สัมภาษณ์พิเศษแชมป์ “Asia Cross Country Rally 2018” ณัฐพล อังฤทธานนท์ ผู้ขับ และ น.อ.พีรพงษ์ สมบัติวงศ์ ผู้นำทาง
ถือว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาสำหรับการได้มาซึ่งตำแหน่งแชมป์การแข่งขันใดสักอย่าง ยิ่งการคว้าตำแหน่งแชมป์ได้ถึง 4 ปีซ้อนด้วยแล้ว ยิ่งเรียกได้ว่าผู้ที่คว้าตำแหน่งมาได้นั้นต้องมากไปด้วยความสามารถ
และประสบการณ์อย่างที่สุด เช่นเดียวกับรายการการแข่งขัน Asia Cross Country Rally 2018 ที่มีผู้ร่วมเข้าแข่งขันจาก 8 ประเทศ ที่จะต้องฝ่าฟันอุปสรรค บนเส้นทางหลากหลายรูปแบบ ในระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร แต่ผู้คว้าตำแหน่งแชมป์มาได้คือ คนไทย ที่สำคัญเป็นการคว้าตำแหน่งแชมป์รายการนี้ได้ถึง 4 ปีซ้อน
ณัฐพล อังฤทธานนท์ ผู้ขับ และ น.อ.พีรพงษ์ สมบัติวงศ์ ผู้นำทาง คือหนึ่งในทีมผู้เข้าแข่งขัน และแชมป์ ที่เรากำลังพูดถึง ซึ่งกว่าที่พวกเขาจะผ่านเส้นทางอันยาวนานนี้ร่วมกันมาได้จนคว้าตำแหน่งแชมป์ 4 สมัยซ้อนมาครอง พวกเขาต้องเจอกับอะไร และมีจุดแข็งใดที่ทำให้พวกเขาก้าวขึ้นมาอยู่จุดนี้ วันนี้เราได้รับเกียรติจากทั้งสองท่าน มาร่วมพูดคุยพร้อมกับถ้วยรางวัลกันถึงที่บริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด
GPI : กวาดรางวัลกับสนามล่าสุดมาทั้งหมดกี่รางวัล อะไรบ้าง?
น.อ.พีรพงษ์ : สำหรับปี 2018 นี้ ทางอีซูซุ และสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย รถเบอร์ 101 กวาดรางวัลมาทั้งหมด 2 รายการ ทั้งรุ่นโอเวอร์ออล และรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล โมดิฟายด์ (T1D)
ณัฐพล : เราเป็นเนวิเกเตอร์คู่ใจนั่งกันมา 5 ปีแล้วครับ
GPI : กว่าจะได้มาแต่ละรางวัลยากแค่ไหน ต้องฝึกซ้อมอย่างไร?
ณัฐพล : ถ้าไม่ได้มีรายการครอสคันทรี ถ้ามีโอกาส และเวลาว่างเราจะไปแข่งแรลลี่สปริ้น และแรลลี่ซ้อมทางครับ
GPI : สำหรับผู้นำทาง มีวิธีฝึกซ้อมอย่างไร?
น.อ.พีรพงษ์ : ไม่ได้มีอะไรมาก ปรกตินอกจากการแข่งครอสคันทรีแล้ว เรายังมีรายการแรลลี่สปริ้นเป็นการฝึกซ้อมของเรา เป็นการฝึกซ้อมในเรื่องของภาษา และความเข้าใจต่างๆ ในการนำทาง
GPI : ย้อนกลับไป มานั่งคู่กันได้อย่างไร?
