ZF พาเหินฟ้าสู่เมืองเบียร์ โชว์นวัตกรรมใหม่พลิกโฉมวงการรถบรรทุก
ครั้งนี้เราได้มีโอกาศรับเชิญจากทางบริษัท ZF ให้บินเหินฟ้าสู่ประเทศเยอรมัน เมืองอาเคน เมืองเล็กๆ ทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี มีชายแดนติดต่อกับประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม อาเคนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าบัด อาเคน (Bad Aachen) ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งน้ำ เพราะอาเคนมีธารน้ำแร่ไหลผ่านตัวเมือง จึงเป็นที่มาของชื่อเมือง นอกจากธารน้ำแร่แล้วอาเคนยังมีโบสถ์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพันปีมีชื่อเรียกตามชื่อเมืองว่าโบสถ์อาเคนหรือ Aachen Cathedral โบสถ์แห่งนี้สร้างโดยพระเจ้าชาร์เลอมาญตั้งแต่ปี ค.ศ. 805 ด้วยความเก่าแก่และมีมนต์ขลังนี้เองโบสถ์แห่งนี้จึงได้เป็นหนึ่งในมรดกโลกที่รับรองโดย UNESCO
เมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์และมนต์ขลังทางสถาปัตยกรรมแห่งนี้เป็นสถานที่จัดงาน Global Press Event ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 59 ของบิ๊กด้านการซัพพลายชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ระดับโลก ZF Friedrichshafen AG โดยครั้งนี้ ZF ได้เชิญสื่อสายยานยนต์จากทั่วโลกรวมทั้งกรังด์ปรีซ์เองก็ได้รับเกียรติในครั้งนี้ด้วย งานนี้จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ผลประกอบการในช่วงปี 2014-2015 และแผนการดำเนินธุรกิจหลังจากการเข้าซื้อกิจการของกลุ่มบริษัท TRW มาได้ประมาณ 1 ปี รวมถึงสาธิตและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทดลองขับขี่และสัมผัสประสบการณ์เทคโลยีใหม่ๆ ของ ZF โดยครั้งนี้จะเน้นการสาธิตไปที่กลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และภาคการขนส่ง โลจิสติกส์ใน 3 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่ Safety, Efficiency และAutonomous Driving ทั้งนี้รายละเอียดจะแจงให้ทราบในส่วนถัดไป
ชมเมืองกันจนหน่ำใจเรามาทำงานกันดีกว่า เริ่มต้นก็รับข่าวดีเลยว่าวันนี้ฝนอาจตกที่สนามทดสอบ ทำใจล่วงหน้าว่าอาจจะไม่ได้สัมผัสนวัตกรรมระดับโลกอย่างใกล้ชิด แต่พอถึงสนามทดสอบ ATC (Aldenhoven Testing Center) ที่เมืองอัลเดนโฮเฟ่นซึ่งอยู่ห่างจากเมืองอาเคนสถานที่พักไม่ไกลมากนักประมาณ 25 กม. ก็หายห่วง เพราะท้องฟ้าปรอดโปร่งไร้วี่แววเมฆฝน สายลมพัดเย็นเป็นใจให้คณะสื่อทั่วทุกมุมโลกได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่อย่างใกล้ชิด
ก้าวแรกที่มาถึงสนามทดสอบภายในงานนอกจากสนามทดสอบที่มีรถบรรทุกและยานยนต์เชิงพาณิชย์หลากหลายรุ่นจอดโชว์ตัวคอยต้อนรับแล้ว ก็ยังมีเต็นท์หลักขนาดใหญ่ที่ภายในเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์สำหรับสัมมนาและอาหารเครื่องดื่มมากมาย รวมถึงโซนนิทรรศการย่อมๆ ที่ ZF บรรจงนำนวัตกรรมเทคโนโลยีรุ่นล่าสุดมาจัดแสดงให้สื่อได้ชมอย่างเต็มอิ่มไม่ว่าจะเป็นระบบพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นดีไซน์ล้ำอนาคต ระบบ Detagtive Logistics ที่จะมาเปลี่ยนหน้าอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าในอนาคต ระบบ E-Mobility