รู้ก่อนทำ !! ซ่อมสี ทำสีรถยนต์ใหม่ เลือกให้ดีจะได้ไม่เจ็บ
รถยนต์จะสวยได้นอกจากการดีไซน์รูปลักษณ์ภายนอก และลายละเอียดต่างๆแล้ว อีกอย่างที่ช่วยเสริมให้รถยนต์คันโปรดของคุณโดดเด่นยิ่งขึ้นนั้นก็คือสีตัวถังรถยนต์ที่มีความสดใส เงางาม วิปวับ แน่นอนสีรถยนต์เดิมๆที่ออกจากโรงงานผลิตมานั้นมันดีที่สุดอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเกิดประสบอุบัติเหตุทำให้เราต้อง ทำสีรถยนต์ คันโปรดใหม่ เราจะเลือกสีประเภทไหนเพื่อที่จะได้สีที่สดใส วิปวับ ให้ใกล้เคียงออกจากโรงงานมากที่สุด เพื่อนๆน่าจะเคยได้ยินคำเหล่านี้อย่างเช่น สีแห้ง, สี 2K กันมาบ้าง ไปดูความหมายและคุณสมบัติของคำเหล่านี้กันเลยดีกว่า
สีสำหรับรถยนต์สรุปได้ง่ายๆ มีทั้งหมด 3 ประเภท
- สี OEM : คือสีที่ใช้ในโรงงานประกอบรถยนต์ สีชนิดนี้มีเพียงองค์ประกอบเดียว ในการใช้งานอาจนำมาผสมกับตัวทำละลายเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น สีชนิดนี้จะแห้งตัวโดยการการอบที่อุณหภูมิสูงประมาณ 120-160 oC จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สีอบ” (High Bake Paint) หลังจากสีแห้งตัวแล้ว จะมีฟิล์มสีที่มีคุณภาพดีมาก ความแข็งแรงของชั้นฟิล์มสีสูง มีความทนทานต่อตัวทำละลายเช่นทินเนอร์ หรือน้ำมันเบนซิน / ดีเซลได้ดีมาก และทนทานต่อสารเคมีต่างๆ เช่นน้ำมันเบรกได้ดี นอกจากนี้ยังมีการยึดเกาะที่ดีเยี่ยม ให้ความเงาที่ดี มีเนื้อสีมาก รวมทั้งสามารถทนทานต่อแสงแดดได้ดี จึงไม่ซีดจางง่าย มีความคงทนสูงและคงสภาพเดิมได้นานมาก
- สี 1K : คือสีระบบ 1 องค์ประกอบ (1 Komponent) คือประกอบด้วยส่วนของตัวสีเพียงอย่างเดียว ในการใช้งานอาจนำมาผสมกับตัวทำละลาย เช่นทินเนอร์เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น แต่ตัวทำละลายที่นำมาผสมนี้ จะไม่นับเป็นองค์ประกอบ เนื่องจากตัวทำละลายจะระเหยตัวออกไปจนหมดหลังการใช้งาน เหลือเพียงฟิล์มสีที่แห้งตัวแล้วเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว เราจะเข้าใจว่าสี 1K หมายถึง “สีแห้งเร็ว” ซึ่งไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากสี 1K มีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่ สี 1K ซินเทติกอีนาเมล หรือสีน้ำมัน เป็นสี 1K แบบแห้งตัวช้า ซึ่งแห้งตัวโดยการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ (Oxidation) สี 1K ไนโตรเซลลูโลส เป็นสี 1K แบบแห้งตัวเร็ว ซึ่งแห้งตัวโดยการระเหยตัวของตัวทำละลาย เช่นทินเนอร์ (Physical Drying) สี 1K อะคริลิค เป็นสี 1K แบบแห้งตัวเร็ว ซึ่งแห้งตัวโดยการระเหยตัวของตัวทำละลาย เช่นทินเนอร์ (Physical Drying)
- สี 2K : คือสีระบบ 2 องค์ประกอบ (2 Komponent) คือประกอบด้วยส่วนของตัวสี ซึ่งคือองค์ประกอบที่ 1 และตัวเร่งปฏิกิริยา (Hardener หรือ Activator) ซึ่งคือองค์ประกอบที่ 2 โดยก่อนใช้งานต้องนำทั้ง 2 องค์ประกอบมาผสมกันตามอัตราส่วน เพื่อให้เกิดการทำปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งจะทำให้สีเกิดการแห้งตัว (Chemical Drying) สี 2K ที่ใช้ในงานสีรถยนต์ จะมี 2 ชนิดหลักด้วยกัน คือสี 2K แบบ “อีพ็อกซี่” และสี 