รถยนต์พลังไฟฟ้า (E-Bug) ฝีมือนักศึกษาไทย ก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
รถโฟล์คสวาเก้น บีเทิล (Volkswagen Beetle) ปี 60 สีขาวนวลคันนี้ถูกดัดแปลงให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้นแบบฝีมือนักศึกษาไทย จากห้องปฏิบัติการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy Application Laboratory:REAL) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่พยายามคิดค้น พัฒนาและปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้จริง แม้ว่าตอนนี้ยังคงเป็นรถยนต์ต้นแบบ แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้รุ่นน้องได้สานต่อโปรเจคเพื่อพัฒนาต่อยอดในด้านวิชาการและในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต
สำหรับแนวคิดของการสร้างรถยนต์งานไฟฟ้าต้นแบบ (E-Bug) คันนี้เกิดขึ้นมาจากการสร้างโปรเจคของกลุ่มนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์เพียง 4 คน และได้คำแนะนำรวมทั้งการช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งมีความต้องการที่จะพัฒนาระบบไฟฟ้า เซลล์พลังงาน แผงโซลาเซลล์ ให้มีประสิทธิภาพที่มากขึ้น อีกทั้งปัจจุบันรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเริ่มมีบทบาทในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตและช่วยลดการใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง จึงทดลองสร้างเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขึ้นมา
ทำไมถึงต้องทำบนพื้นฐานของรถโฟล์คเต่า? คำตอบนั้นทำให้ต้องอมยิ้ม เพราะเหตุผลคืออาจารย์ที่ปรึกษาเป็นคนที่ชอบรถคลาสสิก และพอที่จะหาตัวถังเปล่าของรถโฟล์คเต่าแบบนี้ได้ในราคาที่ไม่แพง แต่จะมีความยากในการออกแบบวางระบบไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เพราะพื้นที่บริเวณฝากระโปรงหน้าและหลังนั้นมีอยู่ค่อนข้างจำกัด นี่จึงเป็นความท้าทายที่ส่งต่อไปยังกลุ่มนักศึกษาที่สร้างโปรเจคนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับระยะในเวลาในสร้าง ใช้เวลาถึง 1 เทอม (3เดือนครึ่ง) ตั้งแต่การวางแผน วางแปลน ออกแบบ จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ถอดเครื่องยนต์ออก ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และ Controller จนกระทั้งสำเร็จเป็นรูปร่างและสามารถสตาร์ทเครื่องให้ใช้งานได้จริง ซึ่งรถคันนี้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียม ไอร่อน ฟอสเฟส (Lithium Iron Phosphate : LiFePO4) 32V 50 Ah จำนวน 9 ลูกด้วยกัน ส่วนมอเตอร์ไฟฟ้านั้นเป็นแบบ HPEVS AC-50 96V 650AMP ให้แรงม้าสูงสุด 52 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที
ในด้านพละกำลังนั้นเจ้าโฟล์คเต่าพลังไฟฟ้าคันนี้ สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขับได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จพลังงาน 1 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาในการชาร์จด้วยระบบไฟฟ้าในบ้าน 4-8 ชั่วโมง คิดเป็นเงินในการชาร์จเต็ม 1 ครั้งไม่เกิน 40 บาทเท่านั้น
ช่องชาร์จไฟฟ้าที่เหมือนกับรุ่นที่ใช้ในรถพลังงานไฟฟ้าปัจจุบัน
ติดตั้งมาตรวัดพลังงานแบตเตอรี่เพิ่มเติม
โดยประโยชน์จากโปรเจค Electric Vehicle (E-Bug) ที่น้องๆ นักศึกษาตั้งใจทำเอาไว้คือ จะเป็นยานพาหนะทางเลือกในอนาคตและเป็นต้นแบบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของคนไทย, ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไวด์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, เป็นการดัดแปลงรถเก่าให้ดูทันสมัยตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเป็นการศึกษาการผลิตแบตเตอรี่เพื่อนำมาใช้กับยานพาหนะมากขึ้น รวมทั้งวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นเพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคต
ภายในห้องโดยสารแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก
นอกจากนี้ ยังเตรียมต่อยอดผลงานให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคือ เรื่องของการชาร์จพลังงานเข้าสู่แบตเตอรี่ในรถยนต์ให้ได้มากและรวดเร็วขึ้น, ศึกษาเรื่องการรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า เผื่อในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องหรือทำให้สามารถป้อนพลังงานจากรถต่อรถได้เหมือนกับ Power Bank ที่ใช้อย่างแพร่หลาย รวมทั้งเตรียมจะพัฒนาต่อในด้านการสื่อสารและการส่งข้อมูลระหว่างรถยนต์ด้วยกันผ่านระบบไร้สาย เพื่อลดปัญหาการจราจรอีกด้วย
เกียร์แบบดั้งเดิม แต่แปลงให้ใช้เพียงเกียร์เดินหน้า เกียร์ว่าง และเกียร์ถอย เท่านั้น
ถือว่าเป็นแนวคิดดีๆ ที่เหมาะกับเทคโนโลยียานยนต์ในปัจจุบัน แต่ปัญหาใหญ่ยังมีอยู่และเป็นหัวใจสำคัญ นั่นคือ ปัญหาเรื่องของแบตเตอรี่ ที่ตอนนี้ยังไม่สามารถผลิตได้เอง ยังต้องอาศัยการนำเข้า ซึ่งทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก แต่สำหรับโครงการนี้ถือว่าโชคดีที่ได้ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากประเทศจีน อย่าง บีวายดี ออโต้ อินดัสตรี้ (BYD) ที่สนับสนุนแบตเตอรี่มาให้กลุ่มนักศึกษาได้ศึกษาและเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง หากถามถึงราคาของรถต้นแบบพลังงานไฟฟ้าคันนี้จะอยู่ราว 700,000 บาท ซึ่งต้นทุนกว่า 60% เป็นของแบตเตอรี่ลิเธียม ไอร่อน ฟอสเฟส ที่มีราคาทั้งชุด 9 ลูก ถึง 400,000 บาท แต่หากประเทศไทยสามารถผลิตแบตเตอรี่ได้เองจะสามารถต่อยอดการวิจัยและพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ง่ายกว่าทุกวันนี้…
Grandprix Online ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจในการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าฝีมือคนไทยให้ประสบความสำเร็จในด้านงานวิจัยและเชิงพาณิชย์ในอนาคตข้างหน้า และหากผู้อ่านสนใจอยากสัมผัสคันจริงสามารถไปชมได้ภายในงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล ออโตซาลอน ครั้งที่4 ได้ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายนนี้ ณ อาคารชาแลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี
เรื่อง/ภาพ: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th