เบรก…แค่หยุดได้ยังไม่พอ
การเบรกแบ่งเป็น 2 แบบหลัก คือ เบรกเพื่อชลอความเร็ว และเบรกเพื่อหยุด
- เพื่อความปลอดภัย ก่อนการเบรกควรประเมินสถานการณ์ด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อให้น้ำหนักในการ เบรก เป็นไปอย่างเหมาะสม
- การเบรกเพื่อชลอความเร็ว น้ำหนักในการเบรกต้องสัมพันธ์กับความเร็วของรถยนต์คันอื่น ไม่ควรกดเบรกหนักจนความเร็วลดลงมากเกินไป เพราะจะสิ้นเปลืองเวลาและน้ำมันเชื้อเพลิงในการเร่งความเร็ว แต่ไม่ควรแตะเบรกเบาเกินไปจนขาดความปลอดภัย
การเบรกเพื่อหยุดในสภาพปกติ ควรแตะเบรกล่วงหน้าเพื่อใช้ไฟเบรกเตือนให้รถยนต์คันหลังเตรียมตัวเบรก ไม่ควรขับเข้าไปใกล้คันหน้าและกดเบรกอย่างรุนแรง เพราะล้ออาจล็อกจนเสียการทรงตัวและทำให้เกิดความสึกหรอในชุดเบรกสูง หรือรถยนต์คันหลังอาจเบรกไม่ทันจนชนท้าย
ส่วนการเบรกในสถานะการณ์ฉุกเฉิน ควรหยุดให้ใกล้รถยนต์คันหน้ามากที่สุด เพื่อรถยนต์ที่ตามมาด้านหลังจะได้มีระยะเบรกมากขึ้น
สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดา ต้องเหยียบคลัตช์เมื่อรถยนต์เกือบหยุดแล้วเท่านั้น เพราะการเหยียบเบรกพร้อมกับการเหยียบคลัตช์นั้น เปรียบเสมือนการเบรกพร้อมกับปลดเกียร์ว่าง เครื่องยนต์ที่ถูกปลดออกจากการขับเคลื่อน ไม่สามารถหน่วงช่วยการเบรกได้ รถยนต์จะมีแรงเฉื่อยเพิ่มขึ้น เบรกทำงานหนักขึ้น และระยะทางการหยุดเพิ่มขึ้น
การ เบรก ในขณะที่ยังค้างอยู่ในเกียร์ขับเคลื่อน เครื่องยนต์จะใช้รอบการหมุนหน่วงความเร็วของตัวรถยนต์ไว้ด้วย จึงควรเริ่มเหยียบคลัตช์เมื่อรถยนต์ใกล้หยุดสนิท เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ดับ ส่วนเกียร์อัตโนมัติก็กดเบรกอย่างเดียว ไม่ควรปลดเกียร์ว่างแล้วเบรก เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายในชุดเกียร์
การลดเกียร์ลงต่ำเพื่อช่วยเบรกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะทำให้รอบเครื่องยนต์สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์เกิดความสึกหรอมากกว่าปกติ หรือเกิดความเสียหายได้ ล้อขับเคลื่อนที่หมุนด้วยความเร็ว เมื่อถูกหน่วงด้วยเครื่องยนต์ เพลาขับจะได้รับแรงบิดสูง อาจทำให้เพลาขับสึกหรอมากกว่าปกติ
การขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง เป็นความรื่นรมย์ของผู้ขับบางคน โดยอาจลืมนึกถึงระยะที่ต้องใช้ในการเบรก หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
การใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด คือ ประมาณ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลา 36 วินาที ภายใน 1 วินาที จะแล่นไปได้ 28 เมตร เมื่อเปรียบเทียบกับสนามฟุตบอลมาตรฐาน ความยาวประมาณ 100 เมตร จะแล่นผ่านภายในเวลา 3.6 วินาที
การขับด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนถนนแห้ง เมื่อผู้ขับเห็นอุปสรรคด้านหน้าและต้องการเบรก จะใช้เวลาตอบสนองตั้งแต่เริ่มมองเห็นจนเท้าแตะเบรกประมาณ 0.6 วินาที หรือคิดเป็นระยะทางก่อนกดเบรก 17 เมตร และระยะทางหลังกดเบรก 85 เมตร รวมระยะทางที่ใช้หยุด 102 เมตร
แต่ถ้าผิวถนนเปียกหรือผู้ขับมีการตอบสนองช้า ระยะทางที่ใช้หยุดก็จะเพิ่มขึ้น
ความเร็วกับระยะเบรก
ที่ความเร็ว 20 กม./ชม. ระยะเบรกที่ต้องใช้อย่างน้อยที่สุด คือ 7 เมตร
ที่ความเร็ว 40 กม./ชม. ระยะเบรกที่ต้องใช้อย่างน้อยที่สุด คือ 18 เมตร
ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. ระยะเบรกที่ต้องใช้อย่างน้อยที่สุด คือ 34 เมตร
ที่ความเร็ว 80 กม./ชม. ระยะเบรกที่ต้องใช้อย่างน้อยที่สุด คือ 54 เมตร
ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. ระยะเบรกที่ต้องใช้อย่างน้อยที่สุด คือ 80 เมตร
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th