ที่ขับเคลื่อนด้วยชุดส่งกำลังและพลังงานไฟฟ้าช่วยยกระดับไปอีกขั้นให้ภาคการเดินทางโดยสารของผู้คนภายในเมือง ตลอดจนชุดส่งกำลังสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ZF-TraXon และอีกมากมาย มร. ปีเตอร์ เลค บอร์ดกรรมการบริหาร ZF Friedrichshafen AG กล่าวเปิดงานและต้อนรับสื่อมวลชนเข้าสู่งาน Global Press Event อย่างเป็นทางการโดยให้ไกด์ไลน์ถึงแผนการดำเนินงานของ ZF ในอนาคตว่า ZF กำลังมุ่งเข้าสู่ยุคของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติภายในปี 2025 โดยนับว่าการควบรวมกิจการระหว่าง ZF และ TRW เป็นก้าวแรกในการก้าวสู่ยุคระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งแน่นอนว่าแนวความคิดพื้นฐานก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับผู้ใช้รถใช้ถนน ZF เรียกแนวคิดนี้ว่า Vision Zero ด้วยเหตุนี้ ZF จึงระดมองค์ความรู้และเทคโนโลยีล่าสุดของ ZF ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีและความชำนาญของวิศวกรจาก TRW เพื่อพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติหรือ Autonomous Driving ขึ้นโดยมุ่งเน้นถึงความปลอดภัยของคนเดินถนน ผู้ใช้รถจักรยาน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นหลัก และผลที่ได้ก็น่าประทับใจ ZF ตอนนี้มีความแตกต่างเป็นหนึ่งเดียวไม่เหมือนใครด้วยหลักการในการทำงาน SEE – THINK – ACT มร. ปีเตอร์ เลค กล่าวทิ้งท้ายถึงแนวโน้มในอนาคตของ ZF ว่า ZF จะศึกษาความต้องการในภาคอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และยกระดับขีดความสามารถของภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้
ออกมาชมการสาธิตระบบ Evasive Maneuver Assist หรือระบบหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางโดยอัตโนมัติ ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์พระเอกของงานในครั้งนี้ก็ว่าได้เพราะเจ้าระบบนี้ถูกนำมาติดตั้งให้กับรถบรรทุกหรือยานยนต์เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกหลังจากที่ได้มีการทดสอบกับรถยนต์ส่วนบุคคลไปก่อนหน้านี้ เมื่อได้รับสัญญาณ คนขับรถบรรทุกก็เริ่มเร่งความเร็วจนแตะระดับไม่เกิน 80 กม./ชม.โดยประมาณตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้น พี่ใหญ่บิ๊กเบิ้มลำนี้ซึ่งมีพ่วงท้ายลากมาด้วยก็พุ่งเข้าหาสิ่งกีดขวางที่มีลักษณะเป็นกล่องขนาดใหญ่โดยที่คนขับรถบรรทุกยกมือโชว์ไม่จับพวงมาลัย เพื่อให้เห็นว่าคนขับไม่ได้บังคับควบคุมรถเลยในขณะที่รถหักหลบ และแน่นอนว่าระบบทำงานได้เต็มประสิทธิภาพหักหลบออกทางซ้ายไปหนึ่งเลนแล้วรักษาตัวรถให้อยู่ในเลนนั้น ไม่ข้ามไปเลนที่สามก่อนที่รถจะหยุดนิ่ง เพื่อให้คนขับตรวจดูความเรียบร้อยก่อนขับรถออกไปอีกครั้ง ลืมบอกไปว่าทางเจ้าหน้าที่ได้เทน้ำไปทั่วบริเวณลานทดสอบพร้อมทั้งแจ้งว่ารถบรรทุกที่นำมาสาธิตให้ดูนั้นไม่ใช่รถเปล่าแต่แบกน้ำหนักบรรทุกอยู่ด้วยประมาณ 20-40 ตันซึ่งเทียบได้กับภาระน้ำหนักที่ใช้บรรทุกจริงในการขนส่งแต่ละวัน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถของระบบที่ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมแม้ในสภาวะบรรทุกหนักหรือบนสภาพพื้นถนนเปียกก็ตามจากนั้นก็ได้เวลาแยกย้ายแบ่งกลุ่มไปสัมผัสสมรรถนะและเทคโนโลยีระดับโลกตามสเตชั่นต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 สถานีด้วยกัน