ณัฐพล : เนื่องจากผมไม่มีผู้นำทางมากกว่า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ผมเองเป็นคนแนะนำรุ่นพี่หลายๆ คนให้เลือกผู้การเป็นคนนำทาง วันนึงก็ย้อนกลับมาถามตัวเองว่าทำไมเราไม่เลือกผู้การมาเป็นคนนำทางซะเองล่ะ ทำไมได้แต่แนะนำว่าผู้การนำทางดี แต่ทำไมเราไม่ได้มานั่งคู่กันซะที จนมีโอกาศที่เราได้เริ่มมานั่งคู่กันจริงๆ เพราะผมดูจากประวัติการแข่งของผู้การมาแล้วว่าเขาน่าจะเป็นผู้นำทางให้ผมได้ เพราะคนนำทางเราต้องดูบุคลิก และไลฟ์สไตล์ของเขาว่าไปกับเราได้หรือเปล่า หนึ่งเลยคือเขาไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้า ผมก็เช่นกัน เรามีอะไรคล้ายๆ กันครับ
GPI : ทำไมถึงเลือกลงแข่งขันในรายการนี้?
ณัฐพล : รายการนี้เป็นการวัดสมรรถนะทั้งตัวบุคคล และรถ เป็นการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติที่มีความหฤโหด แต่ด้วยสภาพพื้นที่ในเมืองไทย หรือภูมิภาคเอเชียเรา ไม่เหมาะกับทะเลทราย ก็เลยเลือกการแข่งขันนี้ ซึ่งเป็นการแข่งขันแรลลี่เรทระยะยาว ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ใช้ระยะทางอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโล
GPI : เพราะอะไรถึงรักรถสไตล์ 4×4 เป็นคนชอบรถสไตล์นี้อยู่แล้วหรือเปล่า?
ณัฐพล : ส่วนตัวผมเป็นคนชอบรถสไตล์ครอสคันทรีอยู่แล้ว ชอบลุยๆ ซึ่งรถสไตล์นี้เท่านั้นครับที่ตอบโจทย์ผม มีทั้งความเร็ว และช้าได้ สามารถวัดอะไรหลายๆ อย่างในตัวบุคคลได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความพร้อม ความใจเย็น ความสุขุมต่างๆ
น.อ.พีรพงษ์ : เรียกง่ายๆ คือ เราทั้งคู่รักในทางฝุ่นครับ ซึ่งการแข่งขันทางฝุ่น เป็นการรวบรวมทุกอย่างเอาไว้หมด
GPI : คิดว่าการเลือกใช้รถสำคัญแค่ไหน ทำไมถึงเชื่อมั่นในตัวรถอีซูซุ?
ณัฐพล : ผมมองว่ารถกระบะอีซูซุ เป็นรถที่สามารถนำชัยชนะมาให้นักแข่งได้ เพราะด้วยความรู้สึกในการขับค่อนข้างต่างๆ รถกระบะรุ่นอื่นๆ ด้วยเครื่องยนต์แรง การตอบสนองดี อัตราการทดเกียร์ดี และสรีระในการนั่งเหมือนเรากำลังนั่งอยู่ในห้องทำงาน คิดว่าเป็นรถที่เหมาะสมที่สุดในการแข่งขันแบบนี้
GPI : การเลือกผู้นำทางมานั่งคู่เป็นสิ่งสำคัญไหม?
