รถหมดไฟจาก-ไดร์ชาร์จหรือแบตเตอรี่…
เมื่อรถยนต์ไม่ตอบสนองตั้งแต่การสตาร์ท ความเข้าใจแรกคือ “รถหมดไฟ” ส่วนมากจะเป็นเพราะแบตเตอรี่เสื่อมสภาพเก็บไฟไม่อยู่ เมื่อจอดรถเครื่องยนต์ไม่ได้ทำงานสักช่วงเวลาหนึ่ง เช่นจอดตอนกลางคืนเช้ามาจะไม่สามารถสตาร์ทได้ ทั้งๆ ที่ขับใช้งานมาทุกอย่างปกติ
แบตเตอรี่คือสิ่งหลายคนคิดถึงและเข้าใจแต่เพียงว่าเป็นเพราะแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ หรือเกิดปัจจัยอื่นเช่นไฟรั่ว หรือเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถลืมไว้ ทำให้แบตเตอรี่หมดไฟ การแก้ไขเฉพาะหน้าคือนำแบตเตอรี่สำรองหรือจากรถคันอื่นมาพ่วงเพื่อช่วยสตาร์ท เมื่อสตาร์ทติดรถก็สามารถทำงานต่อไปได้เพราะระบบชาร์จไฟจะทำหน้าที่ของมันด้วยไดร์ชาร์จหรืออัลเทอร์เนเตอร์
ถ้ายังไม่ทำการเปลี่ยนแบตเตอรี่หรือนำไปชาร์จ ซึ่งถ้ามันยังมีสภาพดีมันก็จะยังใช้งานได้ แต่โดยมากจะต้องเปลี่ยนใหม่แทบทั้งสิ้น แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่มาแล้ว สองสามวันมันเริ่มจะไฟอ่อน สตาร์ทไม่ค่อยไหวและเกิดอาการไฟหมดอีก หรือในช่วงที่ทำการพ่วงแบตเตอรี่นั้น เมื่อดึงสายชาร์จออกจากแบตเตอรี่ลูกที่พ่วง เครื่องยนต์จะมีอาการสั่น เหมือนจะดับ หรือดับลง นั่นคือสิ่งที่เราสังเกตได้ว่าไดร์ชาร์จรถคันนั้นมีปัญหาเสียแล้ว
ถ้าเปลี่ยนแบตเตอรี่มาแล้วไม่นานเกิดอาการไฟหมดอีก จำเป็นต้องตรวจสอบระบบไฟชาร์จ ซึ่งถ้ามีการติดตั้งเกจ์วัดกระแสไฟชาร์จเอาไว้ที่รถก็สามารถเห็นข้อบ่งชี้ได้ชัดเจน แต่รถบางรุ่นก็อาจจะมีไฟเตือนขึ้นโชว์ให้รู้ แต่ถ้าไม่มีอะไรเลยเราต้องใช้เครื่องมือเข้ามาช่วย นั่นคือเครื่องมือวัดไฟ (มัลติมิเตอร์) หรืออุปกรณ์สำหรับตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ในระบบไฟโดยเฉพาะ
ถ้าไดร์ชาร์จสร้างกระแสไฟมาได้น้อยกว่ามาตรฐาน โดยปกติจะต้องมีกระแสการชาร์จไม่ต่ำกว่า 12 โวลท์ (+) ขึ้นไป นั่นจึงถือว่าปกติ ถ้าเป็นที่ไดร์ชาร์จผิดปกติเราต้องแก้ไขที่ตัวนี้ก่อน ไม่เช่นนั้นถึงเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ไปก็จะใช้งานได้ไม่นานจะเสื่อมสภาพเร็วอีก เป็นการแก้ปัญหาไม่จบ เสียเงิน เสียเวลาซ้ำซ้อน
อายุการใช้งานของแบตเตอรี่โดยทั่วไปอยู่ที่ราว 1 ปี 6 เดือน ส่วนไดร์ชาร์จนั้นควรตรวจเช็คทุก 20,000 กิโลเมตร
ข้อควรระวัง การทำงานเกี่ยวกับระบบไฟควรให้ผู้ที่มีความเข้าใจ เป็นผู้ปฏิบัติจะปลอดภัยที่สุด
เรื่อง : ศิปิวรรธ ปานกลาง
เครดิตภาพ: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th