2K แบบ “โพลียูรีเทน” (หรือผสมกับอะครีลิค) สำหรับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ จะเป็นสารประเภท ไอโซไซยาเนท (Isocyanate) ซึ่งจะทำให้สีเกิดการแห้งตัวภายหลังผสมตามอัตราส่วนที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด สี 2K หลังจากแห้งตัวแล้ว จะมีคุณสมบัติในด้านความแข็งแรงของชั้นฟิล์มสีสูง มีความทนทานต่อตัวทำละลายเช่นทินเนอร์ หรือน้ำมันเบนซิน / ดีเซลได้ดีมาก และทนทานต่อสารเคมีต่างๆ เช่นน้ำมันเบรกได้ดี นอกจากนี้ยังมีการยึดเกาะที่ดีเยี่ยม ให้ความเงางามสูง มีเนื้อสีมาก รวมทั้งสามารถทนทานต่อแสงแดดได้ดี จึงไม่ซีดจางง่าย มีความคงทนสูงและคงสภาพเดิมได้นานมาก กล่าวคือมีคุณสมบัติที่เทียบเคียงได้กับสี OEM
ทำสี 1K หรือ 2K แบบไหนดีกว่ากัน
เพราะการแห้งตัวของสีถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลถึงคุณภาพของการทำสี การแห้งตัวจะเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างองค์ประกอบ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะอยู่ในเรซิ่น (RESIN) ของสี และอีกส่วนอยู่ในตัวเร่งหรือฮาร์ดเดนเนอร์ (HARDENER) นั้นเอง ถือว่าเป็นการแห้งตัวที่ทำให้ได้ฟิล์มที่แห้งสมบูรณ์ ฟิล์มสีจึงค่อนข้างแข็งแกร่งเป็นอย่างดีครับ ด้วยคุณสมบัติของตัวทำปฎิกิริยาทั้งเรซิ่นและตัวฮาร์ดเดนเนอร์ จึงทำให้สีระบบ 2K มีคุณสมบัติเทียบเท่าสี OEM ในรถที่ออกมาจากโรงงาน อีกทั้งเรื่องความทนทานในการรักษาสภาพคงเดิมของสีไว้ได้ถึง 5 ปี ทนทานได้ดีต่อสภาพอากาศ และความเงางาม
รู้ไว้จะได้เตรียมใจ
อีกอย่างที่เพื่อนๆควรรู้ไว้ คือในการซ่อมสีหรือเปลี่ยนสี ไม่ว่าจะทำที่อู่สีหรือที่ศูนย์บริการมาตรฐานจะใช้สีอยู่เพียงแค่ 2 ประเภทนี้เท่านั้นคือ 1K หรือ 2K ไม่สามารถใช้สีประเภทเดียวกับที่โรงงานประกอบรถยนต์ใช้ได้ เพราะด้วยเรื่องของขั้นตอนการอบสีที่ไม่ว่าอู่หรือศูนย์บริการมาตรฐาน ก็ไม่สามารถอบสีที่อุณหภูมิสูงเท่าโรงงานผลิตรถยนต์ได้ที่อุณหภูมิสูงถึง 120-160 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้นการทำสีรถยนต์ใหม่คุณจะได้เพียงแค่เทียบ หรือใกล้เคียงกับเท่าโรงงานเท่านั้น ไม่เหมือนสีเดิมจากโรงงานแน่นอน
เลือกอู่ หรือศูนย์บริการ ที่มีมาตรฐาน
นอกจากระบบสีที่ใช้แล้วนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกเช่น ยี่ห้อสี, เกรดสีโป้ว, สีรองพื้น, ความละเอียดและฝีมือของช่าง ซึ่งเพื่อนๆควรศึกษาข้อมูลของอู่ หรือศูนย์บริการนั้นๆให้ดีก่อนตัดสินใจ ทั้งขนาดของอู่ อุปกรณ์มีครบหรือไม่ มีห้องอบหรือเปล่า มีห้องผสมสีหรือไม่ ใช้สียี่ห้ออะไร ประเภทไหน สถานที่เก็บรถเป็นระเบียบหรือเปล่า สุดท้ายเช็คดูรีวิวของทางร้านว่าฝีมือเป็นอย่างไร และเข้าไปพูดคุยก่อนนำรถเข้าไปทำ เรื่องราคาค่าทำอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย อู่สีบางที่ค่าทำราคาแพงแต่ผลงานแย่ๆ ก็มีหลายเจ้านะครับ เลือกให้ดีจะได้ไม่เสียใจภายหลังครับ
ทำสีรถยนต์
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
ภาพ : www.riverside-ortenau.de
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th