ณัฐพล : ผมค่อนข้างเรื่องเยอะพอสมควร ส่วนตัวผม ผมเชื่อในการนำทาง หรือตัวผู้นำทางแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าผมตัดสินใจผิดพลาด หรือเลือกผู้นำทางไม่ดี หรือเขาไม่มีความแม่นยำ ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อตัวผม และรถได้ รวมถึงตัวผู้นำทางเองด้วย เพราะผมจะต่างจากคนอื่นตรงที่ผมเชื่อมั่นในคำสั่งของผู้นำทางแบบไร้ข้อโต้เถียง แม้ว่าผมในฐานะผู้ขับ จับพวงมาลัยเท้าอยู่กับคันเร่ง สามารถบังคับหรือควบคุมรถไปทางไหนได้ด้วยการตัดสินใจด้วยตัวเองก็จริง แต่ถ้าเขาขานมาผมจะนึกภาพออกเลยว่าข้างหน้าเราต้องเจอกับอะไร แต่ถ้าผู้นำทางพูดมาผิด นั่นหมายความว่าผมก็จะนึกภาพออกมาผิด เช่น เขาขานมาว่า ทางขาดแหว่งขวา เราจะรู้ว่า คำว่า แหว่ง ของเขานั้นหมายถึงอะไร จะทำให้รถเสียอาการได้ไหม หรือไม่เสียอาการ ข้างหน้าเป็นฝายน้ำ หรือทางขาด เราต้องเข้าใจกันหมด ถ้าบอกว่าไปไม่ได้ ผมก็มั่นใจว่าไปไม่ได้ เพราะผมเป็นคนมุ่งมั่น ถ้าทำอะไรแล้วต้องเต็มทื่
น.อ.พีรพงษ์ : จริงๆ ผู้นำทางถือว่าสำคัญมาก เรียกว่าเป็นคนชี้เป็นชี้ตายสำหรับผู้ขับก็ได้ ก่อนอื่น ผู้นำทางจะมีผู้นำทางอยู่ในมือ และจะต้องอ่านทำความเข้าใจทุกอย่างให้ละเอียด เพื่อให้ผู้ขับเห็นภาพว่า คำสั่งตรงนั้นเป็นอย่างไร แบบไหนเร็วได้ ผ่อนได้ อีกสิ่งหนึ่งคือเราต้องเชื่อใจผู้ขับด้วย ว่าความสามารถของเขาจะทำตามคำของผู้นำทางได้
GPI : หัวใจสำคัญที่สุดของการเป็นนักแข่งในความคิดคุณคืออะไร?
ณัฐพล : สำหรับในการแข่งขันครอสคันทรี อย่างแรกเลยคุณต้องมีร่างกายที่พร้อม มีความอดทน จิตใจคุณต้องแข็งแกร่ง ในวันที่แพ้คุณต้องยอมรับให้ได้ และในวันที่ชนะ คุณก็ต้องพัฒนาตัวเองต่อไป ไม่อย่างนั้นคุณก็จะยืนอยู่บนชัยชนะไม่ได้
น.อ.พีรพงษ์ : สำหรับผม ความพร้อมของร่างกายต้องเป็นหลักสำคัญ เพราะถ้าร่างกายเราพร้อม เราก็จะสามารถควบคุมรถได้ทุกอย่าง รายการครอสคันทรีไม่ได้มีเพียงถนนทางเรียบ แต่จะต้องข้ามป่า เขา บุก ลุยโคลน สิ่งนี้คืออุปสรรค บางครั้งอุปสรรคเหล่านี้อาจทำให้รถติดหล่ม หรือตกข้างทาง ทำให้ร่างกายเราต้องพร้อมที่จะฝ่าฟัน แม้จะต้องลงมาลากวินซ์ หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอื่นๆ ได้ตลอดระยะทางแข่ง เพราะทุกวินาทีมีค่า เราต้องแก้ปัญาให้ได้
GPI : จุดแข็งที่ทำให้คุณคว้าแชมป์มาได้หลายปีซ้อนคืออะไร?
ณัฐพล : การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าครับ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร เรามองเป็นเรื่องง่ายไปแล้ว เพราะที่เจอมามันมีหลายครั้งที่หนักกว่านี้ ดังนั้นเมื่อเจอปัญหา เราก็คิดว่ามันไม่ได้ยากอีกแล้ว ที่สำคัญในการแข่งขันแต่ละครั้ง เราจะไม่ค่อยตั้งความหวังไว้สูงสุด เพราะการแข่งขันรถยนต์มันมีปัจจัยหลายอย่าง เราคาดหวังอะไรไม่ได้ มันอยู่ที่ความพร้อมที่เราจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรเท่านั้นเอง
GPI : ช็อตไหนในสนามที่ประทับใจมากที่สุดในรายการล่าสุด?