Station 1 – Innovation Truck
Evasive Maneuver Assist (EMA)
ด้วยความโชคดีหรืออะไรก็ไม่รู้ทีมสื่อจากไทยแลนด์แดนสไมล์ได้โอกาสที่จะลองนั่งเจ้า Innovation Truck ที่เพิ่งจะได้เห็นว่ามันสามารถหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้เองเมื่อสักครู่เป็นอันดับแรก สถานีนี้จะสาธิตการทำงานของระบบ Evasive Maneuver Assist (ระบบหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางอัตโนมัติ) ซึ่งพัฒนาร่วมกับ WABCO พาร์ทเนอร์ด้านระบบเบรกของ ZF ระบบนี้ผสานการทำงานร่วมกันระหว่างระบบเบรกกับระบบบังคับเลี้ยวโดยอาศัยเซ็นเซอร์ช่วยทำหน้าที่เป็น “ดวงตา” ในการตรวจจับสิ่งกีดขวาง ก่อนที่จะส่งข้อมูลไปยังซอฟท์แวร์เพื่อประมวลผลให้แอ็คชิวเอเตอร์สั่งให้ระบบกลไกต่างๆ ทำงานเพื่อพารถออกจากอันตรายตรงหน้า โดยเซ็นเซอร์สามารถตรวจจับสิ่งกีดขวางได้ไกลถึง 200 เมตร และทำงานได้ขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ดี ก่อนที่ระบบจะบังคับให้รถหักเลี้ยวหลบอัตโนมัตินั้น ระบบจะเตือนคนขับให้ทราบถึงอันตรายที่อาจชนปะทะเข้ากับสิ่งกีดขวางทางด้านหน้าโดยการส่งเสียงเตือนก่อนในขั้นแรก และถ้าหากคนขับไม่ตอบสนองต่อการเตือน ระบบก็จะกะพริบไฟและแสดงสัญญานเตือนบนหน้าจอแสดงผล ซึ่งถ้าคนขับยังไม่ทำอะไรอีก ระบบก็จะทำการเลี้ยวหลบโดยอัตโนมัติเพื่อป้องกันการชนเข้ากับท้ายรถของรถคันหน้า ในกรณีที่คนขับหักเลี้ยวพวงมาลัยในการตอบสนองต่อการเตือน ระบบจะช่วยหักรถหลบไปทางเดียวกันกับที่คนขับหักพวงมาลัยไป เพราะคนขับจะทราบดีกว่าระบบว่าด้านใดของถนนมีพื้นที่ปลอดภัยมากกว่าในการนำรถออกจากอันตราย ถามว่าทำไมถึงต้องหักหลบ ทำไมไม่พยายามหยุดรถในเลนเดิม นั่นก็เป็นเพราะหลายครั้งกว่าที่คนขับจะรู้ตัวหรือระบบทำการเบรกเอง ระยะเบรกก็ไม่เพียงพอต่อการหยุดรถได้อย่างปลอดภัยแล้ว
หลังจากได้มีโอกาสขึ้นไปนั่งก็ทำให้มั่นใจได้เลยว่าระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำจริงๆ เพราะเมื่อรถพุ่งเข้าหาสิ่งกีดขวางจนได้ระยะที่ระบบต้องทำการหักหลบ ระบบก็ทำการส่งเสียงเตือนและแสดงสัญญาณเตือนก่อนที่จะหักหลบและหยุดรถได้อย่างปลอดภัยตามขั้นตอนการทำงานที่ทีมพัฒนาได้อธิบายให้ฟัง และในฐานะผู้ร่วมโดยสารไปด้วยในการสาธิตครั้งนี้ พูดได้เลยว่าระบบนี้นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการรถบรรทุกขนส่งอย่างแท้จริง
Station 2 – Innovation Truck
Adaptive Cruise Control Highway Driving Assist SafeRange
สเตชั่นที่ 2 นี้เรายังคงอยู่กับเจ้า Innovation Truck แต่เราจะมาดูระบบอื่นๆ ที่มากับตัวรถครับซึ่งได้แก่ ระบบควบคุมความเร็วคงที่ปรับตั้งความเร็วอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) ระบบช่วยรักษาช่องทางการเดินรถ (Highway Driving Assist) และระบบหยุดรถขณะถอยอัตโนมัติ (SafeRange) โดยระบบ Adaptive Cruise Control กับ Highway Driving Assist นั้นจะทำให้รถบรรทุกเปรียบเสมือนรถไฟที่วิ่งไปตามรางบนท้องถนนเพราะเมื่อทั้งสองระบบทำงานร่วมกันแล้วรถบรรทุกจะสามารถวิ่งไปในเลนได้เองและสามารถรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัยได้ เมื่อรถคันหน้าชะลอความเร็ว