เปิดไทม์ไลน์เชฟโรเลต หลังจากนี้อีก 10 เดือนจะไม่เจอกันอีกแล้ว
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเมื่อรู้ว่าหลังจากนี้ถึงสิ้นปี 2563 จะเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้เห็น เชฟโรเลต อยู่ในตลาดเมืองไทย และปีหน้า 2564 ภาพจำที่หลายคนประทับใจกับเชฟโรเลตจะกลายเป็นความทรงจำ แต่ถึงอย่างนั้นยังดีที่เชฟโรเลตเองยังคงให้คำมั่นสัญญาว่าจะยังคงดูแลลูกค้าต่อไป แม้ว่าจะยุติการทำตลาดในเมืองไทย
หากนับวันเวลาจากจุดเริ่มต้นของเชฟโรเลตในโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ ค่ายรถอเมริกันสัญลักษณ์ “โบว์ไท” ที่ก่อตั้งโดย “หลุยส์ เชฟโรเลต” และ “วิลเลียม ซี.ดูแรนต์” ได้ออกมาโลดแล่นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 1911 มาถึงวันนี้มีอายุ 109 ปี กลายเป็นแบรนด์รถยนต์ระดับโลก ที่สร้างตำนานยอดรถเอาไว้มากมาย แต่แล้ว 17 กุมภาพันธ์ 2563 กลับเป็นข่าวร้ายของคนรักเชฟโรเลตในประเทศไทย ที่ จีเอ็ม หรือ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ได้ออกมาประกาศว่าจะยุติการทำตลาดในประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้
แม้ว่าจะยังเหลือเวลาทำตลาดอีก 10 เดือน แต่เป็นที่รู้กันว่านี่คือวันนับถอยหลังที่น่าเศร้า วันนี้ Grandprix Online จะมาย้อนเรื่องราวของเชฟโรเลตในประเทศไทยกันอีกครั้ง
สำหรับ “บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด” เปิดตัวในไทยเมื่อ พ.ศ. 2536 (1993) เพื่อเข้ามาบุกตตลาดรถยนต์ในไทย รวมทั้งเป็นการขยายช่องทางธุรกิจของ เจนเนอรัล มอเตอร์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งออสเตรเลีย โดยได้มีการใช้งบประมาณก้อนใหญ่ถึง 30,000 ล้านบาท มาสร้างศูนย์การผลิตรถยนต์ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์น ซีบอร์ด จ.ระยอง บนพื้นที่ถึง 440 ไร่ และมีโปรเจคแรกคือ การเริ่มทดลองผลิตรถยนต์อเนกประสงค์แบบ 7 ที่นั่ง ที่ในเวลานั้นยังไม่มีค่ายรถค่ายไหนหันมาให้ความสนใจกับตลาดนี้ และโมเดลนั้นคือ เชฟโรเลต ซาฟิร่า (Zafira) ที่เคยโด่งดังในอดีตนั้นเอง
จนมาถึงช่วงต้นปี 2543 การขยับขยายเกิดขึ้น เมื่อมีการก่อตั้ง “บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด” และในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ได้มีการเปิดตัว “เชฟโรเลต ซาฟิร่า” สู่สาธารณชนชาวไทยเป็นครั้งแรกในงาน BOI Fair 2000 ถือเป็นการบุกเบิกตลาดรถยนต์อเนกประสงค์รายแรกของไทย และขยายตลาดรถยนต์ในรูปแบบอื่นๆ ตามมา รวมทั้งเป็นการจุดประกายให้ค่ายอื่นๆ หันมาให้ความสนใจรถยนต์ในกลุ่มนี้มากขึ้นด้วย
จากนั้นอีก 3 ปี ในเดือนมีนาคม 2546เชฟโรเลตได้แนะนำรถยนต์นั่งขนาดกลาง “เชฟโรเลต ออพตร้า” (Optra) ซึ่งเริ่มขายอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน และถัดมาอีก 1 ปี ในวันที่ 11 มีนาคม 2547 ได้เปิดตัวรถกระบะที่ขายได้อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันอย่าง “โคโลราโด” (Colorado)
ถัดมาในช่วงเวลาเดียวกัน เดือนมีนาคม 2548 คนไทยได้ต้อนรับ “ออพตร้า เอสเตท 5 ประตู” (Optra Estate) และ “ออพตร้า โฉมใหม่” ที่กลับมาในรูปโฉมที่โฉบเฉี่ยวมากขึ้น ซึ่งยังคงสร้างการตอบรับได้อย่างดีเช่นเคย จากนั้น 24 มีนาคม 2549 ได้เวลาเผยโฉมเป็นครั้งแรกของรถยนต์กลุ่มตลาดซับคอมแพ็คในงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ มีชื่อเก๋ๆ ว่า “อาวิโอ” (Aveo) และในปีเดียวกันนี้ยังได้เปิดตัวรถเอสยูวีอีกรุ่นคือ “แคปติวา” (Captiva) ที่มีตัวเลือกทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล
หลังจากนั้นเชฟโรเลตเริ่มทยอยเปิดตัวอีกหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น..
