เผยเคล็ดลับ!! 8 วิธีบรรทุกสัมภาระสำหรับรถเอสยูวี
ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนจากรถรถเก๋งมาเป็นรถอเนกประสงค์เอสยูวี เนื่องจากพื้นที่ภายในรถมีการออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลายเพราะด้วยความสะดวกสบายทุกการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุด การย้ายบ้านใหม่ หรือไปเที่ยวช็อปปิ้ง ในขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการขับขี่ด้วยเมื่อบรรทุกสัมภาระต่างๆ ภายในรถเอสยูวี ดังนั้นเราจะมาแนะนำ เคล็ดลับ ในการขนของขึ้นรถเอสยูวีได้อย่างเต็มที่และปลอดภัย ดังนี้
1.คำนวณน้ำหนักบรรทุกก่อน
แม้เอสยูวีจะมีพื้นที่บรรทุกสัมภาระกว้างขวาง แต่ผู้ใช้ก็ไม่ควรขนทุกอย่างใส่จนเต็มรถตั้งแต่พื้นจนถึงเพดานรถ ควรคำนึงถึงน้ำหนักในการบรรทุก ซึ่งก็คือความสามารถในการบรรทุกน้ำหนักสูงสุดของรถ ซึ่งรถแต่ละคันนั้นได้รับการออกแบบมาให้รับน้ำหนักสูงสุดได้ไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยเริ่มตั้งแต่ 400 กิโลกรัมเป็นต้นไป
การคำนวณน้ำหนักบรรทุกของรถยนต์นั้นคำนวณได้จากน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกสูงสุด (Gross Vehicle Weight) ลบด้วยน้ำหนักของรถยนต์ในขณะว่างเปล่า ตามด้วยน้ำหนักรวมของผู้โดยสารและเชื้อเพลิง ตัวอย่างเช่น ผู้โดยสารเป็นผู้ใหญ่หนัก 60 กิโลกรัม 2 คน และเด็กน้ำหนัก 40 กิโลกรัม 2 คน คุณจะต้องลดน้ำหนักการบรรทุกสัมภาระลงไปอีก 200 กิโลกรัม และอย่าลืมคำนวณน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิง ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการเติมน้ำมันดีเซลเต็มถัง น้ำมันดีเซลมีน้ำหนักประมาณ 0.832 กิโลกรัมต่อลิตร ดังนั้น การเติมน้ำมันเต็มถัง 76 ลิตรของรถเทรลเบลเซอร์ จะต้องลดน้ำหนักการบรรทุกลงอีก 63 กิโลกรัม
2.รักษาจุดศูนย์ถ่วงให้เหมาะสม
ควรวางสัมภาระที่หนักที่สุดไว้ด้านล่างสุดของพื้นที่เก็บสัมภาระโดยวางสัมภาระให้กระจายน้ำหนักทั่วทั้งพื้นที่บรรทุก เพื่อช่วยให้ศูนย์ถ่วงต่ำลง ลดโอกาสในการพลิกคว่ำ นอกจากนี้ยังช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการควบคุมรถซึ่งเกิดจากน้ำหนักของรถนั่นเอง การนำสัมภาระที่มีน้ำหนักมากไว้ท้ายรถจะทำให้ล้อหน้าลอย ซึ่งอาจส่งผลต่อสมรรถนะการบังคับเลี้ยวและการเบรก
3.รัดแน่นไว้ปลอดภัยดี
เพื่อป้องกันไม่ให้สัมภาระกลายเป็นสิ่งอันตรายเมื่อต้องเบรกกระทันหัน ควรเก็บสัมภาระขนาดเล็กใส่กล่องให้เรียบร้อย ส่วนสัมภาระขนาดใหญ่หน่อยควรทำการรัดไว้ในช่องเก็บของ ทำแบบนี้แล้วสัมภาระในรถจะได้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้โดยสารเมื่อรถต้องเบรคอย่างกระทันหัน
4.ปรับกระจกให้มองเห็นชัดเจน