Innovation Truck คันนี้ก็จะชะลอความเร็วลงด้วย และเมื่อรถคันหน้าเร่งความเร็วออกไป Innovation Truck ก็จะเร่งความเร็วขึ้นไปโดยไม่เกินกว่าความเร็วคงที่ที่กำหนดไว้ และเมือรถคันหน้าหยุด รถบรรทุกก็หยุดตาม หรือที่ ZF เรียกลักษณะการเดินรถแบบนี้ว่า Stop & Go นอกจากนี้แล้ว ระบบ Highway Driving Assist ยังช่วยรักษาตัวรถไม่ให้วิ่งออกนอกเลนของตัวเองพร้อมทั้งส่งเสียงเตือนเมื่อตัวรถเริ่มเบี่ยงออกนอกเลนและหักพวงมาลัยเพื่อให้รถยังวิ่งอยู่ในเลนต่อไป ระบบนี้มีประโยชน์มากในกรณีที่คนขับเผลอหลับ หรือเสียสมาธิขณะขับขี่จึงช่วยให้การเดินทางมีความปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ระบบนี้อาจจะไม่ได้ใหม่สำหรับหลายๆ คนเพราะเป็นระบบที่มีใช้งานในรถยนต์ส่วนบุคคลมาตั้งแต่ปี 2015 ตามข้อกำหนดของ IAA แต่นี่เป็นครั้งแรกที่นำมาติดตั้งให้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ในภาคการขนส่ง
ไฮไลท์อีกอย่างของ Innovation Truck ก็คือ ระบบ SafeRange ที่จะหยุดรถทันทีเมื่อมีคนเดินตัดผ่านท้ายรถขณะรถถอยหลังเข้าจอด ยิ่งไปกว่านั้น การถอยจอดรถบรรทุกพ่วงขนาดใหญ่แบบนี้ก็กลายเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส เพราะ Innovation Truck สามารถถอยจอดเทียบลานขนถ่ายสินค้าได้เองโดยไม่ต้องมีคนขับ สิ่งที่ต้องทำหลังจากขับรถเข้ามาในบริเวณคลังสินค้าแล้วก็คือ คนขับจะต้องออกจากรถพร้อมหยิบแท็บเล็ตลงมาและเปิดใช้งานแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อควบคุมรถ ด้วยการสัมผัสที่ปุ่มบนหน้าจอ รถบรรทุกคันนี้จะถอยหลังเข้าจอดเทียบลานขนถ่ายสินค้าเองโดยอัตโนมัติ โดยที่คนขับตรวจดูความปลอดภัยจากภายนอกรถเท่านั้น ในกรณีที่เห็นว่าอาจมีอันตรายเกิดขึ้น รถจะหยุดเคลื่อนที่ทันทีเมื่อปล่อยปุ่มบนหน้าจอแท็บเลต และจะเคลื่อนต่อเมื่อสัมผัสปุ่มอีกครั้ง ระบบนี้เป็นครั้งแรกที่มีการนำชุดรับ-ส่งสัญญาณ GPS พร้อมกล้องอีกสองตัวมาติดตั้งไว้ที่ลานขนถ่ายสินค้าเพื่อสื่อสารกับตัวรถให้รถถอยจอดให้ตรงตำแหน่งอย่างแม่นยำ แสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยสมัยใหม่นั้นไม่จำเป็นจะต้องติดตั้งเฉพาะแต่ในรถอีกต่อไป
ข้อสังเกต ระบบถอยจอดเข้าลานขนถ่ายสินค้าควบคุมผ่านแท็บเลตนั้น ZF เปิดตัวระบบนี้ไปตั้งแต่ปี 2014 แล้ว แต่เวอร์ชั่นใหม่นี้มีความต่างอยู่ที่การควบคุมผ่านแท็บเล็ตสามารถทำได้โดยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว ซึ่งในเวอรชั่นเดิมคนขับจะต้องควบคุมรถทุกอย่างเองไม่ว่าจะเป็นการเข้าเกียร์ หรือการควบคุมทิศทางที่รถเคลื่อนไปก็ตาม ทุกอย่างคนขับเป็นผู้จัดการทั้งหมด แต่ครั้งนี้ด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งเพิ่มเข้าไปที่ลานขนถ่ายสินค้าตามที่กล่าวมา การถอยจอดจึงทำได้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ มีข้อสงสัยไปถามทีมพัฒนาว่าทำไมครั้งนี้จึงเป็นรถพ่วงแค่ตอนเดียว ไม่ใช่สองตอนแบบในรุ่นปี 2014 คำตอบที่ได้ก็มีเหตุผล เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจด้วยรถพ่วงตอนเดียวมากกว่าสองตอน ดังนั้น ZF จึงตัดสินใจทำรถต้นแบบเป็นรถพ่วงตอนเดียวก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้ามีความต้องการใช้รถพ่วงสองตอน ZF ก็ยังคงตอบโจทย์ได้สบายมาก
