ใช้จริงมลพิษไม่ผ่าน เครื่องยนต์เล็กอาจถึงทางตัน
เทคโนโลยีเครื่องยนต์ขนาดเล็ก แต่ให้พลังใกล้เคียงรุ่นใหญ่และยังได้รับความนิยมในตลาดปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอัตรากินเชื้อเพลิงน้อยกว่ารุ่นใหญ่อยู่มากโข แต่ถึงอย่างไรหากเครื่องยนต์เล็กมากเกินไปใช่ว่าจะเป็นเรื่องดี เพราะผู้ผลิตรถยนต์หลายรายหันมาอัพไซส์ขนาดเครื่องยนต์ให้ใหญ่ขึ้น เนื่องจากเครื่องยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถผ่านการทดสอบการปล่อยมลพิษมาตรฐานตามความเป็นจริงได้
สำนักข่าวรอยเตอร์ กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์อย่างโฟล์คสวาเกน เจนเนอรัล มอเตอร์ และเรโนลต์ มีแนวโน้มลดขนาดเครื่องยนต์จากความจุ 1 ลิตร ที่เคยผลิตมาแล้วทั้งแบบเบนซินและดีเซล ซึ่งในตอนนี้ผู้ผลิตอีกหลายรายได้ทำการปรับเปลี่ยนขนาดเครื่องยนต์ อีกทั้งยังต้องควบคุมปริมาณที่เข้าสู่ท่อดักอากาศเข้าเครื่องยนต์ (Forced Induction) ให้เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป เพื่อลดอัตราการคายอนุภาคขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และความร้อนที่เกิดจากเทอร์โบขนาดเล็ก ทำให้ค่า Nox สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 15 เท่า
เครื่องยนต์ของเรโนลต์ ขนาด 0.9 ลิตร ยังถูกรายงานว่ามีการฉีดเชื้อเพลิงมากเกินไป เพื่อป้องกันการ Overheat จนนำมาสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้นของ Hydrocarbons ที่เผาไหม้ไม่หมด และปล่อยอนุภาคขนาดเล็กและคาร์บอนมอนอกไซด์ ในสภาพการใช้งานจริง
ส่วนโฟล์คสวาเกน มีแนวโน้มว่าจะเลิกผลิตเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1.4 ลิตร และแทนที่ด้วยขนาด 1.6 ลิตร ส่วนเรโนลต์ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 1.6 ลิตร โดยขยายจากเครื่องยนต์เดิมขึ้นเกือบ 10% และเครื่องรุ่นใหม่ของ จีเอ็ม จะมีขนาดใหญ่ขี้นจากเดิม (ดีเซล 1.2 ลิตร) อีก 25-30 เปอร์เซ็นต์
อัลลาน รัพโพโซ (Alain Raposo) หัวหน้าฝ่ายผลิตเครื่องยนต์เรโนลต์ ได้กล่าวในงาน Paris Auto Show ว่า “เทคนิคการลดขนาดเครื่องยนต์ ไม่ได้ช่วยให้ผ่านมาตรฐานมลพิษที่ได้กำหนดไว้ เรามาถึงทางตันของ Downsizing แล้ว” และยังมีนักวิเคราะห์ บอกอีกว่า การทดสอบปล่อยมลพิษในโลกแห่งความเป็นจริง จะทำให้เครื่องยนต์เบนซินขนาดต่ำกว่า 1.2 ลิตร และเครื่องดีเซลที่มีขนาดต่ำกว่า 1.5 ลิตร หมดความนิยมในไม่ช้า
เรื่อง : ธราภณ วชิระธรกุล
ขอบคุณข้อมูล / ภาพ : www.carscoops.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th