ณัฐพล : มีหลายช็อตนะครับ เช่น ตอนที่ลุยน้ำระยะทางยาว 20 กว่ากิโลเมตร ต้องบอกว่าใน 7 วันที่วิ่งออกจากจุดสตาร์ทมา เรานำมาตลอด ไม่มีวันไหนที่เราตำแหน่งตกลงไป ฉะนั้นเราจะเจอสิ่งแปลกใหม่ตลอดทาง เช่น ตอนที่เราไปถึงมีการบินข้ามทางไป หลุมใหญ่ ต้นไม้ล้ม เจอน้ำขวางหน้าเหมือนทางตัน แต่เราต้องไปทางนั้น การแข่งครอสคันทรี การขับตาม มันขับง่ายครับ เพราะคนตามก็จะเห็นทางที่คันนำเปิดไว้อยู่แล้ว แต่ในการเป็นผู้นำ เราจะเจอสิ่งแปลกใหม่ก่อนคนอื่น เราจะนำอย่างไรให้คนข้างหลังเร็วได้ไม่เท่าเรา เหมือนกับว่าถ้าคุณเห็นคนข้างหน้าเขาเปิดประตูออกไป คุณตามมา คุณก็ต้องรู้ว่าจะต้องเดินออกทางประตูไหน แต่ถ้าคุณไม่เห็นคนเปิดประตู คุณจะรู้ได้ไงว่าคุณจะต้องเดินออกทางไหน ซึ่งผมในการขับนำมา ผมต้องเป็นคนหาประตูบานนั้น ดังนั้นผมบอกเลยว่า มีเงินก็ซื้อไม่ได้ เพราะทั้งหมดมันเกิดมาจากประสบการณ์ล้วนๆ ที่มองหาความน่าจะเป็นตรงนั้นเจอ
ประสบการณ์พวกนี้ จะให้ผมไปเล่าต่อก็ได้ครับ แต่มันไม่มีทางถ่ายทอดออกไปได้ทั้งหมด คุณต้องไปเจอเองเท่านั้น เพราะไม่มีใครแบกความสำเร็จมาขาย ที่สำคัญความสำเร็จนั้นต่อให้คุณฟัง หรือใช้เงินจ่ายมา คุณก็ไม่มีทางรู้ว่าความสำเร็จนั้นได้มาได้ยังไง ถ้าคุณไม่ลงสนามเอง
น.อ.พีรพงษ์ : สำหรับผมประทับใจเส้นทางลุยน้ำ ระยะ 1.2 กิโลเมตร เพราะก่อนวันแข่ง ผู้จัดการแข่งขันบรรยายสรุป และแจ้งแล้วว่าคุณจะต้องวิ่งในทาง ถึงวันแข่งจริง มีรถตกข้างทางไปหลายคัน เพราะน้ำกับต้นข้าวเสมอกันหมด ฉะนั้นก็จะมองไม่เห็นทาง ถ้าเลี้ยวผิดคือจมแน่นอน คือต้องมีความแม่นยำตามการนำทางมาก
GPI : วางอนาคตกับการเป็นนักแข่งไว้อย่างไร?
ณัฐพล : ผมเริ่มแข่งรถมาตั้งแต่อายุ 14 ปี วันนี้ ผมอายุ 30 ฉะนั้นผมอยู่กับการแข่งมาทั้งหมด 16 ปี ถ้านับเป็นชั่วโมงในชีวิตก็เกินครึ่งหนึ่งแล้วครับ วันนี้มีโอกาสถ่ายทอดให้กับหลายๆ คน ก็คิดว่าจะยังแข่งและพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ให้รุ่นน้องๆ ต่อไปเรื่อยๆ ครับ
GPI : คิดว่าจะลงแข่งด้วยการขับคู่กันแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไหม?