Station 3 – Innovation Tractor
ในสถานีนี้เป็นการแสดงศักยภาพเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับภาคเกษตรกรรมด้วยระบบเชื่อมต่อรถพ่วงท้ายเข้ากับรถแทรกเตอร์โดยอัตโนมัติ (Automated Hitching) จะว่าไปแล้วก็มีความคล้ายคลึงกับ Innovation Truck ในสถานีที่ 2 ตรงที่รถจะหยุดเมื่อมีคนเดินตัดผ่านด้านหลังรถช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น และคนขับสามารถบังคับควบคุมรถได้ผ่านจอแท็บแล็ต แต่ที่พิเศษคือรถแทรกเตอร์สามารถถอยหลังเข้ามาต่อพ่วงกับรถพ่วงท้ายโดยหูลากจูงประกบเข้าหากันได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ประหยัดเวลาในการต่อพ่วง กิจการภายในฟาร์มก็เสร็จเร็วกว่าเดิม ไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของ Innovation Tractor ก็คือระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่เหมือนกับระบบทั่วไปในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
ที่ระบบช่วยพยุงรถไว้ไม่ให้เคลื่อนถอยหลังประมาณ 2-3 วินาที แต่กับ Innovation Truck นั้น จะมีชุดเสริมกำลังไฟฟ้าเจนเนอเรเตอร์ ZF TERRA+ มาช่วยฉุดรถให้ขึ้นทางลาดชันมากๆ ได้แม้ว่าจะมีรถพ่วงท้ายพร้อมน้ำหนักบรรทุกถึง 20 ตันอยู่ก็ตาม โดยชุดเสริมกำลัง ZF TERRA+ จะสั่งให้ล้อหนึ่งคู่ที่รถพ่วงท้ายทำหน้าที่ขับเคลื่อนประสานพลังกับการฉุดลากของตัวแทรกเตอร์เพื่อช่วยดันรถพ่วงและแทรกเตอร์ให้เคลื่อนผ่านทางลาดชันไปได้ นับว่า ZF เป็นผู้นำทางด้านระบบเครือข่าย เซ็นเซอร์ และระบบอัตโนมัติของโลกอย่างแท้จริง
Station 4 – Ride & Drive
สเตชั่นนี้เปิดโอกาสให้สื่อได้ทดลองนั่งรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ ZF มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างหลากหลาย ซึ่งในส่วนนี้จะขอพูดถึงรถบัสที่เราคุ้นเคยกันดี แต่รถบัสคันนี้พิเศษตรงที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งคัน หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้าจากผู้ผลิตชั้นนำของโลกหลายๆ ค่ายสามารถทำระยะเดินทางได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง เชื่อหรือไม่? ตอนนี้รถโดยสารก็สามารถทำได้แล้วเช่นกัน ซึ่งรถโดยสารสองตอนที่ได้ร่วมนั่งทดสอบครั้งนี้สามารถวิ่งได้ไกลถึง 400 – 500 กม. ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งเลยทีเดียว โดยการชาร์จไฟเต็มต่อครั้งจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง รถโดยสารคันนี้วิ่งโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคารถ ซึ่งจะส่งผ่านกำลังไฟฟ้าไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนล้อให้รถวิ่งไป และในขณะที่รถหยุดหรือจอดที่ป้ายรถประจำทาง พลังงานไฟฟ้าจะถูกชาร์จกลับไปที่แบตเตอรี่ คาดว่าในอนาคตอันใกล้คงได้เห็นบางประเทศในแถบยุโรปใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้านี้กันอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะลดการใช้พลังงานแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เรื่อง : ธนกร พรเลิศรังสรรค์
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ณัฐพล เดชสิงห์ / GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th