รู้จักมาตรฐาน IP กันแล้วหรือยัง
เดี๋ยวนี้นาฬิกาสำหรับใช้งานทั่วไปเริ่มดูเหมือนจะไม่ใช่นาฬิกาในแบบที่เราคุ้นเคยกันประจำ ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของ Smart Watch คือ ความเปลี่ยนแปลงของอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของมาตรฐานความทนทานในด้านต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าเราจะไม่สามารถเอาของที่มาจากนาฬิกาปกติทั่วไปมาใช้งานได้
แน่นอนว่า เราต้องบอกว่าคุณต้องยอมรับว่าสิ่งที่คาดอยู่บนข้อมือคุณนั้นไม่ใช่จักรกล (ไม่ว่าจะเดินในรูปแบบอัตโนมัติ หรือควอตซ์) แต่มันดูเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกย่อส่วนลงมาให้เป็น Wearable เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถพกพาไปไหนต่อไหนได้ หรือแม้กระทั่งการใช้งานในแบบ Outdoor ที่หลายคนเริ่มนำ Smart Watch มาใช้งานในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการวัดคลื่นหัวใจ หรือ Heart Rate เวลาที่ออกกำลังกาย
ตรงนี้ไม่ต้องสงสัยกัน เพราะว่าไม่ใช่แค่คุณเท่านั้นที่มองว่า Smart Watch คือ เทคโนโลยีที่อยู่บนข้อมือ หรือถู้ดตามแบบชาวบ้านหน่อยคือ เอาเครื่องใช้ไฟฟ้ามาคาดข้อมือ ดังนั้น ในเรื่องของมาตรฐานสำหรับบ่งบอกความ ‘ถึก’ ของอุปกรณ์เหล่านี้ จึงต้องแตกต่างออกไปจากนาฬิกาปกติ
และนั่นคือที่มาของการอ้างอิงค่า IP Standard เหมือนกับพวก Smart Phone เพราะด้วยความที่ผู้ผลิตต่างจัดกลุ่มให้ทั้งคู่มีความเหมือนกันในแง่ของกายภาพ และสิ่งที่อยู่ข้างใน IP ก็คือ ค่ามาตรฐานการป้องกัน ซึ่งจะเป็นค่าแสดงระดับการป้องกันของกล่อง แผงไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้านั่นเองครับ โดยที่ค่า IP นั้นจะแสดงด้วยตัวเลข 4 หลัก คือ IPXXXX โดยที่ตัวเลขหลักแรกจะหมายถึงการป้องกันจากของแข็ง ซึ่งจะมีตั้งแต่ 0-6 ส่วนตัวเลขหลักที่ 2 จะหมายถึงการป้องกันจากของเหลว ซึ่งจะมีตั้งแต่ 0-8 ส่วนตัวที่ 3 หมายถึงความต้านตานต่อการกระแทกในเชิงกลไก และหลักสุดท้ายเป็นออพชั่นที่จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต โดยจะใช้ตัวหนังสือแทนตัวเลข
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน มาตรฐาน IP Code จะแสดงแค่ 2 หลักเท่านั้น โดยส่วนที่ 3 และ 4 ได้มีการยกเลิกการใช้งานไปแล้ว และในกรณีของ Smart Watch ส่วนใหญ่จะแสดงแค่หลักที่ 2 เท่านั้น เราจึงมักจะได้เห็นคำในลักษณะ IPX7 หรือ IPX4 โดยตัว X ข้างหน้าถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนหลักแรกที่ไม่ได้มีการระบุมาตรฐาน
ความหมายของ IP Standard
หลักแรก
1 – มีการป้องกันจากของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 มม. ขึ้นไป
2 – มีการป้องกันจากของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 12 มม. ขึ้นไป
3 – มีการป้องกันจากของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 2.5 มม. ขึ้นไป
4 – มีการป้องกันจากของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 มม.
5 – มีการป้องกันจากฝุ่นผงละออง แต่ต้องเป็นฝุ่นละอองของสารที่ไม่ทำให้เกิดอันตราย
6 – มีการป้องกันจากฝุ่นผงละอองของสารที่อาจทำให้เกิดการกัดกร่อน หรือเป็นอันตรายได้
หลักที่ 2
0 ไม่กันน้ำเลย
1 กันฝนตกพรำๆ ในปริมาณ 1 มิลลิเมตรได้เป็นเวลา 10 นาที
2 กันฝนตกปรกติ เทียบเท่ากับปริมาณฝนตก 3 มิลลิเมตร (ฝนตกจากด้านบน มุมไม่เกิน 15 องศา)
3 กันฝน กันน้ำกระเด็นใส่ (จากด้านบน มุมไม่เกิน 60 องศา) โดยอัตราน้ำไหล 10 ลิตร/นาที
4 กันน้ำกระเด็นใส่ได้ในทุกทิศทาง
5 กันน้ำฉีดใส่ได้ในทุกทิศทาง (การทดสอบเพิ่มเรื่องแรงดันน้ำที่ฉีดใส่)
6 กันน้ำระดับที่มาจากทุกทิศทางเหมือนกับทะเล
7 อยู่ในน้ำได้ชั่วคราว สามารถแช่ในน้ำได้ 30 นาทีที่ระดับความลึก 1 เมตร
8 ใช้งานใต้น้ำได้ (ผู้ผลิตต้องระบุระดับความลึก)
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th