ณัฐพล : แน่นอนครับ เพราะแค่มองหน้าเราก็รู้กันแล้วต้องการอะไร ไม่ต้องพูดกันเยอะ แม้ว่าเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันทุกวันก็จริง แต่ชีวิตบนรถเราอยู่ด้วยกันตลอด ผมรู้ว่าผู้การต้องการอะไร และผู้การก็รู้ว่าผมต้องการอะไร เช่น ผู้การเขารู้ดีว่าผมชอบกินช้อกโกแลต เขาก็จะเตรียมช้อกโกแลตไว้ให้ เวลาผมขับแล้วรู้สึกเพลีย เขาก็จะรู้ รู้ทุกอย่างจริงๆ ตัวผมขึ้นรถ ผมไม่พกอะไรเลย แต่ข้างผู้การจะมีของทุกอย่างที่ผมชอบ เขาพกทุกอย่าง ทั้งโค้ก กล้วย ช้อกโกแลต เขามีให้หมด แสดงให้เห็นเลยว่าเขาใส่ใจในรายละเอียดทุกๆ อย่าง ทั้งๆ ที่ตัวเขาไม่กินอะไรพวกนี้เลย แต่พกทุกอย่างมาให้ผม
GPI : รายการไหนที่อยากไปแข่งที่สุด และยังไม่ได้ไป
ณัฐพล : อยากไปวิ่งรายการ AFRICA ECO RACE ครับ เพราะเป็นหนึ่งในรายการที่ฝันไว้
GPI : ฝากถึงน้องๆ นักแข่งรุ่นใหม่ ที่มีฝันอยากเป็นนักแข่งมืออาชีพ
ณัฐพล : สำหรับน้องที่เป็นนักแข่ง ผมยินดีให้คำปรึกษาร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผมมองว่าใครที่มีโอกาสดี และพร้อม ผมก็พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้หมดครับ เพราะถ้าชอบจริง คุณต้องไปศึกษาเอง ตัวผมคงพูดให้เขารู้ได้เพียงแค่ครึ่งนึงจากประสบการณ์ในสนาม แต่หลังจากนั้นทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับตัวน้องๆ เอง ที่จะออกไปเผชิญกับประสบการณ์จริงในสนาม เพราะในยุคๆ หนึ่งหลายๆ อย่างมันคงเป็นระบบดิจิตัล แต่ในตอนนี้ที่เราสอนไปอาจจะเป็นอะนาล็อก และอาจจะมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพิ่มเติมเข้ามา สมัยก่อนอาจจะใช้ความรู้สึกในการวัด แต่สมัยนี้มีเครื่องมือเข้ามาช่วยวัดค่าต่างๆ มากมาย คำนวณจากคอมพิวเตอร์ให้เสร็จสรรพ เราอาจจะสอนไปในช่วงรอยต่อ ถามว่าบางครั้งเราอาจจะเสียเปรียบคนรุ่นใหม่ในเรื่องนี้ แต่คนรุ่นใหม่ก็จะเสียเปรียบคนรุ่นเก่าหน่อยตรงที่เขาเริ่มมาจากการใช้ความคิดของตัวเอง และประสบการณ์ส่วนตัว
น.อ.พีรพงษ์ : ผมขอฝากเป็นกีฬาการแข่งรถดีกว่าครับ กีฬาประเภทนี้มีทั้งการแข่งในทางเรียบ และทางฝุ่น ซึ่งเป็นกีฬาที่มีความอันตราย แต่ถ้าเรามาแข่งในสนาม ความปลอดภัยมันคือร้อยเปอร์เซ็นต์ สำหรับการนำทาง ชั่วโมงนี้หาเรียนยากมาก ผู้รู้มีน้อย เนื่องจากสมัยนี้บ้านเราพัฒนา ถนนหนทางในการแข่งแรลลี่จะมีน้อยลง สำหรับผู้ที่จะมาร่วมการแข่งขันก็มีน้อยลง ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ยังไงก็แล้วแต่การนำทางก็เป็นศาสตร์ศาสตร์หนึ่ง ที่เป็นสากล การออกคำสั่งทุกอย่างเป็นสากล ถ้าใครอยากที่จะเรียน หรืออยากลอง ก็ต้องมาลองเองในสนามครับ
เรื่อง : สัญชวัล จินดารัศมี
ภาพ : พิศวัส พงษ์พุฒิโสภณ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th