร์ตขึ้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น ภายในห้องโดยสารดูดีมีระดับ เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวกตามยุคสมัย มาพร้อมกับกระจังหน้าและกันชนหน้าดีไซน์สปอร์ต ไฟหน้าแบบ LED สเกิร์ตข้างตกแต่งโครเมียม สปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรก เสาอาการครีบฉลาม ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว ลายใหม่
ภายในห้องโดยสารปรับให้ดูทันสมัยในโทนสีดำ เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ด้วยเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว พร้อมฟังก์ชั่น T-Link เชื่อมต่อแอปพลิเคชั่นนำทางและความบันเทิงเต็มรูปแบบ และยังมาพร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียงที่พวงมาลัย กล้องมองภาพด้านหลัง ส่วนเบาะนั่งแถวที่สองและแถวที่สามยังคงสไตล์การปรับใช้งานได้อเนกประสงค์เช่นเดิม
ส่วนเครื่องยนต์ยังคงเป็นขนาด 1.5 ลิตร ที่ให้พละกำลังสูงสุด 102 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 134 นิวตันเมตร ที่ 4,200 รอบต่อนาที เกียร์เป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด รองรับน้ำมัน E20 เช่นเดิม มีขนาดตัวถังที่ยาวขึ้น 50 มม. นอกนั้นเท่าเดิม มีความยาว 4,190 มม. ความกว้าง 1,660 มม. ความสูง 1,695 มม. ระยะฐานล้อ 2,655 มม. โดยในรุ่นนี้ระบบช่วงล่างมีการปรับแต่งใหม่ให้มีความนุ่มและลดการโยนตัว ขับได้มั่นใจยิ่งขึ้น ด้วยช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนระบบกันสะเทือนหลังแบบไฟว์ลิงก์คอยล์สปริง พร้อมคานควบคุมการบิดตัวในแนวนอน ถือว่าพัฒนาได้ดีขึ้นในหลายระดับ
และมาถึงเจนเนอเรชั่นที่ 4 รุ่นล่าสุด ที่จะมีการเปิดตัวในไทยวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ กับ All New VELOZ (เวลอซ) ที่ถือว่ามีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ทั้งภายนอกและภายในทุกมิติ เสริมด้วยระบบความปลอดภัยแบบเต็มขึ้น เป็นมิติใหม่ของรถในกลุ่ม MINI MPV ที่จะตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างดีที่สุด ต้องรอติดตามกันว่าสเปคที่จะนำมาจำหน่ายในไทยจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญราคาจะเปิดมาที่ระดับไหน จะสร้างกระแสในรถกลุ่มนี้ได้อีกครั้งหรือไม่ ต้องติดตามลุ้นไปด้วยกัน
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th