พยายามหลีกเลี่ยงการบรรทุกตั้งแต่พื้นจนถึงเพดานรถ และปรับกระจกให้มองเห็นชัดเจน จำไว้ว่าถ้ากระจกมองหลังไม่ชัดจะทำให้การขับขี่เป็นเรื่องยากและก่อให้เกิดความเสี่ยงขณะถอยหลัง ถ้ามองเห็นข้างหลังไม่ชัดก็มีโอกาสสูงที่จะถอยชนคนหรือสิ่งของได้ นอกจากนี้ รถที่มีกล้องมองหลังอย่างเทรลเบลเซอร์ก็สามารถช่วยให้คุณถอยรถได้ง่ายขึ้น
5.ว่าด้วยการเก็บสัมภาระไว้บนหลังคา
ควรหลีกเลี่ยงการบรรทุกสัมภาระบนหลังคารถยนต์ เพราะมีผลเสียตามหลักอากาศพลศาสตร์และศูนย์ถ่วง ซึ่งส่งผลต่อการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและการควบคุมรถแม้ในขณะขับด้วยความเร็วต่ำ นอกจากนี้หากมีสัมภาระหลุดลอยไปขณะที่รถเคลื่อนที่อยู่อาจเป็นอันตรายต่อรถคันอื่น อย่างไรก็ตาม การติดตั้งแร็คหลังคาอย่างถูกต้องพร้อมราง (ติดตั้งในเทรลเบลเซอร์) จะช่วยเก็บสัมภาระให้ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรเลือกกล่องเก็บของบนหลังคาที่ได้รับการออกแบบตามหลักอากาศพลศาตร์ มีความปลอดภัย กันน้ำ และหลีกเลี่ยงการบรรทุกของหนักพร้อมทำการรัดสัมภาระให้แน่นไม่โยกเคลื่อน
6.เก็บสัมภาระที่จำเป็นต้องใช้ให้หยิบง่ายเสมอ
ตรวจสอบให้แน่ใจทุกครั้งว่าเก็บชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน อันได้แก่สายเคเบิลสำหรับจั๊มสตาร์ท โทรศัพท์มือถือ และน้ำดื่ม ไว้ในที่ที่หยิบได้ง่ายเมื่อต้องการใช้ ในรถเอสยูวี ยางอะไหล่อาจถูกเก็บไว้ในพื้นที่เก็บสัมภาระในรถ ดังนั้นรถบางรุ่นอาจไม่สามารถเก็บสัมภาระอื่นได้ แต่สำหรับรถเอสยูวีเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์นั้น ยางอะไหล่ถูกเก็บไว้ในที่เก็บใต้ท้องรถ ทำให้สามารถหยิบใช้ได้สะดวกเมื่อจำเป็น
7.ตรวจสอบลมและสภาพยาง
ก่อนขับขี่ คุณควรตรวจสอบยางของคุณเพื่อให้แน่ใจว่ายางอยู่ในสภาพดี ไม่สึกหรอ ดอกยางอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีการเติมลมยางอย่างถูกต้องเหมาะสมตามคำแนะนำที่แสดงไว้บริเวณประตูด้านข้างของคนขับ ด้านในฝาน้ำมัน หรือในคู่มือผู้ใช้งาน ผู้ขับควรเติมลมตามตัวเลขที่แนะนำไว้ ไม่ใช่ตามตัวเลขความดันสูงสุดที่เห็นบนขอบยาง เนื่องจากรถยนต์แต่ละรุ่นอาจต้องเติมลมยางแตกต่างกันเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงหรือขณะบรรทุกสัมภาระหนัก
8.อย่าบรรทุกสัมภาระที่ไม่จำเป็น
อย่าบรรทุกสัมภาระเกินน้ำหนักที่รถยนต์สามารถรับไหว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ทนทานอย่างเทรลเบลเซอร์ หรือรุ่นใดๆ ก็ตาม ถ้ารู้สึกว่ากำลังบรรทุกเกินพิกัด ควรหาวิธีลดสัมภาระ จำไว้ว่าความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่สุด
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
ข้อมูล เชฟโรเลต ประเทศไทย
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th