เหตุผลที่รถไฟฟ้ายังไม่เกิดในไทย
ในขณะที่หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา บางประเทศในยุโรป หรือที่จีนดูเหมือนว่ารถไฟฟ้าจะสามารถเริ่มปักธงแจ้งเกิดมียอดขายเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรถใช้เครื่องยนต์ทั่วไปได้แล้ว แต่ในบ้านเราที่แม้ปัจจุบันจะมีรถไฟฟ้าออกมาหลายรุ่นหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นรถแฮทช์แบ็ก รถซีดาน หรือรถเอสยูวี รวมไปถึงรถสมรรถนะสูง ให้เลือก แต่ก็ดูเหมือนว่ารถใช้พลังงานไฟฟ้าล้วนจะยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้ง่ายๆ สำหรับการเป็นรถใช้งานของผู้ใช้รถทั่วไป ยกเว้นว่าจะเป็นของเล่นใหม่สำหรับผู้ที่มีรถใช้งานอยู่แล้วและเงินในกระเป๋าเหลือที่อยากลองของใหม่ ซึ่งการเติบโตที่แทบไม่เห็นผลนี้อาจขัดใจบรรดาผู้นิยมเทคโนโลยีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมพอสมควร
จริงๆ แล้วเหตุผลที่รถไฟฟ้ายังแจ้งเกิดไม่ได้ในไทยก็มาจากสาเหตุซึ่งล้วนเป็นข้อเสียของรถประเภทนี้ซึ่งมีมาตั้งแต่เริ่มและยังคงมีอยู่แม้ว่าจะมีการพัฒนาเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ไปแล้วก็ตาม รวมไปถึงสาธารณูปโภคพื้นที่ที่รองรับในบ้านเรา โดยต่อไปนี้คือข้อเสียของรถไฟฟ้าที่ทำให้ยังแจ้งเกิดในไทยไม่ได้ และยังอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะไปถึงจุดนั้น
ราคา
จุดแรกเลยที่เป็นอุปสรรคในการเกิดของรถไฟฟ้าในไทยก็คือราคาของรถไฟฟ้าที่ยังสูงเมื่อเทียบกับรถใช้เครื่องยนต์ทั่วไปในลักษณะเดียวกันหรือมีขนาดใกล้เคียงกัน เช่น Nissan Leaf ซึ่งมีราคา 1,990,000 บาท และไม่นานมานี้ทาง Nissan ก็ได้ประกาศลดราคาลงมา 500,000 บาททำให้เหลือ 1,490,000 บาท ซึ่งยังคงสูงเมื่อเทียบกับ Nissan Sylphy ที่จะเป็นรถซีดานไม่ใช่แฮทช์แบ็กเหมือน Leaf แต่ก็มีระยะฐานล้อ ยาว 2,700 มม. เท่ากัน รวมทั้งมีความยาวและกว้างใกล้เคียงกัน ซึ่งมีราคาเริ่มต้น 833,000 จนถึง 1,015,000 บาท หรือ MG ZS EV ที่มีราคา 1,190,000 บาท ในขณะที่รุ่นสูงสุดของ MG ZS ที่ใช้เครื่องยนต์ปกติมีราคา 789,000 บาท
ด้วยราคาที่ต่างกัน 3-4 แสนบาทระหว่างระหว่างไฟฟ้ากับรถใช้เครื่องยนต์ แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าในเรื่องค่าไฟฟ้าเมื่อเทียบกับน้ำมันจึง ทำให้รถไฟฟ้ายังไม่ใช่เป็นทางเลือกแรกสำหรับคนทั่วไปที่คิดจะซื้อรถไว้ใช้งานสักคัน ยกเว้นแต่จะเป็นคนที่อยากลองของใหม่และพร้อมจะจ่ายสูงกว่า หรือมีจิตใจห่วงใยอากาศที่หายใจเข้าไปจริงๆ
สถานีชาร์จพลังงาน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้รถใช้เครื่องยนต์ได้เปรียบรถไฟฟ้าอย่างมากก็คือเรื่องจุดสำหรับเติมพลังงานให้รถ เพราะไม่ว่าจะอยู่ในมุมใดของประเทศไทยก็สามารถหาสถานีบริการน้ำมันได้ เพราะแม้ในบางพื้นที่จะไม่มีสถานีบริการน้ำมัน แต่อย่างน้อยก็ยังมีปั๊มหลอดให้เติมแก้ขัดได้ แต่กับสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย แม้ปัจจุบันจะมีจุดชาร์จพลังงานเพิ่มขึ้นตามที่จอดรถในอาคารหรือห้างสรรพสินค้า รวมทั้งในเวบไซต์ของบริษัทรถยนต์บางรายในส่วนของรถไฟฟ้าจะมีการอ้างว่าปัจจุบันมีสถานีชาร์จพลังงานกว่า 300 แห่ง ทั่วประเทศรวมถึงสามารถชาร์จได้ที่โชว์รูมของตน แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับสถานีบริการน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวหรือจังหวัดใหญ่ๆ รวมทั้งเมื่ออยู่นอกเขตตัวเมือง
