รู้ยัง !! ตำรวจตั้งด่านได้แค่ 3 แบบ นอกนั้น……
จากเหตุการณ์ที่เป็นข่าวโด่งดังในขณะนี้ กรณีที่นักร้องสาว นั่งรถยนต์มากับเพื่อนเพื่อจะไปเล่นตรี ที่จังหวัด พระนครศรีอยุธยา แล้วอยู่ๆเกิดมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงออกมาโบกแบบไม่มีป้ายหรือไฟบอกว่าให้ชะลอแต่อย่างใด เป็นสาเหตุให้รถยนต์คันแรกเบรกแบบกระทันหัน เพราะคิดว่าตำรวจเรียกตัวเอง รถของนักร้องสาวที่ตามมาก็เบรกแบบกระชั้นชิดมาก สุดท้ายรถบรรทุกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการเรียกตรวจเบรกไม่อยู่ คาดว่าคงเป็นเพราะน้ำหนักของตัวรถที่หนักจึงต้องใช้ระยะเบรก ชนไปที่ด้านท้ายของรถนักร้องสาวอย่างแรก ตัวรถของนักร้องสาวพุงไปชนรถยนต์คันหน้าอีกทีหนึ่ง ทำให้รถยนต์ทั้ง 3 คันได้รับความเสียหาย
ต่อมานักร้องสาวได้โพสต์ข้อความลงใน เฟสบุ๊ค จึงทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นดังขึ้นมา ชาวเน็ตต่างตังคำถามว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านลอยแบบนี้ได้หรอ จนมีนักข่าวหลายสำนักตั้งประเด็นสอบถามไปยังบิ๊กตำรวจ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตำรวจคงทำตามยุทธวิธีอยู่แล้ว เบื้องต้นทราบว่าผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ตำรวจทั้ง 2 นาย หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้รายงานตัวที่ บก.ทล.พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ว่ากระทำผิดวินัย หรือกฎระเบียบอย่างไรบ้าง ในความเป็นจริงรูปแบบการตั้งด่านของตำรวจทางหลวงและตำรวจท้องที่ มีลักษณะคนละรูปแบบ อยู่ที่พื้นที่และความเหมาะสม ตนสั่งกำชับไปตลอดในเรื่องอุบัติเหตุต่างๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่อาจทำให้ประชาชนเดือดร้อนให้หลีกเลี่ยงซะ ปัจจุบันเชื่อว่าด่านลอยแทบไม่มีแล้ว การมีกล้องทำให้การทุจริตน้อยลง เพราะสื่อและโซเชียลต่างๆ ช่วยกันจับผิด ตนไม่ได้ปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชา แต่เจ้าหน้าที่ที่จอดรถตรงนั้นคงไม่กล้าทุจริต แต่การที่ไม่ตั้งด่านเลยอาชญากรรมจะโผล่ขึ้นมาเยอะ กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดอาจจะสบายขึ้น เรื่องนี้มันได้อย่างเสียอย่าง ต้องเห็นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย ให้โอกาสทำงานบ้าง ให้ดูความตั้งใจ ตำรวจนายใดไปรีดไถชาวบ้านตนไม่เคยเอาไว้ ไม่ให้อยู่เสียชื่อองค์กร (บทสัมภาษณ์จาก www.thairath.co.th )
หากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะตรวจตราบนท้องถนนหรือทางหลวง จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามมาตรการเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะตั้งด่านตรวจจับได้ตามอำเภอใจ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อด่านลอย
เรามาดูกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตั้งด่านตรวจได้กี่แบบ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่อง มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ที่มีคำนิยามแตกต่างกันไป โดยแบ่งความหมายของด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด ไว้อย่างชัดเจน มี 3 แบบด้วยกัน
- ด่านตรวจ หมายถึง สถานที่ทำการที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ (ความหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522) หรือทางหลวง (ความหมายตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535) โดยระบุสถานที่ไว้ชัดแจ้งเป็นการถาวร การตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน. แล้วแต่กรณี เอาแบบบ้านๆที่เราเคยเห็นกันก็พวกด่านถาวรอยู่ตรงจุดนี้ประจำ ไม่ย้ายไปไหน นั้นเอง
- จุดตรวจ หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกมาปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ หรือทางหลวงในกรณีปกติเป็นการชั่วคราว โดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แต่ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว จะต้องยุบเลิกจุดตรวจดังกล่าวทันที ที่เราเห็นกันบ่อยครั้งในช่วงเย็นๆ หรือเวลากลางคืนหลังจากเที่ยวนั้นละ ตั้งตรวจคนเมา ยาเสพติด
- จุดสกัด หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเป็นการชั่วคราว และจะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว
สรุป ตามความคิดผู้เขียนนะครับ ผมเข้าใจว่าการตั้งด่านของตำรวจปกติ กับตำรวจทางหลวง มียุทธวิธีต่างกัน แต่ก็ไม่สมควรจอดรถแล้วเดินมาโบกกลางถนนแบบนี้ มันจะทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อทรัพย์สิน และการสูญเสียชีวิตทั้งประชาชน และตัวตำรวจเอง เพราะการออกมาโบกจับกระทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือน แถมยังออกมากลางถนน ตัดหน้ารถอีกทำให้ผู้ใช้ถนนตกใจ และไม่รู้ว่าโบกใคร แถมคันไหนวิ่งมาเร็วเบรกไม่อยู่ชนกันแบบนักร้องสาว หรือไม่ก็โชคร้ายเบรกไม่อยู่ชนตำรวจอีก ผมขอเสนอทางที่น่าจะปลอยภัยที่สุด ในเมื่อคุณตำรวจยืนยันว่าการโบกจับแบบไม่มีด่านแบบนี้สามารถทำได้ ก็ควรเปลี่ยนใหม่ เพราะตำรวจทางหลวงท่านมีรถยนต์ ฮอนด้า แอคคอร์ด หรือไม่ก็ โตโยต้า คัมรี่ น่าจะเครื่อง 2000 ซีซี ผมว่าน่าจะไล่รถบรรทุกทันอยู่แล้วมั้ง แล้วทำไมท่านตำรวจถึงไม่ขับเข้าไปด้านท้าย แล้วเปิดไซเรน ประกาศให้จอด แล้วค่อยไปจับคุมก็ได้ปล่อยภัยทั้งประชาชนบนท้องถนน และตัวตำรวจเอง ด้วย ฝากด้วยนะครับพี่ตำรวจ !! ส่วนคนใช้รถใช้ถนน ถ้ามั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายก็อย่ากลัวครับ เจอด่าน อาจจะทำให้เสียเวลาไปบ้าง แต่ผมก็เชื่อว่าทุกคนเข้าใจ คิดเสียว่ามีคนคอยห่วงใยเมื่ออยู่บนท้องถนน สวัสดีครับ…
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
ภาพ: postjung.com/ www.thairath.co.th/phanpolicestation.blogspot.com