ปี 2553เชฟโรเลต ครูซ (Cruze)
ปี 2555เชฟโรเลต โซนิค (Sonic) และ เทรลเบลเซอร์ (Trailblazer) และยังเป็นปีที่เชฟโรเลตมียอดขายสูงสุดถึง 75,461 คัน
ปี 2556เชฟโรเลต สปิน (Spin)
ปี 2557เชฟโรเลต โคโลราโด โฉมใหม่ (All-New Colorado) และยังเป็นปีที่เชฟโรเลตผลิตรถยนต์ได้ครบ 1 ล้านคันอีกด้วย
แต่แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2558เชฟโรเลตได้ประกาศยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งหมด ทำให้ ครูซ, โซนิค, สปิน และแคปติวา (โฉมเดิม) หายไปจากตลาดรถใหม่ จากนั้นยอดขายของเชฟโรเลตลดลงต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้นเชฟโรเลตยังคงพยายามทำตลาดด้วยโคโลราโด มีการปรับโฉม ทำรุ่นตกแต่งพิเศษออกมาอีกหลายรุ่น เพื่อพยุงยอดขายเอาไว้ และเดือนกันยายม 2563 เชฟโรเลตได้เปิดตัวรถอเนกประสงค์รุ่นใหม่ที่เป็นการร่วมมือกันกับค่ายรถจากจีน โดยกลับมาใช้ชื่อว่า “แคปติวา” อีกครั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ด้านยอดขายดีขึ้น
เชฟโรเลตแคปติวา ใหม่…ที่น่าจะเป็นรถรุ่นสุดท้ายที่ทำตลาดในไทย
รวมทั้ง การที่ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์จากสาธารณรัฐประชาชนจึน “เกรท วอล มอเตอร์ส” (Great Wall Motors) เข้ามาซื้อศูนย์การผลิตจีเอ็ม ในประเทศไทย โดยมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิอาเซียนรวมถึงประเทศออสเตรเลีย ทำให้เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) จำเป็นต้องยุติการจัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในตลาดประเทศไทยไปโดยปริยาย ภายในสิ้นปี 2563 แต่จะยังคงให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าเชฟโรเลต ทั้งการรับประกันคุณภาพรถยนต์ การซ่อมบำรุง และการบริการต่างๆ ผ่านเครือข่ายของศูนย์บริการ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลตทั่วประเทศ
แม้ว่าจะรู้สึกน่าใจหาย แต่ทุกอย่างยังต้องก้าวเดินต่อไป และ “เชฟโรเลต” แม้ว่าหลังจากนี้จะไม่ได้ทำตลาดในไทย แต่ในตลาดโลกยังจะคงได้เห็นรุ่นใหม่ๆ..น่าเศร้าและน่าเสียดาย สุดท้ายทั้งหมดนี้เป็นสัจธรรมไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและทั่วโลก
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th