ระยะการเดินทาง
หากคำนวนราคาของรถไฟฟ้าที่สูงกว่าเมื่อรวมกับค่าพลังงานที่ใช้แล้วคิดว่าในระยะยาวให้ความคุ้มค่ากว่ารถใช้เครื่องยนต์ อีกด่านที่สกัดการเติบโตของรถไฟฟ้าไม่แพ้เรื่องจำนวนสถานีชาร์จก็คือระยะการเดินทางของรถไฟฟ้าต่อการชาร์จ
แม้ไม่ใช่ทุกคนที่จะขับรถระยะทางไกลหลาย 100 กิโลเมตรอยู่เสมอ และคนจำนวนมากที่ใช้รถก็มักจะในรถในลักษณะขับจากบ้านไปที่ทำงานแล้วขับกลับ รวมทั้งรถไฟฟ้าในปัจจุบันก็ใช้แบตเตอรีความจุเพิ่มขึ้นจนสามารถเดินทางได้ไกลขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่คนยังมักกังวลเกี่ยวการใช้รถไฟฟ้าก็คือ พลังงานต่อการชาร์จยังไม่เพียงพอหากต้องเดินทางไกลอย่างการไปเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันหยุดหรือเมื่อมีธุระต้องเดินทางไปต่างจังหวัดไกลๆ
แน่นอนว่าด้วยระยะการเดินทางต่อการชาร์จของรถไฟฟ้าในปัจจุบันอย่าง Hyundai Kona Electric ที่สามารถเดินทางได้ถึง 482 กิโลเมตร MG ZS EV ที่เดินทางได้ 337 กิโลเมตร หรือ Nissan Leaf ที่เดินทางได้ 311 กิโลเมตรจะสบายใจได้ว่าสามารถเดินทางไปเที่ยวหัวหินหรือจังหวัดชายทะเลแถบภาคตะวันออกอย่างระยองได้โดยไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรีจะหมดระหว่างทาง แต่หากคิดจะขับรถไปเที่ยวเชียงใหม่ช่วงสงกรานหรือวันหยุดยาวปลายปี หรือคิดจะเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ภูเก็ต ด้วยรถไฟฟ้าก็จำเป็นจะต้องมีการแวะชาร์จแบตเตอรีระหว่างทาง
ระยะเวลาในการชาร์จ
ปัญหาเรื่องระยะเวลาในการชาร์จเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่รถไฟฟ้าไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายที่ไกลได้ด้วยพลังงานจากการชาร์จเพียงครั้งเดียว เพราะสำหรับการใช้งานปกติประจำวันโดยทั่วไปเมื่อกลับถึงบ้านตอนเย็นก็สามารถเสียบชาร์จพลังงานทิ้งไว้จนถึงเช้าวันถัดไปได้ แต่หากต้องเดินทางไกลและต้องมีการชาร์จพลังงานเพิ่มระหว่างทาง จะต้องใช้เวลาที่แตกต่างจากการแวะเติมน้ำมันพอสมควร เพราะโดยทั่วไปแล้วการชาร์จไฟฟ้ากับการชาร์จแบบเร็วมักจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ขณะที่การชาร์จกับ Wallbox จะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง แต่หากชาร์จกับเต้าเสียบทั่วไปมักจะใช้เวลาเกิน 10 ชั่วโมง ซึ่งกับการชาร์จอย่างหลังจะหมายความว่าหากเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่อาจจะต้องมีการแวะค้างคืนระหว่างทาง แทนที่จะไปถึงเชียงใหม่ได้ในวันเดียว
ด้วยเหตุผลข้างต้นเหล่านี้จึงทำให้รถไฟฟ้ายังคงไม่สามารถแจ้งเกิดในไทยได้ไม่เพียงแค่ปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังอาจรวมไปถึงอนาคตอันใกล้ด้วย และหากสงสัยว่าทำไมคนไม่นิยมใช้รถไฟฟ้ากัน แค่ลองถามตัวเองดูว่าหากจะซื้อรถไฟฟ้าใช้จะยอมรับข้อเสียเหล่านี้ได้ไหม
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th